ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
หัวข้อของชีวประวัตินี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไปหรือบทความบุคคล |
ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา | |
---|---|
ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร | |
ดำรงตำแหน่ง 13 ธันวาคม พ.ศ. 2500 – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 | |
ก่อนหน้า | พลโท สุรพล สุรพลพิเชฏฐ์ |
ถัดไป | พลโท บริบูรณ์ จุละจาริตต์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 17 เมษายน พ.ศ. 2454 บ้านตำบลเจ้าพระยาภาณุวงศ์ อำเภอคลองสาน เมืองธนบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 (50 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตำบลพญาไท อำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | จำเนียรสุข ปกาสปสุต (สมรส 2479) |
บุตร | 3 คน |
บุพการี |
|
ศิษย์เก่า | |
อาชีพ | ทหารบก |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบกไทย กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด |
ประจำการ | พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2504 |
ยศ | พลโท |
บังคับบัญชา | วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร[1] |
ผ่านศึก | กบฏบวรเดช กรณีพิพาทอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา |
พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (17 เมษายน พ.ศ. 2454 – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2504) เป็นนายทหารชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เจ้ากรมการศึกษาวิจัย และผู้ช่วยทูตทหารบกประจำประเทศฝรั่งเศส เบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์
ประวัติ
[แก้]ชีวิตส่วนตัว
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา[2] เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2454 ที่บ้านตำบลเจ้าพระยาภาณุวงศ์ อำเภอคลองสาน เมืองธนบุรี เป็นบุตรของพันโท พระศักดิ์เสนี (หม่อมหลวงอุดม เสนีวงศ์) กับสายหยุด เสนีวงศ์ ณ อยุธยา มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน
พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา สมรสกับจำเนียรสุข ปกาสปสุต ธิดาของขุนเชี่ยวชลธาร (แจ้ง ปกาสปสุต) กับโหมด ปกาสปสุต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดารวม 3 คน คือ
- นันทนา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- จักรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- พลตรี ธรรมศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
การศึกษา
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วต่อมาเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จบเมื่อปี พ.ศ. 2474 แล้วเข้าศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนยานยนต์ และโรงเรียนทหารม้า ในปี พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2479 ตามลำดับ ต่อมาศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ. 2480 แล้วได้รับคำสั่งให้เข้าอบรมวิชาพิเศษที่โรงเรียนเคมีและไอพิษ ในปี พ.ศ. 2482 แล้วศึกษาในโรงเรียนการสงครามพิเศษชั้นสูงที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2493[3]
การทำงาน
[แก้]เมื่อก่อนรับราชการทหาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พลโท ทักษ์ เป็นมหาดเล็กรับใช้เชิญพระมาลาตามเสด็จในงานพระราชพิธีระหว่างเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก[4]
การรับราชการ
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา รับราชการที่กองทัพบก ในปี พ.ศ. 2475 เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการและรักษาราชการแทนผู้บัญชาการกองรถรบ ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา รองผู้ทูตทหารฝ่ายทหารบกและฝ่ายทหารอากาศประจำจักรวรรดิญี่ปุ่น หัวหน้าแผนกข่าว กรมเสนาธิการกลาโหม รองผู้อำนวยการกองอำนวยการสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมเสนาธิการกลาโหม ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำประเทศฝรั่งเศส และรักษาราชการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและฝ่ายทหารอากาศ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมเสนาธิการกลาโหม ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำประเทศเบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ นายทหารประจำกรมข่าวทหารบก รองผู้อำนวยการกองอำนวยการศึกษาและวิจัย กรมเสนาธิการกลาโหม รักษาราชการรองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้อำนวยการกองอำนวยการศึกษาและวิจัย กรมเสนาธิการกลาโหม และตำแหน่งสุดท้ายก่อนถึงแก่อนิจกรรมคือ เจ้ากรมการศึกษาวิจัยและผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร[5]
ราชการพิเศษ
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ปฏิบัติราชการพิเศษทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้[6]
- กรรมการพิจารณาและเลขานุการพิจารณาระเบียบข้าราชการทหาร
- เจ้าหน้าที่ตรวจข่าว
- กรรมการประสานงานกับคณะที่ปรึกษาช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐ (คณะกรรมการ ป.ช.ท.)
- กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร[a]
- ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงกิจการทหารหญิง
- กรรมการ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับนักเรียนในต่างประเทศ
- ผู้อำนวยการส่วนนโยบาย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- กรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทหารของชาติ
- ประธานกรรมการจัดตั้งพจนานุกรมศัพท์ทหาร
- กรรมการในการประชุมบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
- ร่วมอยู่ในคณะทูตสังเกตการณ์ยุทธภูมิแปซิฟิค
- ร่วมอยู่ในคณะทูตทหารไทยที่เปิดสัมพันธไมตรีทางการทหารกับสหราชอาณาจักร อังกฤษ และสหรัฐ
- ร่วมอยู่ในคณะทูตทหารของกรมเสนาธิการกลาโหม
- เป็นผู้แทนเข้าประชุมสหพันธ์ทหารผ่านศึกแห่งโลกครั้งที่ 4 ณ กรุงเฮก
- ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการทหารของคณะผู้แทนไทยในการประชุมศาลโลก ที่เจนีวา
- ร่วมอยู่ในคณะทูตสันถวไมตรีของกระทรวงการต่างประเทศเยี่ยมพม่า
- ร่วมอยู่ในคณะทูตทหารเยี่ยมประเทศเวียดนาม
- เป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหมร่วมประชุมเรื่องกิจการพิพิธภัณฑ์ทหาร ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
- เป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหมในการเป็นพยานการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ที่เกาะเอวิโนต็อค
- ดูงานจัดการศึกษาวิชาการปืนและจรวด โรงเรียนกองทัพบกทหารสนามปืนใหญ่สหรัฐที่ ฟอร์ตซิลล์ รัฐโอคลาโฮมา
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร ในปี พ.ศ. 2501[7]
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 เวลา 01.10 น. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคตับอ่อนอักเสบฉับพลันและหัวใจวาย สิริอายุได้ 50 ปี 90 วัน มีพิธีสวดพระอภิธรรมที่บ้านถนนเทศบาล และพิธีพระราชเพลิงศพมีขึ้นที่เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[8]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้[9]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2502 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[10]
- พ.ศ. 2499 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[11]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน (ช.ส.)[12]
- พ.ศ. 2505 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.) (หลังถึงแก่อนิจกรรม)[13]
- พ.ศ. 2477 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[14]
- พ.ศ. 2486 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)[15]
- พ.ศ. 2487 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[16]
- พ.ศ. 2503 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[17]
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2500 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 3 กอม็องเดอร์[18]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ต่อมาเรียกพระราชกฤษฎีกาความมั่นคงแห่งชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อดีตผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ↑ (2504). พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโททักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504. โรงพิมพ์พระจันทร์.
- ↑ เฟซบุ๊ก (2567). พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา. 2483 Reenactment Group.
- ↑ (2504). พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504. โรงพิมพ์พระจันทร์.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๗ ง หน้า ๔๐๐, ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔
- ↑ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (2504). ทักษ์อนุสรณ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและนักศึกษา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ป.ม., ท.ช., ภ.ป.ร.๓., วปอ.(กิตติมศักดิ์). โรงพิมพ์ทหารอากาศ.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งราชองครักษ์, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔ ง หน้า ๒๖๒๑, ๒๓ กันยายน ๒๕๐๑
- ↑ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (2504). ทักษ์อนุสรณ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและนักศึกษา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ป.ม., ท.ช., ภ.ป.ร.๓., วปอ. (กิตติมศักดิ์). โรงพิมพ์ทหารอากาศ.
- ↑ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (2504). ทักษ์อนุสรณ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและนักศึกษา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ป.ม., ท.ช., ภ.ป.ร.๓., วปอ. (กิตติมศักดิ์). โรงพิมพ์ทหารอากาศ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๒, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๓๑, ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๘๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๘ กันยายน ๒๕๐๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ได้พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๔๙, ๗ ตุลาคม ๒๔๗๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๔ ง หน้า ๒๖๙๔, ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐ ง หน้า ๑๘๕๒, ๒๖ กันยายน ๒๔๘๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๕๘ ง หน้า ๑๗๓๐, ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๓๔ ง หน้า ๑๔๓๐, ๒๙ เมษายน ๒๕๐๑