ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาตังกุต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาตังกุต
ซีเซี่ย
𗼇𗟲
จารึกทางพระพุทธศาสนาเขียนด้วยอักษรตังกุต
ประเทศที่มีการพูดเซี่ยตะวันตก
ชาติพันธุ์ชาวตังกุต
ยุคยืนยันที่ ค.ศ. 1036–1502
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนอักษรตังกุต
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการเซี่ยตะวันตก
รหัสภาษา
ISO 639-3txg
นักภาษาศาสตร์txg
หน้าจาก 番漢合時掌中珠

ภาษาตังกุต (Tangut) หรือ ภาษาซีเซี่ย (ตังกุต: 𗼇𗟲; จีน: 西夏语; พินอิน: Xī Xiàyǔ; แปลตรงตัว: "ภาษาเซี่ยตะวันตก") เป็นตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่าโบราณใช้พูดในจักรวรรดิตังกุต มีความใกล้เคียงกับภาษาทิเบต ภาษาพม่า และอาจมีความใกล้เคียงกับภาษาจีนด้วย เป็นภาษาราชการในจักรวรรดิตังกุต (ภาษาจีนเรียก ซีเซี่ย 西夏) ซึ่งเป็นอิสระในสมัยราชวงศ์ซ่ง(ซ้อง)เมื่อราว พ.ศ. 1544 และถูกปราบปรามโดยจักรวรรดิมองโกลใน พ.ศ. 1770[1] มีอักษรเป็นของตนเองเรียกอักษรตังกุต

การจัดลำดับ

[แก้]

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 2010 นักตังกุตวิทยา (Tangutologists) หลายคนจัดให้ภาษาตังกุตอยู่ในกลุ่มภาษาเชียงหรือกลุ่มภาษาเจียรง[2][3] Lai et al. (2020) จัดให้ภาษาตังกุตอยู่ในกลุ่มภาษาเจียรงตะวันตกตามหลักฐานทั้งทางวิทยาหน่วยคำและคำศัพท์[4]

การค้นพบ

[แก้]

เอกสารภาษาตังกุตที่เก่าที่สุดเป็นพระสูตรทางพุทธศาสนาอายุราว พ.ศ. 1745 ซึ่งแสดงว่าภาษานี้ยังคงใช้อยู่ในช่วง 300 ปีหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิตังกุต

เอกสารภาษาตังกุตส่วนใหญ่ที่พบพบที่เมืองคารา-โคโต (Khara-Khoto) เมื่อ พ.ศ. 2451 โดย Pyotr Kuzmich Kozlov ปัจจุบันเอกสารเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่สถาบันตะวันออกศึกษา สาขาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของสมาคมวิทยาศาสตร์รัสเซีย เอกสารที่เก็บรักษาไว้นี้ประกอบด้วยเอกสาร 10,000 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นพระสูตรทางพุทธศาสนา กฎหมายและเอกสารทางราชการ อายุราว พุทธศตวรรษที่ 16-18 ในกลุ่มของเอกสารทางพุทธศาสนา มีเอกสารที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งไม่ปรากฏในฉบับภาษาจีนและภาษาทิเบตในปัจจุบัน และยังพบเอกสารเกี่ยวพระอวโลกิเตศวรที่พบเฉพาะในภาษาตังกุต นอกจากนี้มีการเก็บรักษาเอกสารภาษษตังกุตจำนวนน้อยในพิพิธภัณฑ์บริติช หอสมุดแห่งชาติที่ปักกิ่ง ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยปักกิ่งและห้องสมุดอื่นๆ

การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอักษรตังกุตเริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 25เมื่อ M. Maurisse ได้รับสำเนาของพระสูตรดอกบัวที่เขียนด้วยภาษาตังกุต โดยเป็นการวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวจีน หลังการค้นพบห้องสมุดคารา-โคโตโดย Pyotr Kuzmich Kozlov ตัวอักษรนี้ถูกจำแนกว่าเป็นของจักรววรดิตังกุตในซีเซี่ย จากนั้นจึงเริ่มศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง นักวิจัยที่มีบทบาทสำคัญคือ N.A. Nevskij ชาวรัสเซียที่สร้างพจนานุกรมภาษาตังกุตเล่มแรก และสร้างความหมายของหน่วยทางไวยากรณ์ของภาษาตังกุตขึ้นมาใหม่ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะอ่านและเข้าใจภาษาตังกุต งานวิจัยของเขาได้รับการเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2503 และได้รับรางวัลจากสหภาพโซเวียต แต่ความสำเร็จในการเข้าใจภาษาตังกุตอย่างสมบูรณ์ยังห่างไกล โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างประโยคที่ยังค้นไม่พบ

การจัดโครงสร้างใหม่

[แก้]

ความเชื่อมโยงระหว่างการเขียนและการอ่านออกเสียงของภาษาตังกุตเข้าใจยากกว่าระหว่างอักษรจีนกับภาษาจีนปัจจุบัน มีลักษณะของอักษรจีน 90% ที่แสดงหน่วยทางสัทศาสตร์ แต่พบเพียง 10% ในภาษาตังกุต จากงานของ Sufronov การสร้างการออกเสียงของชาวตังกุตขึ้นมาใหม่ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งอื่น

การค้นพบเอกสารสองภาษาจีน-ตังกุต ทำให้ Ivanov และ Laufur สามารถเริ่มต้นการสร้างใหม่และศึกษาเปรียบเทียบภาษาตังกุตได้ แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งคือคู่มือการแปลภาษาทิเบตเป็นภาษาตังกุตซึ่งมีการศึกษาเป็นครั้งแรกโดย Nevsky แต่ข้อมูลทั้งสองแหล่งยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างระบบภาษาตังกุตขึ้นมาทั้งหมด ในคู่มือไม่ได้แสดงการออกเสียงที่ถูกต้องของภาษาตังกุต โดยเป็นคู่มืออย่างง่ายเพื่อช่วยชาวต่างชาติออกเสียงและจดจำคำของภาษาหนึ่งด้วยคำของอีกภาษาหนึ่งที่พวกเขาสามารถจดจำได้ แหล่งที่สามมีพื้นฐานมาจากการสร้างใหม่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยพจนานุกรมภาษาตังกุตฉบับต่างๆ การบันทึกการออกเสียงในพจนานุกรมนี้ใช้หลักการของ fanqie ซึ่งยืมมาจากรูปแบบการออกเสียงภาษาจีน

N.A. Nevsky ได้สร้างรูปแบบทางไวยากรณ์ของภาษาตังกุตขึ้นมาใหม่และสร้างพจนานุกรมตังกุต-จีน-อังกฤษควบคู่ไปกับการนำเสนอผลงานเมื่อ พ.ศ. 2503 ในปัจจุบันมีการสอนทางด้านตังกุตศึกษาในจีนมากขึ้น รวมถึงมีการเรียนการสอนในไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

สำหรับในอังกฤษนั้น ในปี พ.ศ. 2561 ทางภาควิชาภาษาตะวันออก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็ได้เปิดการเรียนภาษาตังกุตขั้นพื้นฐาน โดย ด.ร. เผิงเซี่ยงเฉียน (彭向前) ผู้เชี่ยวชาญภาษาตังกุตจากมหาวิทยาลัยหนิงเซี่ย ประเทศจีน มาทำการสอนที่เคมบริจด์เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร. อิมเร กลัมบอส (Dr Imre Galambos) ผู้เชี่ยวชาญด้านตังกุตวิทยาและตุนหวงวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำให้มหาวิทยาลัยเคมบริจด์เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาหลักที่สำคัญด้านตังกุตวิทยา(Tangutology) ประจำภูมิภาคยุโรป ที่ยังทำการสอนด้านนี้อยู่ในปัจจุบัน

สัทวิทยา

[แก้]

พยางค์ในภาษาตังกุตมีโครงสร้างแบบ CVC และมีวรรณยุกต์สองเสียง

พยัญชนะ

[แก้]
ชื่อภาษาจีน คำแปลภาษาอังกฤษ ศัพท์ใหม่ Arakawa Gong
重唇音類 heavy lip bilabials p, ph, b, m p, ph, b, m
軽唇音類 light lip labio-dentals f, v, w
舌頭音類 tongue tip dentals t, th, d, n t, th, d, n
舌上音類 upper tongue ty', thy', dy', ny'
牙音類 ga-like velars k, kh, g, ng k, kh, g, ŋ
歯頭音類 tooth tip dental affricates and fricatives ts, tsh, dz, s ts, tsh, dz, s
正歯音類 true tooth palatal affricates and fricatives c, ch, j, sh tɕ, tɕh, dʑ, ɕ
候音類 laryngeals ', h ., x, ɣ
流風音類 flowing air resonants l, lh, ld, z, r, zz l, lh, z, r, ʑ

สระ

[แก้]
普通母音 緊候母音 捲舌母音
close i I u iq eq uq ir Ir ur
mid e o eq2 oq er or
open a aq ar

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Khara-Khoto: The Black City" (PDF). IDP News: Newsletter of the International Dunhuang Project (ภาษาอังกฤษ). No. 2. January 1995. pp. 2–3. ISSN 1354-5914. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2009-07-03.
  2. Gong, Xun (2020). "Uvulars and Uvularization in Tangut Phonology". Language and Linguistics (ภาษาอังกฤษ). 21 (2): 175–212. doi:10.1075/lali.00060.gon. S2CID 216275709.
  3. Jacques, Guillaume (2012). "The Tangut Kinship System in Qiangic Perspective". ใน Hill, Nathan W. (บ.ก.). Medieval Tibeto-Burman Languages IV (ภาษาอังกฤษ). Brill. pp. 211–257. doi:10.1163/9789004233454_010. ISBN 978-90-04-23345-4.
  4. Lai, Yunfan; Gong, Xun; Gates, Jesse P.; Jacques, Guillaume (2020-12-01). "Tangut as a West Gyalrongic language". Folia Linguistica. Walter de Gruyter GmbH. 54 (s41–s1): 171–203. doi:10.1515/flih-2020-0006. ISSN 1614-7308. S2CID 229165606.

ข้อมูล

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]