เปรต
เปรตในศิลปะพม่า | |
กลุ่ม | สัตว์ในตำนาน |
---|---|
กลุ่มย่อย | ออกหากินเวลากลางคืน, ตัวกลาง |
สัตว์คล้ายคลึง | วิญญาณบรรพบุรุษ, กระสือ |
เทพปกรณัม | ศาสนาแบบอินเดีย ศาสนาพื้นบ้านจีน ลัทธิเต๋า ศาสนาพื้นบ้านเวียดนาม |
ชื่ออื่น | ผีที่หิวโหย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ถิ่นที่อยู่ | ศาสนาฮินดู ชมาชานะ หรือป่าช้า ศาสนาพุทธ โลกของผีที่หิวโหย |
เปรต (สันสกฤต: प्रेत เปฺรต; บาลี: peta เปต) หมายถึงผี ตามความเชื่อในหลายศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน ตามความเชื่อนั้น เปรตเป็นผีได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มาก โดยต้องทรมานกับความหิวโหยและความเจ็บปวดทางกาย
ความเชื่อเรื่องเปรตมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศอินเดียตั้งแต่ยุคโบราณ และเริ่มแพร่กระจายสู่สังคมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก คำว่า "Preta" มักจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "ผีที่หิวโหย" ความเชื่อเรื่องเปรตนั้นเริ่มต้นมาจากความเชื่อในชีวิตหลังความตาย และมักเกี่ยวข้องกับการเป็นโอปปาติกะ (ผู้ที่ผุดขึ้นเองจากอดีตกรรม มิต้องอาศัยการปฏิสนธิ) นำไปสู่ความเชื่อเรื่องเวรกรรมที่ต้องได้รับในโลกหน้าและการกลับชาติมาเกิดตามแต่ผลกรรมที่ได้กระทำเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่[1] การจะหลุดพ้นจากการเป็นเปรตนั้นต้องอาศัยเวลานานชั่วกัปชั่วกัลป์ และหากมิได้สั่งสมบุญวาสนาพอหรือไม่ได้รับการอุทิศส่วนกุศลจากคนรู้จัก บุคคลนั้นอาจต้องทุกข์ทรมานเป็นเปรตไปชั่วนิรันด์[2]
การจะเกิดเป็นเปรตในโลกหน้านั้น โดยมากมักเป็นผลมาจากการก่อกรรมทำเข็ญอย่างร้ายแรงเมื่อครั้งเป็นมนุษย์[3] เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การทำร้ายผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และ ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ถูกทำร้ายเป็นบุพการีของตนหรือเป็นพระสงฆ์ การพูดปด พูดส่อเสียด การลักทรัพย์ รวมถึงความโลภ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งเกิดขึ้นจากการเคยเป็นสัตว์นรกที่เวียนว่ายอยู่ในนรกนานนับโกฏิปี แต่ดวงวิญญาณยังไม่บริสุทธิ์พอที่จะไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น จีงต้องชดใช้กรรมต่อ โดยจะต้องไปเกิดเป็นเปรตที่มีรูปลักษณ์ที่น่าเกลียด เช่น มีร่างกายเน่าเฟะเสมือนซากศพ หรือมีสิ่งปฏิกูลอยู่ทั่วร่างกาย มักจะหิวโหยอยู่ตลอดเวลา และส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด หรือแม้แต่เป็นเปรตภายใต้รูปร่างของสัตว์ประหลาดชนิดต่าง ๆ ตามความเชื่อแต่ละประเทศ[4] เปรตมีร่างกายและความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ในขณะที่มนุษย์ทั่วไปเมื่อมองดูสายน้ำจะมองเห็นเป็นเพียงกระแสน้ำใส ๆ ธรรมดา แต่เมื่อเปรตจ้องมองแม่น้ำจะมองเห็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว เช่น หนอง หรือ เลือด
จากความเชื่อและอิทธิพลของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ เปรตจึงมีอิทธิพลอย่างเด่นชัดในวัฒนธรรมของอินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ทิเบต ไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์[5]
ความหมาย
[แก้]คำว่า เปรต แปลว่า ในทางศาสนาพุทธหมายถึง อมนุษย์พวกหนึ่งที่เกิดในเปตติวิสัยภูมิซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ อบายภูมิ เปรตมีหลายประเภท เช่นประเภทหนึ่งเรียกว่า ปรทัตตูปชีวิเปรต คือเปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร โบราณมีความเชื่อที่ว่า ถ้าใครทำร้ายพ่อแม่ ชาติหน้าจะไปเกิดเป็นผีเปรต[6]
การทำพลีกรรมแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือการทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตายว่า เปตพลี หรือ บุพเปตพลี
ประเภทของเปรต
[แก้]เปรตมีหลายประเภท เช่น
แบ่งตาม เปตวัตถุอรรถกถา
[แก้]แบ่งได้ 4 ประเภท
- ปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร
- ขุปปีปาสิกเปรต คือ เปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหยอยู่เป็นนิจ แสวงหาของไปยังที่ต่าง ๆ เมื่อเจอน้ำหรืออาหาร แต่เมื่อจะเอาอาหารเหล่านั้นเข้าปาก อาหารเหล่านั้นก็จะกลายหินหรือทราย ไม่สามารถกินได้ กรรมที่ทำให้เป็นเปรตประเภทนี้ เพราะเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว หวงแหนในทรัพย์ของตน ไม่เคยทำบุญทำทาน แม้ทำก็ทำด้วยความเสียดาย
- นิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
- กาลกัญจิกเปรต คือ เปรตในจำพวกอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต แต่ไม่ค่อยมีเลือดและเนื้อ มีสีคล้ายใบไม้แห้ง ตาโปนคล้ายตาปู มีปากเท่ารูเข็มอยู่กลางศีรษะ
แบ่งตาม คัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์
[แก้]แบ่งได้ 12 ประเภท
- วันตาสาเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติก่อนเป็นคนตระหนี่จับขั้วหัวใจ เห็นผู้ใดอดอยากมาขออาหาร ก็พาลโกรธถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ที่ควรเคารพบูชา เช่น โบสถ์ วิหาร ลานพระเจดีย์ แล้วไม่มีความเคารพต่อสถานที่ ได้ถ่มเสลดน้ำลายลงในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น เมื่อตายแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตในตระกูลนี้
- กุณปขาทาเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติที่เป็นมนุษย์มีความตระหนี่ เมื่อมีผู้มาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยความปรารถนาจะแกล้งประชด ไม่เคารพในทาน จึงมาเกิดเป็นเปรตประเภทนี้
- คูถขาทาเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งที่เป็นมนุษย์ มีความตระหนี่จัด เมื่อหมู่ญาติที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้คนมาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอข้าว ขอน้ำดื่ม จะเกิดอาการขุ่นเคืองขึ้นมาทันที ชี้ไปที่มูลสัตว์พร้อมกับบอกว่า “ถ้าอยากได้ ก็จงเอาไปกินเถิด แต่จะมาเอาข้าวปลาอาหาร ข้าไม่ให้หรอก” แล้วก็ขับไล่ไสส่ง ด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรตชนิดนี้
- อัคคิชาลมุขาเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกทั่วในปากตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน ไฟไหม้ปากไหม้ลิ้นเจ็บแสบเจ็บร้อน ครั้นทนไม่ได้ก็วิ่งร้องไห้ครวญครางไปไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์ ถึงกระนั้นไฟก็ไม่ดับ กลับเป็นเปลวเผาลนปากและลิ้นหนักเข้าไปอีก กรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่เหนียวแน่น เมื่อมีใคร มาขอ ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวคนอื่นดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังจะแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบ จะได้เลิกมาขอ เพราะไม่เห็นอานิสงส์ของการทำทาน
- สุจิมุขาเปรต คือ เปรตที่มีปากเล็กเท่าขนาดรูเข็ม จะได้อาหารมาบริโภคแต่ละครั้งก็ไม่พออิ่ม เพราะมีปากเท่ารูเข็ม อาหารไม่อาจจะผ่านช่องปากเข้าไปได้ง่ายๆ อยากกินแต่กินไม่ได้ ต้องทุกข์ทรมานแสนลำบาก ร่างกายผอมโซดำเกรียม กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนตระหนี่ในชาติที่เป็นมนุษย์ เมื่อมีใครมาขออาหาร ก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาที่จะถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีจิตหวงแหนทรัพย์สมบัติ ผลกรรมตามสนอง ต้องมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
- ตัณหาชิตาเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนจนเกิดทุกข์จากความหิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ เมื่อมองไปเห็นสระ บ่อ ห้วย หนอง ก็ตื่นเต้นดีใจ รีบวิ่งไปโดยเร็ว แต่ครั้นไปถึงแหล่งน้ำนั้น กลับกลายเป็นสิ่งอื่นด้วย อำนาจกรรมบันดาล กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อ ปิดหม้อ ไม่ให้คนอื่นได้ดื่มกิน ครั้นละโลกแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตอดอยากข้าวน้ำดังกล่าว
- นิชฌามักกาเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา สูงชะลูดดำทะมึน แลดูน่ากลัวมาก มีกลิ่นเหม็นเน่า มือและเท้าเป็นง่อย ริมฝีปากด้านบนห้อยทับริมฝีปากด้านล่าง มีฟันยาว มีเขี้ยวออกจากปาก ผมยาวพะรุงพะรัง มีความอดอยากเหลือประมาณ ยืนทื่ออยู่ที่เดิมไม่ท่องเที่ยวไปไหนเหมือนเปรตชนิดอื่น กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลก็โกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่า ท่านเหล่านั้นจะมาขอของตน จึงแสดงกิริยาอาการเยาะเย้ยถากถาง ขับไล่สมณพราหมณ์ เหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่เป็นคนแก่คนเฒ่า เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะความชรา แกล้งให้ท่านตกใจจะได้ตายไว ๆ ตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติ
- สัพพังคาเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีดเหมือนดาบและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาตะกายข่วนร่างกายตนเองให้ขาดเป็นแผลด้วยเล็บ แล้วกินเลือดเนื้อของตนเองเป็นอาหาร กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชอบขูดรีดชาวบ้าน เอาเปรียบผู้อื่น หรือบางครั้งชอบรังแกหยิกข่วนบิดามารดา ถ้าเป็นหญิงก็หยิกข่วนสามีของตน
- ปัพพตังคาเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าขนาดของภูเขา เวลากลางคืนสว่างไสวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ กลางวันเป็นควันล้อมรอบกาย เปรตเหล่านี้ต้องถูกไฟเผาคลอก นอนกลิ้งไปมาเหมือนขอนไม้ที่กลิ้งอยู่กลางไร่กลางป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องไห้ปานจะขาดใจ กรรมที่เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ได้เอาไฟเผาบ้าน เผาโรงเรียน เผากุฏิ วิหาร เป็นต้น
- อชครเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เดียรัจฉาน เช่น มีรูปร่างเป็นงูเหลือม เสือ ม้า วัว และควาย เป็นต้น แต่จะถูกไฟเผาไหม้ทั่วร่างกายทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่างเว้น แม้แต่วันเดียว กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เมื่อเห็นสมณพราหมณ์ ผู้มีศีลมาเยือน ก็ด่าเปรียบเปรยท่านว่า เสมอด้วยสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ เพราะไม่อยากให้ทาน หรือแกล้งล้อเลียนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ
- เวมานิกเปรต คือ เปรตที่มีสมบัติ คือ วิมานทองอันเป็นทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวกับเทวดาในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะเสวยทุกข์ ตามสมควรแก่กรรม กรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีศรัทธาในการสร้างบุญกุศลอื่น และมีความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป แม้รักษาศีลก็รักษาแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ตั้งใจรักษา
- มหิทธิกาเปรต คือ เปรตที่มีฤทธิ์และรูปงามดุจเทวดา แต่ว่าอดอยากหิวโหยอาหารอยู่ตลอดเวลา เหมือนเปรตชนิดอื่นๆ จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพบคูถมูตร และของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ บวชเป็นพระภิกษุสามเณร พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ จึงมีรูปงามผุดผ่องราวเทวดา แต่ไม่ได้บำเพ็ญธรรม มีใจเกียจคร้านต่อการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัยของบรรพชิต จิตใจจึงมากไปด้วยความโลภ โกรธ หลง มีความเข้าใจผิดว่า “เราบวชแล้ว รักษาแต่ศีลอย่างเดียวก็พอ ไม่เห็นต้องทำบุญให้ทานเหมือนฆราวาสเลย” ครั้นเมื่อละโลกจึงมาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้
แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี
[แก้]แบ่งได้ 21 ประเภท
- อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ
- มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ มีอาชีพเป็นคนฆ่าโค
- มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ มีอาชีพเป็นคนฆ่านกขาย
- นิจฉวิเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ มีอาชีพเป็นคนฆ่าแกะขาย ฆ่าแล้วถลกหนังไปขาย บางคราวก็ถลกหนังทั้งเป็น
- อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
- สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก
- อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
- สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
- ทุติยสูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
- กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
- คูถกูปนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
- คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ
- นิจฉวิตถิเปรต คือ เปรตหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้มและมักถูกแร้ง เหยี่ยว อีกา และ นกตะกรุมจิกทึ้งอยู่ตลอดเวลา กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีจิตใจไม่บริสุทธิ์ประพฤติตนนอกใจ ไปคบชู้อยู่กับบุรุษอื่นที่ไม่ใช่สามีของตนเอง ทำร้ายและฆ่าสามีจนถึงชีวิตโดยปราศจากหิริและโอตตัปปะ
- ทุคคันธเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
- โอกิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อยังมีชีวิตนั้น ได้ทำร้ายหรือฆ่าคนตายด้วยการใช้ถ่านเพลิงร้อน
- อสิสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ มีตาและปากอยู่ที่อก กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ คือ เป็นเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจร มีนามว่า หาริกะ อยู่ในพระนครราชคฤห์น
- ภิกขุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ ไม่น่าเกลียดน่ากลัว กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งยังมีชีวิตเป็นพระที่ไม่บำเพ็ญธรรมถึงจะบวชรักษาศีลแต่ประพฤติผิด เช่นมั่วสีกา มีความโลภในเรื่องของเงินทอง และ มีเรื่องทะเลาะกับญาติโยมอยู่ตลอด
- ภิกขุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภิกษุณี กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตชนิดนี้ เพราะเมื่อครั้งยังมีชีวิตเป็นภิกขุณีที่ไม่รักษาศีล ชอบทำผิดศีล ข้อ 3 และ ข้อ 4 เช่น เช่นมั่วผู้ชาย พูดจาให้เขาแตกแยกกัน รวมไปถึงชักชวนให้ทำบุญในทางที่ผิด
- สิกขมานเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิกขมานา
- สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร
- สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี
เปรตในสังคมไทย
[แก้]เปรตตามความเชื่อไทย เป็นผี มีรูปร่างสูงเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ผิวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญในงานบุญต่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมบุญได้แล้วเกิดใหม่ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งจากลักษณะนี้ทำให้คำว่า เปรต กลายมาเป็นคำด่าในภาษาไทยที่หมายถึง คนที่อดอยากผอมโซ เที่ยวรบกวนขอเขากิน หรือเมื่อมีใครได้โชคลาภก็เข้ามาขอแบ่งปัน[7]
เปรตวัดสุทัศน์
[แก้]เป็นความเชื่อแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับเรื่องราวของเปรตแห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เล่ากันว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ "
ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เรื่องเล่าเปรตวัดสุทัศน์ฯนั้น มาจากภาพวาดบนฝาผนังในอุโบสถ ที่เป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่เลื่องลือกันของผู้ที่ไปที่วัดแห่งนี้ว่าต้องไปดู และสิ่งที่ผู้คนเห็นว่าเป็นเปรตนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดแห่งนี้มายาวนานบอกว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเงาของเสาชิงช้าที่อยู่หน้าวัด ในสายหมอกยามเช้าต่างหาก[8]
ต่อมา เรื่องเปรตวัดสุทัศน์นี้ได้นำมาเขียนเป็นนวนิยาย และทำเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2546 ออกอากาศทางช่อง 7 นำแสดงโดย วรนุช วงษ์สวรรค์ และเอกรัตน์ สารสุข
เปรตกู้
[แก้]เปรตกู้ เคยปรากฏเป็นข่าวครึกโครมผ่านทางสื่อมวลชนมาครั้งหนึ่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เมื่อทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวหน้าหนึ่งว่า มีผู้บันทึกวิดีโอของเปรตได้ที่ป่าคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี รวมทั้งปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ในป่าแห่งนี้ได้อีกด้วย เช่น การตักบาตรกับต้นไม้โดยรุกขเทวดาซึ่งจะได้เป็นข้าวมธุปายาส เป็นต้น เมื่อวิดีโอชุดนี้ได้เผยแพร่ออกไป มีบุคคลจำนวนหนึ่งให้ความเชื่อถือ เช่น พ.อ.นพ.พงศักดิ์ ตั้งคณา นักพูดชื่อดัง รวมทั้งพระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดังเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เป็นต้น[9]
ต่อมา ความได้ปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้ว เรื่องทั้งหมดในเทปวิดีโอนั้น ล้วนแต่เป็นการจัดฉาก โดยบุคคลที่ชื่อ นายกิตติ ประภัสโรบล หรือที่นิยมเรียกกันว่า "อาจารย์กู้" ซึ่งนายกิตติได้มีพฤติกรรมหลอกลวงเช่นนี้มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว โดยในครั้งนี้นายกิตติได้แสดงเป็นเปรตจึงถูกเรียกว่า "เปรตกู้" ต่อมานายกิตติก็ได้ถูกตำรวจที่นำโดย พล.ต.ต.คงเดช ชูศรี จับกุม และถูกศาลพิพากษาให้จำคุกให้ข้อหาหลอกลวงประชาชน เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว นายกิตติได้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ [10][11]
อื่น ๆ
[แก้]ในกลางปี พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดลำปาง มีเด็กชายคนหนึ่งตื่นนอนขึ้นมากลางดึก และเห็นสิ่งประหลาดที่มีรูปร่างสูงมากนอกหน้าต่างมุ้งลวดจากห้องนอน จึงได้ถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต่อมาเป็นที่โจษจันกันว่าเป็นรูปเปรต แต่เมื่อรายการเรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง 7 ได้ขึ้นไปพิสูจน์ พบว่าเป็นเพียงเงาของเศษผ้าที่อุดมุ้งลวดที่ขาดเท่านั้นเอง[12]
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ. (ม.ป.ป.). ภูมิของเปรต. ค้นข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2550
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "As cultures come together, it's all in bad spirits". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
- ↑ Krishan, Y. (1985). "The Doctrine of Karma and Śrāddhas". Annals of the Bhandarkar Oriental Research Institute. 66 (1/4): 97–115.
- ↑ "Preta | Buddhist spirit". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tzohar, Roy (2017). "Imagine Being a Preta: Early Indian Yogācāra Approaches to Intersubjectivity". Sophia. 56 (2): 337–354.
- ↑ https://press.uchicago.edu/books/HOC/HOC_V2_B2/HOC_VOLUME2_Book2_chapter17.pdf
- ↑ เปรต[ลิงก์เสีย]
- ↑ เปรต เก็บถาวร 2012-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ [ลิงก์เสีย] รายการพินิจนคร ตอน สามแพร่งแห่งคลองรอบกรุง ปริศนารอบป้อมมหากาฬ ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552
- ↑ รวมข่าวเปรตกู้ จากไทยรัฐ
- ↑ ศาลฎีกาออกหมายจับ เปรตกู้ เบี้ยวไม่มาฟังพิพากษา
- ↑ เปรตกู้รอดคุก ให้รอลงอาญา
- ↑ วิดีโอคลิปรายการเรื่องจริงผ่านจอ