แคโรลีน เบอร์ทอซซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคโรลีน เบอร์ทอซซี
เกิดแคโรลีน รูท เบอร์ทอซซี
(1966-10-10) 10 ตุลาคม ค.ศ. 1966 (57 ปี)
บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ
การศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (BS)
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (MS, PhD)
มีชื่อเสียงจากเคมีไบโอออร์โทโกนอล
ญาติแอนเดรีย เบอร์ทอซซี (พี่สาว)
รางวัลMacArthur Foundation Fellowship (1999)
ACS Award in Pure Chemistry (2001)
Lemelson-MIT Prize (2010)
Heinrich Wieland Prize (2012)
Wolf Prize (2022)
Welch Award in Chemistry (2022)
Nobel Prize in Chemistry (2022)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก
ได้รับอิทธิพลจากคริสตี คีอิก

แคโรลีน รูท เบอร์ทอซซี (อังกฤษ: Carolyn Ruth Bertozzi; เกิด 10 ตุลาคม ค.ศ. 1966) เป็นนักเคมีชาวอเมริกันผู้มีผลงานกว้างขวางครอบคลุมทั้งสาขาเคมีและชีววิทยา เธอเป็นผู้บัญญัติวลี "เคมีไบโอออร์โทโกนอล" (bioorthogonal chemistry)[2] สำหรับปฏิกิริยาเคมีที่เข้ากันได้กับระบบในสิ่งมีชีวิต ผลงานที่สำคัญของเธอได้แก่การสังเคราะห์เครื่องมือทางเคมีเพื่อศึกษาน้ำตาลบนเยื่อหุ้มเซลล์และผลกระทบต่อโรคต่าง ๆ รวมทั้งมะเร็ง การอักเสบ และการติดเชื้อไวรัสรวมถึงโควิด-19[3] เธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แอนน์ ที. และรอเบิร์ต เอ็ม. เบสประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด[4] และดำรงตำแหน่ง Investigator ประจำสถาบันการแพทย์ฮาเวิร์ด ฮิวส์ (HHMI)[5] และก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานศูนย์วิจัยโมเลกุลาร์ฟาวน์ดรี ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์[6] เธอแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นหญิงรักร่วมเพศ และเป็นต้นแบบสำหรับนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานในวงการวิทยาศาสตร์[7][8]

เบอร์ทอซซีได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 2022 ร่วมกับม็อตเติน พี. เมิลดัลและคาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส "สำหรับการพัฒนาเคมีคลิกและเคมีไบโอออร์โทโกนอล"[9]

การศึกษา[แก้]

แคโรลีน เบอร์ทอซซีสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิตด้านเคมีด้วยเกียรตินิยมสูงสุด (summa cum laude) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีที่ปรึกษาได้แก่ศาสตราจารย์โจ กราบอฟสกี[10] ขณะที่เธอศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น เธอเล่นคีย์บอร์ดในวง Bored of Education ซึ่งมีทอม โมเรลโลเป็นมือกีตาร์ ผู้ซึ่งต่อมาได้ร่วมก่อตั้งวงเรจอะเกนสต์เดอะแมชชีน[11][12] หลังจบการศึกษาปริญญาตรี เธอเข้าทำงานที่ห้องปฏิบัติการเบลล์ร่วมกับคริส ชิดซีย์[13]

เบอร์ทอซซีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ใน ค.ศ. 1993 โดยมีที่ปรึกษาได้แก่มาร์ก เบดนาร์สกี งานวิจัยปริญญาเอกของเธอเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารที่มีโครงสร้างคล้ายโอลิโกแซ็กคาไรด์[14] เธอค้นพบว่าไวรัสสามารถจับกับน้ำตาลในร่างกายได้[15] ซึ่งทำให้เธอสนใจศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยาน้ำตาล (glycobiology) ขณะที่เธอศึกษาอยู่ปีที่สาม เบดนาร์สกีพบว่าเขาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เขาต้องลาพักก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนสายไปศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ทำให้เธอและสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มทำงานวิจัยเพียงลำพังโดยไม่มีที่ปรึกษา[16]

อาชีพด้านการวิจัย[แก้]

หลังจากเบอร์ทอซซีจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เธอเข้าทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกกับสตีเวน โรเซน เธอศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของโอลิโกแซ็กคาไรด์บริเวณเนื้อเยื่อบุผิวซึ่งช่วยให้เซลล์ยึดเกาะบริเวณที่เกิดการอักเสบ[17][18] เธอสามารถดัดแปลงโมเลกุลของโปรตีนและน้ำตาลในเยื่อหุ้มเซลล์เพื่อให้เซลล์สามารถรับวัสดุจากภายนอกเช่นอวัยวะเทียมได้[19]

เบอร์ทอซซีเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์และนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ใน ค.ศ. 1996 โดยเธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานศูนย์วิจัยโมเลกุลาร์ฟาวน์ดรี[17][20] และดำรงตำแหน่งเป็น investigator ที่สถาบันการแพทย์ฮาเวิร์ด ฮิวส์ตั้งแต่ ค.ศ. 2000[6] ใน ค.ศ. 1999 เธอพัฒนาเคมีสาขาใหม่ที่เรียกว่าเคมีไบโอออร์โกโกนอล (bioorthogonal chemistry) และบัญญัติวลีดังกล่าวใน ค.ศ. 2003[21][22][23] เคมีสาขาใหม่นี้ทำให้นักวิจัยสามารถดัดแปลงโมเลกุลในสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่รบกวนกระบวนการทำงานของเซลล์[24] ใน ค.ศ. 2015 เบอร์ทอซซีย้ายไปประจำที่สถาบัน ChEM-H มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด[25]

เบอร์ทอซซีศึกษาชีววิทยาน้ำตาลของโรคเรื้อรังเช่นมะเร็ง อาการอักเสบเช่นข้ออักเสบ และโรคติดเชื้อเช่นวัณโรค เธอมีส่วนสำคัญทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจโครงสร้างของโอลิโกแซ็กคาไรด์บนผิวเซลล์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการระบุเซลล์และการสื่อสารระหว่างเซลล์ เบอร์ทอซซีใช้เทคนิคในสาขาเคมีออร์โทโกนอลเพื่อศึกษาไกลโคคาลิกซ์ซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่รอบเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งทำให้การวิจัยในสาขาการบำบัดทางชีวภาพ (biotherapeutics) พัฒนาขึ้นอย่างมาก[26] กลุ่มวิจัยของเธอยังพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวิจัยด้วย เช่นเครื่องมือทางเคมีสำหรับศึกษาไกลแคนในระบบสิ่งมีชีวิต[6] งานวิจัยของกลุ่มวิจัยเบอร์ทอซซีซึ่งใช้นาโนเทคโนโลยีในการตรวจวัดในระบบทางชีววิทยานำไปสู่การพัฒนาชุดทดสอบวัณโรคในสถานพยาบาลซึ่งให้ผลเร็ว[27][28] ใน ค.ศ. 2017 เธอได้รับเชิญให้บรรยายในเท็ดทอล์กในหัวข้อเรื่อง "What the sugar coating on your cells is trying to tell you"[29]

ธุรกิจสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพ[แก้]

นอกเหนือจากงานวิชาการแล้ว เบอร์ทอซซียังมีส่วนร่วมกับองค์กรธุรกิจสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพหลายองค์กร ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เบอร์ทอซซีและสตีเวน โรเซนร่วมก่อตั้ง Thios Pharmaceuticals เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการสังเคราะห์ซัลเฟตเอสเทอร์ทางชีวภาพ[30] ต่อมาใน ค.ศ. 2008 เบอร์ทอซซีได้ก่อตั้ง Redwood Bioscience ขึ้นที่เมืองเอเมอรีวิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย[31] Redwood Bioscience เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ SMARTag ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการดัดแปลงโครงสร้างโปรตีนเพื่อให้โมเลกุลยาที่มีขนาดเล็กสามารถยึดเกาะได้เพื่อใช้ในการรักษามะเร็ง[15][32] บริษัทดังกล่าวถูก Catalent Pharma Solutions ซื้อกิจการใน ค.ศ. 2014 โดยเบอร์ทอซซียังคงดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านชีววิทยาของบริษัท[32] นอกจากนี้ใน ค.ศ. 2014 เธอยังร่วมก่อตั้ง Enable Biosciences ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 1 เอชไอวี และโรคอื่น ๆ ที่บ้าน[21][33]

ธุรกิจสตาร์ตอัปอื่น ๆ ที่เบอร์ทอซซีมีส่วนร่วมก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ. 2015 ได้แก่

  • Palleon Pharma (ค.ศ. 2015)[34] – มุ่งเน้นด้านการศึกษาตัวยับยั้งเพื่อนำไปสู่การรักษามะเร็ง[35]
  • InterVenn Biosciences (ค.ศ. 2017) – มุ่งเน้นด้านการใช้เทคนิคแมสสเปกโตรเมตรีและปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่[21][36]
  • OliLux Biosciences (ค.ศ. 2019) – มุ่งเน้นด้านการพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อวัณโรค[21][37]
  • Lycia Therapeutics (ค.ศ. 2019) – มุ่งเน้นด้านการวิจัย lysosome-targeting chimeras (LYTACs) เพื่อจัดการเซลล์เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและโรคมะเร็ง

เบอร์ทอซซียังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทยาหลายแห่งรวมทั้งแกล็กโซสมิทไคลน์และอีลี ลิลลี[38] นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 2018 เธอได้ก่อตั้งมูลนิธิ Grace Science Foundation เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาอาการเอนไซม์ NGLY1 บกพร่องที่ได้ผลดีและราคาไม่สูง[39]

ผลงานตีพิมพ์[แก้]

เบอร์ทอซซีมีผลงานตีพิมพ์ที่สำคัญมากกว่า 600 ฉบับ โดยผลงานสำคัญที่มีผู้อ้างอิงเป็นจำนวนมากที่สุดมีดังนี้

  • Sletten, EM; Bertozzi, CR (2009). "Bioorthogonal Chemistry: Fishing for Selectivity in a Sea of Functionality". Angewandte Chemie International Edition in English. 48 (38): 6974–98. doi:10.1002/anie.200900942. PMC 2864149. PMID 19714693.
  • Bertozzi, Carolyn R.; Kiessling, Laura L. (2001). "Chemical Glycobiology". Science. 291 (5512): 2357–64. Bibcode:2001Sci...291.2357B. doi:10.1126/science.1059820. PMID 11269316. S2CID 9585674.
  • Saxon, Eliana; Bertozzi, Carolyn R. (2000). "Cell Surface Engineering by a Modified Staudinger Reaction". Science. 287 (5460): 2007–10. Bibcode:2000Sci...287.2007S. doi:10.1126/science.287.5460.2007. PMID 10720325. S2CID 19720277.
  • Agard, Nicholas J.; Prescher, Jennifer A.; Bertozzi, Carolyn R. (2005). "A Strain-Promoted [3 + 2] Azide−Alkyne Cycloaddition for Covalent Modification of Biomolecules in Living Systems". Journal of the American Chemical Society. 126 (46): 15046–15047. doi:10.1021/ja044996f. PMID 15547999.
  • Dube, DH; Bertozzi, CR (2005). "Glycans in cancer and inflammation—potential for therapeutics and diagnostics". Nature Reviews Drug Discovery. 4 (6): 477–88. doi:10.1038/nrd1751. PMID 15931257. S2CID 22525932.


ชีวิตส่วนตัว[แก้]

แคโรลีน เบอร์ทอซซีเติบโตในครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีในเมืองเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์[40] แม่ของเธอคือนอร์มา กลอเรีย เบอร์ทอซซี ส่วนพ่อของเธอคือวิลเลียม เบอร์ทอซซี[41]ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์[42][43][44] เธอมีพี่น้องผู้หญิงอีกสองคน หนึ่งในนั้นได้แก่แอนเดรีย เบอร์ทอซซีซึ่งเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส[45]

เบอร์ทอซซีเปิดเผยว่าเป็นหญิงรักร่วมเพศตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980[46]

อ้างอิง[แก้]

  1. Prescher, Jennifer Ann (2006). Probing Glycosylation in Living Animals with Bioorthogonal Chemistries (วิทยานิพนธ์ PhD) (ภาษาอังกฤษ). University of California, Berkeley. OCLC 892833679. ProQuest 305348554.
  2. "Carolyn R. Bertozzi". HHMI.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  3. "Carolyn Bertozzi | Department of Chemistry". chemistry.stanford.edu. สืบค้นเมื่อ 2022-03-16.
  4. Adams, Amy. "Stanford chemist explains excitement of chemistry to students, the public". Stanford News. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
  5. "Carolyn Bertozzi honored by GLBT organization". UC Berkeley News. 27 February 2007. สืบค้นเมื่อ 8 February 2013.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Carolyn Bertozzi". HHMI. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 8 February 2013.
  7. Cassell, Heather (February 22, 2007). "Two Bay Area gay scientists honored". Bay Area Reporter. สืบค้นเมื่อ 24 October 2015.
  8. "NOGLSTP to Honor Bertozzi, Gill, Mauzey, and Bannochie at 2007 Awards Ceremony in February". NOGLSTP. สืบค้นเมื่อ 2019-02-19.
  9. https://www.nobelprize.org/prizes/chemistry/2022/press-release/
  10. Grabowski, Joseph J.; Bertozzi, Carolyn R.; Jacobsen, John R.; Jain, Ahamindra; Marzluff, Elaine M.; Suh, Annie Y. (1992). "Fluorescence probes in biochemistry: An examination of the non-fluorescent behavior of dansylamide by photoacoustic calorimetry". Analytical Biochemistry. 207 (2): 214–26. doi:10.1016/0003-2697(92)90003-P. PMID 1481973.
  11. "Meet Carolyn Bertozzi". NIGMS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-05. สืบค้นเมื่อ 8 February 2013.
  12. Houlton, Sarah (Jan 12, 2018). "Carolyn Bertozzi". Chemistry World. สืบค้นเมื่อ Oct 7, 2020.
  13. "Carolyn Bertozzi' s Winding Road to an Extraordinary Career – inChemistry". inchemistry.acs.org. สืบค้นเมื่อ 2020-02-17.
  14. "Bertozzi: Infectious In Her Enthusiasm". Chemical & Engineering News. 78 (5): 26–35. January 31, 2000.
  15. 15.0 15.1 "Carolyn Bertozzi | Lemelson-MIT Program". lemelson.mit.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  16. Azvolunsky, Anna (May 31, 2016). "Carolyn Bertozzi: Glycan Chemist". The Scientist Magazine. สืบค้นเมื่อ Oct 7, 2020.
  17. 17.0 17.1 Davis, T. (16 February 2010). "Profile of Carolyn Bertozzi". Proceedings of the National Academy of Sciences. 107 (7): 2737–2739. Bibcode:2010PNAS..107.2737D. doi:10.1073/pnas.0914469107. PMC 2840349. PMID 20160128.
  18. Gardiner, Mary Beth (2005). "The Right Chemistry" (PDF). HHMI Bulletin. Winter 2005: 8–12. สืบค้นเมื่อ 24 October 2015.
  19. "Carolyn Bertozzi". Chemical Heritage Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 12, 2016.
  20. "Former Berkeley Lab Scientist Carolyn Bertozzi Wins 2022 Nobel Prize in Chemistry". สืบค้นเมื่อ 7 September 2022.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "Carolyn Bertozzi's glycorevolution". Chemical & Engineering News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-02-12.
  22. "NIHF Inductee Carolyn Bertozzi Invented Bioorthogonal Chemistry". www.invent.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  23. Sletten, Ellen M.; Bertozzi, Carolyn R. (2011-09-20). "From Mechanism to Mouse: A Tale of Two Bioorthogonal Reactions". Accounts of Chemical Research. 44 (9): 666–676. doi:10.1021/ar200148z. ISSN 0001-4842. PMC 3184615. PMID 21838330.
  24. Sletten, Ellen M.; Bertozzi, Carolyn R. (2009). "Bioorthogonal Chemistry: Fishing for Selectivity in a Sea of Functionality". Angewandte Chemie International Edition in English. 48 (38): 6974–6998. doi:10.1002/anie.200900942. ISSN 1433-7851. PMC 2864149. PMID 19714693.
  25. "Carolyn R. Bertozzi". bertozzigroup.stanford.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-06. สืบค้นเมื่อ 2018-04-13.
  26. Xiao, Han; Woods, Elliot C.; Vukojicic, Petar; Bertozzi, Carolyn R. (2016-08-22). "Precision glycocalyx editing as a strategy for cancer immunotherapy". Proceedings of the National Academy of Sciences (ภาษาอังกฤษ). 113 (37): 10304–10309. Bibcode:2016PNAS..11310304X. doi:10.1073/pnas.1608069113. ISSN 0027-8424. PMC 5027407. PMID 27551071.
  27. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ lemelson
  28. Kamariza, Mireille; Shieh, Peyton; Ealand, Christopher S.; Peters, Julian S.; Chu, Brian; Rodriguez-Rivera, Frances P.; Babu Sait, Mohammed R.; Treuren, William V.; Martinson, Neil; Kalscheuer, Rainer; Kana, Bavesh D. (2018). "Rapid detection of Mycobacterium tuberculosis in sputum with a solvatochromic trehalose probe". Science Translational Medicine. 10 (430): eaam6310. doi:10.1126/scitranslmed.aam6310. ISSN 1946-6242. PMC 5985656. PMID 29491187.
  29. Bertozzi, Carolyn. "Carolyn Bertozzi | Speaker | TED". www.ted.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  30. McCarthy, Alice A. (February 2004). "Thios Pharmaceuticals Targeting Sulfation Pathways" (PDF). Chemistry & Biology. 11 (2): 147–148. doi:10.1016/j.chembiol.2004.02.008. PMID 15123271.
  31. McCook, Alison (March 6, 2013). "Women in Biotechnology: Barred from the Boardroom". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 24 October 2015.
  32. 32.0 32.1 "Redwood Bioscience Inc. | IPIRA". ipira.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  33. "Enable Biosciences, Inc. | IPIRA". ipira.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 2020-02-12.
  34. "Palleon Pharma – Leadership". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-10.
  35. "Palleon Pharma". MassBio (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  36. "InterVenn Biosciences | AI-Driven Mass Spectrometry". intervenn.bio. สืบค้นเมื่อ 2020-02-12.
  37. Dinkele, Ryan; Gessner, Sophia; Koch, Anastasia S.; Morrow, Carl; Gqada, Melitta; Kamariza, Mireille; Bertozzi, Carolyn R.; Smith, Brian; McLoud, Courtney; Kamholz, Andrew; Bryden, Wayne (2019-12-27). "Capture and visualization of live Mycobacterium tuberculosis bacilli from tuberculosis bioaerosols". bioRxiv (ภาษาอังกฤษ): 2019.12.23.887729. doi:10.1101/2019.12.23.887729. S2CID 213539003.
  38. Company, Eli Lilly and. "Lilly Announces that Professor Carolyn Bertozzi has Resigned from its Board of Directors". www.prnewswire.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-03-16.
  39. "Grace Science Foundation". rarediseases.info.nih.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-22. สืบค้นเมื่อ 2020-02-12.
  40. "Italian American Scientist Carolyn Bertozzi Wins the Nobel Prize in Chemistry". 5 October 2022.
  41. "NORMA GLORIA BERTOZZI Obituary (2021) Boston Globe". Legacy.com.
  42. "MIT Physics Department Faculty". สืบค้นเมื่อ 4 June 2012.
  43. Davis, T. (2010-02-16). "Profile of Carolyn Bertozzi". Proceedings of the National Academy of Sciences (ภาษาอังกฤษ). 107 (7): 2737–2739. Bibcode:2010PNAS..107.2737D. doi:10.1073/pnas.0914469107. ISSN 0027-8424. PMC 2840349. PMID 20160128.
  44. Mukhopadhyay, Rajendrani (September 1, 2016). "Keeping it Real". ASBMB Today. สืบค้นเมื่อ November 3, 2020.
  45. "UCLA Math Department Faculty". สืบค้นเมื่อ 4 June 2012.
  46. Navals, Pauline (2022-04-05). ""ONE ON ONE WITH CAROLYN BERTOZZI"". chemical & engineering news (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]