กนก จันทร์ขจร
กนก จันทร์ขจร | |
---|---|
ผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก คนที่ 12 | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 – 30 กันยายน พ.ศ. 2538 (5 ปี 364 วัน) | |
ก่อนหน้า | สำราญ รัตนวิทย์ |
ถัดไป | ประสาร อุตมางคบวร |
ผู้อำนวยการโรงเรียนมักกะสันพิทยา คนที่ 2 | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2523 – 2532 | |
ก่อนหน้า | ประยูร สระน้ำ |
ถัดไป | สมพงษ์ ปุยพลทัน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 5 มกราคม พ.ศ. 2558 (80 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | องุ่น ทองดีเลิศ (สมรส 2506) |
บุตร | 4 คน |
บุพการี |
|
การศึกษา |
|
ศิษย์เก่า | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วท.บ.), (ค.ม.) |
อาชีพ | ข้าราชการ |
วิชาชีพ | ครู |
กนก จันทร์ขจร (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 – 5 มกราคม พ.ศ. 2558) เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการบริหารโรงเรียน การบริหารบุคคล นักวิชาการและนักสังคมศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาทุกระดับ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ จนดำรงตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก และผู้ตรวจราชการในเขตกรุงเทพฯ ที่กรมสามัญศึกษามอบหมาย[1]
ประวัติ
[แก้]กนกเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ที่บ้านตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายจก และนางพลอย จันทร์ขจร มีพี่ 1 คน คือนายบุญเลอ และมีน้อง 2 คน นางหนู นุชชาติ และนายประเวศน์ จันทร์ขจร
การศึกษา
[แก้]กนกเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จนจบชั้นประถมปีที่ 4 แล้วเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนสายธรรมจันทร์ ในอำเภอเดียวกัน จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วสอบแข่งขันได้เป็นนักเรียนฝึกหัดทุนครูจังหวัดราชบุรีมาเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จนได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ใน พ.ศ. 2499 (รุ่นนี้เป็นหลักสูตรเร่งรัดเรียนเพียง 2 ปี ปีที่ 3 ฝึกสอน กนกมีผลการฝึกสอนดีมากจึงได้รับบรรจุเป็นครูในโรงเรียนที่ฝึกสอนคือโรงเรียนวัดสังเวช) ขณะที่เรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กนกได้ไปสมัครสอบเทียบได้วุฒิประโยคเตรียมอุดมศึกษาด้วย แล้วได้รับเลือกให้ไปเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะยังเป็นครูยังสอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) อีกวุฒิหนึ่ง
หลังเข้ารับราชการ กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ กนกลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาการบริหารการศึกษา นอกจากนั้นยังได้รับประกาศนียบัตรจากไปศึกษา ดูงานในต่างประเทศ เช่น Cert. in High School Study Program จากสหรัฐ และ Cert. in I.S. จากสถาบัน Recsam รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย[1]
การทำงาน
[แก้]การรับราชการ
[แก้]กนกได้เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนวัดสังเวช จังหวัดพระนคร ใน พ.ศ. 2500 หลังจากศึกษาต่อได้ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ) สาขาฟิสิกส์ ก็กลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม พ.ศ. 2505 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนเดียวกัน พ.ศ. 2508 ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนตากพิทยาคม จังหวัดตาก และรักษาการอาจารย์ใหญ่โรงเรียนผดุงปัญญา จังหวัดเดียวกันอีกตำแหน่งหนึ่ง พ.ศ. 2514 ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนระยองมิตรอุปถัมภ์ จังหวัดระยอง (โรงเรียนประจำจังหวัดชาย) และรักษาการอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีแห่งระยอง "บุญศิริบำเพ็ญ" อีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2514 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรวมโรงเรียนประจำจังหวัดทั้ง 2 โรงเรียนเข้าด้วยกันเป็นโรงเรียนระยองวิทยาคม กนกได้เป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้จน พ.ศ. 2516 มาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พ.ศ. 2523 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ผ่านการประเมินได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการระดับ 9 พ.ศ. 2532 ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพมหานคร ก่อนเกษียณอายุราชการ กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการในเขตกรุงเทพฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง และทำหน้าที่นี้จนเกษียนอายุราชการใน พ.ศ. 2538
หลังเกษียณอายุและบุคลิกส่วนตัว
[แก้]หลังเกษียณอายุราชการเขาก็ได้รับเชิญไปเป็นกรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
กนกนอกจากเขาจะเป็นคนเรียนหนังสือดี เป็นครูสอนที่เก่ง สอนดีแล้ว ยังมีคุณลักษณะจำเป็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครูควรมีเป็นอย่างยิ่งก็คือ เทื่อสนใจศึกษาวิทยาการในแขนงใดก็สามารถศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง จนมีความเชี่ยวชาญสามารถทำเป็นคู่มือให้นักเรียนและเพื่อนร่วมอาชีพได้ศึกษา นำไปใช้ประโยชน์ได้[1]
ผลงาน
[แก้]ผลงานด้านการเรียนและรวมรวมความรู้เพื่อเผยแพร่ของกนก แสดงให้เห็นว่า กนกเป็นผู้อุทิศตนเพื่อวิชาชีพครูอย่างยิ่งผู้หนึ่ง เพราะผลงานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและการปฏิบัติของกนก เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครูและวงการศึกษาทั้งสิ้น มีหลายแขนงเช่น[1]
- ด้านการศึกษา ได้แก่ หนังสือการบริหารงานวิชาการในโรงเรียนมัธยมศึกษา เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตร "ผู้บริหารสถานศึกษาระดับสูง" คู่มือการเรียนการสอนและการสอบ คู่มือครู "เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู" คู่มือครู "การจัดทำหนังสือสอบ การวิเคราะห์สอบ การวิเคราะห์ผลข้อสอบ" คู่มือครู "การจัดทำ อ.2 ระดับ 7 และ อ.3" ฯลฯ
- ด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ดาราศาสตร์สำหรับลูกเสือและเนตรนารี คู่มือดูดาวตำราดาราศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
- ด้านคุณธรรมจริยธรรม คู่มือ "ธรรมเพื่อชีวิต" พ.ศ. 2525 "การอบรมความรู้และจริยธรรมเพื่อชีวิต พ.ศ. 2525 คู่มือวัฒนธรรม "วิถีชีวิตไทย" พ.ศ. 2543 ฯลฯ
ชีวิตครอบครัวและปั้นปลายชีวิต
[แก้]กนกสมรสกับนางสาวองุ่น ทองดีเลิศ ใน พ.ศ. 2506 มีบุตร 4 คน คือ เภสัชกรหญิงณภัชฎา แพทย์หญิงภาวินี พันเอก ทันตแพทย์กัญจน์ และพันโท นายแพทย์สุทธิสัณห์ จันทร์ขจร
ชีวิตครอบครัวของกนกเป็นครอบครัวรักการอ่าน การเขียน และพิมพ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ร่วมงานและบุคคลทั่วไปได้ใช้ประโยชน์อยู่เป็นประจำ เป็นผู้ดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง หาความรู้เรื่องการกิน การอยู่ อย่างมีสุขภาพ และปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีโรคประจำตัวของคนวัยชรา คือ เบาหวานและหัวใจ แต่ก็ได้รับความดูแลรักษาอย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จนในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและหมดสติไปด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก จึงถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558 สิริอายุได้ 80 ปี 1 เดือน 25 วัน[1]
และพระราชทานเพลิงศพวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[3]
- พ.ศ. 2525 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. 2530 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[5]
เกียรติคุณ
[แก้]กนกได้รับรางวัลต่างๆยกย่อง ดังนี้[1]
- รางวัล "ครูจริยศึกษาดีเด่น" จากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2526
- เป็นประธานชุมนุมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและอุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย พ.ศ. 2530
- รางวัล "พ่อตัวอย่างดีเด่นแห่งชาติ" จากสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2532
- รางวัลผู้บริหารดีเด่นทางวิชาการ และการบริหารทางการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2534
- รางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้มีผลงานการใช้ภาษาไทยดีเด่น จากสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535
- รางวัล "ผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่นของกรมสามัญศึกษา" พ.ศ. 2537
- รางวัล "ครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง" จากสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2561" (PDF). elibrary.ksp.or.th. หอสมุดคุรุสภา. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำตักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๙๘, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๙ เก็บถาวร 2022-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๕๐ ง หน้า ๑๘๙๕, ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๐
- หนังสือ "ด้วยความรักและระลึกถึง อาจารย์กนก จันทร์ขจร" ป.ช., ป.ม. ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบานเขน กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
- นางองุ่น จันทร์ขจร (ภรรยา) ให้ข้อมูลเพิ่มเติม