จิ้งเหลน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิ้งเหลน
จิ้งเหลนบ้าน (Eutropis multifasciata)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
ไม่ได้จัดลำดับ: Sauria
อันดับ: Squamata
อันดับฐาน: Scincomorpha
วงศ์: Scincidae
Gray, 1825
วงศ์ย่อย

จิ้งเหลน (อังกฤษ: Skink, ชื่อวิทยาศาสตร์: Scincidae) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่จัดอยู่ในอันดับ Squamata เช่นเดียวกับงูและกิ้งก่า จัดอยู่ในวงศ์ Scincidae

มีรูปร่างโดยรวม คือ ลดรูปรยางค์ขาแตกต่างกันหลายระดับเพราะบางชนิดมีขาใหญ่ บางชนิดมีขาเล็กมาก และบางชนิดไม่มีขา มีรูปร่างแตกต่างกันตั้งแต่ลำตัวป้อมและขาใหญ่ไปจนถึงลำตัวเรียวยาวคล้ายงู เกล็ดปกคลุมลำตัวด้านหลังและด้านท้องรูปร่างกลมและเรียบเป็นมัน เกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมกันและมีกระดูกในชั้นหนังรองรับโดยมีลักษณะจำเพาะ คือ เกล็ดแต่ละแผ่นมีกระดูกในชั้นหนังหลายชิ้นซึ่งแตกต่างจากกิ้งก่าวงศ์อื่น ๆ ที่มีชั้นเดียว ลักษณะจำเพาะและแตกต่างจากกิ้งก่าวงศ์อื่นอีกประการ คือ หลายชนิดของวงศ์นี้มีเพดานปากแบบทุติยภูมิเจริญขึ้นมา กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์ควาวิเคิลเป็นรูปโค้งหรือไม่มีกระดูกชิ้นนี้และกระดูกไหปลาร้าเป็นรูปหักมุม หางค่อนข้างยาว หลายชนิดปล่อยหางหลุดจากลำตัวได้เหมือนเช่น จิ้งจก เพื่อเอาตัวรอดจากศัตรู โดยตำแหน่งที่ปล่อยหางอยู่ทางด้านหน้าของก้านกระดูกทางด้านข้างของก้านกระดูกทางด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนหาง พื้นผิวด้านบนของลิ้นเป็นตุ่มยาว ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับร่องที่ขอบด้านในของกระดูกขากรรไกร กระดูกพเทอรีกอยด์มีฟันหรือไม่มีฟัน

วงศ์จิ้งเหลนนี้ถือว่าเป็นวงศ์ที่ใหญ่มาก สามารถแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อย ๆ ได้อีก 4 วงศ์ (ดูในตาราง) แบ่งออกได้เป็นสกุลต่าง ๆ ได้ถึง 116 สกุล และเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ราว 1,000 ชนิด ซึ่งจำนวนนี้ไม่แน่นอน เพราะการค้นพบใหม่ ๆ ขึ้นทุกปี

สำหรับสัตว์ในวงศ์นี้ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ จิ้งเหลนบ้าน (Eutropis multifasciata) ที่สารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นต้น[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 391 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]