สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์(ประเทศราชของหงสาวดี)
พ.ศ. 2112 — พ.ศ. 2127 (15 ปี)
(เอกราช)
พ.ศ. 2127 — พ.ศ. 2133 (6 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหินทราธิราช
ถัดไปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
กษัตริย์พระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้านันทบุเรง
พระมหาอุปราชสมเด็จพระนเรศวร
พระราชสมภพพ.ศ. 2057
สวรรคตพ.ศ. 2133 (76 พรรษา)
มเหสีพระวิสุทธิกษัตรีย์
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์สุโขทัย

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 17 แห่งอาณาจักรอยุธยา และปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2112 ถึง พ.ศ. 2133

พระราชประวัติ[แก้]

ก่อนครองราชย์[แก้]

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช[1] สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 ต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิเรนทรเทพ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา[2]

เมื่อขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์สมคบกันสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้าพระราชโอรสของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เองแล้ว ขุนพิเรนทรเทพได้ร่วมกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศ ปรึกษากันว่าแผ่นดินเป็นทุรยศ ควรจับขุนวรวงศาธิราชไปประหารชีวิตเสีย แล้วให้พระเทียรราชาซึ่งทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเทียรราชา กราบทูลแผนการให้ทรงทราบ ก็ทรงเห็นด้วย ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ เห็นว่าควรเสี่ยงเทียนว่า พระเทียรราชามีพระบารมีมากกว่าขุนวรวงศาธิราชหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบ แต่พระเทียรราชาทรงเห็นด้วย ค่ำวันนั้นทั้งหมดจึงไปยังพระอุโบสถวัดป่าแก้วเพื่อทำพิธีเสี่ยงทาย[3]

เมื่อจุดเทียนแล้วปรากฏว่าเทียนของขุนวรวงศาธิราชยาวกว่า ขุนพิเรนทรเทพจึงโกรธว่าห้ามแล้ว ยังขืนทำอีก แล้วคายชานหมากทิ้ง บังเอิญไปถูกเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง ทั้ง 5 คนจึงยินดีอย่างยิ่ง[4] ขณะนั้นมีพระภิกษุลึกลับเข้ามาในอุโบสถ ให้พรว่าที่ปรารถนานั้นจะสำเร็จแน่ ออกจากอุโบสถก็หายตัวไป[5]

ต่อมากรมการเมืองลพบุรีแจ้งราชสำนักว่าพบช้างมงคล (ช้างเผือก) ในเช้าตรู่วันต่อมาขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระราชโอรส และพระศรีสิน จึงทรงเสด็จทางชลมาส พระราชดำเนินไปทางคลองสระบัว เพื่อไปทรงคล้องช้างเผือก ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้จัดกองเรือออกสกัด เข้าจับขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และพระราชโอรส ฆ่าเสียทั้งหมด เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง เว้นชีวิตไว้แต่พระศรีสิน[5] แล้วเข้ายึดพระราชวัง ให้ส่งเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปรับพระเทียรราชาซึ่งลาสิกขาบทแล้วมาราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ครองกรุงศรีอยุธยาแทน[6]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ครองเมืองพิษณุโลก ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดาเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นพระอัครมเหสี และพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค มีอำนาจตั้งตำแหน่งบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือนในเมืองพิษณุโลก และเรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง[1] เมื่อประทับ ณ เมืองพิษณุโลกนั้น พระวิสุทธิกษัตรีย์ได้มีประสูติกาลพระราชโอรสธิดาตามลำดับคือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ[2]

ถึงปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นว่าครั้งนี้ทัพหงสาวดีมากจนเหลือกำลังจะต้านทานได้ ในวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 2 จึงทรงยอมแพ้ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาจัดทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระองค์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็จัดพล 30,000 ไปกับทัพพระเจ้าบุเรงนอง จนกระทั่งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงถอดสมเด็จพระมหินทราธิราชจากราชสมบัติ แล้วราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน มีราชทินนามว่า สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[7]

หลังครองราชย์[แก้]

ในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง แต่ทรงป้องกันพระนครไว้ได้ และได้โปรดให้ขุดขยายคูเมืองด้านตะวันออกของเกาะเมืองให้กว้างขึ้น สร้างป้อมมหาชัย และสร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช (สมเด็จพระนเรศวร)[8]

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรและเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2133[8] สิริพระชนมพรรษา 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 21 ปี[9]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ได้แก่

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 71
  2. 2.0 2.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 117
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 67
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 68
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 69
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 70
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 129
  8. 8.0 8.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 118
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 169
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ถัดไป
- เจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก
(พ.ศ. 2091 — พ.ศ. 2112)
สมเด็จพระนเรศวร
สมเด็จพระมหินทราธิราช
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2112 — พ.ศ. 2133)
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ราชวงศ์สุโขทัย