ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิท
ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิท | |
---|---|
คิงส์ฟอร์ด สมิท ใน ค.ศ. 1932 | |
เกิด | 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 บริสเบน อาณานิคมควีนส์แลนด์ |
เสียชีวิต | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 ทะเลอันดามัน | (38 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | เครื่องบินตกนอกชายฝั่งประเทศพม่า |
สัญชาติ | จักรวรรดิบริติช[1][2] ออสเตรเลีย |
มีชื่อเสียงจาก | การบินข้ามแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียโดยไม่พัก การบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก การแข่งขันบินจากอังกฤษไปออสเตรเลีย |
รางวัล | Knight Bachelor Military Cross Air Force Cross Segrave Trophy |
Aviation career | |
ชื่อเต็ม | ชาลส์ เอ็ดเวิร์ด คิงส์ฟอร์ด สมิท |
กองทัพอากาศ | กองบินออสเตรเลีย กองบินหลวงสหราชอาณาจักร กองทัพอากาศสหราชอาณาจักร |
สงครามที่เข้าร่วม | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง |
ยศ | กัปตัน (ยศจริง) พลอากาศจัตวา (ยศกิตติมศักดิ์) |
เซอร์ชาลส์ เอ็ดเวิร์ด คิงส์ฟอร์ด สมิท MC, AFC (อังกฤษ: Charles Edward Kingsford Smith; ชื่อเล่น สมิทธี; 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935) เป็นนักบินและผู้บุกเบิกด้านการบินชาวออสเตรเลีย เขาเป็นคนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกและบินระหว่างประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์
คิงส์ฟอร์ด สมิทเกิดที่บริสเบนและเติบโตในซิดนีย์ เขาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้ 16 ปีและทำงานเป็นผู้ช่วยวิศวกร เขาเข้าร่วมกองทัพออสเตรเลียใน ค.ศ. 1915 และทำงานเป็นคนขับจักรยานยนต์ขนส่งของในช่วงการทัพกัลลิโพลีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากนั้นเขาได้โอนย้ายไปยังกองบินหลวงสหราชอาณาจักร (แผนกการบินของกองทัพสหราชอาณาจักร) และได้รับ Military Cross ใน ค.ศ. 1917 หลังจากที่รอดชีวิตหลังเครื่องบินถูกยิงตก หลังสิ้นสุดสงครามเขาทำงานเป็นนักบินผาดโผนในอังกฤษและสหรัฐก่อนย้ายกลับออสเตรเลียใน ค.ศ. 1921 และเข้าทำงานเป็นนักบินพาณิชย์ให้กับเวสต์ออสเตรเลียนแอร์เวส์ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นนักบินพาณิชย์รุ่นแรก ๆ ของประเทศด้วย
ใน ค.ศ. 1928 คิงส์ฟอร์ด สมิทบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกระหว่างแคลิฟอร์เนียไปยังบริสเบนโดยจอดพักที่ฮาวายและฟีจี ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่ทำให้ตัวเขาเอง นักบินผู้ช่วยชาลส์ อูล์ม และลูกเรือสองคนได้แก่เจมส์ วอร์เนอร์และแฮร์รี ลียอนกลายเป็นคนดังหลังจากนั้น ในปีเดียวกันเขาและอูล์มบินข้ามประเทศจากเมลเบิร์นไปยังเพิร์ทโดยไม่จอดพักเป็นครั้งแรก และจากออสเตรเลียไปยังนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรกเช่นกัน ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งออสเตรเลียนแนชันนัลแอร์เวส์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขายังคงแข่งขันบินเร็วและพยายามทดลองทำสิ่งที่ท้าทายในวงการบินอีกหลายอย่าง
ใน ค.ศ. 1935 คิงส์ฟอร์ด สมิทและนักบินผู้ช่วยทอมมี เพทธีบริดจ์หายสบสูญเหนือทะเลอันดามันระหว่างพยายามทำลายสถิติบินระหว่างออสเตรเลียและอังกฤษโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เขาได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และได้รับการยกย่องต่าง ๆ ในชั่วชีวิตของเขา ท่าอากาศยานซิดนีย์ตั้งชื่อตามเขา และเขายังปรากฏบนธนบัตร 20 ดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นเวลาหลายทศวรรษ
วัยเด็กและชีวิตส่วนตัว
[แก้]ชาลส์ เอิดเวิร์ด คิงส์ฟอร์ด สมิทเกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 ที่ริเวอร์วิวเทอร์เรซ ย่านแฮมิลทันในเมืองบริสเบน อาณานิคมควีนส์แลนด์ เขาเป็นบุตรของวิลเลียม ชาลส์ สมิท และแคทเธอรีน แมรี (นามสกุลก่อนสมรสว่าคิงส์ฟอร์ด ธิดาของริชาร์ด แอช คิงส์ฟอร์ด ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติควีนส์แลนด์และเคยเป็นนายกเทศมนตรีของทั้งเทศบาลบริสเบนและเทศบาลแคนส์) สูติบัตรและประกาศแจ้งเกิดในหนังสือพิมพ์ระบุนามสกุลของเขาว่า "สมิท" ซึ่งเป็นนามสกุลที่ครอบครัวใช้ในขณะนั้น[3][4] นามสกุล "คิงส์ฟอร์ด สมิท" ปรากฏครั้งแรกน่าจะมาจากพี่ชายของเขา ริชาร์ด แฮโรลด์ คิงส์ฟอร์ด สมิท ซึ่งใช้ชื่อดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1901 แม้ว่าเขาจะสมรสในรัฐนิวเซาท์เวลส์โดยใช้นามสกุลสมิทใน ค.ศ. 1903 ก็ตาม[5][6]
ใน ค.ศ. 1903 ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดาและได้ใช้นามสกุลคิงส์ฟอร์ด สมิทนับแต่นั้น ก่อนจะเดินทางกลับมาซิดนีย์ใน ค.ศ. 1907[7]
คิงส์ฟอร์ด สมิทเข้าโรงเรียนครั้งแรกที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ต่อมาระหว่าง ค.ศ. 1909 ถึง 1911 เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์แอนดรูส์คัทธีดรัลในซิดนีย์ ที่นั่นเขาเป็นสมาชิกคณะขับร้องในโบสถ์ของโรงเรียนด้วย[8]: 39–40, 48 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเทคนิคซิดนีย์และเข้าฝึกงานเป็นวิศวกรที่โคโลเนียลชูการ์รีไฟนิงคอมพานีเมื่ออายุได้ 16 ปี[7]
คิงส์ฟอร์ด สมิทสมรสกับเทลมา ไอลีน โฮป คอร์บอยใน ค.ศ. 1923 ก่อนจะหย่าร้างกันใน ค.ศ. 1929 และสมรสอีกครั้งกับแมรี เพาเวลล์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1930[7]
หลังจากสมรสกับแมรี เขาได้เข้าร่วมขบวนการนิวการ์ด[7] ซึ่งเป็นกำลังกึ่งทหารที่นิยมกษัตริย์ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเป็นไปได้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการฟาสซิสต์[9]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและประสบการณ์การบิน
[แก้]ค.ศ. 1915 คิงส์ฟอร์ด สมิทสมัครเข้ารับราชการทหารในกองกำลังจักรวรรดิออสเตรเลียที่หนึ่งและร่วมรบในการทัพกัลลิโพลี เดิมทีเดียวนั้นคิงส์ฟอร์ด สมิทได้รับมอบหมายให้ขับรถจักรยานยนต์รับส่งของ ก่อนที่จะย้ายไปประจำกองบินหลวงสหราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตให้บินครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1917[7]
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917 ขณะรับราชการในฝูงบินที่ 23 เครื่องบินของคิงส์ฟอร์ด สมิทถูกยิงตกทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ[10] ซึ่งทำให้ต้องตัดนิ้วเท้าออกสองนิ้ว[11] เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Military Cross ยกย่องความกล้าหาญในสงคราม[7]
วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1918 คิงส์ฟอร์ด สมิทและนักบินคนอื่น ๆ ในกองบินหลวงได้ย้ายไปประจำกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ หลังจากที่หมดหน้าที่ทางทหารหลังสิ้นสุดสงคราม เขาได้ก่อตั้งคิงส์ฟอร์ด สมิท แมดดอกส์ แอโรส์ จำกัดร่วมกับไซริล แมดดอกส์ ชาวรัฐแทสเมเนียช่วงต้น ค.ศ. 1919 เพื่อดำเนินกิจการการบินเพื่อความบันเทิงทางภาคเหนือของอังกฤษในช่วงฤดูร้อน โดยใช้เครื่องบินฝึกหัดแอร์โค ดีเอช.6 และรอยัลแอร์คราฟต์แฟกทอรี บี.อี.2 ที่เหลือมาจากสงคราม[12] ก่อนจะไปทำอาชีพนักบินผาดโผนในสหรัฐก่อนกลับออสเตรเลียใน ค.ศ. 1921[13] คิงส์ฟอร์ด สมิทยื่นขอรับใบอนุญาตขับเครื่องบินพาณิชย์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1921 โดยใช้ชื่อว่า "ชาลส์ เอ็ดเวิร์ด คิงส์ฟอร์ด-สมิท"[14]
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น คาวราฟรีเพรสส์ เล่าเรื่องว่าคิงส์ฟอร์ด สมิทเคยขับเครื่องบินลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำลัคลันในเมืองคาวรา รัฐนิวเซาท์เวลส์ ร่วมกับนักขับรถที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น เคน ริชาดส์[15] ในบทความระบุต่อไปว่าคิงส์ฟอร์ด สมิทเตรียมที่จะขับเครื่องบินลอดใต้สะพานรถไฟที่อยู่ใกล้เคียง แต่ริชาดส์เตือนว่าใต้สะพานมีสายโทรเลขอยู่ บทความนั้นยังเล่าต่อไปว่าริชาดส์เป็นเพื่อนกับคิงส์ฟอร์ด สมิท และเคยขับเครื่องบินด้วยกันมาก่อนขณะอยู่ที่ฝรั่งเศส[16]
คิงส์ฟอร์ด สมิทกลายเป็นหนึ่งในนักบินพาณิชย์รุ่นแรกของประเทศออสเตรเลียเมื่อนอร์แมน เบรียร์ลีย์ได้คัดเลือกเขาเข้าเป็นนักบินประจำสายการบินเวสต์ออสเตรเลียนแอร์เวส์[7] โดยขับเครื่องบินบริสตอล ทัวเรอร์ ไทป์ 28 ทะเบียน G-AUDF บินรับส่งพัสดุให้กับนักดาราศาสตร์ในช่วงสุริยุปราคา ค.ศ. 1922 ที่วอลลาล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย[17] ในช่วงเวลานั้นเขาเริ่มวางแผนที่จะบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก[18]
การบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ค.ศ. 1928
[แก้]ใน ค.ศ. 1928 คิงส์ฟอร์ด สมิท และชาลส์ อูล์มเดินทางมาถึงสหรัฐเพื่อหาเครื่องบินที่จะใช้บินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก เซอร์ฮิวเบิร์ต วิลคินส์ นักสำรวจขั้วโลกชาวออสเตรเลียได้ขายเครื่องบินฟอกเกอร์ F.VII/3m ให้กับคิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์ม พวกเขาตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่าเซาเทิร์นครอสส์[19]
เวลา 8:54 น. วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1928[19] คิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรือได้แก่ชาลส์ อูล์มชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นนักบินสำรอง และลูกเรือชาวอเมริกันอีกสองคนได้แก่เจมส์ วอร์เนอร์ ผู้ควบคุมวิทยุ และกัปตันแฮร์รี ลียอน ผู้นำทางและวิศวกรประจำเที่ยวบิน[20] รวมสี่คนบินออกจากโอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเริ่มบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกไปยังออสเตรเลีย เส้นทางบินแบ่งเป็นสามระยะ ระยะแรกจากโอกแลนด์ไปยังฐานทัพอากาศวีลเลอร์ ใกล้เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย[21] มีระยะทาง 3,870 กิโลเมตร (2,400 ไมล์) ใช้เวลาบิน 27 ชั่วโมง 25 นาทีโดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ ระยะที่สองต้องบินขึ้นจากบาร์กคิงแซนส์บนเกาะคาไวที่อยู่ใกล้เคียงแทนเนื่องจากทางวิ่งที่วีลเลอร์ยาวไม่พอ ปลายทางของระยะที่สองได้แก่กรุงซูวา ประเทศฟีจี ซึ่งอยู่ห่างออกไป 5,077 กิโลเมตร (3,155 ไมล์) ใช้เวลาบิน 34 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเป็นระยะที่ยากลำบากที่สุดเนื่องจากพวกเขาบินฝ่าพายุฝนฟ้าคะนองใกล้กับเส้นศูนย์สูตร[22] ระยะที่สามนั้นสั้นที่สุด โดยมีระยะทาง 2,709 กิโลเมตร (1,683 ไมล์) ใช้เวลาบิน 20 ชั่วโมงเพื่อข้ามชายฝั่งออสเตรเลียใกล้กับเมืองแบลลินา รัฐนิวเซาท์เวลส์[23][24][25] ก่อนจะหักขึ้นไปทางเหนือต่อไปอีก 170 กิโลเมตร (110 ไมล์) ไปถึงบริสเบน พวกเขาลงจอดเมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 9 มิถุนายน ระยะทางบินโดยรวมประมาณ 11,566 กิโลเมตร (7,187 ไมล์) ที่ท่าอากาศยานอีเกิลฟาร์ม (ท่าอากาศยานแห่งเก่าซึ่งต่อมาถูกแทนที่โดยท่าอากาศยานบริสเบน) มีผู้คนมารอต้อนรับคิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรือกว่า 26,000 คน พวกเขาได้รับการต้อนรับเฉกเช่นวีรบุรุษ[26][27][28][29]
หอภาพยนตร์และสื่อบันทึกเสียงแห่งชาติของประเทศออสเตรเลียมีภาพยนตร์ชีวประวัติของคิงส์ฟอร์ด สมิทชื่อ แอนแอร์แมนรีเมมเบอส์[30] และเทปบันทึกเสียงคิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของพวกเขา[31]เก็บรักษาเอาไว้
ออสเตรเลียโพสต์ รัฐวิสาหกิจด้านไปรษณีย์ได้ออกแผ่นแสตมป์และแสตมป์ที่ระลึกซึ่งมีภาพของคิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มใน ค.ศ. 1978 เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของการบินครั้งนี้[32]
จีน แบตเทน หญิงสาวชาวนิวซีแลนด์เข้าร่วมงานเลี้ยงกับคิงส์ฟอร์ด สมิทหลังเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกและกล่าวกับเขาว่าเธออยากจะหัดขับเครื่องบินบ้าง คิงส์ฟอร์ด สมิทให้คำแนะนำเชิงติดตลกกับเธอว่า "อย่าพยายามทำลายสถิติของนักบินผู้ชาย และอย่าบินตอนกลางคืน" อย่างไรก็ตาม แบตเทนโน้มน้าวให้เขาพาเธอขึ้นเครื่องบินเซาเทิร์นครอสส์ และเธอได้กลายเป็นนักบินที่สร้างสถิติสำคัญต่าง ๆ อีกคนหนึ่ง [33]
การบินข้ามทะเลแทสมัน ค.ศ. 1928
[แก้]ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1928 คิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มบินข้ามประเทศออสเตรเลียโดยไม่จอดพักจากพอยต์คุกใกล้เมืองเมลเบิร์นไปยังเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียได้สำเร็จ พวกเขาต่อมาได้จดทะเบียนจัดตั้งสายการบินออสเตรเลียนแนชันนัลแอร์เวส์ และตัดสินใจที่จะพยายามบินข้ามทะเลแทสมันไปยังประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากยังไม่มีใครเคยทำได้สำเร็จมาก่อน และพวกเขาคิดว่าถ้าทำได้สำเร็จจะสามารถต่อรองกับรัฐบาลออสเตรเลียทำสัญญาขนส่งพัสดุระหว่างสองประเทศนี้โดยมีเงินสนับสนุนได้[34] นักบินชาวนิวซีแลนด์สองคนได้แก่จอห์น มอนครีฟฟ์ และจอร์จ ฮุดได้พยายามบินข้ามช่องแคบนี้เมื่อเดือนมกราคมปีเดียวกันแต่พวกเขาหายสาบสูญโดยไม่มีใครพบอีกเลย[35]
คิงส์ฟอร์ด สมิทวางแผนว่าจะบินจากริชมอนด์ใกล้กับซิดนีย์ในวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1928 และจะลงจอดเวลาประมาณ 9:00 น. ของวันที่ 3 กันยายนที่วิกรัมแอโรโดรม ใกล้กับไครสต์เชิร์ช เมืองสำคัญบนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ แผนการดังกล่าวทำให้บรรดาบาทหลวงในประเทศนิวซีแลนด์ไม่พอใจและประท้วงเนื่องจากเป็นการดูหมิ่นคุณค่าของวันสะบาโต[36]
นายกเทศมนตรีของไครสต์เชิร์ชก็สนับสนุนการประท้วงของบรรดาบาทหลวงดังกล่าวและส่งข้อความทางโทรเลขไปยังคิงส์ฟอร์ด สมิท อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศเหนือทะเลแทสมันเลวร้ายลงและคิงส์ฟอร์ด สมิทตัดสินใจเลื่อนการเดินทางออกไป จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าการประท้วงดังกล่าวมีผลต่อคิงส์ฟอร์ด สมิทหรือไม่[34]
คิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรือได้แก่อูล์ม และลูกเรือชาวนิวซีแลนด์สองคนได้แก่แฮโรลด์ อาร์เทอร์ ลิตช์ฟีลด์ ผู้นำทาง และโทมัส เอช. แมกวิลเลียมส์ ผู้ควบคุมวิทยุ ซึ่งทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้จัดหาให้ เดินทางออกจากริชมอนด์ตอนเย็นวันที่ 10 กันยายน และบินข้ามคืนเป็นเวลา 14 ชั่วโมงและลงจอดในตอนเช้า เส้นทางบิน 2,600 กิโลเมตร (1,600 ไมล์) ที่วางแผนไว้นั้นมีระยะประมาณครึ่งหนึ่งของระยะทางจากฮาวายและฟีจีเท่านั้น สภาพอากาศระหว่างทางไม่ดีนักซึ่งทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะตัวเครื่องและทำให้การบินเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศบริเวณช่องแคบคุกระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้นั้นดีกว่าระหว่างทางที่ผ่านมา เมื่อพวกเขาอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศนิวซีแลนด์ประมาณ 241 กิโลเมตร (150 ไมล์) พวกเขาได้ทิ้งพวงหรีดเพื่อระลึกถึงมอนครีฟฟ์และฮุดที่หายสาบสูญไประหว่างพยายามบินข้ามทะเลแทสมันเมื่อต้นปี[37]
เซาเทิร์นครอสส์ลงจอดที่ไครสต์เชิร์ชเมื่อเวลา 9:22 น. หลังบินเป็นระยะเวลา 14 ชั่วโมง 25 นาที ฝูงชนมารอต้อนรับคิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรืออย่างล้นหลามกว่า 30,000 คน รวมทั้งนักเรียนจากโรงเรียนของรัฐบาลที่ประกาศปิดเป็นกรณีพิเศษ และข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้หยุดงานจนถึงเวลา 11 นาฬิกา[37] เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้กระจายเสียงสดออกทางวิทยุด้วย[38]
กองทัพอากาศนิวซีแลนด์อาสาตรวจสภาพเครื่องบินเซาเทิร์นครอสส์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และพาคิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มเที่ยวชมประเทศนิวซีแลนด์โดยใช้เครื่องบินบริสตอล เอฟ.2 ไฟเตอส์[34]
พวกเขาเดินทางกลับริชมอนด์โดยตั้งต้นจากเมืองเบลนิม เมืองเล็กทางตอนเหนือของเกาะใต้ การบินกลับประสบปัญหาเนื่องจากหมอก สภาพอากาศที่เลวร้าย และการนำทางที่ผิดพลาดเล็กน้อย ทำให้ต้องใช้เวลากว่า 23 ชั่วโมงจึงจะถึงริชมอนด์ และเมื่อลงจอดแล้วเครื่องบินเหลือเชื้อเพลิงมากพอที่จะให้บินต่อได้อีกเพียง 10 นาทีเท่านั้น[34]
ออสเตรเลียนแนชันนัลแอร์เวส์
[แก้]คิงส์ฟอร์ด สมิทกับอูล์มร่วมกันก่อตั้งสายการบินออสเตรเลียนแนชันนัลแอร์เวส์ขึ้นใน ค.ศ. 1929 โดยเริ่มดำเนินกิจการรับส่งผู้โดยสาร พัสดุไปรษณีย์ และสินค้าระหว่างซิดนีย์ บริสเบน และเมลเบิร์นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1930 โดยมีเครื่องบินประจำฝูงบินห้าลำ แต่ปิดกิจการไปหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุในเดือนมีนาคมและพฤศจิกายนปีถัดมา[39]
เที่ยวบินสำคัญช่วงต้นทศวรรษ 1930
[แก้]หลังจากที่คิงส์ฟอร์ด สมิทส่งเครื่องบินเซาเทิร์นครอสส์คู่ใจไปเข้ารับการซ่อมบำรุงโดยบริษัทฟอกเกอร์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1930 เขาได้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในทิศทางตะวันออก–ตะวันตกจากไอร์แลนด์ไปยังนิวฟันด์แลนด์โดยใช้เวลา 3112 ชั่วโมง ตั้งต้นจากหาดพอร์ทมาร์น็อกซึ่งอยู่เหนือกรุงดับลินเล็กน้อย พวกเขาได้บินต่อไปยังโอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นการบรรจบเส้นทางรอบโลกที่เริ่มต้นใน ค.ศ. 1928[40] ในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้เข้าแข่งขันบินจากอังกฤษไปยังออสเตรเลีย และชนะการแข่งขันโดยใช้เวลา 13 วัน และบินเพียงลำพัง เขาเดินทางถึงซิดนีย์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1930[41]
ใน ค.ศ. 1931 เขาซื้อเครื่องบินแอฟโร เอเวียนและตั้งชื่อให้ว่า เซาเทิร์นครอสส์ไมเนอร์ เพื่อใช้บินแข่งขันจากออสเตรเลียไปอังกฤษ และได้ขายเครื่องบินลำดังกล่าวให้กับกัปตันบิลล์ แลงคาสเตอร์ ผู้ซึ่งหายสาบสูญเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1933 เหนือทะเลทรายสะฮารา ร่างของแลงคาสเตอร์ถูกพบใน ค.ศ. 1962 ส่วนซากเครื่องบิน เซาเทิร์นครอสส์ไมเนอร์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์[42] ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 คิงส์ฟอร์ด สมิทยังได้พัฒนารถยนต์รุ่นเซาเทิร์นครอสส์ควบคู่กันไปด้วย[43][44]
ใน ค.ศ. 1933 คิงส์ฟอร์ด สมิทเริ่มดำเนินกิจการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรกโดยใช้หาดเซเวนไมล์ รัฐนิวเซาท์เวลส์เป็นทางวิ่ง[45] และใน ค.ศ. 1934 เขาได้ซื้อเครื่องบินล็อกฮีด อัลแทร์ชื่อ เลดีเซาเทิร์นครอสส์ เพื่อเข้าแข่งขันรายการแมกโรเบิร์ตสันแอร์เรซ[46]
การหายสาบสูญและการเสียชีวิต
[แก้]คิงส์ฟอร์ด สมิทและจอห์น ทอมป์สัน "ทอมมี" เพทธีบริดจ์ขับเครื่องบินเลดีเซาเทิร์นครอสส์ตอนกลางคืนจากอลาหาบาด อินเดียไปยังสิงคโปร์เพื่อพยายามที่จะทำลายสถิติการบินจากอังกฤษไปออสเตรเลียที่ซี. ดับเบิลยู. เอ. สกอตต์และทอม แคมป์เบลล์ แบล็กทำไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม คิงส์ฟอร์ด สมิทและเพทธีบริดจ์หายสาบสูญเหนือทะเลอันดามันในช่วงเช้ามืดของวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 จิมมี เมลโรส นักบินผู้หนึ่งได้อ้างว่าเขาเห็นเลดีเซาเทิร์นครอสส์บินฝ่าพายุประมาณ 150 ไมล์ (240 กิโลเมตร) จากชายฝั่งที่ระดับความสูง 200 ฟุต (61 เมตร) เหนือระดับน้ำทะเลโดยมีเปลวไฟพ่นออกมาจากเครื่อง[47] เอริก สแตนลีย์ กรีนวุด นักบินชาวบริติชพยายามบินค้นหาเหนืออ่าวเบงกอลกว่า 74 ชั่วโมงแต่ไม่พบร่างของพวกเขา[46]
สิบแปดเดือนต่อมา ชาวประมงชาวพม่าพบชิ้นส่วนขาล้อและล้อเครื่องบินซึ่งลมยางภายในยังคงเต็มอยู่ ชิ้นส่วนดังกล่าวถูกซัดมาเกยชายฝั่งเกาะโกกูนเย่ในอ่าวเมาะตะมะ ห่างจากชายฝั่งรัฐมอญ ประเทศพม่าประมาณ 3 กิโลเมตร (1.9 ไมล์) และห่างจากเมืองเมาะตะมะไปประมาณ 137 กิโลเมตร (85 ไมล์) ทางทิศใต้ ล็อกฮีดได้ยืนยันว่าชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นของเลดีเซาเทิร์นครอสส์[48] นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาพืชที่เกาะบนชิ้นส่วนและคาดการณ์ว่าเครื่องบินน่าจะตกไม่ห่างจากเกาะดังกล่าวนัก ที่ระดับความลึกประมาณ 15 ฟาทอม (90 ฟุต; 27 เมตร)[49] ชิ้นส่วนขาล้อนี้ได้จัดแสดงต่อสาธารณชนที่พิพิธภัณฑ์พาวเวอร์เฮาส์ในซิดนีย์[50]
สมาชิกของครอบครัวคิงส์ฟอร์ด สมิทที่เหลือได้แก่แมรีหรือเลดีคิงส์ฟอร์ด สมิทผู้เป็นภรรยา และบุตรชายวัยสามขวบได้แก่ชาลส์ จูเนียร์ หนังสืออัตชีวประวัติของคิงส์ฟอร์ด สมิทชื่อ มายฟลายอิงไลฟ์ ออกตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1937 หลังจากที่เขาเสียชีวิต และกลายเป็นหนังสือขายดีหัวเรื่องหนึ่ง[51]
ใน ค.ศ. 2009 เดเมียน เลย์ ผู้สร้างภาพยนตร์และนักสำรวจได้กล่าวว่าเขาแน่ใจว่าเขาค้นพบเลดีเซาเทิร์นครอสส์แล้ว[52] อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างของเลย์ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ผู้โต้แย้งรายสำคัญได้แก่ดิก สมิท นักธุรกิจและนักบินผู้มีชื่อเสียงชาวออสเตรเลีย และเอียน แมกเคอร์ซีย์ นักเขียนชาวนิวซีแลนด์ผู้แต่งชีวประวัตินักบินคนสำคัญหลายคนรวมทั้งคิงส์ฟอร์ด สมิท โดยแมกเคอร์ซีย์บรรยายว่าคำกล่าวอ้างของเลย์นั้น "ไร้สาระสิ้นดี"[53]
เกียรติประวัติและสิ่งสืบเนื่อง
[แก้]ใน ค.ศ. 1930 คิงส์ฟอร์ด สมิทเป็นคนแรกที่ได้รับถ้วยซีเกรฟซึ่งเป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกย่อง "ทักษะ ความกล้าหาญ และความริเริ่มที่ยอดเยี่ยมบนบก ในน้ำ [หรือ] ในอากาศ"[54]
คิงส์ฟอร์ด สมิทได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินชั้น Knight Bachelor จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรเนื่องจากเป็นผู้สร้างคุณูปการต่อแวดวงการบิน[55] โดยได้รับการแตะบ่าจากเซอร์ไอแซก ไอแซกส์ ผู้สำเร็จราชการออสเตรเลียเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1932 และต่อมาเขาได้รับมอบยศพลอากาศจัตวากิตติมศักดิ์ประจำกองทัพอากาศออสเตรเลีย[56]
ใน ค.ศ. 1986 คิงส์ฟอร์ด สมิทได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศอากาศและอวกาศนานาชาติ พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแซนดีเอโก[57]
ท่าอากาศยานหลักของนครซิดนีย์ซึ่งตั้งอยู่ในย่านมาสคอตใช้ชื่อว่าท่าอากาศยานนานาชาติคิงส์ฟอร์ด สมิทเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[58] เขตเลือกตั้งโดยรอบท่าอากาศยานใช้ชื่อว่าเขตคิงส์ฟอร์ด สมิทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ย่านคิงส์ฟอร์ดด้วย[59]
เซาเทิร์นครอสส์ เครื่องบินที่โด่งดังที่สุดของเขาจัดแสดงอยู่ที่อาคารอนุสรณ์สถานใกล้กับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศของท่าอากาศยานบริสเบน[60] เครื่องบินลำดังกล่าวนั้นคิงส์ฟอร์ด สมิทได้ขายให้รัฐบาลออสเตรเลียใน ค.ศ. 1935 ด้วยราคา 3000 ปอนด์เพื่อจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นการถาวร[61][62] และถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่อนุสรณ์สถานปัจจุบันจะสร้างเสร็จ
ถนนสายหนึ่งที่ตัดผ่านย่านแฮมิลทันที่เขาเกิดได้ชื่อว่าคิงส์ฟอร์ด สมิทไดรฟ์[63] นอกจากนี้ยังมีคิงส์ฟอร์ด สมิทไดรฟ์อีกสายหนึ่งอยู่ในเขตเบลคอนนิน กรุงแคนเบอร์ราซึ่งตัดกับถนนอีกสายชื่อเซาเทิร์นครอสส์ไดรฟ์[64]
โรงเรียนสองแห่งตั้งชื่อตามคิงส์ฟอร์ด สมิท ได้แก่โรงเรียนคิงส์ฟอร์ด สมิทในย่านโฮลต์ กรุงแคนเบอร์ราซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 2009[65] และโรงเรียนประถมศึกษาเซอร์ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด-สมิทในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา[66]
ภาพของคิงส์ฟอร์ด สมิทปรากฏบนธนบัตรมูลค่า 20 ดอลลาร์ออสเตรเลียซึ่งหมุนเวียนใช้ระหว่าง ค.ศ. 1966 ถึง ค.ศ. 1994 (เมื่อประเทศออสเตรเลียเปลี่ยนไปใช้ธนบัตรพลาสติกแทนธนบัตรกระดาษ) เพื่อยกย่องคุณูปการของเขาต่อวงการการบินและความสำเร็จตลอดชั่วชีวิตของเขา[67] นอกจากนี้ภาพของเขายังปรากฏบนเหรียญ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียที่ออกใน ค.ศ. 1997 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลของเขาด้วย[68]
ศาลาคิงส์ฟอร์ด สมิทสร้างขึ้นในอัลเบิร์ตพาร์กในกรุงซูวา ประเทศฟีจี ที่ซึ่งคิงส์ฟอร์ด สมิทจอดพักระหว่างเส้นทางบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก[69][70] และที่หาดเซเวนไมล์ที่ซึ่งคิงส์ฟอร์ด สมิทดำเนินกิจการเที่ยวบินพาณิชย์ไปยังนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรกก็มีแผ่นป้ายอนุสรณ์อยู่ด้วยเช่นกัน[71]
เครื่องบินพาณิชย์สองลำตั้งชื่อตามคิงส์ฟอร์ด สมิทได้แก่เครื่องบินแอร์บัส เอ380 ของสายการบินควอนตัส ทะเบียน VH-OQF[72] และเครื่องบินโบอิง 747 ของสายการบินเคแอลเอ็ม ทะเบียน PH-BUM[73]
ดาวบริวารดวงเล็กดวงหนึ่งของดาวเสาร์ตั้งชื่อตามเขา[74]
ออสติน เบิร์น ผู้ชื่นชอบการบินชาวออสเตรเลียเป็นคนหนึ่งที่ไปรอรับเซาเทิร์นครอสส์และลูกเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกลับถึงออสเตรเลียใน ค.ศ. 1928 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เบิร์นสร้างแบบจำลองของเซาเทิร์นครอสส์เพื่อมอบให้แก่คิงส์ฟอร์ด สมิท หลังจากที่คิงส์ฟอร์ด สมิทหายสาบสูญ เบิร์นได้สร้างสิ่งระลึกเพิ่มเติมเช่นภาพวาด ภาพถ่าย เอกสาร และงานศิลปะต่าง ๆ เบิร์นทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์และนำเที่ยวชมอนุสรณ์เซาเทิร์นครอสส์ของเขาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 จนกระทั่งเบิร์นเสียชีวิตใน ค.ศ. 1993[75]
หมายเหตุ
[แก้]ก่อนหน้าที่คิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรือจะบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเคยมีเครื่องบินชื่อเบิร์ดออฟพาราไดซ์ของกองบินกองทัพบกสหรัฐซึ่งบินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก โดยบินจากแคลิฟอร์เนียไปยังฮาวายใน ค.ศ. 1927[76]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Citizenship in Australia เก็บถาวร 9 สิงหาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน — National Archives of Australia
- ↑ "Australian nationality law". Visaparaaustralia.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2012.
- ↑ "1897/C9077 birth of Smith, Charles Edward Kingsford". Queensland birth index. Queensland Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2011. สืบค้นเมื่อ 25 June 2017.
- ↑ "Family Notices". The Brisbane Courier. Vol. LIII no. 12, 196. Queensland, Australia. 13 February 1897. p. 4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 25 June 2017 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Dramatic Art and Elocution Class". Morning Post (Cairns). Vol. 10 no. 47. Queensland, Australia. 15 January 1901. p. 2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 25 June 2017 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "3979/1903 Smith, Richard H K & Johnson, Elsie K St C". New South Wales Marriage Index. New South Wales Government. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 25 June 2017.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Howard, Frederick. "Kingsford Smith, Sir Charles Edward (1897–1935)". Australian Dictionary of Biography. Canberra: National Centre of Biography, Australian National University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2017. สืบค้นเมื่อ 14 April 2019.
- ↑ Newth, Melville C (1980). Serving a Great Cause. Sydney: M C Newth. ISBN 0959455000.
- ↑ Sparrow, Jeff (22 July 2015). "If you oppose Reclaim Australia, remember fascism wasn't always a freakshow". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 May 2020. สืบค้นเมื่อ 8 June 2020.
- ↑ "Lieutenant Charles Edward Kingsford-Smith". Australian War Memorial. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018.
- ↑ "Finding 'Smithy'" (PDF). National Museum of Australia. 2003. p. 6. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 September 2015. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018.
- ↑ Aspin, Chris Dizzy Heights The Story of Lancashire's First Flying Men Helmshore Local History Society 1988 pp125-9 ISBN 0-906881-04-8
- ↑ "Fifty Australians". Awm.gov.au. 31 May 1928. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2008.
- ↑ "Application for pilot's licence – Charles Edward Kingsford-Smith". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 March 2009 – โดยทาง National Archives of Australia.
- ↑ "Sydney to Cowra in Four Hours". Cowra Free Press. Vol. 48 no. 3294. New South Wales, Australia. 29 March 1927. p. 3. สืบค้นเมื่อ 26 August 2022 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Trans-Pacific Flight". Cowra Free Press. Vol. 50 no. 3404. New South Wales, Australia. 5 June 1928. p. 2. สืบค้นเมื่อ 25 August 2022 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Aviation". The West Australian. Perth, West Australia. 29 September 1922. p. 7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 October 2018. สืบค้นเมื่อ 12 January 2020 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Charles Kingsford Smith biography Ace Pilots". Acepilots.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2011.
- ↑ 19.0 19.1 "7.30 report story about Charles Ulm". ABCnet.au. 31 May 1928. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 21 September 2009.
- ↑ Lyon, Harry W. Captain; Kingsford-Smith, Charles Sir; Warner, James. (Interviewee); 2GB (Radio station : Sydney, N.S.W.) (1958), Reminiscences of flights in the "Southern Cross", เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022, สืบค้นเมื่อ 2 February 2017
- ↑ "Charles Kingsford-Smith – Hawaii Aviation". Hawaii.gov. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 October 2015.
- ↑ "The Great Pacific Flight". Flight. 20 (1016): 437. 14 June 1928. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2013. สืบค้นเมื่อ 31 August 2013.
- ↑ Kingsford-Smith, Charles; C. T. P. Ulm (1928). Story of "Southern Cross" Trans-Pacific Flight, 1928. Sydney: Penlington and Somerville.
- ↑ "Ballina Aero Club". Ballina Aero Club. 9 June 1928. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2013.
- ↑ "Far North Coaster". Far North Coaster. 23 May 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2012.
- ↑ Aviators - Charles Kingsford-Smith เก็บถาวร 15 เมษายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - (includes photo of the plaque commemorating the flight across the Pacific and the landing at Brisbane on 9 June 1928)
- ↑ "Brisbane - Eagle Farm - History of Eagle Farm - ourbrisbane.com". 24 January 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2004. สืบค้นเมื่อ 20 March 2018.
- ↑ Photo of Southern Cross, and welcoming crowd, at Eagle Farm on 9 June 1928 (National Archives of Australia)[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Magnificent Machines – Home-grown Legends (Sydney Morning Herald)". Sydney Morning Herald. 17 December 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2012.
- ↑ National Film and Sound Archive of Australia: 'An Airman Remembers' เก็บถาวร 5 ธันวาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on australianscreen online เก็บถาวร 2 มีนาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ National Film and Sound Archive of Australia: 'Our Heroes of the Air' เก็บถาวร 31 มกราคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Australia Post. Stamps and Philatelic Branch (1978), [Australia Post covers], Australia Post, Stamps and Philatelic Branch, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022, สืบค้นเมื่อ 2 February 2017
- ↑ "NZEDGE Legends – Jean Batten, Pilot – Endurance". www.nzedge.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2009. สืบค้นเมื่อ 20 March 2018.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 34.3 Davis, P., 1977, Charles Kingsford Smith: Smithy, the World's Greatest Aviator, Summit Books, ISBN 0-7271-0144-7
- ↑ Anderson, Charles (14 July 2013). "Lost in the long white cloud". Stuff.co.nz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Tasman Sea Flight". The Argus (Melbourne). No. 25, 604. Victoria, Australia. 3 September 1928. p. 13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ 37.0 37.1 "Today in History | NZHistory, New Zealand history online". Nzhistory.net.nz. 11 September 1928. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2016.
- ↑ "The first flight across the Tasman – National Library of New Zealand". Natlib.govt.nz. 11 September 1928. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 November 2012.
- ↑ "Australian Dictionary of Biography". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2008. สืบค้นเมื่อ 13 September 2008.
- ↑ Gallagher, Desmond (1986). Shooting Suns and Things: Transatlantic Fliers at Portmarnock. Kingford Press. ISBN 0951156519.
- ↑ "Summary". The Sydney Morning Herald. No. 28, 955. New South Wales, Australia. 23 October 1930. p. 1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "The Pioneers – Chubbie Miller". Ctie.monash.edu.au. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2011.
- ↑ "Australian-made Car". The Sydney Morning Herald. New South Wales, Australia. 15 June 1933. p. 6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2020 – โดยทาง Trove.
- ↑ "At the Wheel Notes for Motorists". Morning Bulletin. Queensland, Australia. 29 March 1934. p. 5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2020 – โดยทาง Trove.
- ↑ "Sir Charles Kingsford-Smith". monumentaustralia.org.au. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2020. สืบค้นเมื่อ 8 June 2020.
- ↑ 46.0 46.1 "A Great Pilot Passes". Flight: 525. 21 November 1935. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 April 2014. สืบค้นเมื่อ 30 August 2013.
- ↑ "Kingsford-Smith missing in storm". The Bend Bulletin. No. 132. 8 November 1935. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 22 September 2018.
- ↑ "VH-USB "Lady Southern Cross" (Part 4)". Adastron.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 December 2015.
- ↑ By Aye เก็บถาวร 17 กันยายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน TIME 6 June 1938
- ↑ "Aircraft undercarriage from the 'Lady Southern Cross', 1928 – 1938". Powerhousemuseum.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2016.
- ↑ Frederick Howard. Australian Dictionary of Biography – Online Edition. Previously published in Australian Dictionary of Biography. Volume 9, Melbourne University Press, 1983.
- ↑ Justin, By (21 March 2009). "Sir Charles Kingsford Smith's final resting place found". News.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2009.
- ↑ Gibson, Joel (21 March 2009). "Kingsford Smith? Not likely, says Dick Smith". The Sydney Morning Herald. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 March 2018. สืบค้นเมื่อ 20 March 2018.
- ↑ "Past Winners". Royal Automobile Club. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018.
- ↑ "1932 Birthday Honours". Flight. 24 (1224): 515. 10 June 1932. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2014. สืบค้นเมื่อ 31 August 2013.
- ↑ "Honours". The Sydney Morning Herald. No. 29, 458. New South Wales, Australia. 3 June 1932. p. 9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ Sprekelmeyer, Linda, editor. These We Honor: The International Aerospace Hall of Fame. Donning Co. Publishers, 2006. ISBN 978-1-57864-397-4.
- ↑ "Kingsford-Smith". The Mercury. Vol. CXLV no. 20, 528. Tasmania, Australia. 14 August 1936. p. 11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Profile of the electoral division of Kingsford Smith (NSW)". Australian Electoral Commission. 10 February 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Kingsford Smith Memorial". Brisbane Airport. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Southern Cross". The Sydney Morning Herald. No. 30, 434. New South Wales, Australia. 19 July 1935. p. 11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Southern Cross". The Sydney Morning Herald. No. 30, 570. New South Wales, Australia. 25 December 1935. p. 5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Hamilton Road". The Courier-mail. Queensland, Australia. 3 July 1953. p. 3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2020. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Roadwork tenders called". The Canberra Times. Vol. 44 no. 12, 557. Australian Capital Territory, Australia. 28 February 1970. p. 3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 July 2022. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018 – โดยทาง National Library of Australia.
- ↑ "Kingsford Smith School - School Houses". ACT Education Directorate. January 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Sir Charles Kingsford-Smith Elementary School". Vancouver School Board. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Other Banknotes Paper Series". Reserve Bank of Australia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "One Dollar". Royal Australian Mint. 8 January 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ Singh, Indra (21 May 2013). "SCC to renovate Albert Park". Fiji Broadcasting Corporation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "30 May 2003 - 75th Anniversary of Smithy's Landing at Albert Park". Australian High Commission Fiji. 30 May 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ "Sir Charles Kingsford Smith Memorial and Lookout". New South Wales Government Destination NSW. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 October 2017. สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
- ↑ Qantas's sixth A380 arrives เก็บถาวร 15 มีนาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน — Australian Aviation Magazine
- ↑ "PH-BUM - Boeing 747-206B(M)(SUD) - KLM Royal Dutch Airlines - MDVS - JetPhotos". JetPhotos. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 March 2018. สืบค้นเมื่อ 15 April 2018.
- ↑ Tiscareno, Matthew S.; และคณะ (8 July 2010). "Physical Characteristics and Non-Keplerian Orbital Motion of "Propeller" moons embedded in Saturn's rings". The Astrophysical Journal Letters. 718 (2): 95. arXiv:1007.1008. Bibcode:2010ApJ...718L..92T. doi:10.1088/2041-8205/718/2/L92. S2CID 119236636.
- ↑ corporateName=National Museum of Australia; address=Lawson Crescent, Acton Peninsula. "National Museum of Australia - Southern Cross memorial". www.nma.gov.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2013.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Murphy, William B. (1977). "Bird of Paradise" (PDF). 15th Air Base Wing Office of Information, USAF. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Pioneers – Charles Kingsford Smith
- Charles Kingsford Smith biography Ace Pilots เก็บถาวร 2011-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Sir Charles Kingsford Smith Australian Heroes
- Charles Kingsford Smith about the Tasman flight
- Charles Kingsford Smith (includes photos of Sir Charles Kingsford Smith and his aeroplane, the Southern Cross)
- Sir Charles Kingsford Smith Sound Recordings and Newsreels
- Photographs from an album kept by Charles Ulm's wife, Mary, including many of Charles Kingsford Smith: National Museum of Australia เก็บถาวร 2018-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Austin Byrne and the Kingsford Smith Southern Cross Memorial
- "Our Heroes of the Air" (audio recordings of Kingsford Smith and Ulm on the National Film and Sound Archive of Australia's website)
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่July 2022
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2440
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2478
- บุคคลจากบริสเบน
- นักบินชาวออสเตรเลีย
- ทหารอากาศชาวออสเตรเลีย
- ทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- อัศวินแห่งออสเตรเลีย
- บุคคลที่หายสาบสูญ
- นักบินผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการบิน
- เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการบินในทวีปเอเชีย
- ประวัติศาสตร์การบิน
- การบินในประเทศออสเตรเลีย
- การบินในมหาสมุทรแปซิฟิก