ข้ามไปเนื้อหา

หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อ
李遠哲
เกิด (1936-11-19) 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936 (87 ปี)
นครชินจิกุ จังหวัดชินจิกุ ไต้หวันภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
สัญชาติอาณานิคมญี่ปุ่น (ค.ศ. 1936 – ค.ศ. 1945)
ไต้หวัน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1945)
อเมริกัน (ค.ศ. 1974–ค.ศ. 1994)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหฺวา
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาเคมี (ค.ศ. 1986)
เหรียญวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ค.ศ. 1986)
รางวัลพีเทอร์ เดอบาย (ค.ศ. 1986)
รางวัลปาฐกถาฟาราเดย์ (ค.ศ. 1992)
เหรียญทองโอทเมอร์ (ค.ศ. 2008)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
มหาวิทยาลัยชิคาโก
ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์
Academia Sinica (ไต้หวัน)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกบรูซ เอช. มาฮัน
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกลอรี บัตเลอร์

หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อ[note 1] (จีน: 李遠哲; พินอิน: Lǐ Yuǎnzhé; เวด-ไจลส์: Li³ Yüan³-che²; เป่อ่วยยี: Lí Oán-tiat; อังกฤษ: Yuan Tseh Lee; เกิด 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936) หรือ หยวน ที. ลี (อังกฤษ: Yuan T. Lee) เป็นนักเคมีชาวไต้หวัน และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์[1][2][3][4] เขาเป็นชาวไต้หวันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1986 ร่วมกับจอห์น โพลานยีชาวฮังการี-แคนาดาและดัดลีย์ อาร์. เฮิร์ชบาค "สำหรับส่วนร่วมเกี่ยวกับพลศาสตร์ของกระบวนการเคมีขั้นเบื้องต้น"[3][5]

ผลงานที่สำคัญของหลี่ด้านเคมีเชิงฟิสิกส์เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคด้านจลนศาสตร์เคมีขั้นสูงเพื่อศึกษาและควบคุมพฤติกรรมของปฏิกิริยาเคมีโดยใช้การยิงลำโมเลกุลตัดกัน (crossed molecular beam)[3][5] หลี่ดำรงตำแหน่งประธานของสถาบัน Academia Sinica ประเทศไต้หวันตั้งแต่ 15 มกราคม ค.ศ. 1994 ถึง 19 ตุลาคม ค.ศ. 2006[4] และได้รับเลือกให้เป็นนายกสภานานาชาติเพื่อวิทยาศาสตร์ใน ค.ศ. 2011[4]

วัยเด็กและการศึกษา

[แก้]

หลี่เกิดในครอบครัวชาวฮกเกี้ยนในนครชินจิกุ (หรือนครซินจู๋ในปัจจุบัน) ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวันซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อเป็นบุตรของนายหลี่ เจ๋อฟาน จิตรกรชาวไต้หวัน และนางไช่ เผย์ (蔡配; Cài Péi) ครูประถมศึกษาจากเมืองโกเซโก (ญี่ปุ่น: 梧棲港街โรมาจิGoseikō-kai) จังหวัดไทจู (ปัจจุบันคือเขตอู๋ชีของนครไถจง)[1][3][4] ต้นตระกูลของหลี่สืบเชื้อสายมาจากชาวฮกเกี้ยนในนครหนานอัน มณฑลฝูเจี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่[6] ขณะเข้าเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาซินจู๋หลี่เป็นตัวแทนเบสบอลและเทเบิลเทนนิสของโรงเรียน หลี่เข้าศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมปลายซินจู๋ ซึ่งเขาเล่นเทนนิส ทรอมโบน และฟลูต

หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันโดยไม่ต้องสอบเข้า และสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตใน ค.ศ. 1959[1][3] สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหฺวาใน ค.ศ. 1961 และสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ใน ค.ศ. 1965 โดยมีที่ปรึกษาได้แก่บรูซ เอช. มาฮัน[1][3] เขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเคมีสากลตั้งแต่ ค.ศ. 1977 จนถึง ค.ศ. 1984[4]

ผลงานด้านวิชาการ

[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 หลี่เริ่มทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกกับดัดลีย์ อาร์. เฮิร์ชบาคที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อศึกษาปฏิกิริยาระหว่างอะตอมไฮโดรเจนและโมเลกุลคู่ของโลหะแอลคาไล และการสร้างเครื่องยิงลำโมเลกุลตัดกันเพื่อศึกษาจลนศาสตร์ หลังจบโครงการวิจัยหลังปริญญาเอกกับเฮิร์ชบาค หลี่ได้ย้ายไปประจำมหาวิทยาลัยชิคาโกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1968 และได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นศาสตราจารย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1973[7] ต่อมาใน ค.ศ. 1974 เขาได้ย้ายกลับไปยังมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เพื่อไปเป็นศาสตราจารย์สาขาเคมีและดำรงตำแหน่ง principal investigator ประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ควบอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยในปีเดียวกันนั้นเองหลี่ได้รับสัญชาติอเมริกัน นอกจากนี้หลี่ยังได้รับเกียรติเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในกลุ่มมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียด้วย[8]

งานวิจัยของศาสตราจารย์หลี่มุ่งความสนใจไปที่ความสามารถในการควบคุมพลังงานของสารที่เข้าทำปฏิกิริยา การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลของทิศทางการเรียงตัวของโมเลกุลต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี และการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจลนศาสตร์เคมี โดยใช้เทคนิคการยิงลำโมเลกุลตัดกันที่หลี่และเฮิร์ชบาคร่วมกันพัฒนา เทคนิคดังกล่าวทำให้หลี่และคณะนักวิจัยสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานจลน์ของโมเลกุลที่เกี่ยวข้องในปฏิกิริยาและศึกษาขั้นตอนปฐมภูมิในการเกิดปฏิกิริยาได้ ผลงานเกี่ยวกับการศึกษาจลนศาสตร์เคมีด้วยการยิงลำโมเลกุลตัดกันนี้ทำให้หลี่และเฮิร์ชบาคได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1986 ร่วมกับจอห์น โพลานยี[7]

หลี่ดำรงตำแหน่งประธานของสถาบัน Academia Sinica แห่งประเทศไต้หวันระหว่าง ค.ศ. 1994 และ ค.ศ. 2006[7] และยังมีบทบาทสำคัญอื่น ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์นานาชาติ เช่น โครงการค่ายวิทยาศาสตร์เอเชีย (Asian Science Camp) ซึ่งหลี่เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับมาซาโตชิ โคชิบะ (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 2002) เพื่อเปิดโอกาสสำหรับนักเรียนและนักศึกษาในทวีปเอเชียผู้สนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้ได้มีโอกาสพบปะกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง[9] และ Malta Conferences ซึ่งเป็นโครงการสำหรับพัฒนานักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยหลี่ได้เปิดรับสมัครนักวิจัยจากภูมิภาคดังกล่าวหกคนเพื่อฝึกวิจัยกับเครื่องซินโครตรอนในประเทศไต้หวัน[10] เป็นต้น

หลี่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสภานานาชาติเพื่อวิทยาศาสตร์ใน ค.ศ. 2008 และเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 2011[11] นอกจากนี้หลี่ยังดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยตุนกูอับดุลระฮ์มัน ประเทศมาเลเซียด้วย[12]

บทบาททางการเมือง

[แก้]
หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อขณะเป็นตัวแทนประเทศไต้หวันเข้าประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกประจำ ค.ศ. 2004

ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ค.ศ. 2000 หลี่สนับสนุนพันธมิตรฟั่นลวี่ซึ่งสนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายหลี่ประกาศสนับสนุนนายเฉิน ฉุยเปี่ยนซึ่งชนะเจมส์ ซ่งและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เฉิน ฉุยเปี่ยนแต่เดิมตั้งใจจะเสนอให้หลี่เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย หลี่ดำรงตำแหน่งประธานสถาบัน Academia Sinica ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 โดยสละสัญชาติสหรัฐเพื่อรับตำแหน่ง[13] หลี่ยังมีส่วนร่วมสำคัญในการแต่งตำราประวัติศาสตร์ไต้หวันชื่อ โนวิงไต้หวัน ในฐานะประธานสถาบัน Academia Sinica ด้วย[14]

เฉิน ฉุยเปี่ยนได้ขอให้หลี่เป็นตัวแทนสาธารณรัฐจีนในการประชุมผู้นำประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่ประเทศเม็กซิโกใน ค.ศ. 2002 ที่ประเทศไทยใน ค.ศ. 2003 และที่ประเทศชิลีใน ค.ศ. 2004 เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ยอมให้ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนเข้าร่วมการประชุม[15] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 หลี่ร่วมกับนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม หวัง หย่งชิ่ง และผู้กำกับการแสดงละครเวที หลิน หฺวายหมินได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนทั้งเฉิน ฉุยเปี่ยนและเหลียน จ้าน และหลี่ได้ประกาศสนับสนุนเฉินอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ค.ศ. 2004

ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ค.ศ. 2012 หลี่ได้ประกาศสนับสนุนไช่ อิงเหวินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และในช่วงต้น ค.ศ. 2016 เขาได้สนับสนุนพรรคอำนาจใหม่ซึ่งก่อตั้งโดยนักศึกษาที่เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษาทานตะวัน[16]

มุมมองด้านอื่น ๆ

[แก้]

ใน ค.ศ. 2003 หลี่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 22 คนที่ลงนามใน Humanist Manifesto[17]

ใน ค.ศ. 2010 หลี่กล่าวว่าภาวะโลกร้อนมีโอกาสที่จะรุนแรงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ และประชาชนไต้หวันต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจาก 12 ตันต่อปีให้เหลือเพียงสามตัน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการแต่งคำขวัญ ปิดไฟหนึ่งชั่วโมง หรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์เท่านั้น โดยระบุว่า "เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราเคยอยู่" และ "ประชาชนไต้หวันจะไม่มีโอกาสดำรงชีวิตรอดได้นานในอนาคต" ถ้าไม่พยายามกระทำดังกล่าว[18]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อเป็นบุตรคนที่สองจากเก้าคนของหลี่ เจ๋อฟาน จิตรกรคนสำคัญของไต้หวัน และไช่ เผย์ ครูประถมศึกษา[19] นอกจากตัวหลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อเองแล้วเขายังมีพี่น้องอีกสามคนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่พี่ชาย หลี ยฺเหวี่ยนชวัน ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีประจำมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปคินส์[20] น้องชาย หลี ยฺเหวี่ยนเผิง อาจารย์สาขาเคมีประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวทง ซึ่งทั้งหลี ยฺเหวี่ยนชวันและหลี ยฺเหวี่ยนเผิงก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสถาบัน Academia Sinica เช่นเดียวกันกับหลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อ[21][22] และน้องสาว หลี่ จี้เหมย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติจงซิ่ง[23]

หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อสมรสกับเบอร์นิซ อู๋ ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษา และมีบุตรด้วยกันสามคนได้แก่เท็ด (เกิด ค.ศ. 1963) ซิดนีย์ (เกิด ค.ศ. 1966) และชาร์ลอตต์ (เกิด ค.ศ. 1969)[7]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. นามสกุล "หลี่" เป็นคำวรรณยุกต์เสียงสามซึ่งใกล้เคียงกับวรรณยุกต์เสียงเอกในภาษาไทย เมื่อประสมกับชื่อ "ยฺเหวี่ยนเจ๋อ" ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำวรรณยุกต์เสียงสามเช่นกัน "หลี่" จะเปลี่ยนเสียงเป็นเสียงสองซึ่งใกล้เคียงกับวรรณยุกต์เสียงจัตวาในภาษาไทยได้แก่ "หลี" ในบทความนี้เมื่ออ้างถึงนามสกุลเพียงอย่างเดียวจะใช้ว่า "หลี่" ในขณะที่ถ้าประสมกับชื่อจะใช้ว่า "หลี ยฺเหวี่ยนเจ๋อ"

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Yuan T. Lee | College of Chemistry". chemistry.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 2019-03-10.
  2. "Nobel Laureate Yuan T. Lee to speak on campus at international symposium exploring Nobel-caliber research | College of Chemistry". chemistry.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 2019-03-10.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "Yuan T. Lee Biographical (The Nobel Prize in Chemistry 1986)". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-03-10.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Lee, Yuan Tseh, 1936-". history.aip.org. สืบค้นเมื่อ 2019-03-10.
  5. 5.0 5.1 "The Nobel Prize in Chemistry 1986". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-03-10.
  6. "李远哲".
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "Yuan T. Lee – Biographical". NobelPrize.org. Nobel Prize Outreach AB 2022. สืบค้นเมื่อ 27 November 2022.
  8. "Yuan T. Lee Professor Emeritus". Berkeley College of Chemistry. สืบค้นเมื่อ 1 December 2016.
  9. "Asian Science Camp 2022 is to be held at the IBS Science and Culture Center". Institute for Basic Science. 25 July 2022. สืบค้นเมื่อ 4 August 2022.
  10. Lerman, Zafra (10 February 2015). "From Fighting for Human Rights to Building a Bridge to Peace". Science & Diplomacy. 4 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-24. สืบค้นเมื่อ 2022-11-27.
  11. "Nobel Prize winning scientist elected as future President of the International Council for Science" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 March 2009. สืบค้นเมื่อ 14 September 2017.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์). International Council for Science. 7 November 2008
  12. "UTAR International Advisory Council". Universiti Tunku Abdul Rahamn (UTAR). 20 December 2020.
  13. "诺贝尔奖得主卸任 "李远哲时代" 黯然落幕". News.cn. 24 October 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2013.
  14. Corcuff, Stephane (28 February 2002). Memories of the Future: National Identity Issues and the Search for a New Taiwan (1 ed.). Routledge. p. 86. ISBN 978-0765607911. สืบค้นเมื่อ 5 March 2021.
  15. Ko, Shu-ling (14 November 2004). "The struggle for an international voice". Taipei Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-21. สืบค้นเมื่อ 1 December 2016.
  16. Abraham, Gerber. "NPP focuses on family in night rally". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 9 January 2016.
  17. "Notable Signers". Humanism and Its Aspirations. American Humanist Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-05. สืบค้นเมื่อ 2 October 2012.
  18. "Yuan Lee, Taiwan". Global Ideas. 7 September 2010.
  19. 李季眉 (1994-07-10). "李澤藩先生生平介紹" (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). 李澤藩美術館. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-06. สืบค้นเมื่อ 2020-08-04.
  20. "Lee, Yuan Chuan". Genomics Research Institute, Academia Sinica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-27. สืบค้นเมื่อ 5 December 2018.
  21. "Lee family awaits Academa Sinica membership vote". Taipei Times. 7 July 2004. สืบค้นเมื่อ 5 December 2018.
  22. Shan, Shelley (6 July 2006). "Academia Sinica to elect new members today". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 3 December 2018.
  23. "李季眉" (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). 國立中興大學. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-06. สืบค้นเมื่อ 2020-08-04.

ผลงานตีพิมพ์ที่สำคัญ

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]