ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในมาเลเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดในถ้ำตัมบุน อายุสองพันปีในอีโปะฮ์ รัฐเปรัก มาเลเซีย

หลักฐานที่เก่าที่สุดสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคแรกในมาเลเซีย พบเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยพบขวานหินทำด้วยมนุษย์ในแหล่งประวัติศาสตร์เล็งกง ที่มีอายุย้อนหลังไปได้ 1.83 ล้านปี โครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าที่สุดที่พบในคาบสมุทรมลายูคือมนุษย์ผู้ชายเปรักนั้นมีอายุย้อนหลังไป 11,000 ปี และมนุษย์ผู้หญิงเปรักมีอายุย้อนหลังไปได้ 8,000 ปี พบที่เล็งกงเช่นกัน บริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือที่ทำด้วยหิน และยังพบภาพวาดที่ถ้ำตัมบุนที่เปรักด้วย ในมาเลเซียตะวันออก ถ้ำเนียะฮ์ที่ซาราวักเป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในมาเลเซียย้อนหลังไป 4,000 ปี

ช่วงเวลา[แก้]

ยุคหินตอนต้น[แก้]

ถ้ำเนียะฮ์ในซาราวักเป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีมนุษย์อาศัยอยู่เมื่อ 40,000 ปีที่ผ่านมา[1] นักโบราณคดียังอ้างว่ามีเครื่องมือหินอายุเก่ากว่านั้นในหุบเขามันซูลีใกล้ลาฮัดดาตูในซาบะฮ์ แต่ยังไม่ได้ระบุอายุที่แน่นอน[2]

ยุคหินตอนกลาง[แก้]

ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชนผู้มาใหม่ซึ่งเป็นชาวทะเลมลายูดั้งเดิมจากที่ห่างไกล ซึ่งอพยพจากยูนนานมายังมาเลเซีย ชาวนิกรีโต และชาวพื้นเมืองอื่น ๆ ถูกผู้มาใหม่ผลักดันให้ขึ้นไปอยู่บนภูเขา ในยุคนี้ ประชาชนเรียนรู้ที่จะแต่งตัว ทำอาหาร ล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือหินที่ทันสมัยขึ้น ปรับปรุงเทคนิคการติดต่อสื่อสาร[3]

ยุคหินใหม่[แก้]

พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในหุบเขาเล็งกงในเปรัก ซึ่งมนุษย์ใช้เครื่องมือหินและตกแต่งด้วยอัญมณี

ยุคสำริด[แก้]

มีประชาชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ทั้งชนเผ่าใหม่และชาวทะเลจากที่ห่างไกล คาบสมุทรมลายูกลายเป็นทางผ่านของการค้าทางทะเลในยุคโบราณ ชาวทะเลที่เดินทางมาถึงมีทั้งชาวอินเดีย อียิปต์ ตะวันออกกลาง ชวา และจีน ทอเลมีเรียกคาบสมุทรมลายูว่าคาบสมุทรทองคำ

ทฤษฎีการอพยพ[แก้]

การอพยพตามแม่น้ำโขง[แก้]

แม่น้ำโขงซึ่งยาว 4,180 กิโลเมตร เริ่มต้นผ่านทิเบต เข้าสู่ยูนนานในจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามใต้ การอพยพของชาวมลายูดั้งเดิม เมื่อราว 10,000 ปีก่อน โดยการแล่นเรือตามแม่น้ำโขง จากยูนนาน ออกสู่ทะเลจีนใต้ แล้วตั้งหลักแหล่งตามที่ต่าง ๆ

ทฤษฎีการอพยพจากยูนนาน[แก้]

ผู้ตั้งถิ่นฐานในยูนนานรุ่นแรก ๆ เป็นมนุษย์โฮโมอิเร็กตัสที่เรียกว่ามนุษย์ยวนมู ซึ่งขุดพบเมื่อราว พ.ศ. 2503 ฉินซื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ได้รวมรวบจีนเป็นปึกแผ่นและรวมยูนนานเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน เมื่อ พ.ศ. 322 กลุ่มชนในยูนนานเป็นบรรพบุรุษของชนที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีวัฒนธรรมการทำนา ชื่อท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขงที่อยู่ในยูนนานคือสิบสองปันนาซึ่งเป็นชนเผ่าไท

ทฤษฎีที่ว่าชาวมลายูดั้งเดิมอพยพมาจากยูนนานเสนอโดยอาร์เอช เกลเดิร์น และคณะ ชาวมลายูดั้งเดิมมาถึงพร้อมด้วยทักษะทางการเกษตร และชาวมลายูรุ่นที่สองซึ่งเป็นเลือดผสมได้กระจายตัวไปตามแนวชายฝั่งและเพิ่มทักษะการประมง ระหว่างการอพยพ ทั้งสองกลุ่มแต่งงานกับคนในหมู่เกาะทางใต้ เช่นจากชวา และชาวพื้นเมือง เช่น นิกรีโตและเมลานีซอยด์ หลักฐานอื่นที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ได้แก่ เครื่องมือหินที่พบในคาบสมุทรมลายูคล้ายกับที่พบในเอเชียตอนกลาง เครื่องแต่งกายของชาวมลายูคล้ายกับชาวอัสสัม ภาษามลายูและภาษาเขมรมีความคล้ายคลึงกันเพราะชาวกัมพูชามีต้นกำเนิดจากลุ่มน้ำโขง

เกอดะฮ์และมะละกา[แก้]

อาณาจักรเกอดะฮ์หรือกาดารัมได้รับการก่อตั้งโดยมหาราชาเดอร์บา ราชา จากเปอร์เซียเมื่อราว พ.ศ. 1173 และมีการกล่าวอ้างว่าสายเลือดของเชื้อพระวงศ์เกอดะฮ์มาจากอเล็กซานเดอร์มหาราช เซอจาระฮ์เมอลายู (วรรณกรรมมลายูเรื่องหนึ่ง) ก็กล่าวอ้างว่าเชื้อพระวงศ์เกอดะฮ์สืบเชื้อสายมาจากอเล็กซานเดอร์มหาราชเช่นกัน

มลายูเลือดผสม[แก้]

การรวมกันของความเชื่อในศาสนาฮินดู-พุทธ ชาวอินโด-เปอร์เซียและพ่อค้าโดยเฉพาะจีนตอนใต้ คนเหล่านี้รวมกับชนพื้นเมืองและชาวมลายูดั้งเดิมกลายเป็นชาวมลายูเลือดผสมและกลายเป็นชาวมลายูในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจามกับชาวมลายู[แก้]

ภาษามลายูและภาษาจาม

ความคล้ายคลึงของภาษาจามและภาษามลายูพบทั้งในชื่อสถานที่ เช่น กำปงจาม กำปงชนัง เซอจาระฮ์เมอลายูได้กล่าวว่ามีชุมชนชาวจามในมะละกาสมัยพระเจ้าปรเมศวร ภาษาจามมีความเกี่ยวข้องกับภาษากลุ่มมาเลโย-พอลินีเชียนที่พบในมาเลเซีย อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ และฟิลิปปินส์ เมื่อชาวจามพ่ายแพ้แก่เวียดนาม จักรพรรดิจามปาหันมานับถือศาสนาอิสลาม กษัตริย์มุสลิมจามปาองค์สุดท้ายหลบหนีเข้ากัมพูชาและมาอยู่ที่ตรังกานูและกลันตัน รัฐธรรมนูญมาเลเซียให้สิทธิ์ชาวจามเท่ากับชาวมลายูในฐานะภูมิบุตร เชื่อว่าพระเจ้าปรเมศวรเป็นชาวจามที่อพยพมายังปาเลมบังก่อนจะอพยพต่อไปที่เทมาสิกและมะละกาตามลำดับ และเป็นที่น่าสนใจว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของจักรวรรดิเขมรยุคพระนครมีพระนามว่าปรเมศวรบาท

อ้างอิง[แก้]

  1. Barker, Graeme; และคณะ (2007). "The 'human revolution' in lowland tropical Southeast Asia: the antiquity and behavior of anatomically modern humans at Niah Cave (Sarawak, Borneo)". Journal of Human Evolution. Elsevier. 52 (3): 243–261. doi:10.1016/j.jhevol.2006.08.011. PMID 17161859. สืบค้นเมื่อ 7 April 2012.
  2. Fong, Durie Rainer (10 April 2012). "Archaeologists hit 'gold' at Mansuli". The Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-12. สืบค้นเมื่อ 15 April 2012.
  3. Abdullah, Jeffrey; Saidin, Mokhtar; Mohd Nordin, Mohd Nawawi; Saad, Rosli; Mohd Noh, Khairul Arifin; Molijol, Peter (2010). "Kajian Geofizik di Lembah Mansuli, Sabah: Sumbangannya Kepada Arkeologi". Jurnal Arkeologi Malaysia (ภาษาอังกฤษ). 23: 13–29. ISSN 0128-0732.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]