ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยชิคาโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก University of Chicago)
มหาวิทยาลัยชิคาโก
The University of Chicago
คติพจน์
Crescat scientia; vita excolatur
คติพจน์อังกฤษ
"Let knowledge grow from more to more; and so be human life enriched."
ประเภทมหาวิทยาลัยวิจัยเอกชน
สถาปนา1890, 1856; เมื่อ 132 ปีที่ผ่านมา
ผู้สถาปนาจอห์น ดี. ร็อกเกะเฟลเลอร์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอ.พอล อลิวิซาตอส
ผู้เป็นประธานแคทเทอรีน เบคเกอร์
ที่ตั้ง
นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
สี  สีแดงเลือดหมู
ฉายามารูนส์
มาสคอต
นกฟินิกซ์ ฟิล
เว็บไซต์www.uchicago.edu

มหาวิทยาลัยชิคาโก (อังกฤษ: The University of Chicago, UChicago, Chicago, U of C หรือ UChi) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเอกชนในนครชิคาโก รัฐอิลลินอย มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตหลักตั้งอยู่ในย่านไฮด์พาร์ก ในนครชิคาโก มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และยอดเยี่ยมในด้านการวิจัยเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้รับการถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก

องค์ประกอบของมหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยวิทยาลัยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี และภาควิชาที่เน้นด้านการทำวิจัยและเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาห้าแห่ง ซึ่งรวมไปถึงหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาและคณะกรรมการด้านสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมีสำนักวิชาที่เน้นด้านการทำงานทั้งหมดแปดแห่งคือ สำนักวิชากฎหมาย, สำนักวิชาธุรกิจบูท, สำนักวิชาแพทยศาสตร์พริตซ์เกอร์, สำนักวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ นโยบาย และการปฏิบัติแห่งตระกูลคราวน์, สำนักวิชานโยบายสาธารณะแฮร์ริส, สำนักวิชาเทววิทยา, สำนักวิชาการศึกษาอิสระและการศึกษาต่อเนื่องเกรแฮม และสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์โมเลกุลพริตซ์เกอร์ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีวิทยาเขตและศูนย์การศึกษาตั้งอยู่ในลอนดอน ปารีส ปักกิ่ง เดลี และฮ่องกง รวมไปถึงใจกลางนครชิคาโก

นักวิชาการของมหาวิทยาลัยชิคาโกมีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาระเบียบวิธีเชิงวิชาการในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วรรณคดีวิพากษ์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ศาสนศาสตร์ สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์ รวมทั้งก่อตั้งสำนักชิคาโกขึ้นในหลากหลายแขนง ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาของมหาวิทยาลัยชิคาโกสามารถผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่สามารถรักษาเสถียรภาพได้ด้วยตัวมันเองเป็นเครื่องแรกของโลก โดยเตาปฏิกรณ์นี้จัดได้ว่าเป็นเตาปฏิกรณ์แรกที่มนุษย์สามารถผลิตขึ้นได้ โดยทำการผลิตในบริเวณชิคาโก ไพล์-1 ซึ่งตั้งอยู่ใต้อัฒจรรย์สนามกีฬาสแตกก์ ความก้าวหน้าในด้านเคมีก่อให้เกิดการปฏิวัติกัมมันตรังสีคาร์บอนในการใช้คาร์บอน-14 ในการวัดอายุสิ่งมีชีวิตและวัตถุยุคโบราณ ความพยายามในการวิจัยของมหาวิทยาลัยยังสะท้อนได้จากการบริหารห้องปฏิบัติการเร่งรัดแห่งชาติเฟอร์มี และห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยชิคาโกประกอบไปด้วยผู้ได้รับรางวัลโนเบล 97 คน คณาจารย์และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยยังเป็นผู้ได้รับเหรียญฟิลด์ 10 คน ได้รับรางวัลทูริง 4 คน ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกของกลุ่มแมกอาเทอร์ 52 คน ได้รับเกียรติให้เป็นนักปราชญ์มาร์แชลล์ 26 คน ได้รับเกียรติให้เป็นนักปราชญ์โรดส์ 53 คน ได้รับรางวัลพูลิทเซอร์ 27 คน ได้รับเหรีญรางวัลนักมนุษยศาสตร์แห่งชาติ 20 คน มีศิษย์เก่าที่เป็นเศรษฐีพันล้านและยังมีชีวิตอยู่ 29 คน รวมทั้งมีผู้ได้รับเหรียญโอลิมปิกทั้งสิ้น 8 เหรียญ

ประวัติ

[แก้]

ช่วงเริ่มแรก

[แก้]
ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ และชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล อัลเบิร์ต เอ. มิเคลสัน กำลังกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญาบัตรครั้งที่สองของมหาวิทยาลัย ณ หน้าอาคารกู๊ดสปีดและเกตส์-เบลค ร่วมกับอธิการบดี วิลเลียม เรนีย์ ฮาร์เปอร์ คณาจารย์ และสภามหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1894

มหาวิทยาลัยชิคาโกได้รับการก่อตั้งโดยสมาคมการศึกษาแบปติสต์อเมริกัน (ABES) ให้เป็นสถาบันการศึกษาที่สามารถรับนักศึกษาได้ทั้งสองเพศในช่วงปี ค.ศ. 1890 โดยใช้เงินทุนจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการรับบริจาคของ ABES โดยร่วมกับเงินบริจาคจากจอห์น ดี. รอกเกะเฟลเลอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสแตนดาร์ท ออยล์ จำนวน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งที่ดินที่ได้รับการบริจาคโดยมาร์แชลล์ ฟิลด์ ในขณะที่ร็อกเกะเฟลเลอร์บริจาคเงินให้แก่การปฏบัติงานด้านวิชาการและเพื่อเป็นทุนในอนาคต แต่ก็ได้กำหนดว่าห้ามใช้ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาคารสถานที่ วิทยาเขตที่ไฮด์ พาร์กได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากการบริจาคของชาวเมืองชิคาโกที่ร่ำรวย เช่น ซิลาส บี. คอบบ์ ผู้สนับสนุนเงินทุนให้การสร้างอาคารบรรยายคอบบ์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกในวิทยาเขต และตรงตามความต้องการของมาร์แชล ฟิลด์ ที่ต้องการให้อาคารมีมูลค่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ให้การสนับสนุนคนอื่น ๆ ได้แก่ ชาร์ลส์ แอล. ฮัทชิงสัน (ผู้จัดการ เหรัญญิก และผู้บริจาคให้แก่อาคารรวมฮัทชิงสัน) มาร์ติน เอ. ไรเออร์สัน (ประธานคณะกรรมการผู้จัดการและผู้บริจารให้แก่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์กายภาพไรเออร์สัน) อดอลฟัส เคลย์ บาร์ตเลตต์ และลีออน แมนเดล ผู้ให้เงินทุนก่อสร้างโรงยิมและหอประชุม และจอร์จ ซี. วอล์กเกอร์แห่งพิพิธภัณฑ์วอล์กเกอร์ ผู้ที่เป็นญาติของคอบบ์ และคอบบ์สนับสนุนให้ร่วมเป็นผู้บริจาคแรกเริ่มสำหรับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของมหาวิทยาลัย

วิลเลียม เรนีย์ ฮาร์เปอร์เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในวันที่ 1 กรกฎาคม 1891 และวิทยาเขตไฮด์ ปาร์ก ได้จัดให้มีการเรียนเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 1892

สำนักวิชาธุรกิจได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1898 และสำนักกฎหมายได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1902 ฮาร์เปอร์เสียชีวิตในปี 1906 และได้รับการสืบทอดโดยอีกสามอธิการบดีจนกระทั่งในปี 1929 ในช่วงนี้ สถาบันตะวันออกศึกษาได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อสนับสนุนและตีความงานเชิงโบราณคดีที่ค้นพบในบริเวณที่ในขณะนั้นเรียกว่าเขตตะวันออกใกล้

ในทศวรรษ 1890 มหาวิทยาลัยมีความกลัวว่าทรัพยากรที่มากล้นของตนจะทำให้สถาบันการศึกษาเดือดร้อนโดยการพรากนักศึกษาที่มีความสามารถออกไป จึงได้ร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เช่น วิทยาลัยเดสมอนส์ วิทยาลัยคาลามาซู มหาวิทยาลัยบัทเลอร์ มหาวิทยาลัยเสตต์ซัน ในปี ค.ศ. 1896 มหาวิทยาลัยร่วมมือกับวิทยาลัยชิเมอร์ที่เมาท์ แคร์โรลล์ มลรัฐอิลลินอย

ทศวรรษที่ 1920 - 1980

[แก้]

ในปี 1929 โรเบิร์ต เมย์นาร์ด ฮัตชินส์ นักปรัชญากฎหมายอายุ 30 ปี ผู้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยคนที่ 5 ได้เริ่มเข้าทำงาน มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนแปลงไปมากตลอด 24 ปีในการดำรงตำแหน่งนี้ ฮัตชินส์ได้ปฏิรูปหลักสูตรศิลปศาสตร์ของนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า หลักสูตรแกนกลาง และได้จัดให้มีการแบ่งการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาออกเป็นสี่คณะ และกำจัดทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีความพยายามที่จะเน้นด้านวิชาการมากกว่าด้านการกีฬา ในวาระของเขา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิคาโก (ปัจจุบันเรียกว่าศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยชิคาโก) ได้สร้างเสร็จและได้รับสมัครนักเรียนแพทยศาสตร์รุ่นแรก นอกจากนี้ ได้ให้กำเนิดสถาบันที่แยกย่อยออกไปจากมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านปรัชญา ที่เรียกว่าคณะกรรมาธิการแนวคิดทางสังคม

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีเสถียรภาพได้ด้วยตนเองเครื่องแรกของโลก ซึ่งประกอบไปด้วยเอนริโก เฟอร์มีในแถวหน้า และลีโอ ซิลาร์ดในแถวที่สอง

เงินที่สามารถหาได้ในช่วงทศวรรษที่ 1920 และการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิรอกเกะเฟลเลอร์ช่วยให้มหาวิทยาลัยรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปได้ อย่างไรก็ดี ในปี 1933 ฮัตชินส์ได้นำเสนอแผนการที่จะควบรวมมหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ให้เป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาของมหาวิทยาลัยได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโครงการแมนฮัตตัน มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่แรกที่สามารถแยกพลูโตเนียมได้ และนำมาสู่การผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สังเคราะห์ที่มีเสถียรภาพได้ด้วยตนเองเครื่องแรก โดยเอนริโก เฟอร์มี ในปี 1942

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 การตอบรับเข้าเรียนจากนักเรียนลดลงเนื่องมากจากการเพิ่มขึ้นของคดีและคนจนในย่านไฮด์ ปาร์ก จนทำให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันที่เรียกว่าโครงการปรับปรุงชุมชนเมืองในไฮด์ ปาร์ก ซึ่งก่อให่เกิดการวางผังเมืองใหม่ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและถนนในย่านดังกล่าวเป็นวงกว้าง ในช่วงนี้ มากกว่า 10 มหาวิทยาลัย เช่น วิทยาลัยชิเมอร์ ได้ริเริ่มโครงการการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก่อนกำหนด ที่อนุญาตให้นักเรียนที่ยังเด็กอยู่สามารถเข้าวิทยาลัยนี้ได้ทันที และนักศึกษาที่เรียนที่ชิเมอร์สามารถที่จะโอนย้ายไปยังมหาวิทยาลัยชิคาโกได้ทันทีเมื่อจบปีที่สอง หากสามารถเรียน หรือสอบผ่านวิชาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย

ในปี ค.ศ. 1978 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แฮนนา ฮอล์บอร์น เกรย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายกสภาและรักษาการอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเยล ได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชิคาโก และได้ดำรงตำแหน่งนานถึง 15 ปี เธอเป็นผู้หญิงคนแรกในสหรัฐอเมริกาที่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นนำ

ทศวรรษที่ 1990 - 2010

[แก้]
มุมมองจากมิดเวย์ เพลเซนซ์

ในปี 1999 ฮิวโก ซอนเนนเชน อธิการบดีในขณะนั้นได้ประกาศแผนที่จะลดจำนวนหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่โด่งดังของมหาวิทยาลัยจาก 21 เหลือ 15 และเมื่อหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ ดิอีโคโนมิสต์ และหนังสือพิมพ์ชั้นนำอื่น ๆ เล่นเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นจุดสนใจในการโต้เถียงกันเกี่ยวกับด้านการศึกษาของประเทศ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เกิดขึ้น แต่ประเด็นนี้ได้นำไปสู่การตัดสินใจที่จะลาออกของซอนเนนเชนในปี ค.ศ. 2000

ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มโครงการขยายเป็นจำนวนมากกว่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2008 มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ประกาศที่จะสร้างสถาบันมิลตัน ฟรีดแมน ที่เป็นจุดสนใจทั้งในเชิงสนับสนุนและเชิงต่อต้านจากทั้งคณาจารย์และนักเรียน สถาบันดังกล่าวมีต้นทุนการสร้างอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐและก่อสร้างบนตึกวิทยาลัยศาสนาชิคาโก ในปีเดียวกัน เดวิด จี. บูท นักลงทุนได้บริจาค 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่สำนักวิชาธุรกิจบูทของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการบริจาคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และมากที่สุดที่เคยให้แก่สำนักวิชาธุรกิจในมหาวิทยาลัยอื่น ในปี 2009 มีแผนและลงมือก่อสร้างหลายอาคาร โดยที่มากกว่าครึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน 2015 มหาวิทยาลัยได้รับเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากมูลนิธิตระกูลเพียร์สันในการก่อตั้งสถาบันเพียร์สันเพื่อการศึกษาและการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก และการประชุมระดับโลกเพียร์สันที่สำนักวิชานโยบายสาธารณะแฮร์ริส

ในปี 2019 มหาวิทยาลัยได้สร้างสำนักวิชาขึ้นมาใหม่ในรอบสามทศวรรษ นั่นก็คือสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์โมเลกุลพริทซ์เกอร์

วิทยาเขต

[แก้]

วิทยาเขตหลัก

[แก้]

วิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยชิคาโกมีเนื้อที่ 217 เอเคอร์ (87.8 ha) ในบริเวณย่านไฮด์ปาร์กและวูดลอว์นในนครชิคาโก วิทยาเขคได้ถูกแบกเป็นสองส่วนคือตอนเหนือและตอนใต้ โดยถูกแบ่งโดยสวนที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงขนาดใหญ่ที่เรียกว่ามิดเวย์ เพลเซนซ์ ซึ่งแต่เดิมได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานนิทรรศการโคลัมเบียระดับโลกในปี ค.ศ. 1893 ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสาร ทราเวล+เลเชอร์ ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตสวยที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

กลุ่มอาคารชุดแรกในวิทยาเขตได้ถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่ในปัจจุบันเรียกว่าลานสี่มุมหลัก เป็นส่วนหนึ่งในแผนการหลักที่ริเริ่มโดยสมาชิกสภามหาวิทยาลัยสองคนและร่างโดยสถาปนิกชาวชิคาโก เฮนรี ไอฟ์ คอบบ์ อาคารภายในลานสี่มุมหลักมีรูปแบบมาจากวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ตัวอย่างเช่น หอคอยมิตเชลล์ได้สร้างตามหอคอยแมกดาเลนในออกซ์ฟอร์ด และโถงฮัตชิงสัน ซึ่งเป็นอาคารส่วนกลางของมหาวิทยาลัย เลียนแบบโถงไครซ์ทเชิร์ต)

โบสถ์ร๊อคเกะเฟลเลอร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1928 ออกแบบโดยเบอร์แทรม กู๊ดฮิล ในรูปแบบศิลปะนีโอ โกธิค
หอพักนักศึกษาปริญญาตรี สเนลล์-ฮิตช์คอก ได้ถูกก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นส่วนหนึ่งของลานสี่มุมหลัก

ในปี ค.ศ. 1955 ได้นำไปสู่การก่อสร้างลานสี่มุมด้านกฎหมายลาร์ดเบล อาคารที่จะกลายเป็นที่ตั้งของสำนักวิชานโยบายสาธารณะแฮร์ริส ห้องสมุดเรเจนสไตน์ โครงการขนาดใหญ่อีกอันนำไปสู่การสร้างศูนย์กีฬาเจราล์ด แรตเนอร์ หอพักกลางแมกซ์ มาเลฟสกี โถงพักทางตอนใต้ของวิทยาเขตและโรงอาหาร โรงพยาบาลเด็กแห่งใหม่ ในปี ค.ศ. 2011 มหาวิทยาลัยสร้างอาคารโดมแก้วที่ชื่อว่าห้องสมุดโจ และริกา แมนซูเอโต เสร็จ ซึ่งเป็นห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่มากสำหรับห้องสมุดมหาวิทยาลัยและป้องกันการใช้งานการยืมคืนหนังสือนอกมหาวิทยาลัย

บริเวณที่ผลิตเตาปฏิกรณ์ชิคาโก ไพล์-1 ได้รับการสถาปนาให้เป็นสถานที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ระดับชาติ โดยมีประติมากรรมพลังงานนิวเคลียร์โดยเฮนรี มัวร์ ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ดังกล่าว บ้านโรบี ซึ่งเป็นอาคารทรงแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์และได้รับโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยในปี 1963 เป็นหนึ่งในมรดกโลก และเป็นสถานที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ระดับชาติ เช่นเดียวกับห้อง 405 ในห้องทดลองจอร์จ เฮอร์เบิร์ต โจนส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกลนน์ ที. ซีบอร์กและทีมงานสามารถผลิตพลูโตเนียม อาคารฮิตช์คอก ซึ่งเป็นหอพักนักศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ในทะเบียนสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ

การบริหารและการเงิน

[แก้]

นายกสภามหาวิทยาลัยคนปัจจุบันคือแคทเทอรีน เบคเกอร์ ซึ่งได้รับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 อธิการบดีคนปัจจุบันคือนักเคมี พอล อลิวิซาตอส ซึ่งได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2021

วิชาการ

[แก้]
ลานจตุรัสหลักของมหาวิทยาลัยชิคาโก มุมมองจากทางทิศเหนือ

.ในด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยชิคาโกประกอบไปด้วยวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ภาควิชาที่เน้นด้านการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาห้าแห่ง สำนักวิชาที่เน้นด้านการทำงานอีกหกแห่ง และสำนักวิชาการศึกษาอิสระและการศึกษาต่อเนื่องเกรแฮม มหาวิทยาลัยยังมีระบบห้องสมุด สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก รวมทั้งกำกับห้องปฏิบัติการอีกหลายแห่ง เช่น ห้องปฏิบัติการเร่งรัดแห่งชาติเฟอร์มี (เฟอร์มีแล็บ), ห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ และห้องปฏิบัติการชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยยังได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการการศึกษาขั้นสูง

ระบบการเรียนของมหาวิทยาลัยใช้ระบบไตรมาส โดยที่หนึ่งปีการศึกษาจะถูกแบ่งออกไปสี่ภาคการศึกษา: ภาคฤดูร้อน (มิถุนายน - สิงหาคม) ภาคฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน - ธันวาคม) ภาคฤดูหนาว (มกราคม - มีนาคม) และภาคฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน - มิถุนายน) นักศึกษาปริญญาตรีเต็มเวลาจะลงทะเบียนเรียนราวสามถึงสี่วิชาในแต่ละไตรมาส ซึ่งศึกษาเป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดสัปดาห์ก่อนปิดภาคเรียนในแต่ละไตรมาส ปีการศึกษาของมหาวิทยาลัยจะเริ่มในปลายเดือนกันยายน และสิ้นสุดในกลางเดือนมิถุนายน

การจัดอันดับ

[แก้]
การจัดอันดับทางวิชาการ
ระดับชาติ
ARWU[1] 8
ฟอบส์[2] 20
U.S. News & World Report[3] 6
Washington Monthly[4] 41
ระดับโลก
ARWU[5] 10
QS[6] 10
ไทม์[7] 13

มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการสร้างผู้นำทางธุรกิจและมหาเศรษฐีหลายราย เออาร์ดับเบิลยูยู (ARWU) ได้ให้มหาวิทยาลัยชิคาโกอยู่ในมหาวิทยาลัย 10 อันดับแรกของโลกมาอย่างตอ่เนื่อง และในปี 2021 การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของคิวเอส ได้จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก สำนักวิชากฎหมายและธุรกิจได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในห้าอันดับแรกของสำนักวิชาที่เน้นด้านการทำงานของสหรัฐอเมริกา สำนักวิชาธุรกิจถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับที่หนึ่งในสหรัฐโดยยูเอส นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต และอันดับหนึ่งโดย ดิอีโคโนมิสต์ ในขณะที่สำนักกฎหมายอยู่อันดับที่สี่ในการจัดอันดับโดยยูเอส นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต และอันดับหนึ่งโดยอโบฟเดอะลอว์

งานวิจัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยชิคาโกเป็นที่ตั้งของการทดลองและการเคลื่อนไหวทางวิชาการที่สำคัญ ในด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับตลาดเสรี และจุดประกายให้เกิดสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์ชิคาโก ซึ่งเป็นสำนักวิชาแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนมิลตัน ฟรีดแมน และนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคน คณะสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยเป็นคณะสังคมวิทยาที่เป็นเอกเทศที่แรกของสหรัฐอเมริกา และก่อให้เกิดสำนักวิชาสังคมวิทยาชิคาโก ในสาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งของชิคาโก ไพล์-1 (ส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน) การทดลองหยดน้ำมันของโรเบิร์ต มิลลิแกน ที่เป็นการคำนวณประจุอิเล็กตรอน และการพัฒนาการวัดอายุโดยใช้รังสีคาร์บอนโดยวิลลาร์ด เอฟ. ลิบบี ในปี 1947

ประชาคม

[แก้]

ณ ตุลาคม 2020 มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 100 คนที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยชิคาโก และจากในนั้นมีถึง 21 คนที่ในขณะที่ประกาศรางวัลยังคงทำงานวิจัยหรือเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและคณาจารย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยนั้นมีถึง 33 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ศิษย์เก่าหลายคนของชิคาโก และนักวิชาการยังได้รับรางวัลฟูลไบรท์ และมีถึง 54 คนที่ได้รับตำแหน่งเป็นนักวิชาการโรดส์

ศิษย์เก่า

[แก้]
เอนริโก เฟอร์มี นักฟิสิกส์

ในปี 2019 มหาวิทยาลัยชิคาโกมีศิษย์เก่ามากถึง 188,000 คน

ในภาคธุรกิจ ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงประกอบไปด้วยสัตยา นาเดลลา ผู้บริหารสูงสุดของไมโครซอฟต์ , แลร์รี่ เอลลิสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทออราเคิลและเศรษฐีอันดับหกของอเมริกา (ศึกษาเพียงภาคการศึกษาเดียวก่อนที่จะลาออกก่อนการสอบปลายภาค), จอน คอร์ซีน ผู้บริหารสูงสุดของโกลด์แมน แซคส์ และเอ็มเอ็ฟ โกลบอล รวมทั้งเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ , เจมส์ โอ แมคคินซีย์ ผู้ก่อตั้งแมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี และผู้เขียนหนังสือเรียนด้านการบัญชีบริหารเล่มแรก, ปีเตอร์ จี ปีเตอร์สัน ผู้ก่อตั้งร่วมของกลุ่มแบล็กสโตน, คลิฟฟ์ แอสเนสส์ ผู้ก่อตั้งร่วมของบริษัทจัดการหลักทรัพย์เอคิวอาร์

ในสาขาวิทยาศาสตร์ ศิษย์เก่าประกอบไปด้วย คาร์ล เซเกน นักดาราศาสตร์ผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก, และเอ็ดวิน ฮับเบิล ผู้เป็นที่รู้จักจากกฎของฮับเบิล, จอห์น เอ็ม. กรันส์ฟิลด์ นักบินอวกาศขององค์การนาซา, เจมส์ วัตสัน นักพันธุกรรมศาสตร์ ผู้เป็นที่รู้จักจากการร่วมค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอ

มิลตัน ฟรีดแทน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2004

ในสาขาเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย มิลตัน ฟรีดแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาหลักของโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีพรรครีพลับลิกัน มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษพรรคอนุรักษ์นิยม และออกัสโต ปิโนเชต์ เผด็จการทหารชาวชิลี, จอร์จ สติกเลอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและผู้เสนอแนะทฤษฎีการเข้าครอบงำในกฎกติกา, เฮอร์เบิร์ต ไซมอน ผู้ที่มีชื่อเสียงในการอธิบายการตัดสินใจเชิงองค์การสมัยใหม่, พอล แซมมิวเอลสัน ชาวอเมริกาคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และยูจีน ฟามา ผู้ที่มีชื่อเสียงจากงานด้านทฤษฎีแฟ้มการลงทุน การประเมินราคาสินทรัพย์ และพฤติกรรมในตลาดหุ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นบัณฑิตของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีโทมัส โซเวลล์ นักเศรษฐศาสตร์ นักทฤษฎีสังคม และนักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกา และเปาโล กูเอเดส รัฐมนตรีเศรษฐกิจของบราซิล ก็ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกในปี ค.ศ. 1978

คณาจารย์

[แก้]

คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบไปด้วย แฟรงค์ ไนท์, มิลตัน ฟรีดแมน, จอร์จ สติกเลอร์, เจมส์ เฮกแมน, แกรี่ เบคเกอร์, โรเบิร์ต โฟเจล, โรเบิร์ต ลูคัส จูเนียร์ และยูจีน ฟามา นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับรางวัลเหรียญจอห์น เบตส์ คลาร์ก ที่ให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ที่อายุต่ำกว่าอายุ 40 ปีดีที่สุด ถึง 4 คนที่เป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย[8]

คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสาขาฟิสิกส์ประกอบด้วย เอ.เอ. มิเคลสัน ผู้คำนวณความเร็วแสง, โรเบิร์ต เอ. มิลลิแกน ผู้คำนวณประจุไฟฟ้า, อาเทอร์ เอช. คอมป์ตัน ผู้ค้นพบปรากฎการณ์คอมป์ตัน, เอนริโก เฟอร์มี ผู้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรก, เอดเวิร์ด เทลเลอร์ ผู้สร้างระเบิดไฮโดรเจน, หลุยส์ วอลเตอร์ อัลวาเรซ หนึ่งในนักฟสิกส์เชิงทดลองที่เก่งที่สุดและผลิตงานได้มากที่สุดในศตวรรษที่ 20, เมอร์เรย์ เกล-มานน์ ผู้ค้นพบควาร์ก, มาเรีย กอปเพิร์ต-เมเยอร์ ผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบล, หลี่เจิ้งเต้า ชาวอเมริกันที่เด็กที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบล และสุพรหมัณยัน จันทราเศขร นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์

ในสาขานิติศาสตร์ มีอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา, นักกฎหมายที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ริชาร์ด พอสเนอร์, , ผู้พิพากษาศาลฎีกา จอห์น พอล สตีเวนส์ และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โรนัลด์ โคสก็เป็นส่วนหนึ่งของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่านที่เป็นคณาจารย์ที่นี่ยังรวมไปถึง เอดเวิร์ด เลวี และแคส ซันสตีน

คณาจารย์ในอดีตประกอบไปด้วยนักดาราศาสตร์ เจอราร์ด กูเปอร์, ฟรีดรีช ฮาเยค หนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์ออสเตรียและเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล

คณาจารย์ในปัจจุบันประกอบไปด้วยนักปรัชญา ฌอง-ลุค มารียง, เจมส์ เอฟ. โคนันท์, รูเบิร์ต พิพพิน และผู้ได้รับรางวัลเกียวโต มาร์ทา นุสบัม นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยูจีน ฟามา, เจมส์ เฮกแมน, ลาร์ส ปีเตอร์ แฮนเซน, โรเจอร์ ไมเออร์สัน, ริชาร์ด เทเลอร์, โรเบิร์ต ลูคัส จูเนียร์ และดักลาส ไดมอนด์ รวมทั้งสตีเวน เลวิตต์ ผู้แต่งหนังสือเศรษฐศาสตร์พิลึกซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง จอห์น ลิสต์ ผู้แต่งหนังสือโวลเทจเอฟเฟกต์และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย รากูรัม ราจัน และอดีตประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ออสตัน กูลส์บี

อ้างอิง

[แก้]
  1. "World University Rankings". ShanghaiRanking Consultancy. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  2. "America's Top Colleges". Forbes.com LLC™. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  3. "Best Colleges". U.S. News & World Report LP. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  4. "About the Rankings". Washington Monthly. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  5. "World University Rankings". ShanghaiRanking Consultancy. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  6. "University Rankings". QS Quacquarelli Symonds Limited. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  7. "World University Rankings". TSL Education Ltd. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  8. Guibert, Susan (April 18, 2014). "Chicago Booth's Gentzkow awarded 2014 Clark Medal". UChicago News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ November 13, 2017.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • สมาคมนักเรียนไทยมหาวิทยาลัยชิคาโก เก็บถาวร 2007-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน