โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี
กำกับปวีณ ภูริจิตปัญญา
เขียนบทปวีณ ภูริจิตปัญญา
วสุธร ปิยารมณ์
ทศพร เหรียญทอง
เนื้อเรื่องปวีณ ภูริจิตปัญญา
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
อำนวยการสร้างปวีณ ภูริจิตปัญญา
วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์
นักแสดงนำ
กำกับภาพภิไธย สมิตสุต
ตัดต่อนัฏฐพล ทิมเมือง
ดนตรีประกอบปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายเน็ตฟลิกซ์
วันฉาย26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ความยาว117 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย

โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี (อังกฤษ: GHOST LAB) เป็นเว็บภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเชิงวิทยาศาสตร์ กำกับโดย ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผลิตโดยจีดีเอช ห้าห้าเก้า และจอกว้าง ฟิล์ม ภายใต้การควบคุมการผลิตโดย เน็ตฟลิกซ์ นำแสดงโดย ธนภพ ลีรัตนขจร พาริส อินทรโกมาลย์สุต ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ มีกำหนดเผยแพร่อย่างเป็นทางการบนเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลก ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่สองที่ได้ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ในฐานะภาพยนตร์ต้นฉบับของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix Original Movies) ต่อจาก บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต: วันเทก และยังถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี HDR ตามมาตรฐานของเน็ตฟลิกซ์และดอลบี วิชั่นตลอดทั้งเรื่อง[1]

เรื่องย่อ[แก้]

“คุณเชื่อในโลกหลังความตายไหม”

หลังจากเห็น “ผี” ตัวเป็นๆ ด้วยกันครั้งแรก กล้าและวี แพทย์หนุ่มคู่หูตัดสินใจร่วมกันทำการทดลองเพื่อหาทางพิสูจน์ว่า “โลกหลังความตาย” มีจริง และในการค้นหาทฤษฎีควบคุมการปรากฏตัวของผี พวกเขาต้องออกตามล่าวิญญาณมาเป็น “ผู้ร่วมทดลอง” ด้วยความเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกของโลกที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ได้ว่า “ผีมีจริง” โดยหารู้ไม่ว่าคำตอบที่ตามหานั้น มาพร้อมกับหายนะที่ไม่คาดคิด

นักแสดงและตัวละคร[แก้]

งานสร้าง[แก้]

แนวคิดภาพยนตร์เรื่องนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยบริษัทยังเป็นจีทีเอช โดย จิระ มะลิกุล ได้จัดค่ายการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยให้ผู้กำกับทั้งหมดของจีทีเอชเข้าร่วมประชุมและจับคู่กันคิดโครงเรื่องภาพยนตร์ให้ได้คู่ละหนึ่งเรื่อง ซึ่งตัวของปวีณ ได้จับคู่กับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เดิมทีทั้งคู่มีความชอบที่คล้าย ๆ กันอยู่แล้ว คือชอบแนววิทยาศาสตร์และแนวสยองขวัญ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำภาพยนตร์เรื่องอะไร จนกระทั่งในคืนนั้นเกิดข่าวลือว่าห้องพักของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ มีผีอาศัยอยู่ และทำให้ภาคภูมิต้องขอแลกห้องกับผู้กำกับคนอื่น ปวีณและนวพลจึงเกิดความสงสัยว่าในห้องมีผีจริงหรือไม่ และการหาความจริงในเรื่องนี้จึงต้องมีการทดลอง สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายวันนั้น ทำให้ปวีณและนวพลเลือกนำเสนอโครงเรื่องภาพยนตร์สยองขวัญกึ่งวิทยาศาสตร์ โดยที่มีตัวเอกสองคนร่วมทดลองหาความจริงถึงเรื่องผี และโลกหลังความตาย และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงเรื่องที่จะถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 จีดีเอช ห้าห้าเก้า ต้องการโครงเรื่องเพื่อพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ เนื่องจากภาพยนตร์ที่เตรียมไว้ได้หมดสต็อก และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการถ่ายทำละครฉลาดเกมส์โกงซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ปวีณและนวพลจึงได้เสนอให้ จีดีเอช หยิบโครงเรื่องนี้ขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์ และก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงริเริ่มพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่แล้วด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้แผนงานของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเลื่อนจากปี พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2564 จนกระทั่งจีดีเอชเห็นแนวโน้มว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จีดีเอช จึงได้เปลี่ยนแผนจากนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นการฉายภาพยนตร์ออนไลน์ทีเดียวทั่วโลก บริษัทฯ จึงได้เสนอขายภาพยนตร์ให้ เน็ตฟลิกซ์ นำไปจัดจำหน่าย ซึ่งหลังจากธุรกรรมแล้วเสร็จ เน็ตฟลิกซ์ จึงได้เข้ามากำหนดมาตรฐานการสร้างภาพยนตร์เพิ่มเติม โดยขอให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบดอลบี วิชั่นและมาตรฐาน HDR 10+ ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงการมิกซ์เสียงก็ได้ขอให้มีการมิกซ์ในระบบ 5.1 เพื่อให้ภาพยนตร์มีคุณภาพทัดเทียมกับภาพยนตร์เน็ตฟลิกซ์จากผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่งระหว่างกระบวนการตัดต่อในช่วงสุดท้ายนี้ เน็ตฟลิกซ์ ได้หยิบนำเอาบทภาพยนตร์ไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เพื่อทำการพากย์เสียงในภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมภายใต้สตูดิโอของเน็ตฟลิกซ์ เพื่อเตรียมที่จะปล่อยฉายพร้อมกันทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมด้วยเช่นกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์[แก้]

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ปวีณ ได้ติดต่อให้ ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ หรือ Bill Hemstapat ผู้กำกับเสียงของโซนี่ อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ มาร่วมทำเพลงประกอบให้ทั้งเรื่อง เพื่อให้เพลงประกอบมีความน่าค้นหาตามเนื้อหาหลักของภาพยนตร์[ต้องการอ้างอิง]

การประชาสัมพันธ์และการออกฉาย[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานแถลงข่าว GDH Xtraordinary 2021 Line-up เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยอธิบายเส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ มากกว่าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ[2]

เดิมที โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 แต่ถูกเลื่อนแผนงานมายังปี พ.ศ. 2564 จากเหตุการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และถูกเลื่อนแผนงานอีกครั้งจากการระบาดระลอกที่สองและระลอกที่สาม จนในที่สุดภาพยนตร์จึงถูกเน็ตฟลิกซ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ทั่วโลกในเวลาต่อมา[1] โดยมีงานแถลงข่าวและงานเปิดตัวภาพยนตร์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.00 น. ก่อนเปิดให้รับชมภาพยนตร์อย่างเป็นทางการในเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน[3]

หลังจากมีการออกฉายได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบเรื่องการแสดง บทที่สามารถเดาได้ง่าย การจบที่ไม่สมเหตุสมผล และ CGI ที่ไม่ค่อยสมจริง หลังจากเผยแพร่แล้วได้คะแนนที่เว็บไซต์ Rotten Tomatoes เพียง 20% ของคะแนนผู้ชม และต่ำกว่า 5.5 ในเว็บไซต์ IMdB ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับผลวิจารณ์แย่ที่สุดแห่งปีของภาพยนตร์ค่าย GDH [4]

รางวัล[แก้]

ปี ผู้มอบรางวัล สาขาที่เข้าชิง ผู้ได้รับเสนอชื่อ ผล
2565 คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18[5] ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้กำกับยอดเยี่ยม ปวีณ ภูริจิตปัญญา เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ธนภพ ลีรัตนขจร เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม พาริส อินทรโกมาลย์สุต เสนอชื่อเข้าชิง
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปวีณ ภูริจิตปัญญา, วสุธร ปิยารมณ์, ทศพร เหรียญทอง เสนอชื่อเข้าชิง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 GDH ส่ง GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี ลง Netflix ดูได้ทั่วโลก 26 พ.ค. นี้
  2. GDH เปิดตัว 5 ภาพยนตร์ใหม่ รับก้าวต่อไปในปีที่ 6 ของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
  3. Netflix จัดงาน “GHOST LAB Virtual Premiere” ครั้งแรกของไทย
  4. https://www.heavenofhorror.com/reviews/ghost-lab-netflix-horror/
  5. "ตัวเต็งมาแน่น! เปิดโผผู้เข้าชิง คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18". TrueID. 2022-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]