แสงดา บันสิทธิ์
แสงดา บันสิทธิ์ | |
---|---|
เกิด | แสงดา บันสิทธิ์ 14 เมษายน พ.ศ. 2462 บ้านท่าม่วง ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 11 มกราคม พ.ศ. 2536 (73 ปี) โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
อาชีพ | ครู,เกษตรกร |
คู่สมรส | ดาบมาลัย บันสิทธิ์ |
บุตร | 1 คน |
บิดามารดา |
|
รางวัล | พ.ศ. 2529 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) |
แสงดา บันสิทธิ์ (14 เมษายน พ.ศ. 2462 – 11 มกราคม พ.ศ. 2536) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) พ.ศ. 2529
ประวัติ
[แก้]แสงดา บันสิทธิ์ เกิดที่บ้านท่าม่วง ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2462 เป็นธิดาคนเดียวของนายหมวกและนางคำมูล[1] ได้สมรสกับนายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2476 มีบุตรด้วยกัน 1 คน นายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2503
แสงดา บัณสิทธิ์ ไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่ได้ฝึกเรียนด้วยตนเองกับคุณลุง จนมีความสามารถอ่านออกเขียนได้
แสงดา ได้รับการสืบทอดความรู้จากคุณยายผู้ซึ่งมีความชำนาญในการย้อมผ้า ทอผ้า และรับจ้างย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสมุนไพรแบบโบราณ ได้กระทำมาเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญและพัฒนาฝีมือได้ดียิ่งขึ้น[2] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยามที่ผ้าขาดตลาด แสงดาก็ได้ริเริ่มทอผ้าที่เรียกว่า “ ผ้าเปลือกไม้ ” สีกากี เพื่อใช้สำหรับตัดชุดข้าราชการให้สามีไปทำงาน ในขณะนั้นได้ใช้กี่สองหลังช่วยกันทอกับคุณแม่ ต่อมาแสงดาได้รวบรวมซื้อกี่ทอผ้าได้ 5 กี่ และชักชวนแม่บ้านมารวบรวมกลุ่มทอผ้า ซึ่งระยะเวลาก่อนที่แสงดาจะถึงแก่กรรมนั้น มีสมาชิกแม่บ้านและสตรีร่วมกลุ่มทอผ้าอยู่ถึง 42 คน และได้ใช้ชื่อกลุ่มว่า “ กลุ่มแม่บ้านบ้านไร่ไผ่งาม ” งานผลิตนั้นจะเน้นใช้ฝ้ายจากพื้นเมือง และการย้อมด้วยสมุนไพรมีลวดลายสวยงามไม่ซ้ำกันมากนัก เนื่องจากนางแสงดาเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการคิดประดิษฐ์ลวดลายใหม่ ๆ ทำให้ผ้าฝ้ายของแสงดาและกลุ่มแม่บ้านบ้านไร่ไผ่งามได้รับการกล่าวขวัญถึง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป และได้รับการยกย่องตลอดมา
เกียรติคุณที่ได้รับ
[แก้]แสงดา บันสิทธิ์ ได้รับเกียรติบัตร และโล่รางวัลต่าง ๆ ดังนี้
- เกียรติบัตรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2525 ในฐานะผู้ประดิษฐ์สิ่งทอดีเด่น
- เกียรติบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ประกอบการหัตถกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525
- โล่เชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านดีเด่น ในฐานะศิลปินพื้นบ้านดีเด่น (ศิลปินแห่งชาติ สาขาช่างทอผ้า) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529
- เกียรติบัตรสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ ในฐานะผู้มีผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้านนาดีเด่นในด้านสิ่งทอ ประจำปี พ.ศ. 2529 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) พ.ศ. 2529
- รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปี 2530[3]
คำประกาศเกียรติคุณ
[แก้]แสงดา บันสิทธิ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า การย้อมผ้าด้วยสีสมุนไพร และการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้า ได้อย่างสวยงามล้ำเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ ผลงานทอผ้าที่เผยแพร่ออกไปมากมายนับแสน ๆ เมตร นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแบบครบวงจรแล้วสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันสำคัญควรแก่การยกย่องก็คือ การใช้สีจากสมุนไพรล้วน ๆ ในการย้อมผ้า โดยไม่ใช้สารเคมีเจือปน ผ้าทุกผืนจึงมีสีงดงามจับตา สิ่งที่สร้างความนิยมให้แก่ศิลปหัตถกรรมแบบพื้นบ้านอย่างไม่มีวันจืดจางเลยก็คือ ความสามารถในการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างหลากหลายดุจสายน้ำ กล่าวได้ว่าผ้าหนึ่งหมื่นพับจะมีหนึ่งหมื่นลวดลาย จนทำให้แสงดา บัณสิทธิ์ เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางทั่วไปทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แสงดาเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม มีเมตตาจิตต่อผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไป ถือเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการดำเนินชีวิต และพัฒนาอาชีพของชาวไทย จึงสมควรยกย่องไว้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ประจำปีพุทธศักราช 2529[4]
ถึงแก่กรรม
[แก้]แสงดา บันสิทธิ์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2536 ด้วยโรคมะเร็งลำไส้[5] ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ฝ้ายไหมไทยล้านนา. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 1992. p. 55.
- ↑ แสงดา บันสิทธิ์ เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าแห่งล้านนาไทย. มูลนิธิแสงดา บัณสิทธิ์ และนางเสาวนีย์ บัณสิทธิ์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2002. p. 112. ISBN 978-974-27-2443-6.
- ↑ วารสารวัฒนธรรมไทย. กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. Vol. 27. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. มกราคม 1988. p. 52. ISSN 0857-3727.
- ↑ ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๒๙. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. 1986. p. 42.
- ↑ ฉลอง พินิจสุวรรณ (2003). สล่า พื้นบ้านพื้นเมือง: สารคดีชีวิตบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น. สำนักพิมพ์ ครูศิลปะ. p. 41. ISBN 978-974-75-3212-8.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖