ภัยพิบัติแห่งอียิปต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉากในหนังสืออพยพ ตอนการตายของบุตรหัวปี ซึ่งรวมไปถึงโอรสหัวปีของฟาโรห์; ชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ ภาพวาดในศตวรรษที่ 14

ภัยพิบัติแห่งอียิปต์ในหนังสืออพยพ เป็นภัยพิบัติ 10 ชนิดที่พระผู้เป็นเจ้าของชาวอิสราเอลส่งผลกระทบต่ออียิปต์เพื่อโน้มน้าวให้ฟาโรห์ปลดปล่อยวงศ์วานอิสราเอลที่ตกเป็นทาสไป ภัยพิบัติแต่ละครั้งส่งผลต่อฟาโรห์และหนึ่งในเทพเจ้าอียิปต์[1] ภัยพิบัติทำหน้าที่เป็น "หมายสำคัญ" ของพระผู้เป็นเจ้าต่อการเยาะเย้ยของฟาโรห์ที่ว่าพระองค์ไม่รู้จักพระยาห์เวห์: "ชาวอียิปต์จะได้รู้ว่าเราคือพระยาห์เวห์"[2]: 117 

มีการอ่านภัยพิบัติแห่งอียิปต์ในช่วงระเบียบปัสกา

ภัยพิบัติ[แก้]

น้ำที่กลายเป็นเลือด[แก้]

ภัยพิบัติแรก: น้ำถูกเปลี่ยนเป็นเลือด, ภาพโดยเจมส์ ติโซ

ด้วยองค์ฟาโรห์ ทรงไม่ใส่ใจต่อการเข้าเฝ้าครั้งแรกของโมเสสและอาโรน พระเจ้าจึงทรงให้ทั้งสองเข้าเฝ้าฟาโรห์อีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อสำแดงภัยพิบัติครั้งแรกแก่อียิปต์

เช้าวันรุ่งขึ้นโมเสสและอาโรนจึงไปเข้าเฝ้าองค์ฟาโรห์ ณ ริมแม่น้ำไนล์ โดยอาโรนได้นำไม้เท้าไปด้วย โมเสส จึงแจ้งแก่ฟาโรห์ให้ปล่อยชนชาวอิสราเอล หากไม่เช่นนั้น พระเจ้าจะทรงกระทำให้แม่น้ำ ลำคลอง และบึงต่าง ๆ กลายเป็นโลหิต ปลาในแม่น้ำจะตาย และชาวอียิปต์จะดื่มน้ำจากแม่น้ำไนล์ไม่ได้ แต่ฟาโรห์ก็ไม่สนพระทัยต่อคำพูดของทั้งสอง

พระเจ้าทรงสั่งให้อาโรน ยกไม้เท้าขึ้นตีน้ำในแม่น้ำไนล์ ต่อพระพักตร์ฟาโรห์ และบรรดาข้าราชบริพาร น้ำในแม่น้ำไนล์ก็กลายเป็นโลหิต ปลาในแม่น้ำก็ตายสิ้น และน้ำนั้นก็ดื่มกินไม่ได้ แต่เหล่าบรรดาวิทยากลของอียิปต์ ก็สามารถกระทำกลเช่นนี้ได้เช่นกัน องค์ฟาโรห์จึงยังทรงไม่เชื่อทั้งสอง ดังนั้นชาวอียิปต์จึงต้องขุดบ่อเพื่อหาน้ำดื่ม เนื่องจากดื่มน้ำจากแม่น้ำไนล์ไม่ได้[3]

กบ[แก้]

หลังภัยพิบัติแรกผ่านไป 7 วัน พระเจ้าจึงทรงใช้ให้โมเสสและอาโรน ไปเข้าเฝ้าฟาโรห์อีกครั้ง แจ้งแก่องค์ฟาโรห์ให้ปล่อยชาวอิสราเอลไปเสีย มิฉะนั้นพระเจ้าจะทรงให้ฝูงกบในแม่น้ำไนล์ ขึ้นมาจนเต็มแผ่นดินอียิปต์ แต่องค์ฟาโรห์ก็มิได้สนใจ พระเจ้าจึงให้อาโรนชูไม้เท้าเหนือแม่น้ำ ฝูงกบก็พากันขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์จนเต็มแผ่นดิน แต่เหล่านักแสดงกล ก็สามารถแสดงกลเรียกกบขึ้นมาจากแม่น้ำได้ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อฝูงกบอยู่กันเต็มเมือง องค์ฟาโรห์จึงเรียกโมเสสและอาโรน เข้าพบ และให้สัญญาหากทั้งสองทูลต่อพระเจ้าให้ฝูงกบไปเสียจากแผ่นดินอียิปต์ องค์ฟาโรห์จะยอมให้ชาวอิสราเอลออกเดินทางได้ในวันรุ่งขึ้น โมเสส จึงร้องทูลพระเจ้า และฝูงกบก็พากันตายสิ้นทั้งแผ่นดิน[4]

ริ้น[แก้]

ครั้นเมื่อฝูงกบตายเสียสิ้น ความเดือดร้อนก็บรรเทาไปแล้ว องค์ฟาโรห์จึงทรงไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะให้อิสราเอลออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าจึงให้โมเสสและอาโรน เข้าเฝ้า ฟาโรห์ และให้อาโรนเอาไม้เท้าตีฝุ่นดิน ให้กลายเป็นริ้นทั่วประเทศอียิปต์

ครั้งนี้เหล่านักแสดงกลของฟาโรห์ ไม่สามารถแสดงกลทำให้ฝุ่นกลายเป็นริ้นได้ จึงทูลต่อฟาโรห์ว่า "นี่เป็นกิจการแห่งนิ้วพระหัตถ์พระเจ้า" แต่ฟาโรห์ก็มิได้สนพระทัย[5]

เหลือบ[แก้]

วันรุ่งขึ้น พระเจ้าทรงให้โมเสสไปรอพบฟาโรห์ ที่ริมแม่น้ำไนล์ และทูลต่อพระองค์ว่า หากไม่ทรงอนุญาตให้อิสราเอลออกไปนมัสการพระเจ้า ณ ถิ่นทุรกันดาร พระเจ้าก็จะทรงบันดาลให้ฝูงเหลือบอยู่เต็มประเทศอียิปต์ ยกเว้นแต่เมืองโกเชนที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ จะไม่มีเหลือบเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าของอิสราเอล

องค์ฟาโรห์ทรงไม่ยอมเช่นเดิม พระเจ้าจึงทรงให้ฝูงเหลือบบินเต็มทั่วเมืองอียิปต์ ยกเว้นแต่เมืองโกเชน ฟาโรห์จึงทรงให้เรียก โมเสส และอาโรน มาพบ และรับสั่งให้ อิสราเอล ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าในอียิปต์ มิให้ออกไปนอกเมือง แต่โมเสสทูลแย้งว่า การถวายเครื่องบูชาของอิสราเอลต้องฆ่าสัตว์ต้องห้ามของอียิปต์ จึงจำเป็นต้องไปกระทำในถิ่นทุรกันดาร

องค์ฟาโรห์จึงว่า "เราจะปล่อยพวกเจ้าไป เพื่อจะได้ถวายสัตวบูชาแด่พระเจ้าของเจ้าในถิ่นทุรกันดาร แต่ว่าพวกเจ้าอย่าไปให้ไกลนัก จงวิงวอนเพื่อเราด้วย" โมเสสจึงอธิษฐานต่อพระเจ้าให้ฝูงเหลือบไปจากแผ่นดินอียิปต์[6]

ฝูงสัตว์[แก้]

เมื่อสิ้นฝูงเหลือบ องค์ฟาโรห์ก็ทรงละเลยต่อสัญญาของพระองค์อีกครั้ง พระเจ้าจึงทรงให้โมเสสเข้าไปทูลต่อฟาโรห์ว่า หากพระองค์ไม่ยอมปล่อยคนของพระเจ้าไปนมัสการพระองค์ พระเจ้าจะทรงกระทำให้ฝูงสัตว์ของอียิปต์ ทั้งม้า ลา อูฐ โค แพะ และแกะ เป็นโรคระบาดร้ายแรง และยกเว้นฝูงสัตว์ของคนอิสราเอลที่จะไม่เป็นโรค โดยกำหนดโรคระบาด คือ วันถัดไป

แต่องค์ฟาโรห์ ก็มิได้สนพระทัย วันรุ่งขึ้นฝูงสัตว์ของอียิปต์ก็พากันตายหมด เหลือเพียงฝูงสัตว์ของอิสราเอล แต่ฟาโรห์ก็ยังไม่ทรงปล่อยชาวอิสราเอลออกไป[7]

ฝี[แก้]

ภัยพิบัติที่หก ภาพจากคำภีร์ไบเบิลฉบับ Toggenburg (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ในปีค.ศ. 1411

พระเจ้าทรงให้โมเสสกำเขม่าจากเตาไฟเต็มฝ่ามือ ไปเข้าเฝ้าฟาโรห์และเมื่ออยู่ต่อหน้าฟาโรห์ ก็ซัดเขม่านั้นออกไป เขม่านั้นก็กลายเป็นฝุ่นกระจายไปทั่วอียิปต์ ทำให้ชาวอียิปต์กลายเป็นฝีแตกลามทั้งตัว รวมไปถึงเหล่านักแสดงกลของฟาโรห์ ก็เป็นฝีทั่วตัวด้วยเช่นกัน แต่องค์ฟาโรห์ก็ไม่ยอมปล่อยอิสราเอลออกไป[8]

ลูกเห็บ[แก้]

พระเจ้าทรงให้โมเสสเข้าเฝ้าฟาโรห์แต่เช้า และทูลต่อพระองค์ว่า หากฟาโรห์ไม่ยินยอมปล่อยชาวอิสราเอลไป วันรุ่งขึ้น พระเจ้าจะให้มีลูกเห็บตกลงทั่วแผ่นดินอียิปต์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเตือนให้ผู้คนและสัตว์ทั้งหลายหลบอยู่ในที่กำบัง มิฉะนั้นจะโดนลูกเห็บเสียชีวิต

เหล่าข้าราชบริพารส่วนใหญ่ก็เกรงกลัว จึงได้นำฝูงสัตว์หลบในที่กำบัง และเมื่อถึงเวลา พระเจ้าก็ทรงบันดาลให้มีลูกเห็บ และฟ้าร้อง ลูกเห็บที่ตกลงในแผ่นดินอียิปต์ครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด จึงทำลายพืชผลของอียิปต์ทั้งแผ่นดิน ยกเว้นแต่ในเมืองโกเชนที่อิสราเอลอาศัยอยู่ ไม่มีลูกเห็บตกเลย

ฟาโรห์จึงทรงให้คนไปตามโมเสสและอาโรนมา แจ้งว่า "ครั้งนี้เราทำบาปแน่แล้ว พระเจ้าเป็นฝ่ายถูก เราและชนชาติของเราผิด..." แต่โมเสสก็ทราบว่าที่ฟาโรห์กล่าวเช่นนั้นมิได้ยำเกรงพระเจ้าจริง แต่เมื่อโมเสสออกจากเข้าเฝ้าฟาโรห์ ก็ทูลขอต่อพระเจ้าให้ลูกเห็บหยุดตก ฟาโรห์ก็ยังคงแข็งขืน มิยอมให้อิสราเอลออกจากอียิปต์ไป[9]

ฝูงตั๊กแตน[แก้]

พระเจ้าก็ทรงให้ โมเสส และอาโรน เข้าเฝ้าฟาโรห์ อีกครั้ง แจ้งว่าครั้งนี้ พระเจ้าจะทรงให้เกิดฝูงตั๊กแตนเข้าทำลายพืชผลที่เหลือรอดจากลูกเห็บเสียสิ้น บรรดาข้าราชบริพารจึงพากันทูลขอให้ฟาโรห์ปล่อยพวกเขาไป

ฟาโรห์จึงให้โมเสสและอาโรน นำอิสราเอลไปนมัสการพระเจ้าได้ แต่ให้นำไปได้เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงต้องอยู่ในอียิปต์ ดังนั้นเมื่อโมเสสกลับจากเข้าเฝ้า พระเจ้าจึงทรงให้มีฝูงตั๊กแตนจำนวนมากเข้าทำลายพืชผลทั่วแผ่นดินอียิปต์

ฟาโรห์จึงให้เรียกโมเสสและอาโรนมาเฝ้า และขอให้ทูลต่อพระเจ้าให้ไล่ฝูงตั๊กแตนไปเสีย โมเสสก็ทูลขอต่อพระเจ้า แต่ฟาโรห์ก็เปลี่ยนพระทัย ไม่ยอมให้อิสราเอลออกไปจากอียิปต์อีก[10]

ความมืด[แก้]

การสังหารเด็กแรกเกิดและความมืดในอียิปต์ ป. ค.ศ. 1490, ภาพพิมพ์ไม้ทาสี, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน, Rosenwald Collection, 1943.3.716

ต่อมาพระเจ้าจึงทรงทำให้ท้องฟ้าเหนือแผ่นดินอียิปต์มืดไป เป็นเวลา 3 วัน ชาวเมืองไม่สามารถไปไหนได้ เพราะมองไม่เห็น ยกเว้นแต่เมืองที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ที่มีแสงสว่าง ฟาโรห์จึงให้ตามต้ว โมเสส และอาโรน มา แจ้งว่าจะทรงอนุญาตให้นำผู้คนได้นนัสการพระเจ้าได้ทุกคน แต่ไม่ทรงอนุญาตให้นำฝูงสัตว์ไป โมเสสจึงแจ้งว่า "ต้องโปรดประทานให้มีเครื่องสัตวบูชา และเครื่องเผาบูชาติดมือไปด้วย...ข้าพระบาทต้องนำฝูงสัตว์ไปด้วย ขาดไม่ได้สักกีบเดียว..." องค์ฟาโรห์จึงทรงพิโรธ ขับไล่ทั้งสองออกไป และกล่าวว่า "อย่ามาให้เราเห็นหน้าอีกเลย เพราะถ้าเจ้าเห็นหน้าเราวันใด เจ้าจะต้องตายวันนั้น" [11]

มรณกรรมของบุตรหัวปี[แก้]

นี่เป็นภัยพิบัติสุดท้ายที่พระเจ้าทรงกระทำต่ออียิปต์ และเป็นภัยพิบัติที่เป็นเหตุให้องค์ฟาโรห์ต้องอนุญาตให้อิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ไปได้ และภัยพิบัตินี้ ก็เป็นที่มาของพิธีปัสกา หนึ่งในพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวมาจนทุกว้นนี้

ก่อนที่พระเจ้าจะทรงประทานภัยพิบัตินี้ พระเจ้าทรงให้โมเสสไปรวบรวมคนอิสราเอล จัดเก็บทรัพย์สิ่งของ และฝูงสัตว์เพื่อเตรียมเดินทางออกจากอียิปต์ และโมเสสก็แจ้งว่าในคืนนั้น พระเจ้าจะทรงออกไปท่ามกลางอียิปต์ และนำบุตรหัวปีของอียิปต์ ตั้งแต่ราชบุตรหัวปีของฟาโรห์ จนถึงบุตรหัวปีของเหล่าทาส สัตว์เลี้ยงไปเสียสิ้นทั้งแผ่นดินอียิปต์ แต่จะไม่ทรงแตะต้องคนอิสราเอลเลย[12]

ก่อนถึงเวลาเที่ยงคืน โมเสสให้อิสราเอลถือปัสกาเพื่อเป็นเครื่องหมายให้พระเจ้าทรงทราบว่าบ้านหลังใดเป็นของอิสราเอล จะได้ทรงผ่านไปเสีย และเมื่อเวลาเที่ยงคืน คืนนั้นก็เกิดภัยพิบัติสุดท้ายแก่อียิปต์ ทุกบ้านต่างเสียบุตรชายหัวปีไปเสียสิ้น ฟาโรห์และชาวอียิปต์ทั้งสิ้นจึงต่างเร่งรัดให้อิสราเอลทั้งผู้คน สัตว์เลี้ยง และทรัพย์สิ่งของออกไปจากแผ่นดินอียิปต์ รวมเวลาที่อิสราเอลอยู่ในอียิปต์เป็นเวลา 430 ปี คนอิสราเอลที่ออกเดินทางจากอียิปต์มีจำนวนนับเฉพาะผู้ชาย ได้ประมาณ หกแสนคน เป็นอันจบภัยพิบัติที่มีต่ออียิปต์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของชนชาติอิสราเอล[13]

การประพันธ์และเทววิทยา[แก้]

a page from the Rothschild Haggadah depicting the plagues, from the collections of the National Library of Israel
หน้าจาก Rothschild Haggadah ที่มีภาพภัยพิบัติ จากชุดสะสมในหอสมุดแห่งชาติอิสราเอล

นักวิชาการหลายคนมีความเห็นตรงกันกว้าง ๆ ว่า การตีพิมพ์คัมภีร์โทราห์เกิดขึ้นในสมัยเปอร์เซียตอนกลาง (ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล)[14] หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติที่เรียบเรียงในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 7 ถึง 6 ก่อนคริสตกาล กล่าวถึง "โรคร้ายทั้งปวงแห่งอียิปต์" (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:15 และ 28:60) แต่สื่ิอถึงสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อวงศ์วานอิสราเอล ไม่ใช่ชาวอียิปต์ และไม่ระบุว่าเป็นภัยพิบัติชนิดใด[15][16]

จำนวนภัยพิบัติ 10 ชนิดไม่ได้มีการระบุไว้ในหนังสืออพยพ และข้อมูลอื่น ๆ ก็ระบุจำนวนต่างกัน เช่น หนังสือสดุดี 78 และ 105 ระบุภัยพิบัติเพียง 7 หรือ 8 ชนิด และเรียงลำดับต่างกัน[1] คาดว่าเดิมมีเพียง 7 ชนิด โดยมีการเพิ่มภัยพิบัติที่ 3 6 และ 9 เพื่อทำให้ครบ 10 ชนิด[17]: 83–84 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์[แก้]

นักวิชาการหลายคนยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เรื่องราวการอพยพไม่ใช่บันทึกทางประวัติศาสตร์ โดยระบุว่าชาวอิสราเอลมีต้นตอจากคานาอันและจากชาวคานาอัน และในขณะที่กลุ่มชาวอิสราเอลดั้งเดิมขนาดเล็กอาจมีต้นตอจากอียิปต์ เรื่องราวอาจไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่พระคัมภีร์ระบุไว้[18][19]: 81 [20]: 6–7  พาไพรัสอีปูเวร์ที่เขียนขึ้นไม่เกินกว่าสมัยราชวงศ์ที่สิบสองแห่งอียิปต์ตอนปลาย (ป. 1991–1803 ปีก่อน ค.ศ.)[21] ถูกหยิบยกในวรรณกรรมร่วมสมัยว่ายืนยันรายงานจากพระคัมภีร์ ส่วนใหญ่มาจากข้อความที่ว่า "แม่น้ำเป็นสีเลือด" และอ้างอิงถึงบริวารที่หนีไปบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งนี้ไม่ได้ระบุถึงจุดที่ขัดแย้งกับหนังสืออพยพหลายจุด เช่น กลุ่มชนเอเชียเดินทางเข้าอียิปต์ มากกว่าออกจากอียิปต์ และข้อเท็จจริงที่ว่าวลี "แม่น้ำเป็นสีเลือด" อาจสื่อถึงตะกอนสีแดงที่แม่น้ำไนล์ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมร้ายแรง หรือเป็นเพียงภาพแห่งความวุ่นวายในบทกวี[22] ความพยายามในการค้นหาคำอธิบายตามธรรมชาติสำหรับภัยพิบัติต่าง ๆ (เช่น การปะทุของภูเขาไฟ เพื่ออธิบายถึงภัยพิบัติ "ความมืด") ถูกนักวิชาการพระคัมภีร์ปฏิเสธทั้งในด้านรูปแบบ ระยะเวลา การสืบต่ออย่างรวดเร็ว และการควบคุมโดยโมเสส ถือให้ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ[19]: 90 [2]: 117–118 

ภาพ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Greifenhagen, F.V. (2000). "Plagues of Egypt". ใน Freedman, David Noel; Myers, Allen C. (บ.ก.). Eerdmans Dictionary of the Bible. Amsterdam University Press. p. 1062. ISBN 9789053565032.
  2. 2.0 2.1 Tigay, Jeffrey H. (2004). "Exodus". ใน Berlin, Adele; Brettler, Marc Zvi (บ.ก.). The Jewish Study Bible. Oxford University Press.
  3. พระธรรมอพยพ บทที่ 7 ข้อที่ 14-25
  4. พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 1-14
  5. พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 15-19
  6. พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 20-31
  7. พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 32 ถึง บทที่ 9 ข้อที่ 8
  8. พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 8-12
  9. พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 13-34
  10. พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 1-20
  11. พระธรรมอพยพ บทที่ 10 ข้อที่ 21-28
  12. พระธรรมอพยพบทที่ 11
  13. พระธรรมอพยพ บทที่ 12
  14. Römer, Thomas (2007). The so-called Deuteronomistic history : a sociological, historical, and literary introduction. London: T & T Clark. ISBN 978-0-567-03212-6. OCLC 80331961.
  15. Rogerson, John W. (2003b). "Deuteronomy". ใน Dunn, James D. G.; Rogerson, John William (บ.ก.). Eerdmans Commentary on the Bible. Eerdmans. p. 154. ISBN 9780802837110.
  16. Van Seters, John (2015). The Pentateuch: A Social Science Commentary. Bloomsbury. p. 124. ISBN 9780567658807.
  17. Johnstone, William D. (2003). "Exodus". ใน Dunn, James D. G.; Rogerson, John William (บ.ก.). Eerdmans Commentary on the Bible. Eerdmans. ISBN 9780802837110.
  18. Faust 2015, p.476: "While there is a consensus among scholars that the Exodus did not take place in the manner described in the Bible, surprisingly most scholars agree that the narrative has a historical core, and that some of the highland settlers came, one way or another, from Egypt..".
  19. 19.0 19.1 Moore, Megan Bishop; Kelle, Brad E. (2011). Biblical History and Israel's Past. Eerdmans. ISBN 9780802862600.
  20. Meyers, Carol (2005). Exodus. Cambridge University Press. ISBN 9780521002912.
  21. Willems 2010, p. 83.
  22. Enmarch, Roland (2011). "The Reception of a Middle Egyptian Poem: The Dialogue of Ipuwer and the Lord of All". ใน Collier, M.; Snape, S. (บ.ก.). Ramesside Studies in Honour of K. A. Kitchen (PDF). Rutherford. pp. 173–175. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 3, 2016. สืบค้นเมื่อ October 1, 2017.

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Plagues of Egypt