วัดราชประดิษฐาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดราชประดิษฐาน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชประดิษฐาน
ที่ตั้ง69 ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ความพิเศษวัดโบราณอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีกล่าวถึงวัดราชประดิษฐานหลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นคนสร้างและสร้างในรัชสมัยใด ปัจจุบัน เป็นวัดราษฎร์

ประวัติ[แก้]

วัดราชประดิษฐานเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นคนสร้างและสร้างในรัชสมัยใด แต่วัดราชประดิษฐาน มีหมายความว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ดังนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้สร้างวัดนี้คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแน่นอน

วัดราชประดิษฐานถูกกล่าวถึงพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต พระยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในขณะที่มีพระชนมายุยังน้อย พระเฑียรราชาจึงอยู่ในฐานะที่อาจก่อความระแวงว่าจะแย่งชิงราชสมบัติได้ ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จออกผนวชที่วัดราชประดิษฐาน พระองค์ได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หลังจากที่ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกปลงพระชนม์

หลังจากนี้ วัดราชประดิษฐานยังถูกกล่าวถึงเมื่อพระศรีศิลป์ พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์มีพระชันษาได้ประมาณ 14 พรรษา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงให้ออกผนวชเป็นสามเณร ณ วัดราชประดิษฐาน แต่พระศรีศิลป์ก่อขบถต้องปืนสิ้นพระชนม์เสียก่อน

นอกจากนี้ วัดราชประดิษฐานยังใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในขณะที่พระองค์ผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดราชประดิษฐานถูกปล่อยร้างเรื่อยมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีสงครามเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2497 ปัจจุบันวัดราชประดิษฐานมีถาวรวัตถุคือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ย่อมุมทรงกลีบมะเฟือง และพระประโทนจำลอง

ปัจจุบันพื้นที่ของวัดราชประดิษฐาน ได้รวมเอาพื้นที่ของวัดท่าทรายไว้ด้วย ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามของคลองประตูข้าวเปลือก โดยถูกกล่าวถึงในพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ลดยศและให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ไปอยู่เรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลังริมวัดท่าทราย และให้คนรับใช้ไว้ 2 คนแต่พออยู่ตักน้ำหุงข้าว ภายหลังก่อกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ และเคยเป็นที่จำพรรษาของพระมหานาค กวีสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้แต่งบุณโณวาทคำฉันท์ ปัจจุบันวัดท่าทรายเหลือ พระอุโบสถ หอสมณธรรม เจดีย์ทรงปรางค์แปดเหลี่ยม เจดีย์ทรงกลม พระพุทธบาท-พระพุทธฉายจำลอง และหอระฆัง

นอกจากพื้นที่ของวัดท่าทรายแล้ว วัดราชประดิษฐานยังได้รวมพื้นที่ของวัดสุวรรณาวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดราชประดิษฐาน ซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมา แต่บริเวณนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นป่าตะกั่วและป่ามะพร้าวและเป็นที่ตั้งของโรงช้างหลวง จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดนี้อาจเป็นวัดที่ผู้ดีมีตระกูลซึ่งรับราชการอยู่ในกรมพระคชบาลในสมัยอยุธยาเป็นผู้สร้างขึ้น ปัจจุบันวัดสุวรรณาวาสเหลือ ซากพระวิหาร ซากพระอุโบสถ เจดีย์ทรงระฆังกลม เจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม

อ้างอิง[แก้]