สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1991 - 2031 (40 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
ถัดไปสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
พระมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1989 - 1991 (2 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้ารามราชา
ถัดไปสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
พระร่วงเจ้าสุโขทัย (ครั้งที่ 1)
ครองราชย์พ.ศ. 1989 - 1991 (2 ปี)
ก่อนหน้าพระมหาธรรมราชาที่ 4
ถัดไปพระยายุทธิษเฐียร
พระร่วงเจ้าสุโขทัย (ครั้งที่ 2)
ครองราชย์พ.ศ. 2017 - 2028 (11 ปี)
ก่อนหน้าพระยายุทธิษเฐียร
ถัดไปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
พระราชสมภพพ.ศ. 1962
สวรรคตพ.ศ. 2032 (70 พรรษา) เมืองพิษณุโลก อาณาจักรอยุธยา
พระราชบุตรพระอินทราชา
พระบรมราชา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)
พระเชษฐา (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระราชมารดาพระราชเทวี (พระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2)

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[1][2][3][4] หรือกฎมนเทียรบาล ออกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสุทธิสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูรบรมบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งอาณาจักรอยุธยา และพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ระหว่าง พ.ศ. 1991 ถึง พ.ศ. 2031 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ 1 ในหลาย ๆ พระองค์ที่ได้รับพระราชสมัญญาเป็นพระเจ้าช้างเผือก พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่มี "ช้างเผือก" ไว้ประดับพระบารมี ซึ่งตามความเชื่อของชาวฮินดูว่าเป็น "เครื่องหมายแห่งความรุ่งโรจน์และความสุข"[5] รัชสมัยของพระองค์ยังเป็นที่รู้จักในด้านการปฏิรูประบบราชการไทยครั้งใหญ่และการต่อสู้กับอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชที่ประสบความสำเร็จ พระองค์ยังได้รับการเทิดทูนในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของประเทศไทย

พระนาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสืบคันในกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา พบว่าออกพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังนี้[6]

  1. ในกฎหมายลักษณะขบถศึก ออกพระนามว่า สมเด็จบรมนาถบพิตรสิทธิสุนทรธรรมเดชา มหาสุริยวงศ์ องค์บุรุโษดมบรมมหาจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช (เข้าใจกันว่า พระนามนี้ผูกขึ้นเพราะหมายความว่า พระเจ้าอยู่หัว เท่านั้น)
  2. กฎมนเทียรบาล ออกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสุทธิสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูรบรมบพิตร
  3. กฎหมายศักดินาในกรุง ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนายกดิลกผู้เป็นเจ้า
  4. กฎหมายศักดินาหัวเมือง ออกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ
  5. กฎหมายลักษณะขบถศึก ออกพระนามว่า สมเด็จบรมมหาจักรพรรดิรามาธิบดี
  6. กฎหมายลักษณะขบถศึก ออกพระนามว่า สมเด็จบรมมหาจักรพรรดิศรรามาธิบดี

ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พบว่าออกพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังนี้[7]

  1. ในพระราชพงศาวดาร ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า
  2. พระราชพงศาวดาร ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลก
  3. จารึกวัดจุฬามณี ออกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถบพิตร
  4. จารึกวัดจุฬามณี ออกพระนามว่า สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารธรรมิกราชาธิราชเจ้าผู้ประเสริฐในภพ
  5. จารึกวัดจุฬามณี ออกพระนามว่าพระศรีสรรเพ็ชสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชเมศวรธรรมิกราชเดโชชัยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิมกุฏพุทธางกูรบรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราชอันประเสริฐ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีพระนามเดิมว่า พระราเมศวร (โปรดอย่าสับสนกับสมเด็จพระราเมศวร ครองราชย์ พ.ศ. 1912-1913) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1974 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่าพระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรสุโขทัย พระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ตามที่นักประวัติศาสตร์ Michael Vickery กล่าว สิ่งนี้ไม่สามารถตรวจสอบได้ในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ อาจเป็นเพราะการอ่านพงศาวดารผิดหรือตีความผิด[8]

อาจเป็นไปได้ว่าพระราเมศวรประสูติในสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา โดยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 1955 เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา และสถาปนาพระราเมศวรพระราชโอรสของพระองค์เองซึ่งมีพระชนมายุ 7 พรรษาเป็นอุปราชแห่งสุโขทัย[9] เมื่อพระราเมศวรมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระราชบิดาได้ส่งพระองค์ไปยังเมืองพิษณุโลก (ซึ่งเป็นเมืองหลวงแทนที่สุโขทัยในราว พ.ศ. 1973) เพื่อปกครองดินแดนเดิมของสุโขทัยซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "หัวเมืองเหนือ"

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1974 พระราเมศวรมีพระชนมายุได้ 17 พรรษา ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้พระองค์รวมสุโขทัยและอยุธยาเข้าด้วยกัน[10]

พระราชกรณียกิจ

ด้านการปกครอง

พระราชกรณียกิจด้านการปกครองประกอบด้วยการจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อันเป็นแบบแผนซึ่งยึดสืบต่อกันมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[11] และการตราพระราชกำหนดศักดินา ซึ่งทำให้มีการแบ่งแยกสิทธิ และหน้าที่ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป[12] โดยทรงเห็นว่ารูปแบบการปกครองนับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีความหละหลวม หัวเมืองต่าง ๆ เบียดบังภาษีอากร และปัญหาการแข็งเมืองในบางช่วงที่พระมหากษัตริย์อ่อนแอ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครองโดยมีการแบ่งงานฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกันอย่างชัดเจน ให้สมุหพระกลาโหมดูแลฝ่ายทหาร และให้สมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน รวมทั้งจตุสดมภ์ในราชธานี

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแบ่งงานทางการปกครองออกเป็น "ฝ่ายพลเรือน" และ "ฝ่ายทหาร" อย่างชัดเจน โดยมี "เจ้าพระยามหาเสนาบดี" ดำรงตำแหน่ง สมุหพระกลาโหม มีหน้าที่ดูแลกิจการทหารทั่วอาณาจักร และ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ดำรงตำแหน่ง สมุหนายก รับผิดชอบงานพลเรือนทั่วอาณาจักร พร้อมกับดูแลหน่วยงานจตุสดมภ์[13] จากเดิมที่พื้นฐานการปกครองนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยยังไม่ได้แยกฝ่ายพลเรือนกับทหารออกจากกันชัดเจน ทั้งนี้ ในยามสงคราม ไพร่ทุกคนจะต้องรับราชการทหารอันเป็นหน้าที่หลัก[11] อันเป็นลักษณะรูปแบบการปกครองของอาณาจักรขนาดเล็กที่ขาดการประสานงานระหว่างเมือง[11]

ในปี พ.ศ. 2006 การปกครองในส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่เดิมที่แบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง[13] แล้วระบบการปกครองหัวเมืองเสียใหม่ ดังนี้

  • หัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น[14] จัดเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมไปปกครอง แต่สิทธิอำนาจทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์
  • หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร มีการกำหนดเป็นเมืองเอก โท หรือตรี ตามลำดับความสำคัญ เมืองใหญ่อาจมีเมืองเล็กขึ้นอยู่ด้วย พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปปกครอง มีการจัดการปกครองเหมือนกับราชธานี คือ มีกรมการตำแหน่งพลและกรมการตำแหน่งมหาดไทย และพนักงานเมือง วัง คลัง นา[15] เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา และทวาย จัดเป็น เมือง เอก โท ตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเป็นสิทธิขาด เป็๋นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ มีกรมการปกครองในตำแหน่ง เมือง วัง คลัง นา เช่นเดียวกับของทางราชธานี
  • เมืองประเทศราช คงให้เจ้าเมืองปกครองกันเอง เพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด และเกณฑ์ผู้คนและทรัพย์สินเพื่อช่วยราชการสงคราม

สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า แขวง มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้า

พระองค์ยังทรงแบ่งการปกครองในภูมิภาค ออกเป็นหมู่บ้าน ตำบล แขวง และเมือง[13]

ตราพระราชกำหนดศักดินา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตราพระราชกำหนดศักดินาขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้มีการแบ่งประชากรออกเป็นหลายชนชั้น[12] เช่นเดียวกับหน้าที่และสิทธิของแต่ละบุคคล ศักดินาเป็นความพยายามจัดระเบียบการปกครองให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น อันเป็นหลักที่เรียกว่า การรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง[12] ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าศักดินาจะเป็นการกำหนดสิทธิในการถือครองที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติแล้วหมายถึงจำนวนไพร่พลที่สามารถครอบครอง เกณฑ์การปรับไหม และลำดับการเข้าเฝ้าแทน[16]

มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีการกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ และได้อาศัยใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการมีที่นาและการปรับไหมตามกฎหมาย

กฎมณเฑียรบาล

ในปี พ.ศ. 2001 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งกฎมณเฑียรบาล ขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งออกเป็นสามแผน คือ[17]

  1. พระตำราว่าด้วยแบบแผนพระราชพิธีต่าง ๆ
  2. พระธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการต่าง ๆ
  3. พระราชกำหนดเป็นข้อบังคับสำหรับพระราชสำนัก

ด้านวรรณกรรม

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมีลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตของไทย

พระบรมราชอิศริยยศและพระเกียรติยศ

พระบรมราชอิสริยยศ

  • พระยาบรมราชาติโลก (บรมไตรโลก)[18]: 148 
  • พระราเมศวรบรมไตรโลกนารถบพิตร (พระราเมศวร)[19]: 64 
  • สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถ มหามงกุฏเทพมนุษ วิสุทธิสุริยวงษ องคพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงทศพีธราชธรรมถวัลราชประเวนีศรีบรมกระษัตราธิราช พระบาทธดำรงภูมิมณฑล สกลสีมาประชาราฎร บรมนารถบรมบพิต[20]: 91 [21]: 63 
  • พระศรีสรรเพชญสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรวรราชาธิราช ราเมศวรธรรมิกราชเดโชชัยพรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์โลกเชษฐวิสุทธิมกุฏพุทธางกูร บรม (จุล) จักรพรรดิศวร (ธร) ธรรมิกราชาธิราชอันประเสริฐ (พ.ศ. 2223)[22]: 203 

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. Becker & Thongkaew 2008, p. 166.
  2. "An Overview of Government and Politics in Thailand". Royal Thai Embassy, Seoul. 2014. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  3. Schober 2002, p. 196.
  4. Chirapravati & McGill 2005, pp. 54, 65, 119.
  5. Chunlachakkraphong 1967, p. 39.
  6. อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี, หน้า 19-20
  7. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. (2450). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ไทย. หน้า 4-7, 22-23.
  8. Michael Vickery (1978). "A Guide through some Recent Sukhothai Historiography". Journal of the Siam Society. 66 (2): 182–246, at pp. 189–190.
  9. David K. Wyatt (2004). Thailand: A Short History (Second ed.). Silkworm Book. pp. 58–59.
  10. Chunlachakkraphong 1967, p. 31.
  11. 11.0 11.1 11.2 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 157.
  12. 12.0 12.1 12.2 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 159.
  13. 13.0 13.1 13.2 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 158.
  14. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 307.
  15. ดนัย ไชยโยธา. หน้า 307-308.และ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ,2545:232
  16. ดนัย ไชยโธยา. หน้า 342.
  17. ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 340.
  18. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์. (2513). ยวนพ่ายโคลงดั้น : ฤๅยอพระเกียรติพระเจ้าช้างเผือกกรุงเก่า พร้อมด้วยข้อวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มิตรสยาม. 350 หน้า.
  19. วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2555). พจนานุกรมคําเก่าในภาษาไทย ฉบับชะเลยสัก. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน). 341 หน้า. ISBN 978-616-7-15409-1
  20. หมอบลัดเล. (2424). "กฎมณเทียรบาล เล่ม ๑", ใน หนังสือเรื่องกฏหมายเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ริมป้อมปากคลองบางกอกใหญ่.
  21. วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2548). กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ: โครงการวิจัยเมธีอาวุโส สกว กฏหมายตราสามดวง: ประมวลกฏหมายไทยในฐานะมรดกโลก. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). 339 หน้า. ISBN 978-974-6-19138-8
  22. สายชล สัตยานุรักษ์ และนิธิ เอียวศรีวงศ์. (2546). พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒). กรุงเทพฯ: มติชน. 310 หน้า. ISBN 974-322-884-5 อ้างใน ศิลาจารึกวัดจุฬามณี พิษณุโลก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓.
บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถัดไป
พระรามราชา
ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. 1931 - 1938)

พระมหาอุปราชแห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1989 - 1991))
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2011 - 2031)
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1967 - 1989)

พระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย)
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1989 - 1991))
พระยายุทธิษฐิระ
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 2011 - 2017)
ว่าง ผู้รั้งเมืองสองแคว
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1989 - 1991))
พระยายุทธิษฐิระ
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1991 - 2017)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1967 - 1991)

พระมหากษัตริย์ แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1991 - 2031))
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2031 - 2034)
พระยายุทธิษเฐียร
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 2011 - 2017)

พระมหาธรรมราชา (พระร่วงเจ้าสุโขทัย) (ครั้งที่ 2)
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2017 - 2028))
สมเด็จพระเชษฐาธิราช
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2028 - 2034)
พระยายุทธิษเฐียร
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1991 - 2017)
ผู้ครองเมืองพิษณุโลก
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2017 - 2028))
ว่าง