ข้ามไปเนื้อหา

เจรียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจรียง หรือ จำเรียง[1] ภาษาเขมรในสุรินทร์เรียกว่า จรีง หรือ จำรึ่ง เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่เน้นการขับร้องมากกว่าการร่ายรำ มักจะใช้กลอนสดเป็นส่วนใหญ่ เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร บรรยายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน การเรียกเจรียง จะเรียกตามชนิดของเครื่องดนตรีที่เล่นประกอบการเจรียง เช่น ถ้าใช้ปี่ที่มีชื่อว่า เป์ยจรวง เป่าประกอบเรียกว่า เจรียงจรวง ถ้าใช้ซอบรรเลงประกอบเรียก เจรียงตรัว และหากนำเจรียงไปขับขานกับการละเล่นพื้นบ้านอะไรก็จะใช้คำว่า เจรียงนำการละเล่นนั้น ๆ ซึ่งการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรในอีสานใต้และตามแนวชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาจะเน้นในการขับร้อง (เจรียง) มากกว่าการร่ายรำ มีทั้งเจรียงที่ร้องโต้ตอบเป็นคู่ ๆ ระหว่างชายหญิง และมีการร้องกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีผู้นำขับร้อง เรียกว่า หัวหน้า หรือ พ่อเพลง และแม่เพลง อาจจะมีลูกคู่คอยร้องรับในจังหวะ เช่น เจรียงซันตูจ เจรียงตรด เจรียงเบริน เป็นต้น ปัจจุบัน การละเล่นเจรียงเกือบทุกประเภทที่เคยได้รับความนิยมในอดีตได้ถูกหลงลืม และลดความสำคัญไปจากสังคมชาวไทยเขมร จนแทบจะไม่มีให้ชมให้ฟังอีกเลย

ประเภท

[แก้]

การเจรียงแบ่งออกได้หลายแบบ เช่น [2]

  • เจรียงซันตรูจ เป็นการร้องเล่นในเทศกาลต่าง ๆ โดยชายหนุ่มจะหาคันเบ็ดมาหนึ่งคัน แล้วใช้ขนมต้มหรือผลไม้ผูกไว้ที่เชือกเบ็ด แล้วนำเบ็ดไปหย่อนล่อหญิงสาวถ้าหญิงสาวผู้ใดรับเหยื่อก้แสดงว่ารัก
  • เจรียงกันกรอบกัย (เพลงปรบไก) เป็นการเล่นเจรียงคนเดียว ไม่มีดนตรีเป็นแบบแผน ส่วนใหญ่ใช้วิธีตบมือหรือสีซอเป็นการเจรียงแบบตลก
  • เจรียงจาเป็ย เป็นการขับร้องเดียวเป็นนิทาน ประกอบพิณกระจับปี่ มีผู้เล่นคนเดียวเป็นผู้ขับร้องและดีดจาเป็ย
  • เจรียง-จรวง แปลว่าขับร้องโดยปี่จรวงเป่าประกอบ เป็นการขับร้องโต้ถามกันเป็นเรื่องตำนาน สุภาษิตต่าง ๆ เดิมใช้ปี่จรวงประกอบแต่ปัจจุบันใช้ซอแทน
  • เจรียงนอรแก้ว มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 2 คน หญิง 2 คน เป็นการเล่นโต้ตอบระหว่างชายหญิง โดยแต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงและแม่เพลงร้องนำและมีลูกคู่ร้องตาม ต่อจากนั้นชาย-หญิงแต่ละฝ่ายจึงร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ โดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ
  • เจรียงปังนา เป็นการขับร้องคล้ายกับเจรียงนอรแก้ว แต่มีจังหวะเร็วกว่า มีผู้แสดงประกอบด้วยชาย 1 คน หยิง 1 คน กลองโทน 1 คน ขับร้องโดยบรรยายเรื่องราวตามต้องการ
  • เจรียงเบริน เป็นการร้องเพลงคลอกับซอแบบร้องคู่ชาย-หยิง คล้าย "หมอลำกลอน" ของชาวอีสานเป็นทำนองขับลำนำเรื่องราวหรือโต้ตอบซักถามนิทานชาดก
  • เจรียงตรุษ เป็นการร้องรำเป็นกลุ่มในวันขึ้นปีใหม่ (13 เมษายน) โดยมีพ่อเพลงร้องนำแล้วลูกคู่ก็ร้องตาม หรือร้องรับเดินทางเป็นคณะไปร้องอวยพรตามบ้านต่าง ๆ เมื่ออวยพรเสร็จก็จะขอบริจาคเงินเพื่อไปทำสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ลักษณะการร้องรำอันนี้คล้ายกับการเซิ้งบั้งไฟของชาวอีสานเหนือ
  • เจรียงกันตรึม ใช้ในงานมงคลโดยเฉพาะ เช่น กล่อมหอ ในงานแต่งงานขึ้นบ้านใหม่ มีผู้เล่นประกอบ 4 คน เป็นชายทั้งหมด เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่อ้อ 1 คน ซอด้วง 1 คน กลองโทน 2 คน คนตีกลองจะเป็นผู้ขับร้อง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศิลปะการแสดง เจรียง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-30. สืบค้นเมื่อ 2015-09-04.
  2. สถานีกันตรึม เจรียงจาเป็ย