สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
ฮัจญี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ | |
---|---|
จุฬาราชมนตรี คนที่ 17 | |
ดำรงตำแหน่ง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2553 (12 ปี 139 วัน) | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
ก่อนหน้า | ประเสริฐ มะหะหมัด |
ถัดไป | อาศิส พิทักษ์คุมพล |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ 27 มกราคม พ.ศ. 2459 จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 24 มีนาคม พ.ศ. 2553 (94 ปี) โรงพยาบาลกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ที่ไว้ศพ | มัสยิดอัลฮุสนา เจียรดับ แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร |
ศาสนา | อิสลาม |
บุพการี |
|
สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ (27 มกราคม พ.ศ. 2459 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2553) อดีตจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 แห่งราชอาณาจักรไทย และประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นจุฬาราชมนตรี ที่อายุยืนที่สุดในขณะถึงแก่อนิจกรรมสิริอายุรวม 94 ปี 57 วัน
ประวัติ
[แก้]นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ มีชื่อทางศาสนาว่า อะหมัด มะมูด ซัรกอรี เกิดเมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2459 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของฮัจญีมะมูด และนางเราะมาห์ สุมาลยศักดิ์ เมื่อเรียนจบสายสามัญได้เรียนต่อทางด้านศาสนากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านรวมทั้งอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์และอาจารย์มุสตาฟา พรหมยงค์ รวมทั้งได้ไปเรียนศาสนาที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย
ในด้านสังคมได้เป็นรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดพระนคร เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตอิสลามของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพฯ 2 สมัยอีกด้วย
ท่านได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีหลังจากนายประเสริฐ มะหะหมัด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2540 ท่านได้เป็นจุฬาราชมนตรีขณะอายุได้ 81 ปีเศษ เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ฉบับ พ.ศ. 2540 และเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง
นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มีนาคม 2553 สิริอายุ 94 ปี โดยมีพิธีฝังศพวันในวันรุ่งขึ้น (25 มีนาคม) ที่สุสานมัสยิดอัลฮุสนา เจียรดับ แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานดินฝังศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ในการพิธีพระราชทานดินฝังศพด้วย นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ไปร่วมในพิธีฝังศพ[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[2]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สิ้น "สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์" จุฬาราชมนตรีคนที่ 17". ผู้จัดการออนไลน์. 24 มีนาคม 2010.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔). เล่มที่ 118 ตอนที่ 23 ข หน้า 2. วันที่ 4 ธันวาคม 2544.
บรรณานุกรม
[แก้]- เอกราช มูเก็ม (2006). จุฬาราชมนตรี ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิมจากสมัยอยุธยาถึงยุคทักษิณ. กรุงเทพฯ: ร่วมด้วยช่วยกัน. หน้า 49–51. ISBN 974-9785-76-2.
ก่อนหน้า | สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ประเสริฐ มะหะหมัด | จุฬาราชมนตรี คนที่ 17 (5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 — 24 มีนาคม พ.ศ. 2553) |
อาศิส พิทักษ์คุมพล |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2459
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553
- บุคคลจากจังหวัดฉะเชิงเทรา
- มุสลิมชาวไทย
- จุฬาราชมนตรี
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- พรรคธรรมสังคม
- พรรคกิจสังคม
- พรรคสหประชาธิปไตย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ภ.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์