ข้ามไปเนื้อหา

รัฐพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐพม่า

ဗမာနိုင်ငံတော် (พม่า)
ビルマ国 (ญี่ปุ่น)
พ.ศ. 2485–พ.ศ. 2488
ธงชาติ
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของ
ตราแผ่นดิน
คำขวัญတစ်သွေး၊ တစ်သံ၊ တစ်မိန့်
"หนึ่งชนชาติ, หนึ่งเสียง, หนึ่งคำสั่ง"
เพลงชาติကမ္ဘာမကျေ
กะบามะเจ
"ตราบโลกแหลกสลาย"
สีเขียว: อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลพม่า สีเงินอ่อน: ส่วนที่ยังคงอยู่ภายใต้อังกฤษ สีเขียวอ่อน: ดินแดนที่ถูกผนวกเข้ากับประเทศไทย
สีเขียว: อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลพม่า
สีเงินอ่อน: ส่วนที่ยังคงอยู่ภายใต้อังกฤษ
สีเขียวอ่อน: ดินแดนที่ถูกผนวกเข้ากับประเทศไทย
สถานะรัฐหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น
เมืองหลวงย่างกุ้ง
ภาษาทั่วไปพม่า
อังกฤษ
ญี่ปุ่น
การปกครองระบอบเผด็จการแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
ประมุขแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรี 
• พ.ศ. 2485–2488
บามอว์
ยุคประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง
• ประกาศอิสรภาพ
17 พฤษภาคม พ.ศ. 2485
• รัฐบาลสิ้นสุด
19 สิงหาคม พ.ศ. 2488
สกุลเงินรูปี
ก่อนหน้า
ถัดไป
เขตบริหารทางทหารของญี่ปุ่น
พม่าของอังกฤษ

รัฐพม่า (อังกฤษ: State of Burma; พม่า: ဗမာနိုင်ငံတော်; เอ็มแอลซีทีเอส: ba.ma nuingngamtau; ญี่ปุ่น: ビルマ国โรมาจิBiruma-koku) เป็นรัฐที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 ระหว่างการยึดครองพม่าของญี่ปุ่น

ภูมิหลัง

[แก้]
การประชุมวงไพบูลย์แห่งเอเชียบูรพาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ผู้เข้าร่วมจากซ้ายไปขวา: บามอว์, จาง จิ่งฮุ่ย, วาง จิงเว่ย, ฮิเดกิ โตโจ, พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร, โฮเซ เป. เลาเรล, สุภาส จันทรโภส

ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้รุกรานพม่าของอังกฤษเพื่อยึดครองวัตถุดิบทั้งแหล่งน้ำมันและข้าว และเพื่อปิดถนนพม่าซึ่งเป็นแหล่งส่งความช่วยเหลือไปยังกองทัพจีนคณะชาติของเจียง ไคเช็ก ที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นเป็นเวลานานในสงครามจีน-ญี่ปุ่น

กองทัพญี่ปุ่นที่ 15 ในการบังคับบัญชาของนายพลโชจิโร อิดะ ได้บุกเข้าสู่พม่าอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม – พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กองทัพญี่ปุ่นได้รับความร่วมมือจากกองทัพพม่าอิสระ ซึ่งกองทัพนี้ได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในบางพื้นที่ของประเทศ ใน พ.ศ. 2485 แต่ในกลุ่มผู้นำมีความเห็นต่างไปเกี่ยวกับอนาคตของพม่า นายพลซูซูกิสนับสนุนให้กองทัพพม่าอิสระจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ผู้นำกองทัพญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับแผนนี้และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้ให้คำสัญญาเกี่ยวกับเอกราชของพม่าหลังสงคราม คณะผู้บริหารสูงสุดของพม่าได้จัดตั้งขึ้นที่ย่างกุ้ง เมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2485 เพื่อจัดการปกครองตนเอง หัวหน้าของคณะบริหารนี้คือ ดร. บามอว์ ซึ่งเคยเป็นนักโทษการเมืองสมัยอังกฤษปกครอง

วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา

[แก้]

เมื่อสถานการณ์ในสงครามของญี่ปุ่น เริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจให้พม่าและฟิลิปปินส์เป็นเอกราชและเข้าร่วมในวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา ต่างจากแผนเดิมที่จะให้เอกราชเมื่อสิ้นสุดสงคราม นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจได้ให้สัญญาว่าเอกราชของพม่าจะได้รับการรับรองภายใน 28 มกราคม พ.ศ. 2486 ในสถานะที่พม่าประกาศสงครามกับฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดึงให้พม่าเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก่อตั้งขบวนการต่อต้านการกลับเข้ามาจัดตั้งอาณานิคมของชาติตะวันตก และเพิ่มการสนับสนุนทางการทหารแก่ญี่ปุ่น

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของพม่า จัดตั้งขึ้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม ปีเดียวกัน พม่าได้ประกาศเอกราชในนามรัฐพม่า และรัฐบาลทหารญี่ปุ่นแห่งพม่าได้สลายตัวไป รัฐที่เกิดใหม่ได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ดร. บามอว์ได้กลายเป็นประมุขรัฐในตำแหน่งอธิบดีแห่งพม่าตามรัฐธรรมนูญและมีอำนาจกว้างขวางมาก

รัฐบาลของรัฐพม่า

[แก้]

คณะรัฐมนตรีชุดแรกประกอบด้วย ดร.บามอว์ในฐานะประมุขรัฐ ทะขิ่นเมียะเป็นรองนายกรัฐมนตรี บะหวิ่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทะขิ่นนุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.เทียนหม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยอู เส็ต เมื่อเขาถูกญี่ปุ่นจับกุม นายพลอองซานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เทียน หม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฮลามินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาและสาธารณสุข ทะขิ่นตันตุนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อูเมียะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลุตสาหกรรม ทะขิ่นลายหม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร บัณฑุละ อู เซนเป็นนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการ ตุนอ่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือกับญี่ปุ่น ทะขิ่นลุนบอว์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูงานสาธารณะ

ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2486 ญี่ปุ่นได้มอบการปกครองรัฐฉานให้รัฐพม่ายกเว้นเชียงตุงกับเมืองพานที่ยกให้ประเทศไทย ดร.บามอว์ได้เข้าร่วมการประชุมวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาที่โตเกียวเมื่อ 5-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 กองทัพญี่ปุ่นยังคงอยู่ในพม่าแม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้ปกครองพม่าโดยตรง

ในช่วง พ.ศ. 2486 – 2487 กองทัพแห่งชาติพม่าได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ภายในพม่า รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่สู้รบใต้ดิน ต่อมา ได้จัดตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ โดยมีทะขิ่นโสเป็นผู้นำ พม่าได้ติดต่อกับอังกฤษโดยผ่านทางกลุ่มคอมมิวนิสต์และกองทัพป้องกันยะไข่ โดยติดต่อกับกองทัพอังกฤษ 136 ในอินเดีย ซึ่งกองทัพนี้ได้ติดต่อกองกำลังทหารกะเหรี่ยงในย่างกุ้ง เช่นเดียวกัน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2487 สันนิบาตเสรีชนได้ติดต่อมายังฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้สนับสนุนการลุกฮือขึ้นในพม่า การลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นครั้งแรกในพม่าตอนกลางเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2488 ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 กองทัพแห่งชาติพม่าได้สวนสนามในย่างกุ้งแสดงตนว่าจะช่วยญี่ปุ่นในการรบต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่ากองทัพแห่งชาติพม่าจะประกาศอย่างชัดแจ้งว่าจะสนับสนุนญี่ปุ่น แต่อองซานได้เริ่มเจรจากับนายพลเมาท์แบตแทนในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลของรัฐพม่าที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสลายตัว ดร. บามอว์ลี้ภัยเข้ามาในไทย แล้วจึงเดินทางต่อไปญี่ปุ่น ต่อมาในปีเดียวกันนั้น ดร. บามอว์ถูกจับขังคุกในโตเกียวจนถึง พ.ศ. 2489

อ้างอิง

[แก้]
  • Allen, Louis (1986). Burma: the Longest War 1941-45. J.M. Dent and Sons. ISBN 0-460-02474-4.
  • Lebra, Joyce C. (1975). Japan's Greater East Asia Co-Prosperity Sphere in World War II: Selected Readings and Documents. Oxford University Press.
  • Smith, Ralph (1975). Changing Visions of East Asia, 1943-93: Transformations and Continuities. Routledge. ISBN 0-415-38140-1.
  • Kady, J (1958). "History of Modern Burma"