ละคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศิลปะการแสดงละคร)
ละคร

ละคร หมายถึงการแสดงรำที่เป็นเรื่องเป็นราว ดำเนินเรื่องไปโดยลำดับ มีตัวเอกของเรื่อง ฝ่ายชายเรียกว่าตัวพระ เพราะสมัยโบราณแสดงแต่เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นเรื่องของกษัตริย์ มีชื่อว่าพระต่าง ๆ เช่น พระอนิรุทธิ์ พระไชยเชษฐ์ พระอภัยมณี ฝ่ายหญิงเรียกว่า ตัวนาง เพราะในเรื่องที่แสดงมักชื่อว่านางต่าง ๆ เช่น นางสีดา นางบุษบา นางทิพย์เกสร ยังไม่มีการแบ่งเป็นนางสาวและนางที่มีสามีแล้ว และตัวประกอบอื่น ๆ แล้วแต่ในเรื่องจะมีละครมีหลายแบบ แต่ละละครมีการแสดงและความมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครถาม และละครดึกดำบรรพ์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการจดบันทึกโดย ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตแห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส ใน ปี ค.ศ. 1687 ถึงการแสดงละครสยาม ในราชสำนักของอยุธยาไว้ดังนี้

การแสดงประเภทที่เรียกว่า "ละคร" นั้นเป็นบทกวีที่ผสมผสานกัน ระหว่างมหากาพย์ และบทละครพูด ซึ่งแสดงกันยืดยาวไปสามวันเต็ม ๆ ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า จนถึง ๑ ทุ่ม ละครเหล่านี้เป็น ประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่เคร่งครึม และขับร้องโดยผู้แสดงหลายคนที่อยู่ในฉากพร้อม ๆ กัน และเพียงแต่ร้องโต้ตอบกันเท่านั้น โดยมีคนหนึ่งขับร้องในส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนที่เหลือจะกล่าวบทพูด แต่ทั้งหมดที่ขับร้องล้วนเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย ... ส่วน "ระบำ" นั้นเป็นการรำคู่ของหญิงชาย ซึ่งแสดงออกอย่างอาจหาญ ... นักเต้นทั้งหญิงและชายจะสวมเล็บปลอมซึ่งยาวมาก และทำจากทองแดง นักแสดงจะขับร้องไปด้วยรำไปด้วย พวกเขาสามารถรำได้โดยไม่เข้าพัวพันกัน เพราะลักษณะการเต้นเป็นการเดินไปรอบ ๆ อย่างช้า ๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แต่เต็มไปด้วยการบิดและดัดลำตัว และท่อนแขน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งกายของนักแสดงละครนั้น ลา ลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า:

"นักเต้นใน "ระบำ" และ "โขน" จะสวมชฎาปลายแหลมทำด้วยกระดาษมีลวดลายสีทอง ซึ่งดูคล้าย ๆ หมวกของพวกข้าราชการสยามที่ใส่ในงานพิธี แต่จะหุ้มตลอดศีรษะด้านข้างไปจนถึงใต้หู และตกแต่งด้วยหินอัญมณีเลียนแบบ และมีห้อยพู่สองข้างเป็นไม้ทาสีทอง

ละครโนรา[แก้]

นักแสดงโนรา ในสมัยรัชกาลที่ 6

ละครโนราเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด เป็นละครของชาวภาคใต้ ในสมัยโบราณผู้แสดงมีเพียง 3 คน เป็นผู้ชายล้วน แต่งตัวงามพิเศษอยู่แต่ตัวเอกซึ่งเป็นตัวพระ เรียกว่า ตัวยืนเครื่องเพียงคนเดียว ตัวนางก็ใช้ผ้าขาวม้าห่มโดยวิธีต่าง ๆ เช่น สไบเฉียง คาดอก และตะเบ็งมาน ตามฐานะ อีกคนหนึ่งเป็นตัวตลก ต้องแสดงเป็นตัวประกอบทุก ๆ อย่าง เป็นฤษี เป็นพราน เป็นม้า เป็นสัตว์ต่าง ๆ ตามเรื่อง ทุกคนไม่สวมเสื้อ แม้ตัวยืนเครื่องก็แต่งอาภรณ์กับตัวเปล่า เป็นละครที่มุ่งหมายตลกขบขัน และการดำเนินเรื่องรวดเร็ว ในสมัยปัจจุบันมีผู้หญิงแสดงร่วมด้วยและจำนวนผู้แสดงก็เพิ่มขึ้นไม่จำกัด การแต่งกาย มีการสวมเสื้อ ซึ่งประดับประดาด้วยลูกปัดเป็นอันมาก เครื่องดนตรีมี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) 2 ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกโหม่ง) ฉิ่ง และกรับ (ภาคใต้เรียกแกระ) โรงสมัยโบราณปลูกอย่างง่าย ๆ มีเสา 4 ต้น เป็นมุม 4 มุม กับเสากลางสำหรับผูกซองใส่เครื่องอุปกรณ์การแสดง เช่น ธง อาวุธต่าง ๆ เรียกว่า ซองคลี สมัยปัจจุบันมีตัวละครมากขึ้นต้องใช้โรงละครอย่างโรงละครนอก การแสดงเริ่มต้นด้วยไหว้ครู แล้วรำซัด แล้วจึงจับเรื่อง ผู้แสดงร้องเองบ้าง มีต้นเสียงร้องให้บ้าง นักดนตรีก็ร้องเป็นลูกคู่ด้วย ละครแบบนี้ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี การที่เรียกว่าโนราก็เพราะตามประวัติว่าครั้งแรกแสดงแต่เรื่องนางมโนห์รา จึงเรียกว่ามโนห์รา แต่สำเนียงพูดของชาวภาคใต้นั้นคำที่เป็นลหุอยู่ข้างหน้าจะตัดทิ้งไม่ต้องพูด เช่น ไปเล (ไปทะเล) ไปหลาด (ไปตลาด) มโนห์รา จึงเรียกเป็นโนรา

ละครนอก[แก้]

ละครนอกเป็นละครของภาคกลาง นัยว่าวิวัฒนาการมาจากมโนราห์ เพราะมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันคือ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และตลกขบขัน สมัยโบราณผู้แสดงผู้ชายล้วน เพิ่งมีผู้หญิงแสดงในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลทั่วไปมีละครผู้หญิง ในตอนหลังผู้แสดงเป็นผู้หญิงโดยมาก ผู้ชายเกือบจะไม่มี ตัวละคร มีครบทุกตัวตามเนื้อเรื่อง ไม่จำกัดจำนวน ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ได้ทั้งนั้น โรงละคร มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออก 2 ประตู หลังฉากเป็นที่แต่งตัว และสำหรับให้ตัวละครพัก หน้าฉากเป็นที่แสดงตั้งเตียงตรงกลางหน้าฉาก การแต่งกาย เลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ ตัวพระสวมชฎา ตัวนางสวมเครื่องประดับศีรษะตามฐานะ เช่น มงกุฎกษัตรี รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้า เสื้อผ้าปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว การแสดง มีคนบอกบท มีต้นเสียงและลูกคู่สำหรับร้อง บางตัวละครอาจร้องเอง การรำเป็นแบบแคล่วคล่องว่องไวพริ้งเพรา จังหวะของการร้องและการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็ว เวลาเล่นตลกมักเล่นนาน ๆ ไม่คำนึงถึงการดำเนินเรื่อง และไม่ถือขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ตัวกษัตริย์หรือมเหสีจะเล่นตลกกับเสนาก็ได้ เริ่มต้นแสดงก็จับเรื่องที่เดียว ไม่มีการไหว้ครู เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนานเป็นที่นิยมแพร่หลาย บทที่สามัญชนแต่งได้แก่ เรื่องแก้วหน้าม้า ลักษณวงศ์ และจันทโครพ บทที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย ไชยเชษฐ์ คาวี มณีพิชัย ไกรทอง

ละครใน[แก้]

ละครในเป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐานจึงเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผน สุภาพ ละครในมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ รักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้น เพลงร้อง เพลงดนตรี จึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้า เพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงาม ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่หรือ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ก็ได้โรงมีลักษณะเดียวกับโรงละครนอก แต่มักเรียบร้อยสวยงามกว่าละครนอก เพราะใช้วัสดุที่มีค่ากว่า เนื่องจากมักจะเป็นละครของเจ้านาย หรือผู้ดีมีฐานะ เครื่องแต่งกาย แบบเดียวกับละครนอก แต่ถ้าแสดงเรื่องอิเหนา ตัวพระบางตัวจะสวมศีรษะด้วยปันจุเหร็จในบางตอน (ปันจุเหร็จในสมัยปัจจุบัน มักนำไปใช้ในการแสดงเรื่องอื่น ๆ ด้วย) การแสดง มีคนบอกบท ต้นเสียง ลูกคู่ การร่ายรำสวยงามตามแบบแผน เนื่องจากรักษาขนบประเพณีเคร่งครัด การเล่นตลกจึงเกือบจะไม่มีเลย บทที่แต่งใช้ถ้อยคำสุภาพ คำตลาดจะมีบ้างก็ในตอนที่กล่าวถึงพลเมือง ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ตัวประกอบอาจเป็นผู้ชายบ้าง เรื่องที่ใช้แสดงละครใน แต่โบราณมีเพียง 3 เรื่อง คือ เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท โอกาสที่ใช้แสดง ในงานรื่นเริง

ละครพันทาง[แก้]

ละครพันทางเป็นละครแบบผสม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์รัชกาลที่4ทรงปรับปรุงการแสดงขึ้น มีลักษณะดังต่อไปนี้ ละครพันทางเป็นละครที่แสดงบนเวทีเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เรื่องตอนนั้นเป็นสถานที่ใด สวน ท้องพระโรง ห้องนอน หรือที่ใด ก็เขียนและจัดให้เป็นสถานที่นั้น

ท่ารำเป็นแบบผสม ละครแบบนี้มักจะแสดงเป็นเรื่องของต่างภาษา เช่น พม่า ลาว แขก จีน ท่ารำก็เป็นท่ารำของชาตินั้น ๆ ผสมกับท่ารำของไทย เพลงร้อง เพลงดนตรีก็ผสมตามภาษานั้นๆอาจเป็นเพลงภาษานั้นแท้ๆ หรือที่ไทยแต่งให้เป็นสำเนียงภาษานั้น ๆ และอาจมีเพลงไทยแท้ ๆ ผสมด้วยก็ได้ เครื่องแต่งตัว เป็นไปตามภาของเรื่องที่แสดงนั้น เช่น พม่าก็แต่งเป็นพม่า ลาวก็แต่งเป็นลาว และจีนก็แต่งเป็นจีนดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม

การแสดง มีทั้งต้นเสียง ลูกคู่ เป็นผู้ร้อง บางตอนตัวละครก็ร้องเอง การรำก็ผสมดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าเรื่องแสดงเป็นไทยล้วน ไม่มีภาษาอื่นเลย ก็ใช้ท่ารำไทยผสมกับท่ารำสามัญชน คือท่ารำของคนเรานี้ผสมกับท่ารำ เมื่อแสดงจบเนื้อเรื่องของฉากหนึ่งแล้ว ก็ปิดม่าน แล้วเปิดม่านแสดงฉากต่อไปทีละฉากจนจบเรื่องผู้แสดง มิได้กำหนดว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แล้วแต่สะดวก

เรื่องที่แสดง มักนิยมแสดงเรืองต่างภาษา เช่นเรื่องราชาธิราช พระลอ และสามก๊ก เรื่องที่เป็นไทยก็มีจำพวกเรื่องพระราชพงศาวดารบางตอน เช่น วีรสตรีถลาง คุณหญิงโม

ละครดึกดำบรรพ์[แก้]

ละครดึกดำบรรพ์เป็นละครที่นำแบบโอเปร่ามาใช้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงปรับปรุงขึ้น เพื่อให้คณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) แสดง ละครดึกดำบรรพ์ มีลักษณะดังต่อไปนี้

การแสดงแสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับละครพันทาง

ท่ารำ ใช้ท่ารำตามแบบแผน แต่ตัดทอนเพิ่มเติมและดัดแปลงให้พอเหมาะกับเพลงร้องและเพลงดนตรี

เพลงร้องและเพลงดนตรี ใช้เพลงไทยของเก่า แต่แก้ไขเปลี่ยนแปลงบางเพลงให้สั้นยาวพอเหมาะกับการแสดง กับมีเพลงที่พลิกแพลงให้แปลกและไพเราะยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกด้วย

การแสดง ผู้แสดงเป็นผู้ร้องในบทของตนเอง เพราะบทร้องเป็นบทคำพูดของตัวละครไม่มีบทบอกชื่อ บอกกิริยา หรือบอกอารมณ์ของตัวละคร รวมความว่าตัวละครทุกตัวพูดเป็นเพลง

ดนตรี เป็นวงปี่พาทย์ที่ปรับปรุงขึ้นเป็นพิเศษ มีแต่เครื่องดนตรีที่เสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่มีพวกเสียงดังเสียงสูง เสียงเล็กแหลมเลย คือไม่มีกลองทัด ปี่ใน ฆ้องวงเล็ก และระนาดเอกเหล็ก ส่วนระนาดเอกก็ตีด้วยไม้นวม เพื่อให้เสียงนุ่มนวลไม่แกร่งกร้าว มีสิ่งแปลกกว่าวงปี่พาทย์อื่น ๆ ก็คือ กลองตะโพน ซึ่งใช้ตะโพน 2 ลูก เอาเท้าที่ตั้งออกให้เหลือแต่ตัวตะโพน แล้วตั้งหน้าด้านใหญ่ขึ้น ติดข้าวสุกให้เสียงต่ำตีแทนกลองทัด ฆ้องชัย (หรือฆ้องหุ่ย) มี 7 ลูก เทียบเสียงเรียงลำดับกันเป็น 7 เสียง ตีห่างๆ อนุโลมอย่างเบสส์ของฝรั่ง

เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ปรับปรุงจากบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 โดยมาก เช่น คาวี สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย มณีพิชัย และอิเหนา ที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ได้แก่ เรื่องศกุลตลา พระเกียรติรถ และท้าวแสนปม และพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราชัย ได้แก่เรื่องพระยศเกตุ จันทกินรี และสองกรวรวิก รวมไปถึงบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสิทธิธนู ซึ่งมหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ได้แต่งขึ้นเพื่อมอบให้แด่เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) สำหรับนำไปใช้ในการแสดงด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่ม[แก้]

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง[แก้]

อ้างอิง[แก้]