วัดจองคำ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดจองกลาง)
วัดจองคำ
วัดจองคำ (ซ้ายหลัง) และวัดจองกลาง (ขวาหน้า)
แผนที่
ที่ตั้งตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดจองคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปรียบเสมือนเป็นวัดแฝดกับวัดจองกลางเนื่องจากตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้วเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการประกาศรวมเป็นวัดเดียวกันตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517 พื้นที่ด้านหน้าของวัดซึ่งเป็นสวนสาธารณะหนองจองคำ ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีตามประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีอีกด้วย

วัดจองคำ[แก้]

วัดจองคำสร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 โดยพระยาสิหนาทราชาหรือเจ้าเมืองคนแรกของแม่ฮ่องสอน ใช้ช่างฝีมือชาวไทใหญ่เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2518 และได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527[1]

อาคารเสนาสนะได้แก่ เจดีย์ หรือชาวไทใหญ่เรียกว่า กองมู มีลักษณะคล้ายมณีทบ รูปทรงจุฬามณี ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน พร้อมสิงห์ด้านละหนึ่งตัว ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งด้านละหนึ่งองค์ และเริ่มสร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 สร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2458 โดยศรัทธาขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดี ชาวแม่ฮ่องสอนและในองค์พระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้[2]

อุโบสถเป็นอาคารรูปทรงมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 12 แมตร หลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กรูป พระเจดีย์ 5 ยอด ภายในเขียนภาพพุทธประวัติบนฝาผนัง บานประตู หน้าต่างทำด้วยไม้แกะสลัก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ทางวัดได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2522 เบิกพระเนตรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2523 วิหารหลวงพ่อโตภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ หลวงพ่อโต สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยช่างชาวพม่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 เมตร จำลองมาจากพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม วิหารมีความผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทใหญ่ผสมตะวันตก อาคารมีผังเป็นรูปตัวแอล ผนังก่ออิฐถือปูน ประตู หน้าต่างตอนบนโค้ง ประดับลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หลังคามุงสังกะสี เชิงชายมีลูกไม้ฉลุแบบขนมปังขิง[3]

วัดจองกลาง[แก้]

วัดจองกลาง เรียกเช่นนี้เพราะตั้งอยู่ระหว่างวัดจองคำ และวัดจองใหม่ (โรงเรียนพระปริยัติธรรม) เดิมเป็นศาลาที่พักคนมาจำศีลในวันพระ เมื่อเจ้าอาวาสวัดจองใหม่รูปสุดท้ายได้มรณภาพไป มีพระภิกษุจากเมืองหมอกใหม่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ และเข้ามาพักอาศัยในศาลาเย็นดังกล่าว คณะศรัทธาเคารพนับถือพระภิกษุองค์นี้เป็นอย่างมาก จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาประจำศาลาต่อไป จนเมื่อ พ.ศ. 2410 ลุงจองจายหล่อ, ลุงพหะจ่า, ลุงจองตุ๊ก, พ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) และลุงจองจ่อ ได้ร่วมกันสร้างวัด หลังคามุงด้วยสังกะสีฉลุลวดลายแบบสถาปัตยกรรม โดยช่างฝีมือชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะห้องทางด้านหลังทิศตะวันออก ตามฝาผนังประดับภาพรวม 180 ภาพ โดยมีช่างฝีมือช่างพม่า เมื่อสร้างเสร็จเรียกว่า "วัดจองกลาง" ปีต่อมาพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) แม่จองเฮือน มีจิตศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม มุขสี่ด้าน แต่ละด้านสร้างสิงห์ไว้ 1 ตัว พร้อมกับสร้างศาลาวิปัสสนาติดองค์พระธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกหลังคาทรงปราสาททำด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456[4]

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการประกาศรวมวัดจองกลางกับวัดจองคำเป็นวัดเดียวกันตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517 มีนามว่า "วัดจองคำ"[5]

อาคารเสนาสนะของวัดจองกลาง ได้แก่ เจดีย์วิหารเล็กด้านหน้าศาลาการเปรียญติดหนองจอง สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัดจองกลาง เจดีย์วิหารมีหลังคาเรือนยอดทรงปราสาทซ้อนถึงห้าชั้น ส่วนยอดของหลังคาที่สูงที่สุดประดับด้วยฉัตรทองสามชั้น หลังคามุงสังกะสี มีโลหะฉลุลายตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ ของหลังคาและเชิงชาย วิหารใหญ่เป็นอาคารอเนกประสงค์ คือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ใช้ประกอบพิธีกรรมงานบุญประเพณี จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นหอฉันและกุฏิของเจ้าอาวาส

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดจองคำ". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
  2. "วัดจองคำพระอารามหลวง". มิวเซียมไทยแลนด์.
  3. "วัดจองคำ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-08.
  4. "วัดจองกลาง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).[ลิงก์เสีย]
  5. "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รวมวัดจองกลาง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.