เภสัชเคมี
เภสัชเคมี (อังกฤษ: Pharmaceutical Chemistry) เป็นสาขาวิชาที่เกิดจากการผสมผสานกันของศาสตร์หลายสาขาโดยเฉพาะเคมีและเภสัชกรรม เพื่อการค้นหาและออกแบบตัวยา เภสัชเคมีจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกลักษณ์ทางเคมีของตัวยา การสังเคราะห์ตัวยา และการพัฒนาสารเคมีตัวใหม่ที่เหมาะสำหรับการรักษาโรค รวมถึงการศึกษายาที่มีอยู่เดิมในส่วนของคุณสมบัติทางเคมีกับคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา-พิษวิทยา เช่น ความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างการออกฤทธิ์และโครงสร้างของยา (Quantitative Structure-Activity Relationship: QSAR) เป็นต้น
กระบวนการค้นพบยา
[แก้]การค้นพบ
[แก้]ขั้นตอนแรกของการค้นพบยา (drug discovery) เกี่ยวข้องกับการหาเอกลักษณ์ของสารประกอบที่น่าสนใจใหม่ เรียกว่า "ฮิตส์" ("hits") โดยการคัดสรรสารประกอบหลายตัวที่มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาตรงกับที่เราต้องการ ฮิตส์เหล่านี้อาจมาจากแหล่งธรรมชาติเช่น พืช สัตว์ เชื้อรา หรือบางครั้งมาจากการสังเคราะห์ เช่น สารประกอบที่สังเคราะห์สะสมไว้เดิม โดยเฉพาะจากเทคนิคเคมีเชื่อมโยง (combinatorial chemistry) โดยอาศัยองค์ความรู้ทางเคมีอินทรีย์ขั้นสูง วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสถิติ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลากระบวนการสรรหาให้เร็วขึ้น
การทำให้ได้ผลดีที่สุด
[แก้]ขั้นตอนต่อมาของการค้นพบยาจะเกี่ยวข้องกับการปรับแต่งสาร"ฮิตส์"เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของสารประกอบฟาร์มาโคฟอร์ (pharmacophore) ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและการออกฤทธิ์ของฟาร์มาโคฟอร์ จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสารประกอบมุ่งหวัง (lead compounds) เพื่อให้ได้ตัวยาที่มีความแรงสูงสุด จำเพาะเจาะจงที่สุด และมีพิษน้อยที่สุด
การพัฒนายา
[แก้]ขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนายาเกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับพรีคลินิคและระดับคลินิก ตั้งแต่การทดลองในสัตว์ทดลอง มนุษย์ปกติ และผู้ป่วย เพื่อทดสอบฤทธิ์การรักษาและผลข้างเคียงของตัวยาที่ได้ก่อนการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ และการพัฒนาตำรับยาในระดับอุตสาหกรรมต่อไป