ข้ามไปเนื้อหา

ท้าวแสนปม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ท้าวแสนปม เป็นตำนานพื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชร และแพร่กระจายออกไปจนทั่วภาคกลางตอนบน ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พงศาวดารโยนก สิงหนวัติกุมาร และจุลยุทธการวงศ์[1] เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมนี้เป็นบทละครรำไว้เมื่อ พ.ศ. 2456 ต่อมาใน พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาล ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบของบทละครดึกดำบรรพ์ออกมาอีกครั้ง ในบทพระราชนิพนธ์ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในตำนานที่ดำเนินไปตามอิทธิฤทธิ์ การดลบันดาลของเทพ เทวดา ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงวิเคราะห์ประกอบกับการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์[2] ตำนานระบุว่าท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา[3]

เนื้อเรื่องทั่วไป

[แก้]

เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาผู้ทรงสิริโฉม ใกล้เมืองไตรตรึงษ์มีชายที่มีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม มีอาชีพปลูกผัก วันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานึกอยากเสวยมะเขือ นางข้าหลวงพบมะเขือในสวนของแสนปมจึงซื้อไปถวายพระราชธิดาแต่ไม่นานก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้าตรัสถามพระราชธิดาว่าใครเป็นพ่อของเด็กแต่พระราชธิดาก็ไม่ยอมบอก ครั้งพระกุมารเติบใหญ่พอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้ขุนนางและเหล่าราษฎรทั้งหลายนำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกินของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาชายหนุ่มก็พากันมาเสี่ยงทายแต่พระราชโอรสไม่คลานไปหาใคร เจ้าเมืองได้ให้เสนาตามแสนปมที่ไม่ได้เข้าเสี่ยงทาย โดยได้ถือก้อนข้าวเย็นมา 1 ก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐาน และยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว จึงขับไล่ทั้งคู่ออกจากวัง

แสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ พระอินทร์ได้แปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ เป็นกลองสารพัดนึกว่าหากขออะไรจะได้ตามใจหวัง แสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่าเมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข ท้าวแสนปมใช้ทองคำมาทำเป็นอู่ (เปล) ให้พระโอรส และตั้งชื่อพระโอรสว่า อู่ทอง ในเวลาต่อมามาพระเจ้าอู่ทองได้มาสร้างกรุงศรีอยุธยา เรียกชื่อราชวงศ์อู่ทอง อีกชื่อว่าราชวงศ์เชียงราย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. รสิตา สินเอกเอี่ยม. "การศึกษาวัฒนธรรมการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 26.
  2. "ท้าวแสนปม : จากปมตำนานสู่ปมประวัติศาสตร์". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. โรม บุนนาค. "ร.๖ ทรงวินิจฉัย "ท้าวแสนปม" เรื่องปาฏิหาริย์เหลือเชื่อ ซ่อนความจริงที่เป็นไปได้ไว้!!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "ท้าวแสนปม". องค์การบริหารส่วนตำบลไตรตรึงษ์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร.