โครงการชุมชนพอเพียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง[1] โดยรัฐบาลมุ่งจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ ให้ทุกชุมชนมีโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของภาครัฐอย่างรวดเร็ว กำหนดเป้าหมายการใช้เงินไว้ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมุ่งให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่อย่างมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ การลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน

โครงการที่อนุมัติดำเนินการไปแล้วส่วนใหญ่ได้แก่โครงการประเภท การผลิตปุ๋ย ยุ้งฉาง ลานตาก เกษตรผสมผสาน การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ/ต้นน้ำ พลังงานทดแทน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ได้แก่ ความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ และแนวทางการบริหารจัดการโครงการเพื่อความยั่งยืนในชุมชน

แนวคิด[แก้]

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผ่านการพิสูจน์มานานและสร้างผลสำเร็จอย่างมากมาย โดยมีผู้น้อมนำมาทดลองปฏิบัติจนประสบความสำเร็จและเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าไม่ใช่เพียงการสร้างความพออยู่พอกินเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้มีความมั่นคงในอาชีพได้อีกด้วย ซึ่งแนวคิดในการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลคือ ปัญญา บวก เงินเมื่อชาวบ้านมีปัญญา รัฐก็จะมอบเงินให้มาช่วยแก้ปัญหาแบบยั่งยืน แนวทางให้ยึดหลักพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้นคือ การพออยู่ พอกิน พอใช้ เมื่อชุมชนพึ่งตนเองได้แล้ว ก็หมายถึงว่าได้พ้นจากความยากจนแล้ว จากนั้นก็จะสามารถก้าวต่อไปในระดับที่ก้าวหน้าได้ โดยนำผลผลิตที่เหลือใช้มาแปรรูปให้เกิดเป็นการต่อยอด สร้างร้ายได้เพิ่มเติม ชุมชนอาจรวมกลุ่มมาดำเนินการ เป็นธุรกิจโอท็อป หรือวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ได้

ประวัติ[แก้]

รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายตามที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศเพิ่มเติมจากวงเงินงบประมาณที่เคยได้จัดสรรเดิม ทั้งนี้ไม่ได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินคงคลังพ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ดำเนินการในรูปแบบของ“โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552 ลงมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือ โครงการชุมชนพอเพียง และให้มีสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) หรือ สำนักงานชุมชนพอเพียง เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 18/2552 ลงวันที่ 20 มกราคม 2552 ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธานกรรมการ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกนก วงษ์ตระหง่านและนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นรองประธานกรรมการ พร้อมกรรมการอีก 21 คน มี ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน โดยได้แต่งตั้งให้ นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายกำพล แกล้วทนงค์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน

วัตถุประสงค์ของโครงการ[แก้]

  • เพื่อจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณของภาครัฐอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมทั่วถึง
  • เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
  • เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
  • เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กับชุมชน

การเข้าร่วมโครงการ[แก้]

ชุมชนที่มีความประสงค์จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการชุมชนพอเพียง ต้องเป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2552 ตามประกาศ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประกาศของกรุงเทพมหานคร และประกาศของเทศบาล ต้องมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อปฏิบัติได้ โครงการชุมชนพอเพียงมีการจัดฝึกอบรมให้กับตัวแทนชุมชน ณ ศูนย์ฝึกอบรม 100 แห่งทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ตัวแทนชุมชนที่เข้ามารับการฝึกอบรมสามารถเขียนโครงการขออนุมัติงบประมาณกับรัฐบาลได้ทันที และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินโครงการภายใต้กรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน โดยหัวข้อในการฝึกอบรมจะมีตั้งแต่การเขียนโครงการให้ประสบความสำเร็จ การวิเคราะห์ชุมชนของตนจากการทำบัญชีชุมชน ขั้นตอนการบริหารจัดการโครงการที่ยั่งยืน เป็นต้น

หลักเกณฑ์ของโครงการ[แก้]

โครงการที่เสนอขออนุมัติต้องมีความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ โดยมีผลต่อเนื่องไม่สิ้นสุดในครั้งเดียว และเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • เป็นโครงการที่สามารถรองรับผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงานในชุมชน ให้สามารถพัฒนาไปสู่ความอยู่ พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลดต้นทุนและปัจจัยในการผลิตด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพ และเพิ่มความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก
  • เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการใช้และอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก
  • เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ชุมชนสามารถลงทุนร่วมดำเนินโครงการกับชุมชนใกล้เคียง หรือองค์การภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ หรือนอกพื้นที่ได้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง

ข้อมูลการนำเสนอโครงการอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้[แก้]

  • ชื่อชุมชน
  • รายชื่อคณะผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ
  • วัตถุประสงค์ของโครงการ
  • วงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ
  • วิธีการและขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการ
  • ระยะเวลาในการดำเนินการตามโครงการ
  • ผลที่คาดว่าจะได้รับ

การแบ่งขนาดของชุมชน[แก้]

การจัดสรรงบประมาณตามโครงการชุมชนพอเพียงจะจัดสรรโดยยึดขนาดจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ของชุมชน เป็น 7 ขนาด ดังนี้

  • ชุมชนขนาดที่ 1 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 1-50 คน ได้เงิน 100,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 2 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 51-150 คน ได้เงิน 200,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 3 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 151-250 คน ได้เงิน 300,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 4 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 251-500 คน ได้เงิน 400,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 5 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 501-1,000 คน ได้เงิน 500,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 6 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 1,001-1,500 คน ได้เงิน 600,000 บาท
  • ชุมชนขนาดที่ 7 ชุมชนที่มีชื่อชาวบ้านตามทะเบียนบ้าน 1,500 คน ขึ้นไป ได้เงิน 700,000 บาท

ทั้งนี้ สำหรับชุมชนที่ไม่ได้รับเงินโครงการ SML ปี 2551 จะได้เงินตามขนาด ส่วนชุมชนที่ได้รับเงินโครงการ SML ปี 2551 แล้ว จะได้เงินครึ่งหนึ่งของขนาด

กระบวนการของโครงการ[แก้]

การประกาศเชิญชวน[แก้]

ปิดประกาศที่สาธารณะล่วงหน้า 3-5 วัน ให้ผู้แทนครัวเรือนที่เป็นคนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน เข้าร่วมประชุมประชาคมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

ขั้นตอนการประชุม[แก้]

  1. กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชน แจ้งวันประชุมประชาคมให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรี ทราบ
  2. นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมสังเกตการณ์
  3. กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชน จัดประชุมประชาคม กล่าวเปิดประชุมและรายงานข้อมูลพื้นฐานชุมชน ให้คณะทำงานชุดเดิมรายงานผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา และจัดให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่

การคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน[แก้]

  • เสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นกรรมการ โดยมีผู้รับรอง 10 คน เมื่อได้จำนวนตามต้องการแล้ว ยกมือคัดเลือก ให้เหลือ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก ปฏิคม ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์
  • คณะกรรมการ คนไทยอายุ 18 ปี ขึ้นไป อยู่ในชุมชนเกิน 6 เดือน มีเวลาทำงาน 1 ปี หากมีกรรมการลาออกให้คัดเลือกแทนเท่ากับจำนวนที่ลาออกไป ทุกปีต้องคัดเลือกกรรมการใหม่ โดยเลือกชุดใหม่ หรือชุดเก่า หรือชุดเก่ารวมกับชุดใหม่ก็ได้ ตามมติที่ประชุมประชาคม
  • ให้ที่ประชุมประชาคมแต่งตั้งคณะผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย
  • คณะผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินและการจัดทำบัญชี จำนวน 3 คน คือ
    • ประธาน 1 คน เหรัญญิก 1 คน และตัวแทนประชาชน 1 คน
  • คณะผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ จำนวน 3 คน คือ
    • รองประธาน 1 คน ผู้ช่วยเหรัญญิก 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน
  • คณะผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 3 คน คือ
    • รองประธาน 1 คน ปฏิคม 1 คน และตัวแทนประชาชน 1 คน
  • คณะผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบและประเมินผลโครงการ จำนวน 3 คน คือ
    • ประชาสัมพันธ์ 1 คน ตรวจสอบ 1 คน และตัวแทนประชาชน 1 คน

การรับฟังปัญหา ความต้องการและจัดลำดับความสำคัญ[แก้]

  • ทุกคนมีสิทธิ์เสนอปัญหาและความต้องการ (คณะทำงานห้ามเสนอ) และต้องมีการบันทึกอย่างโปร่งใส เปิดเผย โดยมีผู้สนับสนุนปัญหาและความต้องการอย่างน้อย 10 คน
  • ให้ทุกคนยกมือได้ลงคะแนนเพื่อคัดเลือกโครงการได้ทุกโครงการ แล้วรวมคะแนน เพื่อจัดเรียงลำดับก่อนหลัง และให้ระบุระยะเวลาและงบประมาณของโครงการ (หากเงินไม่พอทำโครงการสามารถกู้จาก ธ.ออมสิน หรือ ธกส. หรือขอจาก อบต. หรืออบจ. หรือสำนักงานเขต หรือเทศบาล ได้) โครงการที่จัดลำดับเรียบร้อยแล้วพร้อมวงเงินต้องปิดประกาศให้ประชาชนทราบ
  • นำรายชื่อผู้เข้าประชุม รายงานการประชุม และโครงการ ให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีรับรอง (ศพช. 01,02,03) เพื่อนำส่งสำนักงาน จังหวัดและกรมการปกครองดำเนินการต่อไป
  • เมื่อโครงการอนุมัติแล้วให้ชุมชนไป ธ.ออมสินหรือธกส. เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยจะได้รับเงินตามขนาดของชุมชน

การบริหารจัดการโครงการ[แก้]

การเปิดบัญชีเงินฝาก การเบิกจ่ายเงินและการจัดทำบัญชี[แก้]

  • ให้คณะผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินและการจัดทำบัญชี ทำหน้าที่เปิดบัญชีเงินฝาก เบิกจ่าย นำฝากเงิน จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของชุมชนและโครงการ โดยเหรัญญิกเป็นผู้เก็บรักษาสมุดคู่ฝากบัญชี เงินสด และใบเสร็จรับเงิน
  • การเปิดบัญชีเงินฝาก ให้ผู้รับผิดชอบฯ 3 คน นำเอกสาร ศพช. 02,22 ไปธนาคารเพื่อเปิดบัญชีฯ
  • การเบิกจ่ายเงินจากธนาคาร สามารถเบิกเงินก่อนดำเนินโครงการโดยนำเอกสาร ศพช. 02, 04,05,06 พร้อมหนังสือสัญญามาเบิกเงิน หรือเมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้วให้นำเอกสาร ศพช. 02,04,05,06) พร้อมหลักฐานการใช้จ่ายเงินมาเบิกเงิน ทั้งนี้ ให้ประธาน เหรัญญิก และตัวแทนประชาชน อย่างน้อย 2 ใน 3 คน เป็นผู้ลงนามตรวจรับและลงนามกำกับหลักฐานการเบิกจ่ายเงินทุกฉบับ
  • สำหรับเงินงบประมาณที่ชุมชนได้รับการจัดสรรและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในบัญชีเงินฝากธนาคารของชุมชนตามโครงการชุมชนพอเพียง รายได้ที่เป็นส่วนเพิ่มจากการนำเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามหลักเกณฑ์ไปลงทุน ลิขสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และ/หรือทรัพย์สินสืบเนื่องที่เกิดจากการนำเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามโครงการชุมชนพอเพียงไปดำเนินการ ให้ขึ้นทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนเพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

การดำเนินโครงการ[แก้]

  • ให้คณะผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ ทำหน้าที่กำหนดขั้นตอนการทำงาน ระยะเวลา รายการวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณ

การจัดซื้อจัดจ้าง[แก้]

  • ให้คณะผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่ต้องอิงระเบียบของทางราชการ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่คุณภาพดี ราคาเหมาะสม ตามความต้องการของคณะผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้สามารถจัดทำได้หลายวิธี เช่น การสืบ-เสนอราคา การตกลงราคา การประมูลราคา
  • เมื่อชุมชนได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ ให้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินเป็นบัญชีของชุมชนตามคู่มือการบริหารจัดการโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนที่กำหนดไว้ และแจ้งให้อำเภอหรือสำนักงานเขตหรือเทศบาลทราบ เพื่อออกหนังสือรับรองสิทธิ์ต่อไป

การรายงานผลการดำเนินงาน[แก้]

เมื่อชุมชนได้ดำเนินโครงการครบรอบ 6 เดือน หรือ 1 ปี นับถัดจากวันทีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือตามที่สำนักงานร้องขอ คณะกรรมการชุมชนจะต้องจัดทำสรุปผลการดำเนินโครงการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และติดประกาศให้ประชาชนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และแจ้งให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีรับทราบภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันติดประกาศ

การตรวจสอบและประเมินผลโครงการ[แก้]

นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามประเมินผลระดับอำเภอหรือสำนักงานเขตหรือเทศบาล ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนอำเภอหรือสำนักงานเขตหรือเทศบาล ผู้แทนธนาคารผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชน และบุคคลที่นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีเห็นสมควร ทำหน้าที่ตรวจติดตามประเมินผลโครงการของชุมชน ว่าได้รับประโยชน์ด้านใด มีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค รวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสร็จแล้ว รายงานให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตหรือนายกเทศมนตรีทราบ และรายงานต่อสำนักงานเพื่อรวบรวมผลที่ได้ไปสู่การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันครบกำหนด กรณีมีผู้ร้องเรียนและ/หรือตรวจสอบพบว่า ชุมชนมีการบริหารจัดการไม่โปร่งใส โดยดำเนินโครงการขัดต่อแนวทางการดำเนินงานตามโครงการชุมชนพอเพียง หรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในชุมชน หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลเพียงพอ จะแจ้งหนังสือไปยังธนาคารเพื่อระงับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในบัญชีเงินฝากธนาคารของชุมชนไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป

การสนับสนุน[แก้]

การขับเคลื่อนโครงการให้เดินไปข้างหน้า ภาคชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐบาล ได้รวมพลังเป็น เบญจภาคี ช่วยกันสร้างความเข้าใจ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน โดยในวันเปิดโครงการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ปรากฏรายชื่อกลุ่มที่มาเข้าร่วม ภาควิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (โพธิวิชาลัย) ภาคประชาสังคม ได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านกว่า 100 เครือข่าย ภาคเอกชนได้แก่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จที่ดีอย่างแน่นอน

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระกระแสรับสั่งในเรื่องแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-14. สืบค้นเมื่อ 2009-05-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]