พระยายุทธิษเฐียร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระยายุทธิษฐิระ)
พระยายุทธิษเฐียร
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
(พระร่วงเจ้าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย)
ครองราชย์พ.ศ. 2011–2017
ก่อนหน้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ถัดไปสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครั้งที่ 2) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
เจ้าเมืองพะเยา
ครองราชย์พ.ศ. 1994–2022
ก่อนหน้าพระยาคำลือ
ถัดไปนางเจ้าหมื่น (นางเมืองพะเยา)
ราชวงศ์พระร่วง และสุพรรณภูมิ
พระราชบิดาพระมหาธรรมราชาที่ 4
พระราชมารดาพระมารดามาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิไม่ทราบพระนาม[1]

พระยายุทธิษฐิระ หรือ พระยายุทธิษเฐียร ทรงเป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัยในปี พ.ศ. 2011 จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาเสียดินแดนอาณาจักรสุโขทัยแก่อาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2017 นอกจากนี้ พระเจ้าติโลกราชยังทรงแต่งตั้งให้พระยายุทธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองพะเยาและดูแลหัวเมืองล้านนาตะวันออกตอนล่างจนถูกปลดในปี พ.ศ. 2022

พระประวัติ[แก้]

พระยายุทธิษฐิระสืบเชื้อสายครึ่งราชวงศ์พระร่วงครึ่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ด้วยเป็นโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 4[2] และมีพระมารดามาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ[3]

ในวัยเยาว์เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดำรงพระยศเป็นพระราเมศวรและครองเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น ทรงได้สัญญาว่าหากได้ครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยา จะทรงสถาปนาพระยายุทธิษฐิระขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ทรงจัดการปฏิรูปการปกครอง และตั้งให้พระยายุทธิษฐิระเป็นเพียงพระยาสองแคว ซึ่งบรรดาศักดิ์ลดลงกว่าตำแหน่งพระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย) เป็นอย่างมาก พระยายุทธิษฐิระหวังจะเป็นพระร่วงเจ้าด้วยสิทธิ์อันชอบธรรมแห่งราชวงศ์ เพราะก่อนหน้านี้หลังพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทิวงคต พระยายุทธิษฐิระซึ่งเป็นพระยาเชลียง ครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ก็คิดจะตั้งตนเป็นพระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย) ต่อจากพระอัยกา แต่ข้าราชบริพารทางสองแควก็ยกพระราเมศวรขึ้นเป็นพระร่วงแทน พระยายุทธิษฐิระเกรงพระบารมี จึงทรงนิ่งเสีย แต่เมื่อทรงไม่ได้ตามประสงค์จึงทรงเรื่มเอาใจออกห่างกรุงศรีอยุธยา และไปเข้ากับ พญาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพญา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนาม พญาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช (ชาวล้านนา เรียกพระมหากษัตริย์ ว่า พญา หรือ พระญา ซึ่งหมายถึง ผู้นำ ผู้ยิ่งใหญ่ หรือหัวหน้า ไม่ใช่ พระยา ซึ่งหมายถึง ยศ ขุนนาง ในอยุธยา)[ต้องการอ้างอิง]

เหตุการณ์นี้ พระเจ้าติโลกราชทรงชุบเลี้ยงพระยายุทธิษฐิระในตำแหน่งพระโอรสบุญธรรม ทรงให้ครองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย รวมถึงพะเยาซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายอาคเนย์ ซึ่งรวมอาณาบริเวณเมืองพร้าว เมืองอำเภองาว และกาวน่าน ต่อมาเมื่อเสียสุโขทัยและศรีสัชนาลัยแก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยายุทธิษฐิระจึงครองเพียงเมืองพะเยาและหัวเมืองอาคเนย์[ต้องการอ้างอิง]

จวบจนใน พ.ศ. 2022 ทรงมีคดีกับพระเจ้าติโลกราช จึงทรงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก แต่ยังได้ความปรานียังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป ส่วนเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครองต่อ การที่พระเจ้าติโลกราชทรงมอบเมืองพะเยาและกาวน่าน ให้พระยายุทธิษฐิระ ปกครองนั้น อันเนื่องมาจาก กลุ่มหัวเมืองอาคเนย์นี้เป็นหัวเมืองที่ได้มาใหม่ เจ้าเมืองกาวน่านเดิมมีเชื้อสายพระร่วงเจ้าทางราชนิกูล ส่วนทางเมืองพะเยา ก็ให้ความเคารพพระร่วงเจ้าสุโขทัยมาแต่ครั้งพญางำเมืองนั่นเอง[ต้องการอ้างอิง]

พระกรณียกิจ[แก้]

ในเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ดูจะทรงไม่มีพระกรณียกิจที่เด่นชัด แต่เมื่อทรงครองพะเยา ก็ทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่ ที่บ้านพองเต่า สร้างวัดป่าแดงหลวง (ปัจจุบัน ราชการได้ประกาศรวมกับวัดดอนไชยบุนนาค ที่อยู่ติดกันเป็นวัดเดียวกัน ชื่อว่า วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค) ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์ จากเมืองแจ้ตาก และ รอยพระพุทธบาท จากสุโขทัย มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์[ต้องการอ้างอิง]

ความบาดหมางกับพระเจ้าติโลกราช[แก้]

จารึกพะเยาหลักที่ 45 (พ.ศ. 2021) ระบุว่า เจ้าพันหลวงได้นิมนต์พระเถระจากที่ต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศล สมเด็จพระราชาอโสกราช ได้เสด็จมาสดับพระธรรมเทศนา จึงอนุโมทนาด้วยกับการบุญของเจ้าพันหลวง กรณีนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ระบุว่า ผู้ใช้นามนี้ไม่น่าจะเป็นใครอื่น นอกจากพระยายุทธิษฐิระ โดยอาจกล่าวได้ว่าขณะนั้นพระยายุทธิษฐิระ มีอำนาจค่อนข้างมากทางฟากตะวันออกของแคว้นล้านนา ไปตลอดจนสุดเขตแดนที่ต่อเนื่องกับสุโขทัยของอยุธยา แต่การยกย่องตนเองนี้กลับไม่เป็นผลดีกับพระองค์ เพราะปีถัดมา พระเจ้าติโลกราช ทรงให้อัญเชิญ พระแก่นจันทน์ จากเมืองพะเยา อ้อมไปทางเมืองน่าน แพร่ เขลางค์ (ลำปาง) ลำพูน จนถึงเชียงใหม่ นัยหนึ่งคือการแสดงพระราชอำนาจของพระเจ้าติโลกราช ให้ประจักต่อชาวล้านนาตะวันออก เพราะเส้นทางไปเชียงใหม่ อันที่จริงไม่จำเป็นต้องผ่านไปทางน่าน หรือลำปางก็ได้ ต่อจากนั้น ก็ทรงปลดพระยายุทธิษฐิระ เข้าไปช่วยราชการที่ในนครเชียงใหม่แทน ดังจารึกวัดป่าเหียง (จารึกพะเยาหลักที่ 5) (พ.ศ. 2026) เปลี่ยนพระนามการเรียกพระยายุทธิษฐิระ เป็นเพียง "ลูกพระเป็นเจ้า" แทนการเรียกยศหรือตำแหน่ง โดยที่ "พระเป็นเจ้า" ได้หมายถึงพระเจ้าติโลกราช[ต้องการอ้างอิง]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโขทัย มาจากไหน?. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2548. หน้า 138. ISBN 974-323-517-5
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ พิเศษ
  3. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโขทัย มาจากไหน?. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2548. หน้า 138. ISBN 974-323-517-5
  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ:มติชน, 2553. ISBN 978-974-02-0490-9

ดูเพิ่ม[แก้]

รัชสมัยก่อนหน้า พระยายุทธิษเฐียร รัชสมัยถัดไป
พระยาราม
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1967–สิ้นพระชนม์ก่อน พ.ศ. 1989)  
เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย  (พระยาเชลียง)  
(ก่อน พ.ศ. 1989–ประมาณ พ.ศ. 1991)
พระยาสวรรคโลก
ขุนนาง (ประมาณ พ.ศ. 1991–ไม่ทราบปี)  
ไม่ทราบ เจ้าเมืองสองแคว  (พระยาสองแคว)
อาณาจักรสุโขทัย 
(สรลวงสองแคว)  
(ประมาณ พ.ศ. 1991–2011)
พระยาพิษณุโลก
ราชวงศ์สุโขทัย  (พ.ศ. 2077–2091)  
พระราเมศวร (บรมไตรฯ)
อาณาจักรสุโขทัย 
(สรลวงสองแคว)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1989–1991)  
พระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย)
อาณาจักรสุโขทัย  (ศรีสัชนาลัย)  
(พ.ศ. 2011–2017)
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
อาณาจักรสุโขทัย 
(พระพิษณุโลกสองแคว)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2017–2028)  
ไม่ทราบ เจ้าสี่หมื่นเมืองพะเยา
อาณาจักรล้านนา
(ฟากตะวันออก)  
(พ.ศ. 2011–2031)
นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยา
(พ.ศ. 2022–2031)