ข้ามไปเนื้อหา

เฉียว ฉือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉียว ฉือ
乔石
ไฟล์:Qiaoshi in 1994.jpg
เฉียวใน ค.ศ. 1994
ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ คนที่ 6
ดำรงตำแหน่ง
27 มีนาคม ค.ศ. 1993 – 16 มีนาคม ค.ศ. 1998
ก่อนหน้าว่าน หลี่
ถัดไปหลี่ เผิง
เลขาธิการคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 – 18 ตุลาคม ค.ศ. 1992
ก่อนหน้าเฉิน ยฺหวิน
(เลขาธิการคนที่ 1)
ถัดไปเว่ย์ เจี้ยนสิง
ผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
มิถุนายน ค.ศ. 1983 – เมษายน ค.ศ. 1984
เลขาธิการใหญ่หู เย่าปัง
ก่อนหน้าหู ฉี่ลี่
ถัดไปหวัง จ้าวกั๋ว
เลขาธิการคณะกรรมการการเมืองและกฎหมายส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1985 – ค.ศ. 1992
ก่อนหน้าเฉิน พีเสี่ยน
ถัดไปเหริน เจี้ยนซิน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด24 ธันวาคม ค.ศ. 1924(1924-12-24)
เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต14 มิถุนายน ค.ศ. 2015(2015-06-14) (90 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1940–1998)
คู่สมรสยฺวี่ เหวิน (สมรส 1952; เสียชีวิต 2013)
บุตรชาย 2 คน และหญิง 2 คน
เฉียว ฉือ
อักษรจีนตัวเต็ม喬石
อักษรจีนตัวย่อ乔石

เฉียว ฉือ (จีน: 乔石; พินอิน: Qiáo Shí; 24 ธันวาคม ค.ศ. 1924 – 14 มิถุนายน ค.ศ. 2015) เป็นนักการเมืองชาวจีนและหนึ่งในผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง องค์กรตัดสินใจสูงสุดของพรรคตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ถึง 1997 เขาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน แต่พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งทางการเมืองของเขา เจียง เจ๋อหมิน ผู้ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ใน ค.ศ. 1989 เฉียวดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนแห่งชาติ ตำแหน่งทางการเมืองที่มีอำนาจเป็นอันดับสาม ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 กระทั่งเกษียณอายุใน ค.ศ. 1998[1] เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นของเขา รวมถึงเจียง เจ๋อหมิน เฉียวมีจุดยืนที่เสรีนิยมมากกว่าในนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมหลักนิติธรรมและการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่เน้นตลาดเป็นหลัก[2]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

เฉียว ฉือ เกิดเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1924 มีชื่อเดิมว่า เจี่ยง จื้อถง (蔣志彤; Jiǎng Zhìtóng) ในเซี่ยงไฮ้ พ่อของเขามาจากติ้งไห่ มณฑลเจ้อเจียง และทำงานเป็นนักบัญชีในเซี่ยงไฮ้ แม่ของเขาเป็นคนงานที่โรงงานทอผ้าหมายเลข 1 ของเซี่ยงไฮ้[3] เขาเรียนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยสหพันธ์จีนตะวันออก แต่ไม่ได้สำเร็จการศึกษา เขาใช้นามแฝงว่าเจียง เฉียวฉือ หลังเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมปฏิวัติใต้ดินเมื่ออายุ 16 ปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในสมัยนั้นสำหรับเยาวชนที่ใฝ่ฝันจะเป็นคอมมิวนิสต์ ท้ายที่สุดเขาละทิ้งนามสกุลเจียงและใช้เพียงชื่อ "เฉียว ฉือ" เท่านั้น เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 และเริ่มมีส่วนร่วมในขบวนการนักศึกษาต่อต้านก๊กมินตั๋งตั้งแต่ยังหนุ่ม ความเชี่ยวชาญของเขาคือการข่าวกรองและความมั่นคง[4][5]

สมัยเหมา

[แก้]

หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1949 เฉียวดำรงตำแหน่งผู้นำสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง จนถึง ค.ศ. 1954 ตั้งแต่ ค.ศ. 1954 ถึง 1962 เขาทำงานที่บริษัทเหล็กและเหล็กกล้าอันชานในมณฑลเหลียวหนิง และต่อมาที่บริษัทเหล็กและเหล็กกล้าจิ่วเฉฺวียนในมณฑลกานซู่[6] ใน ค.ศ. 1963 เฉียวถูกย้ายไปที่กรมประสานงานระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และเดินทางไปยังประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ อย่างกว้างขวาง[4] อย่างไรก็ตาม เขาถูกข่มเหงอย่างรุนแรงเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มต้นใน ค.ศ. 1966 เนื่องจากยฺวี่ เหวิน ภรรยาของเขา เป็นหลานสาวของเฉิน ปู้เล่ย์ ที่ปรึกษาคนสำคัญของเจียง ไคเชก ผู้นำก๊กมินตั๋ง เขาผ่านการประชุมดูความดิ้นรนมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เขาต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นและเสียเลือด ใน ค.ศ. 1969 เฉียวและภรรยาของเขาถูกส่งไปทำงานที่ค่ายแรงงานในชนบท โดยเริ่มจากที่เฮย์หลงเจียง และต่อมาที่มณฑลเหอหนาน เขาสามารถกลับมาที่กรมประสานงานระหว่างประเทศได้ใน ค.ศ. 1971 เมื่อเกิ่ง เปียวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรม[3]

ขึ้นสู่อำนาจ

[แก้]

หลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม เฉียวได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกรมประสานงานระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1978 และผู้อำนวยการใน ค.ศ. 1982 โดยรับผิดชอบการจัดการความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ เขายังกลายเป็นสมาชิกสำรองของสำนักเลขาธิการกลาง ฝ่ายบริหารงานประจำวันขององค์กรพรรค ต่อมา เขายังดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารงานประจำวันของพรรค และหัวหน้ากรมองค์การ ซึ่งรับผิดชอบด้านทรัพยากรบุคคล[4] ภายใต้การกำกับดูแลของเขา สำนักงานทั่วไปเปลี่ยนจุดเน้นจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นมาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปและเปิดออก ใน ค.ศ. 1985 ยฺหวี เฉียงเชิง หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับจีน ได้แปรพักตร์ไปยังสหรัฐ เป็นเหตุให้เฉิน พีเสี่ยน สมาชิกกรมการเมืองและเลขาธิการคณะกรรมการกิจการการเมืองและกฎหมาย ถูกลดตำแหน่ง ต่อมาเฉียวได้รับเลือกให้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใกล้ชิดกับหู เย่าปัง เลขาธิการพรรค และได้รับการอนุมัติจากเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุด[7] ในปีนั้น เฉียวได้รับเลือกเข้าสู่กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ขั้นอำนาจสูงสุดลำดับสอง ใน ค.ศ. 1986 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของคณะมนตรีรัฐกิจ[2][5] ระหว่าง ค.ศ. 1987 ถึง 1997 เฉียวเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง องค์กรตัดสินใจสูงสุดของจีน โดยดูแลงานในขอบข่ายกว้างขวางด้านความมั่นคงภายใน ข่าวกรอง กระบวนการยุติธรรม และวินัยของพรรค[7] ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ถึงปี 1992 เขายังทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลาง หน่วยงานของพรรคที่รับผิดชอบความพยายามในการต่อต้านการทุจริต[5]

จัตุรัสเทียนอันเหมินและผลพวง

[แก้]

เชื่อกันว่าเฉียวมีบทบาทสำคัญในช่วงการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเขาให้การสนับสนุนหรือคัดค้านการปราบปรามผู้ประท้วงนักศึกษา[1] แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ รวมถึงอัตชีวประวัติของจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรค กล่าวว่าเฉียวมีท่าทีคลุมเครือต่อวิธีจัดการกับการประท้วง เขาถูกกล่าวขานว่าเป็นผู้ที่อดทนต่อขบวนการนักศึกษา และงดออกเสียงในการลงคะแนนของกรมการเมืองในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 เกี่ยวกับว่าจะส่งกองทัพไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมินหรือไม่[2]

เฉียวสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำของเขาไว้ได้เมื่อจ้าว จื่อหยาง และหู ฉี่ลี่ เพื่อนร่วมงานในกรมการเมืองของเขาซึ่งคัดค้านการปราบปรามถูกกวาดล้าง ในผลพวงทางการเมืองหลังเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน เฉียวและหลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถูกมองว่าเป็นสองคนที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะได้เป็นผู้นำพรรค อย่างไรก็ตาม เติ้งและผู้อาวุโสพรรคหลายคนรู้สึกว่าหลี่มีแนวคิดเอียงซ้ายมากเกินไปและไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศจีนออกจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนเพื่อรับตำแหน่งสูงสุด ดังนั้นเฉียวจึงดูเหมือนเป็นตัวเลือก 'โดยปริยาย' โดยพิจารณาจากประสบการณ์และอาวุโสของเขาในเวลานั้น[4] เติ้งจัดการประชุมกับเฉียวด้วยตนเองเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นผู้นำ[7] อย่างไรก็ตาม เฉียวได้พ่ายแพ้ให้กับเจียง เจ๋อหมิน คู่แข่งของเขา เลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ ผู้ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคใน ค.ศ. 1989 และประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1993[4]

ไม่เคยมีการอธิบายอย่างชัดเจนว่าเหตุใดเฉียวถึงไม่ได้รับการเลือกให้เป็นผู้นำพรรค นักสังเกตการณ์คาดการณ์ว่าเฉียวมีประสบการณ์บังคับใช้กฎหมายมากเกินไป และด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเข้มงวดและแข็วกร้าวในการจัดการกับปัญหา หรือว่าเฉียวสูญเสียความโปรดปรานจาก "ผู้อาวุโสพรรค" กลุ่มผู้นำที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในกระบวนการสืบทอดตำแหน่งผู้นำ อย่างไรก็ตาม เฉียวได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ตำแหน่งทางการเมืองอันดับสามในสาธารณรัฐประชาชนจีน รองจากเลขาธิการใหญ่และนายกรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1993 ในฐานะหัวหน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เขาพยายามที่จะเสริมสร้างระบบกฎหมายของจีนให้แข็งแกร่งขึ้นและเปลี่ยนสภาแห่งชาติจากองค์กรที่เป็นเพียงตรายางให้กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจแท้จริงในการสถาปนาหลักนิติธรรม[1] คำกล่าวของหวัง ตาน ผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำนักศึกษาเทียนอันเหมินที่ว่า "แม้ว่าเฉียว ฉือจะเป็นจ้าวแห่งภาพลวงตา แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะนำพาจีนไปสู่การปกครองที่เปิดกว้างมากขึ้น"[4]

ความสัมพันธ์กับเจียง เจ๋อหมิน

[แก้]

ภายหลังเหตุการณ์ ค.ศ. 1989 เป็นที่รู้กันว่าเฉียวอมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการใหญ่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง เจียง ผู้ซึ่งก้าวขึ้นจากผู้นำระดับเทศบาลสู่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในชั่วข้ามคืน เป็นเพียงสมาชิกกรมการเมืองเท่านั้นในตอนที่เขาถูกเรียกตัวไปปักกิ่งเพื่อเข้ามารับตำแหน่ง (เฉียวเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญ สูงกว่าเจียงหนึ่งระดับ) เฉียวเป็นผู้คร่ำหวอดในพรรคที่ทำงานให้กับองค์กรส่วนกลางมานานกว่าทศวรรษ ขณะที่เจียงไม่เคยมีประสบการณ์ในศูนย์กลางเลย เฉียวก็มีประวัติการทำงานที่โดดเด่นพร้อมกับคุณสมบัติปฏิวัติในช่วงที่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวในเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ประสบการณ์ปฏิวัติของเจียงดูเหมือนจะไม่มีน้ำหนักเมื่อเทียบกัน[7] ด้วยเหตุนี้ เหล่านักสังเกตการณ์ทางการเมืองและผู้ที่อยู่ในระดับสูงสุดของอำนาจจึงตระหนักดีว่า เจียงได้ 'ก้าวกระโดด' ข้ามเฉียว ผู้ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีคุณสมบัติเหมาะสมกว่า มีประวัติน่าเชื่อถือกว่า และมีเครือข่ายทางการเมืองกว้างขวางกว่าเจียงทุกประการ[7] ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาที่เฉียวดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของจีน หมายความว่าเขามีคนสนิทอยู่ในตำแหน่งสำคัญทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นภัยเงียบ หรืออาจถึงขั้นเป็นการท้าทายอำนาจของเจียง[7] หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิงเดินทางเยือนทางใต้ใน ค.ศ. 1992 หลายคนเชื่อว่าเติ้งจะปลดเจียงออกจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่และแต่งตั้งเฉียวแทน รวมถึงเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิงเป็นจู หรงจี รองนายกรัฐมนตรีสายปฏิรูป เนื่องจากแนวทางที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมของเจียงและหลี่ต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้นโยบายปฏิรูปและเปิดออกหยุดชะงัก และการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง 1991 สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนข้างอย่างรวดเร็วของเจียงและหลี่ จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่นำโดยเฉิน ยฺหวิน ไปยังฝ่ายปฏิรูปที่นำโดยเติ้งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1992

เกษียณอายุ

[แก้]

หลังเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1997 เจียงก็ประสบความสำเร็จในการกำจัดเฉียวออกจากคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกรมการเมืองในการประชุมสภาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 15 โดยการลดอายุเกษียณของเจ้าหน้าที่พรรคลงเหลือ 70 ปี ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจของเขา[8] ใน ค.ศ. 1998 เฉียวซึ่งขณะนั้นอายุ 73 ปี ได้เกษียณจากวงการเมือง และหลังจากนั้นก็แทบไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย[1]

แม้เฉียวจะเกษียณจากการเมืองใน ค.ศ. 1998 แต่ช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งในระดับสูงสุดของพรรคและรัฐบาลทำให้เขาได้รับเกียรติในการดำรงตำแหน่งสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นของเขาหรือผู้นำในรุ่นต่อ ๆ มา ในบรรดาสิ่งอื่น ๆ เฉียวเคยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่ดูแลการบริหารพรรค องค์กรและทรัพยากรบุคคล การปลูกฝังอุดมการณ์ วินัยภายใน ข่าวกรอง ความมั่นคงภายใน การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และระบบยุติธรรม[a] ด้วยตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองของเขา เฉียวยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมาย แม้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนแห่งชาติ[7]

ต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นของเขา โดยเฉพาะเจียง เจ๋อหมินและหลี่ เผิง เฉียวไม่ได้เข้าร่วมแม้แต่กิจกรรมสำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองจีนหลังเกษียณอายุ ซึ่งรวมถึงการประชุมพรรค การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง หรือวันครบรอบเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ[9] ในปี ค.ศ. 2012 เขาตีพิมพ์หนังสือชื่อ Qiao Shi On Democracy and Rule of Law ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ[4] การที่เฉียว ซึ่งปกติเป็นบุคคลที่เก็บตัวและพอใจกับการเกษียณอายุ จะตีพิมพ์ผลงานเช่นนี้ในวัยชราทำให้เกิดการคาดเดากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแฝงเร้นต่อความเสื่อมถอยที่รับรู้ได้ของงานด้านกฎหมายและความมั่นคงภายใต้โจว หย่งคัง หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ใน ค.ศ. 2014 เฉียวบริจาคเงิน 11 ล้านหยวนให้กับมูลนิธิแลกเปลี่ยนกฎหมายจีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและหลักนิติธรรม[10]

เสียชีวิต

[แก้]

เฉียวเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ที่กรุงปักกิ่ง ขณะมีอายุได้ 90 ปี ในคำไว้อาลัยอย่างเป็นทางการของเฉียว เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น "สมาชิกพรรคที่ยอดเยี่ยม นักต่อสู้ที่ผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนานเพื่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และนักปฏิวัติชนกรรมาชีพ รัฐบุรุษ และผู้นำที่โดดเด่นของพรรคและรัฐ"[ต้องการอ้างอิง] เฉียวเป็นผู้นำคนสำคัญคนแรกจากผู้นำรุ่นที่สามที่เสียชีวิต คำไว้อาลัยของเขามีจำนวนอักษรจีนกว่า 2,000 ตัว ครึ่งหนึ่งของความยาวคำไว้อาลัยของผู้นำรุ่นที่สองอย่างเติ้ง เสี่ยวผิงและเฉิน ยฺหวิน แต่มากกว่าคำไว้อาลัยของฮฺว่า กั๋วเฟิง หลิว หฺวาชิง และหวง จฺวี๋อย่างมาก ซึ่งแต่ละคนได้รับคำไว้อาลัยเพียงไม่กี่ร้อยคำ[11] การประกาศการเสียชีวิตของเขาเป็นรายการที่สามในรายการข่าวภาคค่ำซินเหวินเหลียนปัว การประกาศนั้นทำในรูปแบบของ "แถลงการณ์ร่วม" โดยหน่วยงานระดับสูงของพรรคและรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปจะสงวนไว้สำหรับผู้นำระดับสูงสุดเท่านั้น[12]

ประชาชนจำนวนมากต่างลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเสียชีวิตของเฉียว[13] พิธีศพของเฉียวจัดขึ้นที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชานเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2015 โดยมีสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง และสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองคนอื่น ๆ เข้าร่วม ยกเว้นจาง เกาลี่ ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปยุโรป หู จิ่นเทา อดีตเลขาธิการพรรคก็เข้าร่วมด้วย เจียง เจ๋อหมิน ไม่ได้เข้าร่วมพิธี แต่สำนักข่าวของรัฐได้กล่าวถึงเป็นพิเศษว่าเจียงได้แสดงความเสียใจ เจียงและครอบครัวของเขาได้ส่งพวงหรีดเข้าร่วมในพิธี เฉียวเสียชีวิตเพียงหนึ่งเดือนก่อนประธานว่าน หลี่ ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนเขา (เสียชีวิตในวันที่ 15 กรกฎาคม)[11]

ครอบครัว

[แก้]

เกียรติยศ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Gan, Nectar (14 June 2015). "Former China Communist Party senior official Qiao Shi dies at 91". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 8 January 2023.
  2. 2.0 2.1 2.2 Mackerras, Colin; McMillen, Donald H.; Watson, Andrew (2003). Dictionary of the Politics of the People's Republic of China. Routledge. p. 185. ISBN 978-1-134-53175-2.
  3. 3.0 3.1 Lu Mengjun (14 June 2015). 乔石往事: 妻子是陈布雷外甥女, "文革"期间被贴了大字报 [Qiao Shi's past: wife was a niece of Chen Bulei]. Eastday (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2015. สืบค้นเมื่อ 15 June 2015.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Song, Yuwu (2013). Biographical Dictionary of the People's Republic of China. McFarland. p. 258. ISBN 978-0-7864-3582-1.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Qiao Shi". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 23 January 2010.
  6. 乔石同志简历. Eastday (ภาษาChinese (China)). 14 June 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-07. สืบค้นเมื่อ 2020-02-03.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Niu Lei (June 14, 2015). 牛泪:乔石与江泽民交往秘史. Duowei (History Channel).
  8. Seth Faison (10 September 1997). "China's President Ousts Rival From High Party Positions". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 15 June 2015.
  9. 关于乔石需要了解的五个事实. Duowei News. June 14, 2015.
  10. Jess Macy Yu (23 February 2015). "Former Chinese Premier Draws Praise for His Philanthropy". The New York Times.
  11. 11.0 11.1 Mu, Yao (June 19, 2015). 第三代无一人露面 中共澄清江泽民不送乔石. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-20. สืบค้นเมื่อ 2025-02-24.
  12. 新闻联播 June 24, 2015. CCTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07.
  13. 揭秘中共曾为哪些元老降半旗. June 17, 2015.



อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน