โรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล | |
---|---|
ภาพวาด เสียงกรีดร้อง โดยเอ็ดวัด มุงก์ จิตรกรชาวนอร์เวย์[1] | |
สาขาวิชา | จิตเวชศาสตร์ |
โรควิตกกังวล (อังกฤษ: Anxiety disorders) เป็นกลุ่มความผิดปกติทางจิตกำหนดโดยความวิตกกังวลและความกลัว[2] ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตและความกลัว (fear) เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ความรู้สึกเช่นนี้อาจทำให้เกิดอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็วและตัวสั่น มีโรควิตกกังวลหลายอย่าง รวมทั้งโรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD), โรคกลัว (phobia) ที่เฉพาะเจาะจง, โรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder), โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (separation anxiety disorder), โรคกลัวที่ชุมชน (agoraphobia), และโรคตื่นตระหนก (panic disorder) โดยโรคจะต่าง ๆ กันตามอาการ แต่คนไข้มักจะมีโรควิตกกังวลมากกว่าหนึ่งชนิด[2] โรคมีปัจจัยจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม[3] ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งประวัติถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ประวัติความผิดปกติทางจิตในครอบครัว และความยากจน โรคมักเกิดร่วมกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า (MDD) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (PD) และการเสพสารเสพติด (substance use disorder)[4] เพื่อจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค จะต้องมีอาการอย่างน้อย 6 เดือน มีความวิตกกังวลเกินเหตุ และมีปัญหาในการดำเนินชีวิต[2][4] แต่ก็มีปัญหาทางจิตเวชและทางแพทย์อื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้าย ๆ กันรวมทั้งอาการไฮเปอร์ไทรอยด์, โรคหัวใจ, การเสพกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา, และการขาดยา (withdrawal) บางประเภท[4] ถ้าไม่รักษา โรคมักจะไม่หาย[2][3] การรักษารวมทั้งการเปลี่ยนสไตล์ชีวิต จิตบำบัด และการทานยา จิตบำบัดมักจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT)[4] ยาเช่นยาแก้ซึมเศร้าหรือเบต้า บล็อกเกอร์ อาจช่วยให้อาการดีขึ้น[3] คนประมาณ 12% มีโรคทุก ๆ ปี[4] โดยเกิดในหญิงมากกว่าชาย 2 เท่า และทั่วไปเริ่มก่อนอายุ 25 ปี[2][4] ประเภทโรคที่สามัญที่สุดคือโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเกิดในคน 12% และโรคกลัวการเข้าสังคม (SAD) ซึ่งเกิดในคน 10% ในช่วงหนึ่งในชีวิต โดยเกิดกับบุคคลอายุ 15-35 ปีมากที่สุด และเกิดขึ้นน้อยหลังถึงอายุ 55 ปี อัตราการเกิดดูจะสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป[4]
ประเภท
[แก้]โรควิตกกังวลไปทั่ว
[แก้]โรควิตกกังวลไปทั่ว (Generalized anxiety disorder, GAD) เป็นโรคที่สามัญ เรื้อรัง กำหนดโดยความวิตกกังวลที่ดำรงอยู่นานโดยไม่ได้เพ่งไปที่เรื่องหรือสถานการณ์ใดโดยเฉพาะ คนไข้กลัวและกังวลอย่างไม่เฉพาะเจาะจงและเป็นห่วงเรื่องชีวิตประจำวันมากเกินไป ตามหนังสือจิตวิทยาเล่มหนึ่ง GAD "กำหนดโดยความกังวลมากเกินไปที่เรื้อรังตามด้วยอาการ 3 อย่างหรือมากกว่านั้นดังต่อไปนี้ คือ อยู่ไม่สุข ล้า ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด กล้ามเนื้อเกร็ง และมีปัญหาการนอน"[5]
GAD เป็นโรควิตกกังวลที่สามัญที่สุดต่อคนมีอายุ[6] แต่ว่า ความวิตกกังวลอาจเป็นอาการทางการแพทย์หรือปัญหาการใช้สารเสพติด และผู้รักษาพยาบาลต้องรู้ในเรื่องนี้ GAD จะวินิจฉัยก็ต่อเมื่อบุคคลกังวลมากเกินไปเรื่องปัญหาชีวิตประจำวันเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น[7]
บุคคลอาจพบว่ามีปัญหาตัดสินใจและจำสิ่งที่วางแผนไว้ไม่ได้เนื่องจากไม่มีสมาธิหรือรู้สึกกังวลอย่างหมกมุ่น[8] คนไข้อาจจะดูเครียด เหงื่อออกเพิ่มขึ้นที่มือ เท้า และรักแร้[9] และอาจร้องไห้ง่าย ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า[10] ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค แพทย์จะกันความวิตกกังวลเหตุยาหรือเหตุทางแพทย์อื่น ๆ ออกก่อน[11]
ในเด็ก GAD อาจสัมพันธ์กับอาการปวดหัว อยู่ไม่สุข ปวดท้อง และหัวใจเต้นเร็ว[12] ซึ่งปกติแล้วจะเริ่มที่อายุประมาณ 8-9 ขวบ[12]
โรคกลัว
[แก้]กลุ่มย่อยของโรควิตกกังวลที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจำพวกความผิดปกติจากความกลัว (phobic disorders) ซึ่งรวมกรณีที่ความกลัวและความวิตกกังวลทั้งหมดจุดชนวนโดยสิ่งเร้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ประชากรประมาณ 5%-12% ทั่วโลกมีโรคกลัว[7] คนไข้ปกติจะกังวลถึงผลน่ากลัวที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ตนกลัว ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่สัตว์ สถานที่ ของเหลวจากร่างกาย หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง และจะเข้าใจว่า ตนกลัวมากโดยไม่สมกับอันตรายที่อาจมีจริง ๆ แต่ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ดี[8]
โรคตื่นตระหนก
[แก้]สำหรับโรคตื่นตระหนก คนไข้จะกลัวแบบรุนแรงแต่ชั่วคราว บ่อยครั้งพร้อมกับอาการสั่น สับสน เวียนหัว คลื่นไส้ และ/หรือหายใจไม่ออก การเกิดของ panic attack (การจู่โจมของความตื่นตระหนก) เช่นนี้ ดังที่ให้นิยามโดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ว่าเป็นความกลัวหรือความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและถึงจุดสูงสุดภายใน 10 นาที แต่สามารถดำรงอยู่ได้หลาย ชม.[13] การจู่โจมสามารถจุดชนวนโดยความเครียด ความกลัว หรือแม้แต่การออกกำลังกาย เหตุโดยเฉพาะบางครั้งก็ไม่ชัดเจน
นอกจากจะเกิดการจู่โจมของความตื่นตระหนกที่ไม่คาดฝันและเกิดซ้ำ ๆ เกณฑ์วินิจฉัยยังบังคับว่าต้องมีผลเรื้อรังอีกด้วย คือ เป็นความกังวลถึงผลที่อาจตามมาของการจู่โจม ความกลัวอยู่ว่าจะเกิดอีก และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างสำคัญเกี่ยวกับการเกิดการจู่โจม โดยเช่นนี้ คนไข้โรคตื่นตระหนกจะมีอาการแม้นอกเหนือไปจากคราวที่มีการจู่โจม บ่อยครั้ง คนไข้จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงการเต้นหัวใจที่เป็นปกติ แต่คิดว่า หัวใจของตนผิดปกติ หรือว่า ตนกำลังถูกจู่โจมด้วยความตื่นตระหนก ในบางกรณี ความสำนึกที่สูงขึ้น (hypervigilance) เกี่ยวกับการทำงานของร่างกายจะเกิดขึ้นในระหว่างมีการจู่โจม ที่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพที่สำนึกถึงทุกอย่างอาจทำให้คิดว่าเป็นความเจ็บป่วยที่อาจทำให้ถึงชีวิต (คือมีอาการไฮโปคอนดริเอซิสแบบรุนแรง)
โรคกลัวที่โล่ง
[แก้]อาการกลัวที่โล่ง (Agoraphobia) เป็นความวิตกกังวลเรื่องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่การหลบออกเป็นเรื่องยากหรือน่าอาย หรือว่าอาจไม่มีใครช่วยได้[14] อาการกลัวที่โล่งสัมพันธ์กับโรคตื่นตระหนก และบ่อยครั้งจะเริ่มด้วยความกลัวว่าจะมีการจู่โจมโดยการตื่นตระหนก (panic attack) ลักษณะที่สามัญก็คือต้องเห็นประตูหรือทางหนีอื่น ๆ ตลอดเวลา
นอกจากความกลัวแล้ว คำว่า agoraphobia บ่อยครั้งใช้หมายถึงพฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่คนไข้บ่อยครั้งมี[15] ยกตัวอย่างเช่น หลังจากความตื่นตระหนกในขณะขับรถ บุคคลที่มี agoraphobia อาจกังวลเรื่องขับรถแล้วก็จะหลีกเลี่ยงการขับรถ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงเช่นนี้บ่อยครั้งมีผลเสียหายและเสริมความกลัวที่มีอยู่แล้ว
โรคกลัวการเข้าสังคม
[แก้]โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder, SAD) เป็นความกลัวและการหลีกเลี่ยงอย่างรุนแรง ซึ่งการถูกมองในแง่ลบโดยสาธารณชน ความอับอายต่อหน้าคนอื่น การถูกทำให้ขายหน้า และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความกลัวอาจเป็นเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมบางอย่าง (เช่น การพูดต่อหน้าสาธารณะ) หรือที่สามัญกว่าก็คือ การต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในสถานการณ์โดยมากหรือทั้งหมด ความกังวลอาจปรากฏเป็นอาการทางกายโดยเฉพาะ ๆ รวมทั้งหน้าแดง เหงื่อออก และพูดไม่ออก
เหมือนกับโรคกลัวอื่น ๆ คนไข้โรคนี้จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตนกังวล แต่ในกรณีนี้ นี่ค่อนข้างจะสร้างปัญหามาก และมีกรณีรุนแรงที่คนไข้ไม่ยอมพบกับใครเลย
ส่วน Social physique anxiety (SPA) เป็นแบบย่อยของโรคกลัวสังคม โดยคนไข้จะกังวลว่าคนอื่นพิจารณารูปร่างของตนว่าเป็นอย่างไร[16] SPA เป็นเรื่องสามัญสำหรับวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศหญิง
ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ
[แก้]ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) เป็นโรควิตกกังวลที่เป็นผลของประสบการณ์สะเทือนใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น การสู้รบ ภัยธรรมชาติ การถูกข่มขืน การถูกจับเป็นตัวประกัน ทารุณกรรมในวัยเด็ก การถูกเพื่อนข่มเหง และแม้แต่อุบัติเหตุที่รุนแรง นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากการเครียดรุนแรงเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน[17] ยกตัวอย่างเช่น มีทหารที่สามารถอดทนต่อการสู้รบเป็นครั้ง ๆ แต่ไม่สามารถรับมือกับการสู้รบอย่างต่อเนื่อง อาการสามัญรวมทั้งระวังมากเกินไป (hypervigilance) การเห็นภาพย้อนหลัง (flashback) พฤติกรรมหลีกเลี่ยง ความวิตกกังวล ความโกรธ และความซึมเศร้า[18]
มีวิธีการรักษาพื้นฐานหลายอย่างสำหรับคนไข้ PTSD รวมทั้งการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) จิตบำบัด และความสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน ๆ[7] งานวิจัยในเรื่อง PTSD เริ่มต้นที่ทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม และผู้เคราะห์ร้ายจากภัยต่าง ๆ รวมทั้งภัยธรรมชาติ งานศึกษาพบว่า ระดับความรุนแรงที่ประสบในภัยพิบัติเป็นตัวพยากรณ์ PTSD ที่ดีที่สุด[19]
โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก
[แก้]โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (Separation anxiety disorder, SepAD) เป็นความวิตกกังวลที่เกินควรและไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการจากบุคคลหรือสถานที่ ความวิตกกังวลเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในพัฒนาการของทารกหรือเด็ก และดังนั้น เมื่อความรู้สึกนี้เกิดเกินควรหรือไม่สมควรเท่านั้นจึงจะจัดว่าเป็นโรค[20]
โรคเกิดนี้เกิดกับผู้ใหญ่ประมาณ 7% และเด็ก 4% แต่ว่ากรณีเด็กมักจะรุนแรงกว่า ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่การจากกันอย่างสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก[21][22]
การรักษาเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันปัญหา ซึ่งอาจรวมการฝึกพ่อแม่และครอบครัวว่าควรจะรับมือกับมันอย่างไร เพราะว่า บ่อยครั้ง พ่อแม่จะเสริมความวิตกกังวลของเด็กเพราะไม่รู้ว่าควรจะช่วยเด็กอย่างไร นอกจากการฝึกเด็กและครอบครัวแล้ว ยาบางอย่าง เช่น SSRI สามารถใช้บำบัดความวิตกกังวลเช่นนี้[23]
ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์
[แก้]ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ (Situational anxiety) มีเหตุจากการเกิดสถานการณ์ใหม่หรือเปลี่ยนไป หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทำให้บุคคลนั้นไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามัญมาก บ่อยครั้ง บุคคลจะประสบกับความตื่นตระหนก (panic attack) หรือความวิตกกังวลอย่างรุนแรงในสถานการณ์โดยเฉพาะ ๆ และสถานการณ์เช่นนั้นอาจไม่ทำให้คนอื่นกังวลโดยประการทั้งปวง
ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจไม่ชอบที่ชุมชนหรือที่แคบ ๆ ดังนั้น การรอคิวในแถวแน่นยาว เช่นที่ธนาคารหรือที่ร้านค้า อาจจะทำให้กังวลอย่างรุนแรง หรือเกิดความตื่นตระหนก (panic attack)[24] คนอื่นอาจจะกังวลเมื่อชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ เช่น การเข้ามหาวิทยาลัย การแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น
โรคย้ำคิดย้ำทำ
[แก้]โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ไม่ได้จัดเป็นโรควิตกกังวลในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) แต่จัดใน ICD-10 และ DSM-4 รุ่นก่อนก็จัดว่าเป็นโรควิตกกังวลเหมือนกัน เป็นภาวะที่บุคคลมีความย้ำคิด (คือความคิดหรือจินตภาพที่ทำให้กังวล คงยืน และไม่ต้องการ) และ/หรือพฤติกรรมย้ำทำ (รู้สึกให้ต้องทำอะไรหรือทำพิธีกรรมที่เฉพาะเจาะจงซ้ำ ๆ) ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือโรคอื่น ๆ เป็นภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์หรือมีปัญหาทางสังคม[25][26] พิธีกรรมเป็นกฎเฉพาะตนที่ต้องทำเพื่อแก้ความวิตกกังวล[26]
OCD มีผลต่อผู้ใหญ่ประมาณ 1-2% (โดยหญิงเป็นมากกว่าชาย) และต่อเด็กและวัยรุ่นเกือบ 3%[25][26] คนไข้จะรู้ว่าอาการเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุผล และพยายามสู้กับทั้งความคิดและพฤติกรรม[25][27] อาการสามารถสัมพันธ์กับเหตุการณ์ภายนอกที่ตนกลัว (เช่น ไฟไหม้บ้านเพราะลืมปิดเตา) หรือกังวลว่า จะทำอะไรที่ไม่สมควร[27] ไม่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงมี OCD แต่อาจมีปัจจัยทางพฤติกรรม ทางการรู้คิด ทางพันธุกรรม และทางประสาทชีววิทยา ที่เกี่ยวข้อง[26] ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งประวัติครอบครัว ความเป็นโสด (ซึ่งอาจเป็นผลของโรค) การอยู่ในสถานะทางสังคมเศรษฐกิจที่สูง หรือไม่มีงานที่ให้ค่าตอบแทนทำ[26] OCD เป็นโรคเรื้อรัง ประมาณ 20% ของคนไข้จะเอาชนะมันได้ และอีก 50% จะมีอาการอย่างน้อยลดลงโดยใช้เวลา[25]
เหตุ
[แก้]ยา
[แก้]ความวิตกกังวลและความซึมเศร้าอาจมีเหตุมาจากการดื่มสุรา ซึ่งในกรณีโดยมากจะดีขึ้นเมื่องดเป็นระยะเวลานาน แม้แต่การดื่มสุราแบบพอสมควรแต่ต่อเนื่องก็อาจเพิ่มระดับความวิตกกังวลในบางคน[28] การติดสารต่าง ๆ รวมทั้งกาเฟอีน เอทานอล (คือแอลกอฮอล์) และเบ็นโซไดอาเซพีน อาจเป็นเหตุหรือทำอาการวิตกกังวลและความตื่นตระหนกให้แย่ลง[29] ความวิตกกังวลเกิดขึ้นอย่างสามัญในช่วงอดเหล้าและสามารถคงยืนนานถึง 2 ปี (เป็น post-acute withdrawal syndrome) โดยเกิดขึ้นใน 1/4 ของคนที่เลิกเหล้า[30]
ในงานศึกษาปี 2531-2533 โรคในผู้ป่วยครึ่งหนึ่งที่หาหมอสุขภาพจิตที่คลินิกจิตเวชใน รพ. ประเทศอังกฤษ สำหรับปัญหาต่าง ๆ รวมทั้ง โรควิตกกังวล เช่น โรคตื่นตระหนก หรือโรคกลัวการเข้าสังคม พบว่าเป็นผลของการติดเหล้าหรือยา benzodiazepine คนไข้เหล่านี้จะกังวลเพิ่มขึ้นในช่วงอดสาร แล้วตามด้วยการหยุดความวิตกกังวล[31]
มีหลักฐานว่าการได้รับตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) ในที่ทำงานอาจสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล การทาสี การใช้น้ำมันขัดเงา และการปูพรม เป็นงานที่อาจได้รับตัวทำละลายอินทรีย์อย่างสำคัญ[32]
การใช้กาเฟอีน อาจจะเป็นเหตุหรือทำให้โรควิตกกังวลแย่ลง[33][34] รวมทั้งโรคตื่นตระหนก[35][36][37] คนที่มีโรควิตกกังวลอาจจะไวต่อกาเฟอีนมาก[38][39] ใน DSM-5 โรควิตกกังวลเหตุกาเฟอีน (Caffeine-induced anxiety disorder) เป็นประเภทย่อยของโรควิตกกังวลเหตุจากสารหรือยา แต่ก็ยังเป็นประเภทย่อยของโรควิตกกังวล ไม่ใช่ประเภทย่อยของโรคที่เกี่ยวกับสารหรือสารเสพติด แม้ว่าอาการจะมาจากสารที่ใช้[40]
การใช้กัญชาก็สัมพันธ์กับโรควิตกกังวลด้วย แต่ว่า ความสัมพันธ์เป็นเช่นไรยังต้องศึกษาให้ชัดเจน[41][42]
อาการทางแพทย์อื่น ๆ
[แก้]บางครั้ง โรควิตกกังวลอาจเป็นผลข้างเคียงของโรคระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นเหตุให้ระบบประสาททำงานเกิน โรคเช่น เนื้องอกแบบฟีโอโครโมไซโตมา[43][44] หรืออาการไฮเปอร์ไทรอยด์[45]
ความเครียด
[แก้]โรควิตกกังวลอาจเกิดตอบสนองต่อความเครียดในชีวิต เช่น ความกังวลเรื่องการเงิน หรือความเจ็บป่วยเรื้อรัง ความวิตกกังวลสามัญในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยต้นเพราะความเครียดในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาพพจน์ในระหว่างเพื่อนฝูง และรูปร่างหน้าตา ความวิตกกังวลยังสามัญในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และโดยนัยตรงกันข้าม บางครั้งหมอก็วินิจฉัยอาการทางกายที่คล้าย ๆ กันในผู้สูงอายุ (เช่น หัวใจเต้นเร็ว) ผิดว่าเป็นโรควิตกกังวล[6]
กรรมพันธุ์
[แก้]GAD มักจะเกิดในครอบครัว เด็กที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าถึง 6 เท่า[46]
แม้ว่าความกังวลจะเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันมักจะในแง่ลบโดยเป็นส่วนของโรควิตกกังวล คนที่มีโรคนี้มีระบบที่อ่อนไหวมาก ดังนั้น ระบบจึงมักจะตอบสนองมากเกินไปต่อสิ่งเร้าที่ไม่อันตราย บางครั้ง โรคจะเกิดในบุคคลที่มีเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก โดยเริ่มแสดงความวิตกกังวลที่สูงขึ้นเมื่อเด็กดูจะมีอนาคตที่ลำบาก[47] ในกรณีเช่นนี้ โรคเกิดขึ้นเป็นตัวพยากรณ์ว่า สิ่งแวดล้อมของบุคคลจะคงความเป็นอันตรายต่อไป
ความคงอยู่ของความวิตกกังวล
[แก้]ในระดับที่ต่ำ ความวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องไม่ดี และจริง ๆ แล้ว การตอบสนองทางฮอร์โมนต่อความวิตกกังวลมีวิวัฒนาการเพื่ออำนวยประโยชน์ คือช่วยให้มนุษย์ตอบสนองต่ออันตราย นักวิจัยในสาขาการแพทย์เชิงวิวัฒนาการเชื่อว่า การปรับตัวเช่นนี้ช่วยให้มนุษย์รู้ว่าอาจมีอันตราย แล้วปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด
มีหลักฐานว่า คนที่กังวลน้อยกว่ามีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนที่กังวลในระดับเฉลี่ย เพราะว่า การไร้ความกลัวสามารถนำไปสู่ความบาดเจ็บหรือความตาย[47] นอกจากนั้นแล้ว คนไข้ที่มีทั้งโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าปรากฏกว่า มีอัตราการตายที่ต่ำกว่าคนที่มีเพียงโรคซึมเศร้าอย่างเดียว[48]
อาการโรควิตกกังวลที่มีหน้าที่สำคัญรวมทั้ง ความตื่นตัวสูง การเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติการที่ดีกว่า และโอกาสน้อยลงที่จะไม่เห็นภัย[48] ในป่า บุคคลที่อ่อนแอ เช่นคนที่บาดเจ็บหรือมีครรภ์ มีขีดเริ่มเปลี่ยนต่อความวิตกกังวลที่ต่ำกว่า ทำให้ตื่นตัวสูงกว่า[48] ซึ่งแสดงถึงประวัติทางวิวัฒนาการอันยาวนานเกี่ยวกับการตอบสนองโดยความวิตกกังวล
ความไม่เหมือนสภาพทางวิวัฒนาการ
[แก้]มีทฤษฎีว่า อัตราความวิตกกังวลที่สูงเป็นผลจากสภาพทางสังคมที่ต่างจากยุคหินเก่า ยกตัวอย่างเช่น ในยุคหิน มนุษย์ถูกเนื้อต้องตัวกันมากกว่า และมารดาจะอุ้มทารกมากกว่า ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นกลยุทธ์ในการลดความวิตกกังวล[47] นอกจากนั้นแล้ว ปัจจุบันมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้ามากกว่า เทียบกับปฏิสัมพันธ์กับญาติสนิทในอดีต
นักวิจัยเสนอว่า การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงวัยพัฒนา เป็นเหตุให้มีอัตราความวิตกกังวลสูง กรณีคนไข้จำนวนมากในปัจจุบันน่าจะเกิดเพราะความไม่สอดคล้องกันของสังคมปัจจุบันกับสภาพทางวิวัฒนาการ (Mismatch theory) โดยมีคำโดยเฉพาะเรียกว่า ความไม่สอดคล้องที่ทำให้เกิดโรคจิต (psychopathogical mismatch)
ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ความไม่สอดคล้องจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) ที่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่ผิดเพี้ยนไปจากสถานะทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าการตอบสนองโดยความวิตกกังวลอาจจะเป็นวิวัฒนาการเพื่อช่วยในสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิต แต่สำหรับบุคคลที่อ่อนไหวง่ายในสังคมชนตะวันตก การได้ยินข่าวร้ายอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง[49]
มุมมองทางวิวัฒนาการอาจช่วยเสริมวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรควิตกกังวล เพียงแค่เข้าใจว่า ความวิตกกังวลบางอย่างมีประโยชน์อาจช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกที่สัมพันธ์กับโรคชนิดอ่อน นักวิจัยบางท่านเชื่อว่า โดยทฤษฎีแล้ว จะสามารถบรรเทาความวิตกกังวลของคนไข้ได้โดยลดความรู้สึกว่าอ่อนแอแล้วเปลี่ยนการประเมินเหตุการณ์ใหม่[49]
กลไก
[แก้]ทางชีวภาพ
[แก้]ระดับที่ลดลงของกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (กาบา) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทกลาง มีส่วนร่วมให้เกิดความวิตกกังวล ยาแก้วิตกกังวล (anxiolytic) บางอย่างออกฤทธิ์โดยควบคุมตัวรับกาบา (GABA receptor)[50][51][52] SSRI เป็นยาที่ปกติใช้รักษาโรคซึมเศร้ามากที่สุด แต่บ่อยครั้งก็พิจารณาว่าเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกสำหรับโรควิตกกังวล[53]
อะมิกดะลา
[แก้]เขตสมองคืออะมิกดะลาเป็นศูนย์การประมวลความกลัวและความวิตกกังวล และงานศึกษาปี 2552 แสดงว่า มันอาจทำงานได้ไม่ดีในโรควิตกกังวล[54] ข้อมูลประสาทสัมผัสเข้าสู่อะมิกดะลาผ่านนิวเคลียส basolateral complex (ซึ่งประกอบด้วย lateral, basal, และ accessory basal nuclei) โดยมีหน้าที่ประมวลความทรงจำเกี่ยวกับความกลัวสัมพันธ์กับประสาทสัมผัส และสื่อความอันตรายของข้อมูลไปยังระบบที่ประมวลความจำและประสาทสัมผัสอื่น ๆ ในสมอง เช่น medial prefrontal cortex และคอร์เทกซ์ประสาทสัมผัส (sensory cortices) ต่าง ๆ
เขตสำคัญอีกเขต ก็คือ central nucleus ของอะมิกดะลาที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งควบคุมการตอบสนองโดยความกลัวของสัตว์แต่ละสปีชีส์ ๆ ผ่านการเชื่อมต่อทางก้านสมอง ไฮโปทาลามัส และสมองน้อย ในคนไข้ การทำงานร่วมกันระหว่างเขตต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะน้อยกว่า และยังพบเนื้อขาวมากกว่าใน central nucleus อีกด้วย
ความแตกต่างอีกอย่างก็คือเขตอะมิกดะลาจะทำงานร่วมกับเขต insular cortex และ cingulate cortex น้อยกว่า ซึ่งเป็นเขตที่ควบคุมความชัดเจน/ความเด่นทั่วไป (general salience) ของสิ่งเร้า และจะทำงานร่วมกับ parietal cortex และ prefrontal cortex มากกว่า ซึ่งเป็นเขตที่ควบคุม Executive functions[54] การทำงานแบบหลังแสดงว่า เป็นกลยุทธ์ที่ใช้แทนการประมวลความวิตกกังวลที่ผิดปกติของอะมิกดะลา นักวิจัยของงานได้ให้ข้อสังเกตว่า "การทำงานคู่กันของอะมิกดะลากับ parietal cortex และ prefrontal cortex ในคนไข้ GAD อาจ...สะท้อนการใช้ระบบควบคุมการรู้คิดอย่างเป็นนิสัยเพื่อคุมความกังวลที่เกินไป"[54] ซึ่งเข้ากับทฤษฎีการรู้คิดที่เสนอให้ลดระดับอารมณ์ด้วยความคิดสำหรับคนไข้โรคนี้
งานศึกษาทางคลินิกและกับสัตว์แสดงว่า โรควิตกกังวลมีสหสัมพันธ์กับความลำบากในการทรงร่างกาย[55][56][57][58] โดยกลไกที่อาจทำงานผิดพลาดก็คือเขต parabrachial area ซึ่งเป็นโครงสร้างทางสมองที่หน้าที่อย่างหนึ่งก็คือประสานข้อมูลจากอะมิกดะลากับข้อมูลเกี่ยวกับความสมดุลของร่างกาย[59]
การประมวลความวิตกกังวลในเขต basolateral ของอะมิกดะลามีหลักฐานว่า ทำให้เดนไดรต์ของนิวรอนในอะมิกดะลาเกิดการแบ่งสาขา (dendritic arborization) ส่วน SK2 potassium channel อำนวยการยับยั้งศักยะงานและลดการแบ่งสาขา และถ้า SK2 มีการแสดงออกเกินปกติ ระดับความวิตกกังวลในสัตว์ทดลองสามารถลดได้พร้อมกับลดระดับการหลั่งฮอร์โมน corticosterone ที่เกิดจากความเครียดโดยทั่วไป[60]
การป้องกัน
[แก้]มีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการป้องกันโรควิตกกังวล[61] มีหลักฐานเบื้องต้นที่สนับสนุนการใช้การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT)[61] และการบำบัดที่อาศัยสติ[62][63] โดยปี 2556 ยังไม่มีวิธีการใดที่ได้ผลในการป้องกัน GAD ในผู้ใหญ่[64]
การวินิจฉัย
[แก้]โรควิตกกังวลมักเป็นภาวะที่เรื้อรังรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรืออาจเกิดแบบฉับพลันหลังมีเหตุการณ์กระตุ้น มักจะแย่ลงเมื่อเครียด และบ่อยครั้งเกิดพร้อมกับอาการทางสรีรภาพอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และความดันโลหิตสูง ซึ่งในบางกรณีทำให้ล้าหรือหมดแรง
ในภาษาอังกฤษทั่วไป คำว่า "anxiety" และ "fear" มักใช้แทนกันได้ แต่ในการแพทย์ ทั้งสองมีความหมายต่างกัน คือ ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยไม่สามารถระบุสาเหตุได้หรือรู้สึกว่าควบคุมและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทียบกับ ความกลัว (fear) ซึ่งเป็นการตอบสนองทางสรีรภาพและทางอารมณ์ต่อภัยภายนอกที่ระบุได้ ส่วนคำว่า โรควิตกกังวล (anxiety disorder) รวมทั้งความกลัว (เช่นโรคกลัวต่าง ๆ) และความวิตกกังวลเข้าด้วย แบบวัดมาตรฐานทางคลินิก เช่น Taylor Manifest Anxiety Scale หรือ Zung Self-Rating Anxiety Scale สามารถใช้ตรวจจับอาการวิตกกังวล แล้วแนะว่าแพทย์ควรจะประเมินวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นหรือไม่[65]
โรควิตกกังวลมักเกิดกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเกิดกับคนไข้โรควิตกกังวลถึง 60% อาการของโรควิตกกังวลที่คาบเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าพอสมควร และสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันที่สามารถจุดชนวนอาการของโรคทั้งสอง อาจช่วยอธิบายการเกิดร่วมกันของโรคในระดับสูง[66]
งานศึกษาแสดงว่า คนที่มีประวัติโรควิตกกังวลในครอบครัว โดยเฉพาะบางชนิด เสี่ยงต่อโรคสูงกว่า[67]
ความผิดปกทางเพศ (Sexual dysfunction) บ่อยครั้งเกิดพร้อมกับโรควิตกกังวล แต่ว่ายากที่จะกำหนดว่าความวิตกกังวลเป็นเหตุ หรือว่าทั้งสองเกิดจากเหตุเดียวกัน ลักษณะปรากฏมากที่สุดของบุคคลที่มีโรควิตกกังวลก็คือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การหลั่งน้ำอสุจิเร็วไป (premature ejaculation) และอวัยวะไม่แข็ง (erectile dysfunction) ในชาย และความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในหญิง ความผิดปกติทางเพศสามัญเป็นพิเศษในบรรดาคนไข้โรคตื่นตระหนก คือคนที่กลัวว่าอาจเกิดอาการตื่นตระหนกในช่วงที่มีอารมณ์ทางเพศ และคนไข้ PTSD[68]
การรักษา
[แก้]ทางเลือกในการรักษารวมทั้งการเปลี่ยนสไตล์ชีวิต จิตบำบัด และยา ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจิตบำบัดหรือยามีผลดีกว่า ดังนั้น ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าต้องการอะไร และโดยมากจะเลือกจิตบำบัดก่อน[69]
หมออาจเสนอให้ใช้วิธีอื่น ร่วมกับสิ่งที่เลือก หรือว่าถ้าทางเลือกแรกไม่สามารถลดอาการได้[69]
การเปลี่ยนสไตล์ชีวิต
[แก้]การเปลี่ยนสไตล์ชีวิตรวมทั้งการออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักฐานพอสมควรว่าช่วย นอนเป็นเวลา ลดการบริโภคกาเฟอีน และหยุดสูบบุหรี่[69] การหยุดบุหรี่มีประโยชน์เท่ากับหรือมากกว่ายา[70]
จิตบำบัด
[แก้]การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีประสิทธิผลต่อการรักษาโรควิตกกังวลและเป็นวิธีการรักษาอันดับแรก[69][71][72][73] CBT ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลเท่า ๆ กันแม้ทำทางอินเทอร์เน็ต[74] แม้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสุขภาพจิตดูจะมีอนาคตดี แต่ก็ยังเป็นอะไรที่เพิ่งลองใช้[75]
หนังสือสอนให้ช่วยตัวเองสามารถมีส่วนในการรักษา[76]
โปรแกรมอาศัยสติ ก็ปรากฏกว่ามีประสิทธิผลในการบริหารโรควิตกกังวล[77][78] ไม่ชัดเจนว่าการนั่งสมาธิ/กรรมฐาน (meditation) มีผลต่อความวิตกกังวลหรือไม่ และ transcendental meditation ก็ไม่ปรากฏว่าแตกต่างจากกรรมฐานอื่น ๆ[79]
ยา
[แก้]ยาที่ใช้รักษาเป็นเบื้องต้นรวมทั้ง SSRI และ SNRI (Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor) สำหรับโรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD) ไม่มีหลักฐานที่ดีว่ายากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น ราคามักจะเป็นตัวกำหนดยาที่เลือก[69] ส่วนยา Buspirone, quetiapine และ pregabalin ใช้รักษาเป็นอันดับสองสำหรับบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อ SSRI หรือ SNRI มีหลักฐานด้วยว่ายากลุ่ม benzodiazepines รวมทั้ง diazepam และคโลนะเซแพมก็มีประสิทธิผล แต่ว่า มักจะไม่ค่อยใช้เพราะมีโอกาสติด[69]
ต้องระวังการใช้ยาในคนไข้สูงอายุ เพราะว่า มีโอกาสมีผลข้างเคียงสูงกว่าเพราะโรคอื่น ๆ การทานยาตามหมอสั่งเป็นปัญหาที่มีโอกาสมากกว่าในคนสูงอายุ เพราะว่า มีปัญหาในความเข้าใจ การมองเห็น และการจำคำสั่งของหมอได้[6] โดยทั่วไป ยาพิจารณาว่าไม่ช่วยในโรคกลัวโดยเฉพาะ ๆ แต่ว่า ยากลุ่ม benzodiazepine บางครั้งก็ใช้แก้คราวเกิดโรคแบบฉับพลัน
โดยปี 2550 ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาทุกอย่างก็ยังน้อยอยู่[80]
แพทย์ทางเลือก
[แก้]มีวิธีทางเลือกหลายอย่างที่ได้ใช้บำบัดโรควิตกกังวล ซึ่งรวมทั้งสมุนไพรคาวา (Piper methylsticum) ที่ประโยชน์ดูจะมากกว่าโทษ ถ้าใช้ในระยะสั้นสำหรับคนที่วิตกกังวลแบบอ่อนหรือปานกลาง[81][82] บัณฑิตยสถานแพทย์ประจำครอบครัวอเมริกัน (AAFP) แนะนำให้ใช้คาวาสำหรับคนไข้ที่มีโรควิตกกังวลแบบอ่อนหรือปานกลาง ผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือใช้ยาที่ต้องผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึมในตับ แต่ต้องการรักษาแบบ "ธรรมชาติ"[83] ผลข้างเคียงของคาวาในการทดลองทางคลินิกมีน้อยและเป็นแบบอ่อน ๆ
ส่วน Inositol (ซึ่งมีอยู่ในอาหารมากมายโดยเฉพาะผลไม้รวมทั้งแคนตาลูปและส้ม) มีผลเล็กน้อยต่อคนไข้โรคตื่นตระหนกหรือ OCD[84] แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อใช้สมุนไพร St. John's wort (Hypericum perforatum), Valerian (Valeriana officinalis), หรือพืชสกุลกะทกรก (Passiflora)[84]
สุคนธบำบัดมีหลักฐานเบื้องต้นว่ามีประโยชน์ในการลดความวิตกกังวลในคนไข้โรคมะเร็งถ้าทำกับการนวด แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าเป็นเพียงแค่เพิ่มผลที่ได้จากการนวดเท่านั้นหรือไม่[85]
เด็ก
[แก้]มีวิธีการรักษาหลายอย่างที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิผลในการบำบัดโรควิตกกังวลในเด็ก จิตบำบัดมักจะเลือกมากกว่าการให้ยา[86] การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีหลักฐานในการรักษาโรคในเด็กและวัยรุ่น และเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกที่ดี[86] ยังมีการบำบัดอื่น ๆ ที่ไม่มีรากฐานจาก CBT อีกที่มีหลักฐานพอสมควรว่ามีประสิทธิผล ซึ่งเพิ่มวิธีการรักษาสำหรับคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อ CBT[86]
เหมือนกับผู้ใหญ่ เด็กก็สามารถรักษาได้โดยจิตบำบัด, CBT, หรือ counseling การบำบัดครอบครัว (Family therapy) เป็นวิธีการรักษาอีกอย่างที่เด็กพบกับผู้รักษาพร้อมกับผู้ปกครองและพี่น้อง แม้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะสามารถทำการบำบัดเดี่ยว ๆ ได้ แต่การบำบัดครอบครัวปกติเป็นรูปแบบการรักษาเป็นกลุ่ม
การบำบัดด้วยศิลปะ หรือด้วยการเล่น ก็ใช้ได้ด้วย การบำบัดด้วยศิลปะใช้บ่อยครั้งที่สุดเมื่อเด็กไม่พูด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์สะเทือนใจหรือเพราะพิการ การร่วมกิจกรรมงานศิลป์ช่วยให้เด็กสามารถสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งโดยวิธีอื่นอาจจะทำไม่ได้[87]
ส่วนในการบำบัดด้วยการเล่น ก็จะให้เด็กเล่นตามใจชอบโดยผู้รักษาจะสังเกตดูเด็ก และอาจจะขัดจังหวะเป็นบางครั้งบางคราวด้วยคำถาม คำพูด หรือคำแนะนำ นี่บ่อยครั้งมีประสิทธิผลที่สุดเมื่อครอบครัวของเด็กมีบทบาทสำคัญในการรักษา[88][89]
ในเด็กและวัยรุ่น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ยาแก้ซึมเศร้าเช่น SSRI, SNRI, และ tricyclic antidepressant อาจมีประสิทธิผล[90]
พยากรณ์โรค
[แก้]พยากรณ์โรคจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงและวิธีการรักษาของแต่ละบุคคล[91]
แต่ถ้าเด็กไม่รักษา ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเรียนไม่ดีที่โรงเรียน การหลีกเลี่ยงกิจกรรมสังคมที่สำคัญ และการใช้สารเสพติด เด็กโรควิตกกังวลมักจะมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า, โรคเกี่ยวกับการรับประทาน (eating disorder), โรคซนสมาธิสั้น ทั้งแบบซน และแบบไม่ใส่ใจ
วิทยาการระบาด
[แก้]ทั่วโลกโดยปี 2553 มีคนประมาณ 273 ล้าน (4.5%) ที่มีโรควิตกกังวล[92] เป็นโรคที่สามัญในหญิง (5.2%) มากกว่าในชาย (2.8%)[92] ในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย อัตราการมีโรควิตกกังวลตลอดชีวิตอยู่ระหว่าง 9-16% และอัตราต่อปีที่ 4-7%[93] แต่ในสหรัฐอเมริกา ความชุกชั่วชีวิต (lifetime prevalence) อยู่ที่ 29%[94] และผู้ใหญ่ประมาณ 11-18% เป็นโรคทุกปี[93] ความต่างขึ้นอยู่กับมุมมองอาการวิตกกังวลที่ต่างกันของวัฒนธรรมต่าง ๆ และสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นพฤติกรรมปกติ[95][96] โดยทั่วไปแล้ว โรควิตกกังวลเป็นอาการทางจิตเวชที่ชุกที่สุดในสหรัฐ ยกเว้น การเสพสารเสพติด (substance use disorder)[97]
เด็ก
[แก้]เหมือนกับผู้ใหญ่ เด็กก็สามารถมีโรควิตกกังวล เด็กทั้งหมดประมาณ 10-20% จะมีโรควิตกกังวลแบบเต็มตัวก่อนจะถึงอายุ 18 ปี[98] ซึ่งทำให้โรคเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สามัญที่สุดในเด็ก ๆ
โรควิตกกังวลในเด็กบ่อยครั้งระบุได้ยากเทียบกับในผู้ใหญ่ เพราะยากที่ผู้ปกครองจะจำแนกจากความกลัวปกติของเด็ก โดยนัยเดียวกัน โรควิตกกังวลในเด็กบางครั้งวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคซนสมาธิสั้น หรือเนื่องจากเด็กมักจะตีความอารมณ์ของตนว่าเป็นอาการทางกาย (เช่น ปวดท้อง ปวดหัว เป็นต้น) โรควิตกกังวลเบื้องต้นอาจสับสนกับโรคทางกายได้[99]
ความวิตกกังวลในเด็กมีสาเหตุมากมาย บางครั้งมีมูลฐานทางชีวภาพ หรืออาจเป็นผลของโรคอย่างอื่น เช่น โรคออทิซึม หรือกลุ่มอาการแอสเปอร์เจอร์[100] เด็กที่มีพรสวรรค์บ่อยครั้งเสี่ยงต่อความวิตกกังวลเกินไปมากกว่าเด็กธรรมดา[101] กรณีอื่น ๆ ของความวิตกกังวลมาจากเด็กที่มีประสบการณ์สะเทือนใจบางอย่าง และบางครั้ง เหตุอาจไม่สามารถระบุได้[102]
ความวิตกกังวลในเด็กมักเป็นเรื่องที่สมกับวัย เช่น กลัวไปโรงเรียน (โดยไม่เกี่ยวกับถูกเพื่อข่มเหง) หรือไม่เก่งพอที่โรงเรียน กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ กลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนที่รัก เป็นต้น ดังนั้น ลักษณะที่แยกโรควิตกกังวลจากความวิตกกังวลของเด็กที่ปกติก็คือระยะเวลาและความรุนแรงที่กลัว[99] ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็ก ๆ มักจะกังวลเมื่อจากคนที่รัก แต่โดยทั่วไปเมื่อถึงอายุ 6 ขวบอาการก็จะหายเอง เทียบกับเด็กโรควิตกกังวลที่อาจจะเป็นต่อไปเป็นปี ๆ ซึ่งขัดขวางพัฒนาการของเด็ก[103] และคล้าย ๆ กัน เด็กโดยมากจะกลัวความมืดและกลัวสูญเสียพ่อแม่ในช่วงหนึ่งในวัยเด็ก แต่ความกลัวนี่จะหายไปเองโดยไม่รบกวนกิจกรรมชีวิตประจำวันมาก แต่ในเด็กโรควิตกกังวล ความกลัวความมืดหรือสูญเสียคนที่รักอาจจะเพิ่มจนกลายเป็นเรื่องหมกมุ่น ที่เด็กพยายามรับมือโดยคิดทำอะไรอย่างหมกมุ่นจนเป็นปัญหากับคุณภาพชีวิต[103] การเริ่มมีอาการซึมเศร้าร่วมกับโรควิตกกังวลอาจเป็นตัวบ่งว่าโรคกำลังรุนแรง ทำให้เสียหาย และทำให้พิการมากขึ้นทั้งในวัยก่อนโรงเรียนหรือในวัยเข้าโรงเรียน[104]
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่เพราะสามารถมีโรควิตกกังวลได้หลายประเภท รวมทั้ง โรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD) - เด็กจะกังวลกับหลาย ๆ เรื่องอย่างคงยืน และความกังวลอาจปรับเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น หรืออาจมีมูลฐานเพียงแค่จินตนาการแต่ยังไม่ได้เกิดจริง ๆ การปลอบโยนมักจะไม่ค่อยได้ผล[99][103]
โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (SepAD) คือเด็กที่อายุมากกว่า 6-7 ขวบแต่มีปัญหาในการจากพ่อแม่ไปอาจจะมีโรคนี้ เด็กมักจะกลัวว่าจะเสียพ่อแม่ไปในช่วงเวลาที่จากกัน และเพราะเหตุนี้ มักจะไม่ยอมไปโรงเรียน[105]
โรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder) ไม่ควรสับสนกับความขี้อายหรือบุคลิกแบบสนใจต่อสิ่งภายใน (introversion) ความขี้อายบ่อยครั้งปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ แต่เด็กโรควิตกกังวลบ่อยครั้งอยากจะร่วมกิจกรรมทางสังคม (ไม่เหมือนกับผู้ที่มีบุคลิกแบบสนใจสิ่งภายใน) แต่ไม่กล้า เพราะกลัวว่าเพื่อนจะไม่ชอบเกินเหตุ เด็กบ่อยครั้งจะบอกตัวเองว่าทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี ซึ่งอาจจะขัดกับหลักฐานที่มี และในระยะยาว อาจจะทำให้เกิดโรคกลัวสถานการณ์ทางสังคม[106] แต่ว่า โรคชนิดนี้มักเป็นกับเด็กที่โตกว่าหรือเด็กก่อนวัยรุ่นมากกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า โรคกลัวสังคมในเด็กอาจมีเหตุจากประสบการณ์สะเทือนใจ เช่น ไม่รู้คำตอบเมื่อครูถามในชั้นเรียน[107]
แม้ว่าจะไม่สามัญในเด็ก โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ก็สามารถเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราระหว่าง 2-4%[108] และก็เหมือนผู้ใหญ่ เด็กมักจะมีความคิดเชิงไสยศาสตร์เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล คือต้องทำพิธีกรรมอะไรบางอย่าง (บ่อยครั้งเกี่ยวกับการนับ จัดแจง หรือทำความสะอาด เป็นต้น) เพื่อ "ป้องกัน" เหตุการณ์ร้ายที่ตนรู้สึกว่ากำลังจะเกิดขึ้น แต่ไม่เหมือนกับเด็กปกติ ผู้สามารถเลิกกิจกรรมเชิงไสยศาสตร์เมื่อบอกให้เลิก แต่เด็กที่มี OCD จะไม่สามารถหยุดทำกิจกรรมเช่นนั้นได้ไม่ว่าจะขู่อย่างไร[103][109]
แม้โรคตื่นตระหนก (panic disorder) จะสามัญในเด็กที่อายุมากกว่า แต่เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถเป็นได้ด้วย และมักจะมองผิดว่าเป็นโรคทางกายอย่างอื่น เนื่องจากมีอาการทางกายที่ชัดเจน (เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นต้น) แต่อาการเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับความกลัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความกลัวตาย และเหมือนกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตื่นตระหนก เด็กอาจพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตนรู้สึกว่า จุดชนวนความตื่นตระหนก[103]
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ Aspden, Peter (2012-04-21). "So, what does 'The Scream' mean?". Financial Times.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Diagnostic and Statistical Manual of Mental DisordersAmerican Psychiatric Associati (5th ed.). Arlington: American Psychiatric Publishing. 2013. pp. 189–195. ISBN 978-0890425558.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Anxiety Disorders". NIMH. March 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2016. สืบค้นเมื่อ 14 August 2016.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Craske, MG; Stein, MB (2016-06-24). "Anxiety". Lancet (London, England). PMID 27349358.
- ↑ Schacter, Daniel L.; Gilbert, Daniel T.; Wegner, Daniel M. (2011). Psychology. Macmillan. ISBN 978-1-4292-3719-2.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Calleo, Jessica; Stanley, Melinda (1 July 2008). "Anxiety disorders in later life: differentiated diagnosis and treatment strategies". Psychiatric Times. 25 (8): 24. แม่แบบ:Gale.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Barker, Phil (2003). Psychiatric and Mental Health Nursing: The Craft of Caring. Taylor & Francis. ISBN 978-0-340-81026-2.
- ↑ 8.0 8.1 Passer, Michael W.; Bremner, Andy; Smith, Ronald E.; Holt, Nigel; Vliek, Michael; Sutherland, Ed (2009). Psychology: The Science of Mind and Behaviour. McGraw-Hill Higher Education. p. 790. ISBN 978-0-07-711836-5.
- ↑ "All About Anxiety Disorders: From Causes to Treatment and Prevention". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-02-18.
- ↑ Gelder, Michael G.; Mayou, Richard; Geddes, John (2005). Psychiatry. Oxford University Press. p. 75. ISBN 978-0-19-852863-0.
- ↑ Varcarolis, Elizabeth M. (2010). Manual of Psychiatric Nursing Care Planning. Elsevier Health Sciences. p. 109. ISBN 978-1-4377-1783-9.
- ↑ 12.0 12.1 Keeton, CP; Kolos, AC; Walkup, JT (2009). "Pediatric generalized anxiety disorder: epidemiology, diagnosis, and management". Paediatric Drugs. 11 (3): 171–83. doi:10.2165/00148581-200911030-00003. PMID 19445546. S2CID 39870253.
- ↑ "Panic Disorder". Center for the Treatment and Study of Anxiety, University of Pennsylvania. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 May 2015.
- ↑ Craske, Michelle G. (2003). Origins of Phobias and Anxiety Disorders. doi:10.1016/B978-0-08-044032-3.X5000-X. ISBN 978-0-08-044032-3.
- ↑ Fisher, Jane E.; O'Donohue, William T., บ.ก. (2006). Practitioner's Guide to Evidence-Based Psychotherapy. doi:10.1007/978-0-387-28370-8. ISBN 978-0-387-28369-2.
- ↑ The Oxford Handbook of Exercise Psychology. Oxford University Press. 2012. p. 56. ISBN 9780199930746.
- ↑ Post-Traumatic Stress Disorder and the Family. Veterans Affairs Canada. 2006. ISBN 0-662-42627-4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-14. สืบค้นเมื่อ 2021-11-10.
- ↑ "Psychological Disorders". Psychologie Anglophone.
- ↑ Fullerton, Carol (1997). Posttraumatic Stress Disorder. Washington, D.C.: American Psychiatric Press Inc. pp. 8-9. ISBN 0-88048-751-8.
- ↑ Siegler, Robert S. (2006). How Children Develop, Exploring Child Develop. Worth Pub. ISBN 978-0-7167-6113-6.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Arehart-Treichel, Joan (7 July 2006). "Adult Separation Anxiety Often Overlooked Diagnosis". Psychiatric News. 41 (13): 30. doi:10.1176/pn.41.13.0030.
- ↑ Shear, Katherine; Jin, Robert; Ruscio, Ayelet Meron; Walters, Ellen E.; Kessler, Ronald C. (June 2006). "Prevalence and correlates of estimated DSM-IV child and adult separation anxiety disorder in the National Comorbidity Survey Replication". The American Journal of Psychiatry. 163 (6): 1074–1083. doi:10.1176/ajp.2006.163.6.1074. PMC 1924723. PMID 16741209.
- ↑ Mohatt, Justin; Bennett, Shannon M.; Walkup, John T. (July 2014). "Treatment of separation, generalized, and social anxiety disorders in youths". The American Journal of Psychiatry. 171 (7): 741–748. doi:10.1176/appi.ajp.2014.13101337. PMID 24874020.
- ↑ "Situational Panic Attacks". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-10. สืบค้นเมื่อ 2017-02-06.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 National Collaborating Centre for Mental Health, (UK) (2006). "Obsessive-Compulsive Disorder: Core Interventions in the Treatment of Obsessive-Compulsive Disorder and Body Dysmorphic Disorder,". NICE Clinical Guidelines (31). PMID 21834191. สืบค้นเมื่อ 2015-11-21.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 Soomro, GM (2012-01-18). "Obsessive compulsive disorder". BMJ clinical evidence. 2012. PMC 3285220. PMID 22305974.
- ↑ 27.0 27.1 Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG). "Obsessive-compulsive disorder: overview". PubMed Health. Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG). สืบค้นเมื่อ 2015-11-21.
- ↑ Evans, Katie; Sullivan, Michael J. (2001-03-01). Dual Diagnosis: Counseling the Mentally Ill Substance Abuser (2nd ed.). Guilford Press. pp. 75–76. ISBN 978-1-57230-446-8.
- ↑ Lindsay, S.J.E.; Powell, Graham E., บ.ก. (1998-07-28). The Handbook of Clinical Adult Psychology (2nd ed.). Routledge. pp. 152–153. ISBN 978-0-415-07215-1.
- ↑ Johnson, Bankole A. (2011). Addiction medicine : science and practice. New York: Springer. pp. 301–303. ISBN 978-1-4419-0337-2.
- ↑ Cohen, SI (February 1995). "Alcohol and benzodiazepines generate anxiety, panic and phobias". J R Soc Med. 88 (2): 73–77. PMC 1295099. PMID 7769598.
- ↑ Morrow, LA; และคณะ (2000). "Increased incidence of anxiety and depressive disorders in persons with organic solvent exposure". Psychosomat Med. 62 (6): 746–750. doi:10.1097/00006842-200011000-00002. PMID 11138992.
- ↑ Scott, Trudy (2011). The Antianxiety Food Solution: How the Foods You Eat Can Help You Calm Your Anxious Mind, Improve Your Mood, and End Cravings. New Harbinger Publications. p. 59. ISBN 1-57224-926-9. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
- ↑ Winston, AP (2005). "Neuropsychiatric effects of caffeine". Advances in Psychiatric Treatment. 11 (6): 432–439. doi:10.1192/apt.11.6.432.
- ↑ Hughes, RN (June 1996). "Drugs Which Induce Anxiety: Caffeine". New Zealand Journal of Psychology. 25 (1): 36–42. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-09. สืบค้นเมื่อ 2017-02-06.
- ↑ Vilarim, MM; DM, Rocha Araujo; Nardi, AE (August 2011). "Caffeine challenge test and panic disorder: a systematic literature review". Expert Rev Neurother. 11 (8): 1185–95. doi:10.1586/ern.11.83. PMID 21797659.
- ↑ Vilarim, Marina Machado; Rocha Araujo, Daniele Marano; Nardi, Antonio Egidio (2011). "Caffeine challenge test and panic disorder: A systematic literature review". Expert Review of Neurotherapeutics. 11 (8): 1185–95. doi:10.1586/ern.11.83. PMID 21797659.
- ↑ Bruce, Malcolm; Scott, N; Shine, P; Lader, M (1992). "Anxiogenic Effects of Caffeine in Patients with Anxiety Disorders". Archives of General Psychiatry. 49 (11): 867–9. doi:10.1001/archpsyc.1992.01820110031004. PMID 1444724.
- ↑ Nardi, Antonio E.; Lopes, Fabiana L.; Valença, Alexandre M.; Freire, Rafael C.; Veras, André B.; De-Melo-Neto, Valfrido L.; Nascimento, Isabella; King, Anna Lucia; Mezzasalma, Marco A.; Soares-Filho, Gastão L.; Zin, Walter A. (2007). "Caffeine challenge test in panic disorder and depression with panic attacks". Comprehensive Psychiatry. 48 (3): 257–63. doi:10.1016/j.comppsych.2006.12.001. PMID 17445520.
- ↑ American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5). American Psychiatric Publishing. pp. 226–230. ISBN 978-0-89042-555-8.
- ↑ Kedzior, Karina Karolina; Laeber, Lisa Tabata (2014-05-10). "A positive association between anxiety disorders and cannabis use or cannabis use disorders in the general population- a meta-analysis of 31 studies". BMC Psychiatry. 14: 136. doi:10.1186/1471-244X-14-136. ISSN 1471-244X. PMC 4032500. PMID 24884989.
- ↑ Crippa, José Alexandre; Zuardi, Antonio Waldo; Martín-Santos, Rocio; Bhattacharyya, Sagnik; Atakan, Zerrin; McGuire, Philip; Fusar-Poli, Paolo (2009-10-01). "Cannabis and anxiety: a critical review of the evidence". Human Psychopharmacology: Clinical and Experimental (ภาษาอังกฤษ). 24 (7): 515–523. doi:10.1002/hup.1048. ISSN 1099-1077. PMID 19693792.
- ↑ Kantorovich, V; Eisenhofer, G; Pacak, K (2008). "Pheochromocytoma: an endocrine stress mimicking disorder". Ann. N. Y. Acad. Sci. 1148: 462–8. doi:10.1196/annals.1410.081. PMC 2693284. PMID 19120142.
- ↑ Guller, U; Turek, J; Eubanks, S; Delong, ER; Oertli, D; Feldman, JM (2006). "Detecting pheochromocytoma: defining the most sensitive test". Ann. Surg. 243: 102–7. doi:10.1097/01.sla.0000193833.51108.24. PMC 1449983. PMID 16371743.
- ↑ "hyperthyroidism". medscape.
- ↑ Patel, G; Fancher, TL (2013-12-03). "In the clinic. Generalized anxiety disorder". Annals of Internal Medicine. 159 (11): ITC6-1, ITC6-2, ITC6-3, ITC6-4, ITC6-5, ITC6-6, ITC6-7, ITC6-8, ITC6-9, ITC6-10, ITC6-11, quiz ITC6-12. doi:10.7326/0003-4819-159-11-201312030-01006. PMID 24297210.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 Grinde, B (2005). "An approach to the prevention of anxiety-related disorders based on evolutionary medicine" (PDF). Preventative Medicine. 40 (6): 904–909. doi:10.1016/j.ypmed.2004.08.001. PMID 15850894.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 Bateson, M; B. Brilot; D. Nettle (2011). "Anxiety: An evolutionary approach" (PDF). Canadian Journal of Psychiatry. 56 (12): 707–715.
- ↑ 49.0 49.1 Price, John S. (September 2003). "Evolutionary aspects of anxiety disorders". Dialogues in Clinical Neuroscience. 5 (3): 223–236. PMC 3181631. PMID 22033473.
- ↑ Lydiard, RB (2003). "The role of GABA in anxiety disorders". J Clin Psychiatry. 64 (Suppl 3): 21–27. PMID 12662130.
- ↑ Nemeroff, CB (2003). "The role of GABA in the pathophysiology and treatment of anxiety disorders". Psychopharmacol Bull. 37 (4): 133–146. PMID 15131523.
- ↑ Enna, SJ (1984). "Role of gamma-aminobutyric acid in anxiety". Psychopathology. 17 (Suppl 1): 15–24. doi:10.1159/000284073. PMID 6143341.
- ↑ Dunlop, BW; Davis, PG (2008). "Combination treatment with benzodiazepines and SSRIs for comorbid anxiety and depression: a review". Prim Care Companion J Clin Psychiatry. 10 (3): 222–228. doi:10.4088/PCC.v10n0307. PMC 2446479. PMID 18615162.
- ↑ 54.0 54.1 54.2 Etkin, A; Prater, KE; Schatzberg, AF; Menon, V; Greicius, MD (2009). "Disrupted amygdalar subregion functional connectivity and evidence of a compensatory network in generalized anxiety disorder". Arch Gen Psychiatry. 66 (12): 1361–1372. doi:10.1001/archgenpsychiatry.2009.104. PMID 19996041.
- ↑ Kalueff, AV; Ishikawa, K; Griffith, AJ (10 January 2008). "Anxiety and otovestibular disorders: linking behavioral phenotypes in men and mice". Behav. Brain Res. 186 (1): 1–11. doi:10.1016/j.bbr.2007.07.032. PMID 17822783.
- ↑ Nagaratnam, N; Ip, J; Bou-Haidar, P (May–June 2005). "The vestibular dysfunction and anxiety disorder interface: a descriptive study with special reference to the elderly". Arch Gerontol Geriatr. 40 (3): 253–264. doi:10.1016/j.archger.2004.09.006. PMID 15814159.
- ↑ Lepicard, EM; Venault, P; Perez-Diaz, F; Joubert, C; Berthoz, A; Chapouthier, G (20 December 2000). "Balance control and posture differences in the anxious BALB/cByJ mice compared to the non anxious C57BL/6J mice". Behav. Brain Res. 117 (1–2): 185–195. doi:10.1016/S0166-4328(00)00304-1. PMID 11099772.
- ↑ Simon, NM; Pollack, MH; Tuby, KS; Stern, TA (June 1998). "Dizziness and panic disorder: a review of the association between vestibular dysfunction and anxiety". Ann Clin Psychiatry. 10 (2): 75–80. doi:10.3109/10401239809147746. PMID 9669539.
- ↑ Balaban, CD; Thayer, JF (January–April 2001). "Neurological bases for balance-anxiety links". J Anxiety Disord. 15 (1–2): 53–79. doi:10.1016/S0887-6185(00)00042-6. PMID 11388358.
- ↑ Mitra, R; Ferguson, D; Sapolsky, RM (10 February 2009). "SK2 potassium channel overexpression in basolateral amygdala reduces anxiety, stress-induced corticosterone secretion and dendritic arborization". Mol. Psychiatry. 14 (9): 847–855, 827. doi:10.1038/mp.2009.9. PMC 2763614. PMID 19204724.
- ↑ 61.0 61.1 Bienvenu, OJ; Ginsburg, GS (December 2007). "Prevention of anxiety disorders". International Review of Psychiatry. Abingdon, England. 19 (6): 647–54. doi:10.1080/09540260701797837. PMID 18092242. S2CID 95140.
- ↑ Khoury B, Lecomte T, Fortin G, และคณะ (Aug 2013). "Mindfulness-based therapy: a comprehensive meta-analysis". Clinical Psychology Review. 33 (6): 763–71. doi:10.1016/j.cpr.2013.05.005. PMID 23796855.
- ↑ Sharma M, Rush SE (Jul 2014). "Mindfulness-based stress reduction as a stress management intervention for healthy individuals: a systematic review". J Evid Based Complementary Altern Med. 19 (4): 271–86. doi:10.1177/2156587214543143. PMID 25053754.
- ↑ Patel, Gayatri; Fancher, Tonya L. (3 December 2013). "In the clinic. Generalized anxiety disorder". Annals of Internal Medicine. 159 (11): ITC6–1, ITC6–2, ITC6-3, ITC6-4, ITC6-5, ITC6-6, ITC6-7, ITC6-8, ITC6-9, ITC6-10, ITC6-11, quiz ITC6-12. doi:10.7326/0003-4819-159-11-201312030-01006. PMID 24297210. S2CID 42889106.
- ↑ Zung, WW (1971). "A rating instrument for anxiety disorders". Psychosomatics. 12 (6): 371–379. doi:10.1016/S0033-3182(71)71479-0. PMID 5172928.
- ↑ Cameron, OG (2007-12-01). "Understanding Comorbid Depression and Anxiety". Psychiatric Times. 24 (14).
- ↑ McLaughlin, K; Behar, E; Borkovec, T (2005-08-25). "Family history of psychological problems in generalized anxiety disorder". Journal of Clinical Psychology. 64 (7): 905–918. doi:10.1002/jclp.20497. PMID 18509873. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-05. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22.
- ↑ Coretti, G; Baldi, I (2007-08-01). "The Relationship Between Anxiety Disorders and Sexual Dysfunction". Psychiatric Times. 24 (9).
- ↑ 69.0 69.1 69.2 69.3 69.4 69.5 Stein, MB; Sareen, J (2015-11-19). "Clinical Practice: Generalized Anxiety Disorder". The New England journal of medicine. 373 (21): 2059–68. PMID 26580998.
- ↑ Taylor, G.; McNeill, A.; Girling, A.; Farley, A.; Lindson-Hawley, N.; Aveyard, P. (2014-02-13). "Change in mental health after smoking cessation: systematic review and meta-analysis". BMJ. 348 (feb13 1): g1151–g1151. doi:10.1136/bmj.g1151. PMC 3923980. PMID 24524926.
- ↑ Cuijpers, P; Sijbrandij, M; Koole, S; Huibers, M; Berking, M; Andersson, G (Mar 2014). "Psychological treatment of generalized anxiety disorder: A meta-analysis". Clinical Psychology Review. 34 (2): 130–140. doi:10.1016/j.cpr.2014.01.002. PMID 24487344.
- ↑ Otte, C (2011). "Cognitive behavioral therapy in anxiety disorders: current state of the evidence". Dialogues in Clinical Neuroscience. 13 (4): 413–21. doi:10.31887/DCNS.2011.13.4/cotte. PMC 3263389. PMID 22275847.
- ↑ Pompoli, Alessandro; Furukawa, Toshi A.; Imai, Hissei; Tajika, Aran; Efthimiou, Orestis; Salanti, Georgia (13 April 2016). "Psychological therapies for panic disorder with or without agoraphobia in adults: a network meta-analysis". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016 (4): CD011004. doi:10.1002/14651858.CD011004.pub2. PMC 7104662. PMID 27071857.
- ↑ Olthuis, Janine V.; Watt, Margo C.; Bailey, Kristen; Hayden, Jill A.; Stewart, Sherry H. (12 March 2016). "Therapist-supported Internet cognitive behavioural therapy for anxiety disorders in adults". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016 (3): CD011565. doi:10.1002/14651858.CD011565.pub2. PMC 7077612. PMID 26968204.
- ↑ Donker, T; Petrie, K; Proudfoot, J; Clarke, J; Birch, MR; Christensen, H (2013-11-15). "Smartphones for smarter delivery of mental health programs: a systematic review". Journal of medical Internet research. 15 (11): e247. doi:10.2196/jmir.2791. PMC 3841358. PMID 24240579.
- ↑ Mansell, Warren (2007-06-01). "Reading about self-help books on cognitive-behavioural therapy for anxiety disorders". Pb.rcpsych.org. สืบค้นเมื่อ 2012-02-20.
- ↑ Roemer L, Williston SK, Eustis EH (Nov 2013). "Mindfulness and acceptance-based behavioral therapies for anxiety disorders". Curr Psychiatry Rep. 15 (11): 410. doi:10.1007/s11920-013-0410-3. PMID 24078067. S2CID 23278447.
- ↑ Lang AJ (May 2013). "What mindfulness brings to psychotherapy for anxiety and depression". Depress Anxiety. 30 (5): 409–12. doi:10.1002/da.22081. PMID 23423991. S2CID 25705284.
- ↑ Krisanaprakornkit, Thawatchai; Sriraj, Wimonrat; Piyavhatkul, Nawanant; Laopaiboon, Malinee (25 January 2006). "Meditation therapy for anxiety disorders". Cochrane Database of Systematic Reviews (1): CD004998. doi:10.1002/14651858.CD004998.pub2. PMID 16437509.
- ↑ Choy, Yujuan; Fyer, Abby J.; Lipsitz, Josh D. (April 2007). "Treatment of specific phobia in adults". Clinical Psychology Review. 27 (3): 266–286. doi:10.1016/j.cpr.2006.10.002. PMID 17112646.
- ↑ Pittler, MH; Ernst, E (2003). Pittler, Max H (บ.ก.). "Kava extract for treating anxiety". Cochrane Database of Systematic Reviews (1): CD003383. doi:10.1002/14651858.CD003383. PMID 12535473.
- ↑ Witte, S; Loew, D; Gaus, W (March 2005). "Meta-analysis of the efficacy of the acetonic kava-kava extract WS1490 in patients with non-psychotic anxiety disorders". Phytother Res. 19 (3): 183–188. doi:10.1002/ptr.1609. PMID 15934028.
- ↑ Saeed, SA; Bloch, RM; Antonacci, DJ (August 2007). "Herbal and dietary supplements for treatment of anxiety disorders". Am Fam Physician. 76 (4): 549–556. PMID 17853630.
- ↑ 84.0 84.1 Saeed, SA; Bloch, RM; Antonacci, DJ (15 August 2007). "Herbal and dietary supplements for treatment of anxiety disorders". American family physician. 76 (4): 549–56. PMID 17853630.
- ↑ Fellowes, D.; Barnes, K.; Wilkinson, S. (1 January 2004). "Aromatherapy and massage for symptom relief in patients with cancer". The Cochrane Database of Systematic Reviews (2): CD002287. doi:10.1002/14651858.CD002287.pub2. ISSN 1469-493X. PMID 15106172.
- ↑ 86.0 86.1 86.2 Higa-McMillan, Charmaine K.; Francis, Sarah E.; Rith-Najarian, Leslie; Chorpita, Bruce F. (3 March 2016). "Evidence Base Update: 50 Years of Research on Treatment for Child and Adolescent Anxiety". Journal of Clinical Child & Adolescent Psychology. 45 (2): 91–113. doi:10.1080/15374416.2015.1046177. PMID 26087438.
- ↑ Kozlowska, Kasia; Hanney, Lesley (June 1999). "Family Assessment and Intervention Using an Interactive Art Exercise". Australian and New Zealand Journal of Family Therapy. 20 (2): 61–69. doi:10.1002/j.1467-8438.1999.tb00358.x.
- ↑ Creswell, Cathy; Cruddace, Susan; Gerry, Stephen; Gitau, Rachel; McIntosh, Emma; Mollison, Jill; Murray, Lynne; Shafran, Rosamund; Stein, Alan; Violato, Mara; Voysey, Merryn; Willetts, Lucy; Williams, Nicola; Yu, Ly-Mee; Cooper, Peter J. (May 2015). "Treatment of childhood anxiety disorder in the context of maternal anxiety disorder: a randomised controlled trial and economic analysis". Health Technology Assessment. 19 (38): 1–184, vii–viii. doi:10.3310/hta19380. PMC 4781330. PMID 26004142.
- ↑ Bratton, Sue Carlton; Ray, Dee (2002). "Humanistic play therapy". Humanistic psychotherapies: Handbook of research and practice. pp. 369–402. doi:10.1037/10439-012. ISBN 978-1-55798-787-7.
- ↑ Social Phobia จาก eMedicine
- ↑ Swales, Pamela J; Cassidy, Erin L; Sheikh, Javaid I. "Principles and Practice of Geriatric Psychology". Principles and Practice of Geriatric Psychiatry (2nd ed.). Stanford University School of Medicine, Department of Psychiatry and Behavioral Sciences: 555–557. doi:10.1002/0470846410.ch101. สืบค้นเมื่อ 2012-02-13.
- ↑ 92.0 92.1 Vos, Theo; Flaxman, Abraham D.; Naghavi, Mohsen; Lozano, Rafael; Michaud, Catherine; และคณะ (15 December 2012). "Years lived with disability (YLDs) for 1160 sequelae of 289 diseases and injuries 1990-2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2163–2196. doi:10.1016/S0140-6736(12)61729-2. PMC 6350784. PMID 23245607.
- ↑ 93.0 93.1 "Evolving concepts of anxiety". Anxiety Disorders. 2010. pp. 6–68. doi:10.1017/CBO9780511777578.004. ISBN 978-0-511-77757-8.
- ↑ Kessler RC, Berglund P, Demler O, Jin R, Merikangas KR, Walters EE (June 2005). "Lifetime prevalence and age-of-onset distributions of DSM-IV disorders in the National Comorbidity Survey Replication". Arch. Gen. Psychiatry. 62 (6): 593–602. doi:10.1001/archpsyc.62.6.593. PMID 15939837.
- ↑ Brockveld, Keila C.; Perini, Sarah J.; Rapee, Ronald M. (2014). "Social Anxiety and Social Anxiety Disorder Across Cultures". Social Anxiety. pp. 141–158. doi:10.1016/B978-0-12-394427-6.00006-6. ISBN 978-0-12-394427-6.
- ↑ Hofmann, Stefan G.; Asnaani, Anu (December 2010). "Cultural Aspects in Social Anxiety and Social Anxiety Disorder". Depress Anxiety. 27 (12): 1117–1127. doi:10.1002/da.20759. PMC 3075954. PMID 21132847.
- ↑ Fricchione, Gregory (12 August 2004). "Generalized Anxiety Disorder". New England Journal of Medicine. 351 (7): 675–682. doi:10.1056/NEJMcp022342. PMID 15306669.
- ↑ Essau, Cecilia A. (2006). Child and Adolescent Psychopathology: Theoretical and Clinical Implications. 27 church road, Hove, East Sussex: Routledge. p. 79.
{{cite book}}
: CS1 maint: location (ลิงก์) - ↑ 99.0 99.1 99.2 AnxietyBC. "GENERALIZED ANXIETY". AnxietyBC. AnxietyBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-12. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.
- ↑ Merrill, Anna. "Anxiety and Autism Spectrum Disorders". Indiana Resource Center for Autism. Indiana Resource Center for Autism. สืบค้นเมื่อ 2015-06-10.
- ↑ Guignard, Jacques-Henri; Jacquet, Anne-Yvonne; Lubart, Todd I. "Perfectionism and Anxiety: A Paradox in Intellectual Giftedness?". PLOS. PLOS. สืบค้นเมื่อ 2015-06-10.
- ↑ Rapee, Ronald M.; Schniering, Carolyn A.; Hudson, Jennifer L. "Anxiety Disorders During Childhood and Adolescence: Origins and Treatment" (PDF). Annual Review of Clinical Psychology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-11. สืบค้นเมื่อ 2017-02-06.
- ↑ 103.0 103.1 103.2 103.3 103.4 Shenfield, Tali. "A Primer on Child and Adolescent Anxiety". Advanced Psychology.
- ↑ von Klitzing, K; White, LO; Otto, Y; Fuchs, S; Egger, HL; Klein, AM (2014). "Depressive comorbidity in preschool anxiety disorder". J Child Psychol Psychiatr. 55: 1107–16.
- ↑ "Separation Anxiety in Children". WebMD. WebMD. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.
- ↑ "SOCIAL ANXIETY DISORDER". AnxietyBC. AnxietyBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-12. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.
- ↑ Biegel, DE (1995). Maddox, GE (บ.ก.). Caregiver burden. The encyclopedia of aging (2nd ed.). New York: Springer. pp. 138–141.
- ↑ Boileau, B (2011). "A review of obsessive-compulsive disorder in children and adolescents". Dialogues in clinical neuroscience. 13 (4): 401–11. PMC 3263388. PMID 22275846.
- ↑ Harvard Medical School (2004a). "December). Children's fears and anxieties". Harvard Mental Health Letter. 21 (6): 1–3.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
- WHO fact sheet on anxiety disorders
- Support Group Providers for โรควิตกกังวล ที่เว็บไซต์ Curlie