วิริยะ
เป็นส่วนหนึ่งของ |
ธรรมะหนทางสู่การรู้แจ้ง |
---|
วิริยะ (บาลี: विरिय, วิริย; สันสกฤต: वीर्य, วีรฺย) แปลว่า ความเพียร ความพยายาม ความกล้าที่จะลงมือทำ ภาวะของผู้กล้า เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามประสงค์ หมายถึง การลงมือปฏิบัติลงมือทำงานที่ตนชอบที่ตนรัก ทำด้วยความพากเพียรพยายาม ทำด้วยความสนุก กล้าหาญ กล้าเผชิญกับความทุกข์ยาก ปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องใด ๆ ก็เพียรกำจัดปัดเป่าไปให้หมดสิ้นไป โดยไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือ ความสำเร็จ
"วิริยะ" เป็นเหตุให้กล้าลงมือทำงานและกล้าเผชิญปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ขณะทำงาน ตรงกันข้าม หากขาดความเพียรพยายามเสียแล้วก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
- "คนจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร"
วิริยารัมภะ หมายถึง การปรารภความเพียร คือ ลงมือทำความเพียรอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
วิริยารัมภกถา เป็น ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร (ข้อ 5 ในกถาวัตถุ 10)
วิริยะในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
[แก้]วิริยะรวมอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหลายหมวด เช่น
- อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) อันเป็น คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ แห่งผลที่มุ่งหมาย
- พละ 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) คือ ธรรมอันเป็นกำลัง
- อินทรีย์ 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) คือ ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน
- โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา) อันเป็น ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
- บารมี 10 (ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา) อันเป็น ปฏิปทาอันยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูงสุด
วิริยเจตสิก
[แก้]ในทางอภิธรรม มีการกล่าวถึงวิริยะ ในลักษณะของเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด ธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์)
วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติที่อดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ที่เกี่ยวกับการงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายดีและไม่ดี
- มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ
- มีความอุดหนุนธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ
- มีการไม่ท้อถอย เป็นผลปรากฏ
- มีความสลด คือสังเวควัตถุ 8 เป็นเหตุใกล้ หรือมีวิริยารัมภวัตถุ 8 เป็นเหตุใกล้
จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอุตสาหะ พากเพียร ไม่ท้อถอย เพราะอำนาจของวิริยะนั่นเอง ที่ช่วยอุดหนุนไว้ ส่วนการที่วิริยะจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุ ที่มี
- สังเวควัตถุ 8 (ชาติทุกข์, ชราทุกข์, พยาธิทุกข์ (ทุกข์จากความป่วยไข้), มรณทุกข์, นิรยทุกข์, เปตติทุกข์, อสุรกายทุกข์, ดิรัจฉานทุกข์ (ทุกข์จากการเกิดในสภาพที่ไม่ดีต่าง ๆ))
- หรือ วิริยารัมภวัตถุ 8 (วัตถุอันเป็นอารมณ์ ให้เกิดการปรารภความเพียร เช่น การงาน, การเดินทาง, สุขภาพ, อาหาร)
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม". เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- "พระอภิธัมมัตถสังคหะ".และ"อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา".