ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน

พิกัด: 25°2′39.8832″N 121°31′10.02″E / 25.044412000°N 121.5194500°E / 25.044412000; 121.5194500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน
Sunflower Student Movement
太陽花學運
วันที่18 มีนาคม – 10 เมษายน ค.ศ. 2014 (2014-03-18 – 2014-04-10) (23 วัน)
สถานที่สาธารณรัฐจีน ที่ทำการสภานิติบัญญัติ
อำเภอจงเจิ้ง กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน

25°2′39.8832″N 121°31′10.02″E / 25.044412000°N 121.5194500°E / 25.044412000; 121.5194500
สาเหตุ
เป้าหมาย
  • ขัดขวางการบังคับใช้ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ
  • ให้มีกฎหมายควบคุมความตกลงกับจีน
  • ให้คณะรัฐมนตรีลาออก[1]
วิธีการ
สถานะยังดำเนินอยู่
คู่ขัดแย้ง
กลุ่มคนซึ่งไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ
ผู้นำ
ไม่มี
จำนวน

สภานิติบัญญัติ

  • อย่างน้อย 400 คนยึดที่ประชุม
  • อย่างน้อย 10,000 คนยึดที่ภายนอก

ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน (จีน: 太陽花學運; พินอิน: Tàiyánghuā Xué Yùn; อังกฤษ: Sunflower Student Movement) เป็นชื่อเรียกกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศไต้หวัน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา และประชาชนซึ่งรวมกำลังกันยึดสถานที่ราชการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2014 โดยเริ่มเข้าควบคุมที่ทำการสภานิติบัญญัติ และต่อมาจึงลุกลามไปยังสำนักงานสภาบริหาร (คณะรัฐมนตรี)[2][3][4] ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการที่สภานิติบัญญัติ ซึ่งพรรคชาตินิยม (國民黨; Guómíndǎng; Kuomintang) ครองเสียงข้างมาก จะให้สัตยาบันแก่ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ (海峽兩岸服務貿易協議; Hǎixiá Liǎng'àn Fúwù Màoyì Xiéyì; Cross-Strait Service Trade Agreement) ที่สภาบริหารได้ทำไว้กับประเทศจีน โดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ

ผู้ประท้วงเชื่อว่า ความตกลงนี้จะกระทบเศรษฐกิจไต้หวัน เพราะจะเปิดให้จีนใช้อำนาจทางการเมืองบีบคั้นเศรษฐกิจไต้หวันจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ ส่วนผู้สนับสนุนความตกลงเห็นว่า ความตกลงจะช่วยให้ทั้งจีนและไต้หวันลงทุนในตลาดของแต่ละฝ่ายได้อย่างเสรีมากขึ้น[5][6][7] เดิมที ผู้ประท้วงเรียกให้พิจารณาความตกลงอีกครั้งโดยทำเป็นรายข้อ[8] แต่ภายหลังเปลี่ยนไปเรียกให้เลิกทำความตกลงนั้นเสีย แล้วตรากฎหมายควบคุมการทำความตกลงกับจีน[9] พรรคชาตินิยมยินดีให้พิจารณาความตกลงเป็นรายข้อในวาระที่ 2[10][11] แต่ไม่เห็นด้วยที่จะส่งความตกลงกลับไปให้คณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติพิจารณาอีกครั้ง[12] ต่อมา พรรคชาตินิยมยินยอมตามข้อเสนอที่ให้พิจารณาซ้ำเป็นรายข้อ แต่กล่าวว่า ต้องให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (主進步黨; Mínzhǔ Jìnbù Dǎng; Democratic Progressive Party) เลิกคว่ำบาตรกระบวนพิจารณา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ตกลงด้วย และแถลงว่า ควรตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกับจีนมาพิจารณาความตกลง เพราะเป็น "มติมหาชนกระแสหลัก"[13] อย่างไรก็ดี พรรคชาตินิยมบอกปัดข้อเสนอดังกล่าว[14][15]

ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นคราวแรกในประวัติศาสตร์ชาติไต้หวันที่สภานิติบัญญัติถูกประชาชนบุกยึด[16][17] และสำนักข่าวบีบีซีเห็นว่า เป็นการชี้ชะตาไต้หวัน เพราะจะช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งจะทวีการพิทักษ์ประโยชน์ประชาชน มิใช่ประโยชน์ของพรรคการเมือง[18]

ชื่อ[แก้]

ผู้ประท้วงเรียกตนเองว่า "ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน" เพราะเห็นว่า ดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง[19] โดยเริ่มนิยมใช้คำนี้ตั้งแต่ร้านดอกไม้ร้าน 1 ส่งดอกทานตะวัน 100 ต้นมาเป็นกำลังใจให้เหล่านักศึกษา ณ ที่ทำการสภานิติบัญญัติ[20]

ชื่อ "ทานตะวัน" ยังเป็นการอ้างถึงขบวนการนักศึกษาลิลลีป่า (野百合學運; Yě Bǎihé Xué Yùn; Wild Lily Student Movement) เมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนไต้หวันให้เป็นประชาธิปไตย[21]

ขบวนการครั้งนี้มีชื่ออื่นอีก คือ "ขบวนการนักศึกษา 18 มีนาฯ" (318學運; 318 Xué Yùn; March 18 Student Movement) และ "ปฏิบัติการยึดสภาฯ" (佔領國會事件; Zhànlǐng Guóhuì Shìjiàn; Occupy Taiwan Legislature)

ความเป็นมา[แก้]

วันที่ 18 มีนาคม 2014 พรรคชาตินิยมยื่นญัตติฝ่ายเดียวให้สภานิติบัญญัติเห็นชอบกับความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบโดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ แม้เคยรับปากกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 แล้วว่า จะพิจารณาเป็นรายข้อ อนึ่ง พรรคการเมืองทั้ง 2 ยังเคยตกลงกันเมื่อเดือนกันยายน 2013 ว่า จะจัดประชาพิจารณ์ 16 ครั้ง โดยจะเป็นเจ้าภาพกันคนละ 8 ครั้ง และเชิญนักวิชาการ องค์การเอกชน กับผู้แทนวงการค้าที่จะได้รับผลกระทบ มาร่วมเสวนา พรรคชาตินิยมจัดไป 8 ครั้ง แต่ไม่ได้เชิญบุคคลดังกล่าวมาเลย หรือเชิญมาก็ด้วยความรีบร้อน นอกจากนี้ เมื่อมีการเสนอความเห็นระหว่างประชาพิจารณ์ จาง ชิ่งจง (張慶忠; Zhāng Qìngzhōng; Chang Ching-chung) สมาชิกพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการบริหารราชการภายใน (Internal Administrative Committee) ของสภานิติบัญญัติ ก็กล่าวว่า ร่างความตกลงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว ต้องรับทั้งฉบับเท่านั้น[22] พฤติการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความวุ่นวายในสภานิติบัญญัติ เป็นเหตุให้พรรคประชาธิปไตยไม่อาจจัดประชาพิจารณ์อีก 8 ครั้งได้ กับทั้งจาง ชิ่งจง ยังสั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2014 ว่า กระบวนพิจารณาชั้นกรรมาธิการดำเนินมามากกว่า 90 วันแล้ว ให้ส่งความตกลงไปให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเพื่อลงมติในชั้นสุดท้ายได้ ความตกลงส่งไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2014[8]

การยึดพื้นที่[แก้]

สภานิติบัญญัติ[แก้]

นักศึกษายึดห้องประชุมสภานิติบัญญัติ

วันที่ 18 มีนาคม 2014 ราว 21:00 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ผู้ชุมนุมปีนรั้วที่ทำการสภานิติบัญญัติขึ้นเพื่อเข้าไปภายใน การรบรันพันตูระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเหตุให้ที่ทำการเสียหายเล็กน้อย แต่เจ้าพนักงานตำรวจหลายรายได้รับบาดเจ็บสาหัส สภานิติบัญญัติส่งสมาชิกผู้ 1 มาเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมซึ่งเข้าไปในที่ทำการได้ประมาณ 300 คนแล้วเข้าควบคุมสถานที่ไว้เป็นผลสำเร็จ ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถขับพวกเขาออกไปได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่เหลือซึ่งมีหลายร้อยคนยังตั้งมั่นอยู่นอกที่ทำการ บรรดาผู้ชุมนุมเรียกให้สภานิติบัญญัติพิจารณาความตกลงเป็นรายข้ออีกครั้ง มิฉะนั้น จะยึดที่ทำการไปจนถึงวันที่ 21 มีนาคม อันเป็นวันที่สภานิติบัญญัติกำหนดให้ลงมติเกี่ยวกับความตกลง เจ้าหน้าที่จึงตัดน้ำตัดไฟในที่ทำการ ณ คืนวันที่ 18 นั้นเพื่อบีบให้ผู้ชุมนุมออกไป ส่วนเจียง อีฮว่า (江宜樺; Jiāng Yīhuà; Jiang Yi-huah) นายกรัฐมนตรี สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าขับไล่ผู้ชุมนุม แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง[8][23]

หลังสภานิติบัญญัติถูกยึดไม่นาน มีการระดมเจ้าพนักงานตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายพันคนจากทั่วประเทศเพื่อเข้าล้อมผู้ชุมนุมเอาไว้[24][25] ครั้นวันที่ 20 มีนาคม 2014 หวัง จินผิง (王金平; Wáng Jīnpíng; Wang Jin-pyng) ประธานสภานิติบัญญัติ แถลงว่า จะไม่ใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม[26] นอกจากนี้ เขากล่าวในวันรุ่งขึ้นว่า จะไม่ไปพบหม่า อิงจิ่ว (馬英九; Mǎ Yīngjiǔ; Ma Ying-jeou) ประธานาธิบดี หรือเจียง อีฮว่า นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องจะทำอย่างไรต่อไป เขากล่าวด้วยว่า เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีที่จะต้องฟังเสียงประชาชน และสมาชิกสภานิติบัญญัติเองก็ต้องรอมชอมกันเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ด้วย[27]

วันที่ 22 มีนาคม 2014 เจียง อีฮว่า ไปพบผู้ชุมนุมนอกที่ทำการสภานิติบัญญัติ และแถลงว่า สภาบริหารไม่ประสงค์จะล้มเลิกความตกลงฉบับนั้น[2] ฝ่ายประธานาธิบดีก็แถลงข่าวในวันถัดมาว่า เขาปรารถนาจะให้ความตกลงได้รับการอนุมัติ แต่ยืนยันว่า เขาไม่ได้กำลังรับสนองคำสั่งจากกรุงปักกิ่ง[28][29]

สภาบริหาร[แก้]

การแถลงข่าวข้างต้นเป็นผลให้ผู้ชุมนุมแห่ไปยึดสำนักงานสภาบริหารในเวลาประมาณ 19:30 นาฬิกาของวันที่ 23 มีนาคม 2014 นั้นเอง[30] เจ้าพนักงานตำรวจใช้ปืนแรงดันน้ำขับผู้ชุมนุมไปเสียจากสำนักงานได้อย่างราบคาบในเวลา 05:00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ช้าผู้ชุมนุมก็จับกลุ่มกันอีกครั้งตรงถนนจงเซี่ยวฝั่งตะวันออก (忠孝東路; Zhōngxiào Dōng Lù; Zhongxiao East Road)[31] เจ้าพนักงานตำรวจราว 100 คนจึงใช้เวลา 10 ชั่วโมงพยายามสลายผู้ชุมนุมโดยใช้แรงดันน้ำฉีดไล่และใช้ไม้พลองฟาดศีรษะ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้กำลังเกินเหตุ[32] มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 150 คนและถูกจับอีก 61 คน[33]

นอกจากนี้ นักข่าวและแพทย์พยาบาลยังถูกสั่งให้ไปเสียให้พ้นจากพื้นที่[32] สมาคมนักข่าวไต้หวันเปิดเผยว่า เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังต่อนักข่าว เพราะปรากฏว่า โจมตีนักข่าวมากกว่า 10 ครั้ง ทั้งวิจารณ์ว่า คำสั่งไล่นักข่าวเป็นการริดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน[34]

การเจรจา[แก้]

หลิน เฟย์ฟัน ผู้นำนักศึกษา ปราศรัยในห้องประชุมสภานิติบัญญัติ

ประธานาธิบดียืนยันตลอดมาว่า จะไม่พูดคุยกับผู้ชุมนุมเป็นการส่วนตัว แต่วันที่ 25 มีนาคม 2014 เขาเรียกผู้แทนนักศึกษามาที่จวนเพื่อสนทนาเรื่องความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบกับประเทศจีน[35] หลิน เฟย์ฟัน (林飛帆; Lín Fēifān; Lin Fei-fan) ผู้นำนักศึกษา ตกลงจะไป และกล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาประสงค์จะสนทนาเรื่องไต้หวันควรมีสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่เพื่อกำกับดูแลการทำความตกลงระหว่างช่องแคบทั้งหลายหรือไม่ และความตกลงฉบับที่เป็นปัญหานั้นควรค้างไว้จนกว่าจะมีสภานิติบัญญัติชุดใหม่หรือไม่มากกว่า[22]

กระนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2014 เหล่าผู้แทนนักศึกษาประกาศว่า จะไม่ไปพบประธานาธิบดี เพราะเห็นว่า ประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาตินิยมสามารถใช้กฎระเบียบของพรรคควบคุมสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ อันจะเป็นผลให้การเจรจาระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลายล้มเหลวอีกจนไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้[36][37] ผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนไปเรียกให้สภานิติบัญญัติตรากฎหมายเพื่อควบคุมการทำความตกลงระหว่างช่องแคบในภายภาคหน้า โดยส่งร่างกฎหมายไปให้สภานิติบัญญัติและขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติลงชื่อรับรอง[38]

การเดินขบวน[แก้]

วันที่ 30 มีนาคม 2014 ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากจวนประธานาธิบดีไปยังที่ทำการสภานิติบัญญัติจนเต็มถนนไข่ต๋าเก๋อหลัน (Ketagalan Boulevard) เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีฟังคำพวกตน[39][40] ผู้จัดการเดินขบวนว่า มีผู้คนมากกว่า 500,000 คนมาร่วม ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจที่มาประจำการนั้นมีราว 116,000 คน[41]

ฝ่ายผู้ต่อต้านการชุมนุมก็รวมตัวกันในท้องที่เดียวกัน แต่แยกย้ายกันไปก่อนขบวนนักศึกษาสลายตัว[42] ครั้นวันที่ 1 เมษายน 2014 จาง อันเล่อ (張安樂; Zhāng Ānlè; Chang An-lo) นักเลงโต นำผู้สนับสนุนการทำความตกลงกับประเทศจีนเคลื่อนขบวนต่อต้านการยึดสภานิติบัญญัติบ้าง[43]

วันที่ 6 เมษายน 2014 ประธานสภานิติบัญญัติไปเยี่ยมผู้ชุมนุมซึ่งยึดที่ทำการสภานิติบัญญัติ และตกปากว่า จะเลื่อนการพิจารณาความตกลงนั้นออกไปก่อนจนกว่าจะตรากฎหมายควบคุมการทำความตกลงระหว่างช่องแคบสำเร็จตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง[44] แต่เฟ่ย์ หงไท่ (費鴻泰; Fèi Hóngtài; Fai Hrong-tai) รองเลขาธิการพรรคชาตินิยม บอกปัดเรื่องนั้น และติเตียนประธานสภานิติบัญญัติว่า ออกปากสิ่งใดไปไม่ปรึกษาพรรคชาตินิยมก่อน[45]

อ้างอิง[แก้]

  1. Wang, Chris; Lee, Hsin-fang; Kan, Chih-chi (31 March 2014). "Protest gathers broad support". Tsipei Times. สืบค้นเมื่อ 31 March 2014.
  2. 2.0 2.1 Ramzy, Austin (22 March 2014). "As Numbers Swell, Students Pledge to Continue Occupying Taiwan's Legislature". New York Times. สืบค้นเมื่อ 22 March 2014.
  3. "【直擊】警提升府維安 對戰一觸即 發". Apple Daily (ภาษาจีน). Apple Daily. 20 March 2014. สืบค้นเมื่อ 20 March 2014.
  4. Ying-yu Tseng; Elizabeth Hsu (18 March 2014). "Protesters break police line, storm Legislature". Focus Taiwan. Central News Agency. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  5. "Protesters occupy Taiwan parliament over China trade deal". BBC. 19 March 2014. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  6. 鄭秀玲 (29 July 2013). "兩岸服貿協議對我國的衝擊分析" (ภาษาจีน). Slideshare. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  7. 鄭秀玲 (13 September 2013). "服貿自救寶典(I) : 服貿協議將對誰有影響" (ภาษาจีน). Slideshare. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  8. 8.0 8.1 8.2 Cole, J. Michael (20 March 2014). "Taiwanese Occupy Legislature Over China Pact". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 20 March 2014.
  9. Ying-yu Tseng; Ku Chuan; Elaine Hou (23 March 2014). "Protesters lay out demands, vow to continue occupation of Legislature". Central News Agency. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
  10. Brown Sophie; Li, Zoe (24 March 2014). "Taiwan police clash with students in protests over trade deal". CNN.com. สืบค้นเมื่อ 24 March 2014.
  11. Pei-chun Tang; Wu, Lilian (24 March 2014). "KMT aiming for item-by-item review of pact at floor session". Central News Agency (Republic of China). สืบค้นเมื่อ 24 March 2014.
  12. Shih Hsiu-chuan (22 March 2014). "LEGISLATIVE SIEGE: KMT open to line-by-line review of pact". Taipei Times.
  13. Wang, Chris (28 March 2014). "TRADE PACT SIEGE: KMT says open to making concessions". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
  14. Loa, Iok-sin (29 March 2014). "Jiang defends eviction, rejects demands". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  15. Wang, Chris (29 March 2014). "DPP says no more interparty talks". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  16. 1Lin Adela; Culpan, Tim (19 March 2014). "Taiwan Students Occupy Legislature Over China Pact". Bloomberg. Bloomberg L. P. สืบค้นเมื่อ 22 March 2014.
  17. 陳沂庭 (19 March 2014). "群眾占領議場 國會史上首次". Radio Taiwan International (ภาษาจีน). Radio Taiwan International. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  18. Sui, Cindy (26 March 2014). "What unprecedented protest means for Taiwan". BBC News. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
  19. "Rally backs Taiwan students occupying parliament". BBC News. 21 March 2014. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  20. "花店老闆捐「太陽花」 盼照亮學運" (ภาษาจีน). Formosa TV. 21 March 2014. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  21. Hhung, Joe (24 March 2014). "Echoes of the Wild Lily Movement". Chine Post. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  22. 22.0 22.1 Brown, Sophie (26 March 2014). "Taiwan's president asks protesters to talk over trade deal". CNN.com. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
  23. "台灣反服貿協議團體佔領立法院議事場". BBC (ภาษาจีน). 18 March 2014. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  24. Enav, Peter (19 March 2014). "China Trade Pact Foes Occupy Taiwanese Legislature". AP. ABC News. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  25. Sanchez Ray; Li, Zoe (21 March 2014). "Taiwan Legislature occupiers' ultimatum passes without response from government". CNN. Turner Broadcasting System. สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  26. Shih Hsiu-chuan; Su Fang-ho; Chung, Jake (21 March 2014). "Wang promises a solution, response to students' appeals". The Taipei Times. The Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  27. 陳沂庭 (21 March 2014). "王金平盼總統傾聽民意 促朝野共識". Radio Taiwan International (ภาษาจีน). Yahoo News Network. สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  28. "佔領國會》記者會提問機會少 外媒抗議". Liberty Times. 23 March 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2014.
  29. Blanchard, Ben (24 March 2014). Perry, Michael (บ.ก.). "Taiwan leader says protest-hit China trade pact vital". Reuters. สืบค้นเมื่อ 24 March 2014.
  30. "【警方動態】奪回行政院 640鎮暴警出動". Apple Daily. 23 March 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2014.
  31. Chen Chi-chung; Yuris Ku; James Lee (23 March 2014). "Executive Yuan protesters dispersed with water cannons". Central News Agency. สืบค้นเมื่อ 23 March 2014.
  32. 32.0 32.1 Cole, J. Michael (24 March 2014). "Riot Police Crack Down on Taiwanese Protesters". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
  33. Chung, Lawrence (24 March 2014). "More than 150 injured as police evict student protesters from Taiwan parliament". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
  34. Loa, Iok-sin (25 March 2014). "Journalists accuse police of attacking them". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 25 March 2014.
  35. Koh, Gui Qing (25 March 2014). Laurence, Jeremy (บ.ก.). "Taiwan's Ma says ready to meet protesters over China trade pact". Reuters. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
  36. Culpan, Tim (25 March 2014). Mathieson, Rosalind; Fellman, Joshua (บ.ก.). "Taiwan's Ma Offers to Meet Student Leaders as Dispute Continues". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
  37. Kuo Adam Tyrsett; Wei, Katherine (26 March 2014). "Activists set conditions to Ma dialogue". The China Post. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
  38. Wei, Katherine (27 March 2014). "DPP lawmakers agree to support cross-strait pact supervisory law". The China Post. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
  39. Chung, Lawrence (28 March 2014). "Students threaten huge rally to pressure Ma Ying-jeou to drop trade pact with Beijing". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
  40. Loa Iok-sin; Shih Hsiu-chuan (28 March 2014). "Sunday rally planned for Ketagalan Blvd". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
  41. Gold, Michael; Pomfret, James (30 March 2014). Laurence, Jeremy (บ.ก.). "Over 100,000 protest in Taiwan over China trade deal". Reuters. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  42. Wu, Liang-yi; Hsu, Stacy (31 March 2014). "TRADE PACT SIEGE: White-clad army demand return of Legislative Yuan". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 31 March 2014.
  43. "Taiwan pro-China activists rally against parliament seizure". Channel News Asia. 1 April 2014. สืบค้นเมื่อ 1 April 2014.
  44. 王金平保證監督條例未立法 不開服貿協商會議
  45. Ruling party lawmaker blames speaker for selling out Kuomintang

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]