หรีด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หรีดคริสต์มาส

หรีด (อังกฤษ: wreath) เป็นดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี มักมีใบไม้เป็นส่วนประกอบด้วย ใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น เคารพศพ ประดับตกแต่ง หรือทำเป็นมงคล (เครื่องสวมศีรษะ)

ต้นกำเนิด[แก้]

หรีดทองใช้เป็นมงคล (เครื่องสวมศีรษะ) อายุราวกลางปีที่ 400 ก่อนคริสตกาล

พวงหรีดมีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยอารยธรรมอีทรัสคันในแถบทวีปยุโรปตอนใต้[1] จากการพบมงกุฎทองสำหรับนักรบเมื่อเวลาออกรบเพื่อเป็นเกียรติยศโดยแกะเป็นลายใบไม้และดอกไม้ อายุราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคโรมันโบราณมีการใช้หรีดมาประดับศีรษะ โดยเรียกว่า ลอเรลหรีธ (laurel wreath) โดยใช้ใบไม้สานกัน

ในประเทศไทย[แก้]

จุดเริ่มต้นการใช้พวงหรีดในประเทศไทยสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมตะวันตก เริ่มแพร่หลายอย่างมากในยุคล่าอาณานิคม หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการรับเอาอารยธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาในประเทศไทย โดยปรากฏหลักฐานภาพถ่ายการนำดอกไม้หลากหลายชนิดมาตกแต่งเป็นพวงกลมคล้ายพวงหรีดครั้งแรก ในพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2447 ด้วยเหตุนี้เองทำให้คาดการณ์ได้ว่าพวงหรีดได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยและใช้เป็นสื่อแทนความโศกเศร้าตั้งแต่สมัยนั้น[2]

ชนิดของพวงหรีด[แก้]

ในปัจจุบันพวงหรีดนอกจากพวงหรีดที่ทำมาจากดอกไม้สดแล้ว ยังมีพวงหรีดแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอีกหลายชนิด เช่น พวงหรีดดอกไม้สด พวงหรีดดอกไม้แห้งหรือดอกไม้ประดิษฐ์ พวงหรีดผ้าชนิดต่าง ๆ พวงหรีดพัดลม พวงหรีดต้นไม้ (ส่วนมากนิยมเป็นต้นโมกเพราะเป็นต้นไม้มงคล) พวงหรีดนาฬิกา และพวงหรีดหนังสือ เป็นต้น โดยจุดประสงค์ของพวงหรีดชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพราะ สมัยก่อนคนนิยมสั่งพวงหรีดดอกไม้สด โดยเฉพาะงานศพของผู้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ก็มักจะได้พวงหรีดมาก บางครั้งก็เต็มจนล้นศาลาวัด ทำให้บางครั้งเป็นภาระของทางวัดที่ต้องเป็นผู้จัดการพวงหรีดที่ใช้แล้ว จึงมีคนเสนอให้มีการใช้พวงหรีดชนิดใหม่ ๆ เช่น พวงหรีดผ้า พวงหรีดพัดลม ซึ่งเมื่อใช้แล้วก็เหมือนเราบริจาคผ้าหรือพัดลมให้วัด ทางวัดก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ไม่ต้องนำไปทิ้งเหมือนพวงหรีดดอกไม้สด หรือพวงหรีดที่เป็นต้นไม้ซึ่งโดยส่วนมากนิยมเป็นต้นโมก เพราะเป็นต้นไม้มงคล ทางวัดก็จะสามารถนำไปปลูกต่อไป ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้

ปัจจุบัน ดอกไม้สด 10 ชนิดที่นิยมนำมาจัดพวงหรีด ได้แก่ ดอกมัม, ดอกสแตติส, ดอกเยอบีร่า, ดอกกล้วยไม้, ดอกลิลลี่, ดอกคาร์เนชั่น, ดอกไฮเดรนเยีย, ดอกกุหลาบ, ดอกหน้าวัว และ ดอกแคสเปีย[3]

พวงหรีดศาสนาคริสต์แตกต่างกับศาสนาพุทธอย่างไร[แก้]

พวงหรีดศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย ดังนี้

การเลือกใช้ดอกไม้ในการทำพวงหรีด พวงหรีดศาสนาคริสต์จะนิยมเลือกใช้เป็นดอกไม้สดมากกว่า พวงหรีดแบบอื่น ๆ แต่ถ้าผู้เข้าร่วมงานต้องการจะมอบพวงหรีดที่ไม่ใช่ดอกไม้สด แนะนำให้สอบถามทางเจ้าภาพหรือญาติของผู้เสียชีวิตก่อนว่าสามารถทำได้ไหม เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เสียชีวิตหรือเจ้าภาพ

การเขียนข้อความบนพวงหรีด การเขียนข้อความบนพวงหรีด ถ้าเป็นตามธรรมเนียมศาสนาคริสต์ จะเป็นการเขียนข้อความสั้น ๆ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งข้อความจะเน้นเป็นข้อความที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิต หรือความรู้สึกดี ๆ ของผู้ให้ต้องการจะสื่อถึงผู้เสียชีวิต เช่น คุณจะอยู่ในใจของฉันตลอดไป หรือ ฉันจะรักและคิดถึงเธอตลอดไป หรือ ฉันจะคิดถึงคุณเสมอ หรือ จะรักคุณตลอดไป เป็นต้น

การสั่งพวงหรีดในยุคปัจจุบัน[แก้]

ในสมัยก่อนหากคนต้องการจะไปงานศพ ก็มักจะไปสั่งพวงหรีดเอาที่ร้านพวงหรีดซึ่งโดยมากตั้งอยู่ตามข้างวัด โดยเฉพาะวัดดัง ๆ ซึ่งมีจัดงานศพบ่อย เป็นประจำ แต่เนื่องจากในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป บางคนต้องทำงานจนดึกกว่าจะเลิกงานก็ไปสั่งพวงหรีดไม่ทันเพราะต้องเจอปัญหารถติดหลังเลิกงาน หรือบางบริษัทก็ต้องส่งพวงหรีดไปงานศพของญาติลูกน้องแต่ไม่มีเวลาไปร้านพวงหรีดเนื่องจากไม่ได้ไปงานศพเองหรืองานศพจัดที่ต่างจังหวัด เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีการสั่งพวงหรีดออนไลน์เกิดขึ้น [4] ตามยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและเจริญขึ้น ซึ่งก็ได้รับความนิยมและสามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก

อ้างอิง[แก้]

  1. Higgins, Reynold Alleyne (1980). Greek and Roman Jewellery. University of California Press. p. 150. ISBN 978-0-520-03601-7.
  2. "พวงหรีดมาจากไหน?". wreathnawat.com. สืบค้นเมื่อ December 5, 2015.
  3. ""10 ดอกไม้สดที่นิยมนำมาจัดพวงหรีดและความหมายที่น่ารู้". reedthai.com. สืบค้นเมื่อ 28 May 2021.
  4. ""ร้านพวงหรีดออนไลน์ ที่สามารถตอบโจทย์ขนส่งออนไลน์ของคนยุคใหม่ได้จริง ๆ". พวงหรีดธรรมะ.com. สืบค้นเมื่อ 28 May 2021.
  • เสฐียรโกเศศ. ประเพณีเนื่องในการตาย. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2539