ข้ามไปเนื้อหา

หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นระบบการทับศัพท์ด้วยอักษรไทยที่นิยมใช้กันมากที่สุดระบบหนึ่ง โดยคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์และคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา (เดิมคือราชบัณฑิตยสถาน) เป็นผู้กำหนดและเสนอหลักเกณฑ์ต่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเพื่อออกประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ใช้หลักเกณฑ์ จากนั้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วลงประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ประวัติ

[แก้]

ราชบัณฑิตยสถานได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศและเสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศใช้เป็นครั้งแรกใน ไบแนบที่ ๑ วิธีทับสัพท ของ ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องบัญญัติสัพทฉบับที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. 2485 ในครั้งนั้นได้กำหนดวิธีเทียบเสียงและถ่ายอักษรพยัญชนะและสระของภาษาตะวันตก 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อังกฤษ และอิตาลี รวมอยู่ในตารางเดียวกัน[1] อย่างไรก็ตาม วิธีทับศัพท์ตามประกาศฉบับนี้เน้นการถอดตัวอักษรมากกว่าการถ่ายเสียง คำทับศัพท์จึงอ่านแล้วไม่ใกล้เคียงการออกเสียงในภาษาต้นฉบับ ในระยะหลัง คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานจึงไม่ได้ยึดถือวิธีทับศัพท์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัดนัก แต่พยายามทับศัพท์โดยการถ่ายเสียงมากขึ้น[2]

ต่อมาใน พ.ศ. 2531 ราชบัณฑิตยสถานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ขึ้น[3] เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์เป็นเอกเทศสำหรับภาษาแต่ละภาษา เนื่องจากเห็นว่าภาษาหนึ่ง ๆ มีลักษณะทางเสียงและโครงสร้างแตกต่างกับภาษาอื่น โดยเริ่มต้นจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นลำดับแรก ส่วนหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอื่น ๆ ให้จัดทำเฉพาะภาษาที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของไทยก่อน[4] ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ประกาศใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (ตามที่ราชบัณฑิตยสถานเสนอ) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2532[5] และประกาศใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น อาหรับ และมลายู (รวมอินโดนีเซีย) ในคราวเดียวกันเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535[6]

หลังจากที่หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ ได้รับการเผยแพร่และนำไปใช้ได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่ายังมีปัญหาอยู่อีกหลายประการ ทั้งยังมีผู้ท้วงติงและเสนอข้อคิดเห็นไปยังราชบัณฑิตยสถานอยู่เนือง ๆ ราชบัณฑิตยสถานจึงแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2546[4] เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์เสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางขึ้น จากนั้นจึงทยอยเสนอคณะรัฐมนตรีให้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วแทนหลักเกณฑ์เดิม ได้แก่ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553;[7] หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอาหรับ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554;[8] หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น และมลายู ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561[9]

ในขณะเดียวกัน ราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา) ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอื่น ๆ เพิ่มอีกเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งานในปัจจุบัน ได้แก่ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาจีนและฮินดี ซึ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้เป็นมาตรฐานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2548;[10] หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลีและเวียดนาม ซึ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้เป็นมาตรฐานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555;[11] หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่าและหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้เป็นมาตรฐานเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561[12][13]

ลักษณะทั่วไป

[แก้]
  1. ในการทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์ และให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
  2. คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานจนถือเป็นคำภาษาไทยและปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น ช็อกโกแลต, ไอศกรีม, กงสุล, สลัด, สุกียากี้ เป็นต้น
  3. คำวิสามานยนามที่ใช้กันมานานแล้ว อาจใช้ต่อไปตามเดิม เช่น กรีนิช, นโปเลียน, เหงียน, สุมาตรา, วอน (สกุลเงินเกาหลี) เป็นต้น
  4. ในการทับศัพท์จะใส่วรรณยุกต์ก็ต่อเมื่อภาษาต้นฉบับมีหน่วยเสียงวรรณยุกต์เท่านั้น ซึ่งได้แก่ ภาษาจีนและเวียดนาม คำทับศัพท์ภาษาอื่นนอกเหนือจากนี้จึงไม่ใส่วรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่มีรูปพ้องกับคำไทยซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนหรือมีความหมายไม่พึงประสงค์
  5. ความเข้าใจเรื่องสัทอักษรมีส่วนสำคัญในการถอดเสียงในภาษาที่คาดคะเนการออกเสียงจากรูปเขียนได้ยาก เช่น ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น
  6. อักษรไทยที่ใช้แสดงเสียงเสียงหนึ่งในภาษาหนึ่งอาจเป็นคนละตัวกับอักษรไทยที่ใช้แสดงเสียงเดียวกันในภาษาอื่น ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไปตามแต่ละภาษา เช่น เสียง /ʒ/ ในการทับศัพท์ภาษาอังกฤษใช้ ช แต่ในการทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันใช้ ฌ; เสียง /x/ ในการทับศัพท์ภาษาสเปนใช้ ฆ, ในการทับศัพท์ภาษาเยอรมัน อาหรับ มลายู และอินโดนีเซียใช้ ค, ในการทับศัพท์ภาษาเวียดนามใช้ ค หรือ ข, ในการทับศัพท์ภาษาจีนใช้ ฮ หรือ ห เป็นต้น
  7. ในการถอดเสียงพยัญชนะจะเลือกอักษรไทยที่ใช้บ่อยที่สุดจากกลุ่มอักษรไทยที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่ในบางภาษามีเสียงพยัญชนะจำนวนมากที่ปรากฏบ่อยและไม่ตรงกับเสียงพยัญชนะใด ๆ ในภาษาไทย จึงต้องเลือกอักษรไทยที่มีเสียงใกล้เคียงและปรกติใช้เขียนคำที่รับจากภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้แสดงเสียงเหล่านั้น เช่น ในการทับศัพท์ภาษาอาหรับ ใช้ ฎ แสดงเสียง /dˤ/ เพื่อให้แตกต่างกับ ด ที่ใช้แสดงเสียง /d/ เป็นต้น

ภาษาที่มีหลักเกณฑ์การทับศัพท์รองรับ

[แก้]

ปัจจุบันราชบัณฑิตยสถาน/สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำและประกาศใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ แล้ว 15 ภาษา ได้แก่

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องบัญญัติสัพทฉบับที่ 1" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (66): 1831–1873. 13 ตุลาคม 2485.
  2. มงคล เดชนครินทร์. บัญญัติศัพท์-ศัพท์บัญญัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558, หน้า 73.
  3. มงคล เดชนครินทร์. บัญญัติศัพท์-ศัพท์บัญญัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558, หน้า 75.
  4. 4.0 4.1 นิตยา กาญจนะวรรณ. ทับศัพท์ บัญญัติศัพท์ ถอดอักษร จาก Siamization ถึง Anglicization. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2554, หน้า 7.
  5. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 106 (153): 439–464. 14 กันยายน 2532.
  6. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น อาหรับ และมลายู" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (56): 1. 1 พฤษภาคม 2535.
  7. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 127 (พิเศษ 106 ง): 27. 3 กันยายน 2553.
  8. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอาหรับ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 128 (พิเศษ 38 ง): 12. 31 มีนาคม 2554.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น และมลายู" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 135 (พิเศษ 82 ง): 2. 9 เมษายน 2561.
  10. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาจีนและภาษาฮินดี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 122 (พิเศษ 67 ง): 1. 18 สิงหาคม 2548.
  11. 11.0 11.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลี และภาษาเวียดนาม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 129 (พิเศษ 112 ง): 7. 16 กรกฎาคม 2555.
  12. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่า (เมียนมา)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 135 (พิเศษ 82 ง): 1. 9 เมษายน 2561.
  13. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 135 (พิเศษ 82 ง): 3. 9 เมษายน 2561.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]