อำเภอเสนางคนิคม
อำเภอเสนางคนิคม | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Senangkhanikhom |
พระเจดีย์ศรีเกาะแก้วรัตนมงคลเสนางคนิคม | |
คำขวัญ: เมืองสองนาง เด่นดังข้าวจี่ ดีล้ำพลุตะไล ผ้าไหมลายขิด วิจิตรภูโพนทอง ชื่อก้องกลองยาว | |
แผนที่จังหวัดอำนาจเจริญ เน้นอำเภอเสนางคนิคม | |
พิกัด: 16°2′18″N 104°40′12″E / 16.03833°N 104.67000°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | อำนาจเจริญ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 526.0 ตร.กม. (203.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2565) | |
• ทั้งหมด | 40,614 คน |
• ความหนาแน่น | 77.21 คน/ตร.กม. (200.0 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 37290 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 3705 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเสนางคนิคม หมู่ที่ 3 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ 37290 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
เสนางคนิคม [เส-นาง-คะ-นิ-คม][1] เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอเสนางคนิคมมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา (จังหวัดยโสธร)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอชานุมาน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปทุมราชวงศาและอำเภอเมืองอำนาจเจริญ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทยเจริญ (จังหวัดยโสธร)
ประวัติ
[แก้]"เสนางคนิคม" มีตำนานเล่าว่า มีชาวภูไทอพยพมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ มีครอบครัวของชาวภูไทครอบครัวหนึ่งมีบุตรสาวงาม 2 คนชื่อว่า พิมพาและมาลา ซึ่งเป็นที่หมายปองของหนุ่มในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงต่างหลั่งไหลมายลโฉม บ้านนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “หมู่บ้านส่องนาง” หรือ “สองนาง” ต่อมาความทราบถึงเจ้าเมืองจึงให้นำตัวเข้าเฝ้าและเจ้าเมืองได้ประทานรางวัลให้ โดยยกหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง “เสียนาง” คำว่าเสียนางตรงกับคำอีสานภูไทว่า เสนาง จึงเรียก เสนาง มาจนทุกวันนี้ เมืองเสนางคนิคมขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2388 ในรัชกาลที่ 3 โดยมีพระศรีสุราช เมืองตะโปนเป็นผู้รักษาเมือง เมื่อ พ.ศ. 2455 กระทรวงมหาดไทยได้ยุบอำเภอเสนางคนิคมลงเป็น กิ่งอำเภอเสนางคนิคม[2] จนถึงพ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอหนองทับม้า[3] สุดท้ายในปี พ.ศ. 2465 กิ่งอำเภอหนองทับม้าได้ลดฐานะเหลือเพียงตำบลหนองทับม้า[4] ขึ้นกับอำเภออำนาจเจริญ ต่อมาตำบลหนองทับม้าได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น ตำบลเสนางคนิคม ดังเดิม ในปี พ.ศ. 2482[5]
เมื่อท้องที่แถบนี้มีราษฎรเข้ามาจับจองพื้นที่อาศัยและทำกินอยู่มากขึ้น จึงเริ่มแบ่งเขตการปกครองในปี พ.ศ. 2509 ได้แยกพื้นที่บางส่วนของตำบลนาวังและตำบลเสนางคนิคม ตั้งเป็น ตำบลไร่สีสุก[6] และตั้งตำบลหนองไฮ แยกออกจากตำบลโพนทองและตำบลคึมใหญ่[7] จนถึงปี พ.ศ. 2516 ได้แยกบางส่วนของตำบลนาวัง ตั้งเป็น ตำบลนาเวียง[8] การที่ตำบลเสนางคนิคม ตำบลโพนทอง และทั้ง 3 ตำบลที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้มีพื้นที่รวมกันกว้างขวางและอยู่ห่างไกลจากที่ทำการอำเภออำนาจเจริญในขณะนั้น ทำให้ราษฎรไปติดต่อราชการได้รับความลำบากในการเดินทาง วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ทางราชการจึงประกาศแยกท้องที่ 5 ตำบล คือ ตำบลเสนางคนิคม ตำบลโพนทอง ตำบลไร่สีสุก ตำบลนาเวียง และตำบลหนองไฮ จัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอเสนางคนิคม[9]
เสนางคนิคมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอได้ 7 ปี ทางราชการได้เห็นว่าท้องที่มีความกว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรยกฐานะเป็นอำเภอเสนางคนิคม ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2526[10] ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้ตั้ง ตำบลหนองสามสี โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนมาจากตำบลไร่สีสุก[11]
จังหวัดอุบลราชธานีได้แยกพื้นที่อำเภออำนาจเจริญที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานจากการค้นพบแหล่งชุมชนโบราณ โบราณสถาน และโบราณวัตถุตามที่กรมศิลปากรค้นพบและสันนิษฐานไว้ตามหลักฐานทางโบราณคดี (ใบเสมาอายุราวพันปี) และได้ตั้งเป็นเมืองมานานหลายร้อยปี ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งพร้อมกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอํานาจมายังส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง การให้บริการของรัฐ การอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ท้องที่เจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อความมั่นคงของชาติ ประกอบกับจังหวัดอุบลราชานีมีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก จึงเห็นสมควรแยกบางอําเภอ ตั้งขึ้นเป็นจังหวัด จึงแยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และกิ่งอำเภอลืออำนาจ ตั้งเป็น จังหวัดอำนาจเจริญ[12] เสนางคนิคมจึงมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดอำนาจเจริญจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอเสนางคนิคมแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 55 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[13] |
---|---|---|---|---|
1. | เสนางคนิคม | Senangkhanikhom | 15
|
12,372
|
2. | โพนทอง | Phon Thong | 10
|
5,555
|
3. | ไร่สีสุก | Rai Si Suk | 9
|
5,265
|
4. | นาเวียง | Na Wiang | 9
|
6,663
|
5. | หนองไฮ | Nong Hai | 9
|
6,501
|
6. | หนองสามสี | Nong Sam Si | 6
|
4,307
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอเสนางคนิคมประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเสนางคนิคม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเสนางคนิคม
- เทศบาลตำบลสิริเสนางค์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเสนางคนิคม (นอกเขตเทศบาลตำบลเสนางคนิคม)
- องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพนทองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลไร่สีสุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่สีสุกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาเวียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเวียงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองไฮทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสามสี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองสามสีทั้งตำบล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557, หน้า 55.
- ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เลิกและยุบอำเภอต่างๆ ในมณฑลอุบลลงเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 (0 ง): 982–983. วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2455
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 (0 ก): 40–68. วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2460
- ↑ "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๔๖๔ ในท้องที่มณฑลอุบลราชธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 39 (0 ก): 486–500. วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2465
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56 (0 ก): 354–363. วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 83 (88 ง): 3045–3049. วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2509
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอยโสธร อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 83 (99 ง): 3316–3323. วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่นแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภออำนาจเจริญ อำเภอบุณฑริก และอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 90 (112 ง): 2738–2748. วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2516
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเสนางคนิคม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 92 (259 ง): 3179. วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2518
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเทพสถิต อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเนินมะปราง อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอเสนางคนิคม พ.ศ. ๒๕๒๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (50 ก): (ฉบับพิเศษ) 10–12. วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2526
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเสนางคนิคม อำเภอพนา และอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 110 (5 ง): (ฉบับพิเศษ) 92–99. วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2536
- ↑ "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ. ๒๕๓๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 110 (125 ก): (ฉบับพิเศษ) 4–6. วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2536
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.