ฟอลีอาเดอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟอลีอาเดอ
ชื่ออื่นโรคจิตร่วม, โรคหลงผิดเหตุชักนำ, กลุ่มอาการลาแซก–ฟาลแร
การออกเสียง
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์

ฟอลีอาเดอ (ฝรั่งเศส: folie à deux; "ความบ้าของสองคน") โรคจิตร่วม (อังกฤษ: shared psychosis)[2] หรือ โรคหลงผิดร่วม (อังกฤษ: shared delusional disorder, SDD) เป็นกลุ่มอาการจิตเวชพบได้ยากที่ผู้ป่วยมีอาการหลงผิดและประสาทหลอนในบางครั้ง[3] ซึ่งผู้ป่วยสามารถ "ส่งผ่าน" อาการไปยังอีกคนได้[4]

ฌูล บายาเฌ จิตแพทย์และนักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่บรรยายถึงโรคนี้ใน ค.ศ. 1860 ต่อมาใน ค.ศ. 1877 ชาร์ล ลาแซก และฌูล ฟาลแร แพทย์ชาวฝรั่งเศสเรียกความผิดปกตินี้ว่า folie à deux ซึ่งแปลว่า "ความบ้าของสองคน"[5] บางครั้งความผิดปกตินี้รู้จักในชื่อ "กลุ่มอาการลาแซก–ฟาลแร" (Lasègue–Falret syndrome)[3][6] เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชปัจจุบันจัดกลุ่มอาการนี้อยู่ในกลุ่มโรคจิตร่วม (DSM-4 – 297.3) และโรคหลงผิดเหตุชักนำ (ICD-10 – F24) แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่จะยังคงใช้ชื่อเดิม กลุ่มอาการเดียวกันนี้หากเกิดมากกว่าสองคนอาจเรียก ฟอลีอาทรัว (folie à trois; สามคน) ฟอลีอากัทร์ (folie à quatre; สี่คน) ฟอลีอ็องฟามีย์ (folie en famille; ครอบครัว) และ ฟอลีอาปลูว์ซีเยอร์ (folie à plusieurs; หลายคน)

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกตินี้ไม่อยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์การวินิจฉัยไม่เพียงพอ นอกจากนี้ DSM-5 ยังไม่จำแนกโรคจิตร่วม (ฟอลีอาเดอ) ออกเป็นกลุ่มต่างหาก โดยมีการแนะนำว่าควรจัดกลุ่มอาการนี้ในกลุ่มโรคหลงผิด (delusional disorder) หรือกลุ่มโรคจิตเภทเฉพาะอื่น ๆ และโรคจิตอื่น ๆ (other specified schizophrenia spectrum and other psychotic disorder)

อาการและอาการแสดง[แก้]

กลุ่มอาการฟอลีอาเดอมักมีลักษณะคือบุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นอยู่ใกล้ชิดกัน แต่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนอกเหนือจากนั้นเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีเลย การศึกษาใน ค.ศ. 2022 รายงานว่ามีลักษณะย่อยของโรคจิตร่วม 4 ลักษณะ ได้แก่[7][8]

  • ฟอลีแอ็งโปเซ (folie imposée) หรือบุคคลแรกซึ่งเป็นโรคจิตส่งผ่านอาการไปยังบุคคลที่สองซึ่งไม่เป็นโรคจิต โดยอาการหลงผิดนี้จะหายไปเมื่อทั้งสองแยกจากกัน
  • ฟอลีซีมูลตาเน (folie simultanée) หรือทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนอาการทางจิตแก่กันจนทั้งคู่มีอาการคล้ายกัน โดยความสัมพันธ์นี้ต่างกระตุ้นปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคจิตของทั้งคู่
  • ฟอลีกอมูว์นีเก (folie communiquée) หรือบุคคลที่สองซึ่งไม่เป็นโรคจิตมีอาการหลงผิดหลังอยู่ในภาวะต่อต้านมาชั่วเวลาหนึ่ง บุคคลที่สองนี้อาจยังคงมีอาการแม้จะแยกกับบุคคลแรกที่เป็นโรคจิต
  • ฟอลีแอ็งดุอิต (folie induite) หรือบุคคลสองคนที่เป็นโรคจิตได้รับอาการหลงผิดใหม่จากบุคคลที่สามที่เป็นโรคจิตเช่นกัน

ฟอลีอาเดอมีลักษณะคล้ายความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่ผู้ชักนำ (inducer) มีระดับและประเภทของอาการหลงผิดแตกต่างออกไป แต่ผู้รับ (acceptor) มักมีอาการทางจิตคล้ายผู้ชักนำ[8] นอกจากนี้ผู้ชักนำมักเข้าใจว่าตนกำลังช่วยผู้รับมากกว่าจะตระหนักว่ากำลังส่งผ่านความผิดปกติให้อีกฝ่าย

สาเหตุ[แก้]

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคหลงผิดร่วม แต่มีปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือความเครียดและการแยกตัวจากสังคม[9]

บุคคลที่แยกตัวจากสังคมอยู่ร่วมกันมีแนวโน้มจะพึ่งพิงอีกฝ่าย ส่งผลให้ผู้ชักนำมีอิทธิพลเหนือผู้รับ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคหลงผิดร่วมมักไม่ทราบความผิดปกติเนื่องจากไม่มีบุคคลนอกคอยเตือน ด้วยเหตุนี้การรักษาโรคหลงผิดร่วมจึงใช้การแยกผู้รับจากผู้ชักนำ[10]

ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่พบในความผิดปกติทางจิต บุคคลส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหลงผิดร่วมมีพันธุกรรมที่ถูกกระตุ้นด้วยความเครียด โดยเมื่อบุคคลเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่จะเพิ่มระดับโดพามีนในสมอง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิต[11]

นอกเหนือจากสองปัจจัยดังกล่าว ยังมีปัจจัยด้านความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคหลงผิดร่วม

การวินิจฉัย[แก้]

โรคหลงผิดร่วมเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะผู้ป่วยมักไม่ต้องการการรักษา เนื่องจากเมื่อรับอิทธิพลจากบุคคลเด่นในความสัมพันธ์ที่ตนเชื่อใจ ผู้รับมักไม่ตระหนักว่าเป็นความผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผ่านเวลาไปนาน ความสงสัยว่าเป็นอาการหลงผิดจะยิ่งลดน้อยลง ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ระบุเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลงผิดร่วมดังนี้[8]

  • ผู้ป่วยต้องมีอาการหลงผิดที่พัฒนาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลที่มีอาการหลงผิดอยู่ก่อนแล้ว
  • อาการหลงผิดต้องคล้ายหรือเหมือนกับผู้ชักนำ
  • เป็นอาการหลงผิดที่ไม่สามารถอธิบายได้ดีขึ้นด้วยความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ และความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นผลโดยตรงจากผลกระทบทางสรีรวิทยาของการใช้สารหรือภาวะทางการแพทย์ทั่วไป

การรักษา[แก้]

เนื่องจากโรคหลงผิดร่วมพบได้ยากจึงยังไม่มีระเบียบวิธีรักษาแบบมาตรฐาน การรักษามักใช้การแยกผู้ชักนำและผู้รับเพื่อสังเกตว่าอาการหลงผิดลดลงหรือหายไปหรือไม่[10] และมีการใช้ยาระงับอาการทางจิตและจิตบำบัดรายบุคคลและครอบครัวบำบัดในกรณีอาการหลงผิดยังไม่ทุเลา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดเรื้อรัง วิตกกังวล ซึมเศร้าและก้าวร้าวหากไม่ได้รับการรักษา[12]

ตัวอย่าง[แก้]

  • เออร์ซูลาและซาบีนา เอริกซอน ฝาแฝดชาวสวีเดนที่ใน ค.ศ. 2008 เออร์ซูลาวิ่งให้ตนเองถูกรถชนบนมอเตอร์เวย์เอ็ม 6 ในสหราชอาณาจักร ก่อนที่ซาบีนาจะทำตามโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งสองได้รับบาดเจ็บแต่รอดชีวิต หลังจากนั้นซาบีนาก่อเหตุฆาตกรรมและถูกจับกุม เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปีฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา[13]
  • จูนและเจนนิเฟอร์ กิบบอนส์ หรือ "ฝาแฝดเงียบ" ทั้งสองไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมักสื่อสารกันด้วยจินตภาษาที่รู้เฉพาะสองคน จนกระทั่งเจนนิเฟอร์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1993 จูนจึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มาร์โจรี วอลเลซ นักข่าวที่ศึกษาเรื่องนี้รายงานว่าฝาแฝดตกลงกันว่า "หากใครเสียชีวิต อีกฝ่ายจะต้องเริ่มพูดและใช้ชีวิตปกติ"[14]
  • การเสียชีวิตหมู่ในบุรารี การฆ่าตัวตายหมู่ของสมาชิกครอบครัวหนึ่งในเดลี ประเทศอินเดียเมื่อ ค.ศ. 2018 ซึ่งเกิดจากบุตรชายคนเล็กของครอบครัวอ้างว่าตนถูกวิญญาณของบิดาเข้าสิงและสั่งให้ประกอบ "พิธีกรรมสู่ชีวิตที่ดีกว่า"[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Wells, John C. (2008), Longman Pronunciation Dictionary (3rd ed.), Longman, p. 665, ISBN 9781405881180
  2. Berrios, G. E., and I. S. Marková. 2015. "Shared Pathologies. Pp. 3–15 in Troublesome disguises: Managing challenging Disorders in Psychiatry (2nd ed.), edited by D. Bhugra and G. Malhi. London: Wiley.
  3. 3.0 3.1 Arnone D, Patel A, Tan GM (2006). "The nosological significance of Folie à Deux: a review of the literature". Annals of General Psychiatry. 5: 11. doi:10.1186/1744-859X-5-11. PMC 1559622. PMID 16895601.
  4. "Dr. Nigel Eastman in the BBC documentary 'Madness In The Fast Lane'". Documentarystorm.com. 2010-09-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-31.
  5. Al Saif, Feras; Al Khalili, Yasir. "Shared Psychotic Disorder". National Library of Medicine - National Center for Biotechnology Information. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  6. Berrios G E (1998) Folie à deux (by W W Ireland). Classic Text Nº 35. History of Psychiatry 9: 383–395
  7. Dewhurst, Kenneth; Todd, John (1956). "The psychosis of association: Folie à deux". Journal of Nervous and Mental Disease. 124 (5): 451–459. doi:10.1097/00005053-195611000-00003. PMID 13463598. S2CID 36272757.
  8. 8.0 8.1 8.2 "Shared Psychotic Disorder Symptoms - Psych Central". Psych Central (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-05-17. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  9. Cuncic, Arlin (February 18, 2021). "What Is Shared Psychotic Disorder?". Verywell Mind. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  10. 10.0 10.1 "Symptoms of Shared Psychotic Disorder". www.mentalhelp.net. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  11. "Stress May Trigger Mental Illness and Depression In Teens". EverydayHealth.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  12. "What Is a Shared Psychotic Disorder?". WebMD. May 15, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  13. McMahon, James (September 14, 2018). "The Twins Who Ran Into Traffic Before Stabbing a Man to Death". Vice. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  14. Wallace, Marjorie (2003-07-13). "Marjorie Wallace: The tragedy of the Bijani sisters". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). London. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  15. Ojha, Arvind (June 3, 2018). "Burari deaths: Police suspects rare psychiatric disorder drove family to occult rituals". India Today. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.