ข้ามไปเนื้อหา

พละ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พละ หรือ พละ 5 คือ กำลังห้าประการ[1] ได้แก่

  1. ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังแห่งความเชื่อ ความศรัทธา
  2. วิริยะพละ ความเพียร กำลังแห่งความเพียรพยายาม
  3. สติพละ ความระลึกได้ กำลังแห่งสติ ระลึกรู้
  4. สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังแห่งใจที่ตั้งมั่น
  5. ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังแห่งความรู้ที่เกิดจากปัญญาญาณ

เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์ 5 คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ พละ 5 เป็นธรรมที่กำจัดแก้อกุศลนิวรณ์ อินทรีย์เป็นธรรมเสริมสร้างกุศลอิทธิบาท

พละ 5 กับนิวรณ์ 5

[แก้]

พละทั้งห้านี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้ ศรัทธาปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าพละห้า ไม่สมดุล ท่านว่าจะเกิดนิวรณ์ทั้งห้า

  • ศรัทธาพละมากกว่าปัญญาพละ จะทำให้มีโมหะได้ง่าย จนเกิดราคะ โทสะได้ง่าย ทำให้อาจเกิดกามฉันทะนิวรณ์หรือพยาบาทนิวรณ์
  • ปัญญาพละมากกว่าศรัทธาพละ จะเกิดวิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัย
  • วิริยะพละมากกว่าสมาธิพละ จะเกิดอุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ
  • สมาธิพละมากกว่าวิริยะพละ จะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์ ความง่วงและท้อแท้ เกียจคร้าน

พละ 5 กับการปรับสมดุล

[แก้]

ในการเจริญสติปัฏฐาน ท่านกล่าวว่า ให้วิริยะสมดุลกับสมาธิ ให้ศรัทธาสมดุลกับปัญญา ให้สติสมดุลสมาธิ

  • วิริยะพละ เกิดจากการกำหนดการเดินจงกรมและการกำหนดอิริยาบถย่อย ซึ่งถ้าทำมากไปจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ส่วน สมาธิพละ เกิดจากการกำหนดในอิริยาบถนั่ง ถ้ามากไปทำให้ขี้เกียจ ท้อแท้ ง่วง เบื่อ ได้ ดังนั้น ให้วิริยะพละสมดุลกับสมาธิพละด้วยการสลับการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิให้เหมาะสมแก่อินทรีย์ของตนเอง ไม่ให้ฝั่งใดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  • ศรัทธาพละและปัญญาพละสมดุลกัน เพราะสติสมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ 4 คือ 1. สาตถกสัมปชัญญะ พิจารณาก่อนทำว่าเป็นประโยชน์ ไม่มีโทษ 2. สัปปายสัมปชัญญะ พิจารณาประเมินหลังทำเสร็จว่าเหมาะสม ควรทำต่อไป 3. โคจรสัมปชัญญะ ใส่ใจจดจ่อขณะทำว่าเป็นกิจหน้าที่ ที่ต้องรักษา และ 4. อสัมโมหสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมพลั้งเผลอ จดจำลำดับขั้นตอนในสิ่งที่ต้องทำได้ไม่ผิดพลาด จึงไม่กระทำสิ่งใดอย่างงมงายไร้เหตุผล แต่เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์จริง เหมาะสม เป็นกิจที่ควรรักษาให้สมบูรณ์ไม่ผิดพลาด
  • สติพละ ให้สติพละสมดุลสมาธิพละ ด้วยการพิจารณารูปนาม จากน้อยค่อย ๆ ไปหามาก สตินั้นท่านกล่าวว่ายิ่งมีมากยิ่งดี การเจริญวิปัสสนานั้น ท่านให้กำหนดสติรับรู้อารมณ์กำหนดจากน้อยไปหามาก ยิ่งมีอารมณ์กำหนดน้อยก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย ถ้ามีอารมณ์ให้กำหนดกว้างมากสมาธิจะน้อยจนไม่เป็นอันปฏิบัติได้แต่ฟุ้งซ่าน ไร้ความเพียรจดจ่อ เพราะสมาธิคือความตั้งใจของจิต มีสมาธิน้อยไปย่อมปฏิบัติหรือทำอะไรไม่ได้เลย และถ้าสมาธิมีมากเกินไปจิตจะดิ่งนิ่งไม่มีสติ จนบางครั้งร่างกายเคลื่อนไหวสะบัดไปเอง เพราะไม่มีสติรู้ตัวคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย อุบายคือเมื่อสมาธิมีมากเกินไป เพราะเริ่มชำนาญต่ออารมณ์กรรมฐานที่กำหนด ให้เพิ่มการรับรู้ของสติให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้นทีละน้อย ด้วยการเพิ่มอารมณ์ที่ต้องกำหนด ให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้นทีล่ะน้อย เป็นการลดกำลังของสมาธิและเพิ่มกำลังของสติขึ้นมาแทน ทำให้เกิดความสมดุลขึ้นมา แต่ถ้าเพิ่มมากเกินไปในทีเดียว จะสูญเสียสมาธิที่ใช้ในการกำหนดอารมณ์กรรมฐานจนกลายเป็นฟุ้งซ่านหรือเกียจคร้านไป เพราะถ้าจิตรับรู้อารมณ์น้อยอย่างจะเกิดสมาธิได้ง่าย ถ้าจิตรับรู้อารมณ์มากอย่างจะเกิดสติมากขึ้น แต่จะอ่อนสมาธิจนอาจไม่สนใจเจริญสติ เพราะไม่มีสมาธิรักษาอารมณ์ที่จดจ่อในการกำหนดกรรมฐานได้ จึงต้องค่อย ๆ เพิ่มอารมณ์ที่ใช้กำหนดทีล่ะน้อย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ปฏิบัติชำนาญจนเคยชิน อารมณ์ที่กำหนดจนเคยชินจะกลายเป็นสมาธิมากขึ้นเอง จึงต้องค่อย ๆ เพิ่มการรับรู้ของสติไปเรื่อย ๆ ทีละขั้น เพื่อลดกำลังของสมาธิด้วยสติ แต่แม้จะไม่เพิ่มการกำหนดของจิตให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้น เพื่อหวังให้สมาธิคงอยู่นาน แต่การกระทำเช่นนั้น ก็อาจทำให้สมาธิค่อย ๆอ่อนกำลังได้เช่นกัน เหมือนกับการที่ถ้าเราทำอะไรชำนาญจนเคยชินจนคล่องมาก จะเริ่มไม่มีสมาธิต่อสิ่งนั้น จนสามารถเริ่มทำสิ่งนั้นไปพร้อมกับสิ่งอื่นได้ง่าย ๆ ซึ่งการชำนาญมากไป อาจมีผลให้จิตเหม่อลอยแทน จนเกิดถีนมิทธะได้ง่าย ดังนั้นการจะสร้างสมาธิเมื่อจิตเริ่มชำนาญต่ออารมณ์ที่มีอยู่ ก็คือการกำหนดสติให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้นอยู่ดี จิตจึงจะกลับมีสมาธิต่ออารมณ์กรรมฐานได้ดีต่อไป การใช้สติลดกำลังสมาธิแบบนี้ สติจะกล้าแข็งกว่าสมาธิไปทีล่ะระดับขั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. นวโกวาท. กรุงเทพ: สำนักพืมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐