ระบอบเก่า
ระบอบเก่า[1] หรือ อองเซียงเรฌีม (ฝรั่งเศส: Ancien Régime) โดยทั่วไปหมายถึงระบบแบบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย สังคม และการเมืองที่ใช้ในฝรั่งเศสภายใต้ราชวงศ์วาลัวและราชวงศ์บูร์บงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 18
โครงสร้างทางการบริหารและทางการสังคมของระบอบเก่าเป็นผลมาจากระบบการบริหารของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยกลางที่สิ้นสุดในการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 ระบอบเก่าของประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็มีประวัติความเป็นมาคล้ายคลึงกัน แต่มีผลบั้นปลายที่แตกต่างกันบางประเทศก็สิ้นสุดลงด้วยระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ บางประเทศก็แตกแยกออกไปจากสงครามและการปฏิวัติ
อำนาจระบอบเก่าอยู่บนพื้นฐานสามประการ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ นักบวช และชนชั้นขุนนาง ฐานันดรแห่งราชอาณาจักร (Estates of the realm) ก็แบ่งออกเป็นสามเช่นกัน คือ ฐานันดรที่หนึ่ง (First Estate) คือนักบวชโรมันคาทอลิก, ฐานันดรที่สอง (Second Estate) คือชนชั้นขุนนาง และ ฐานันดรที่สาม (Third Estate) คือสามัญชน
โดยทั่วไปแล้วระบอบเก่าหมายถึงระบอบการปกครองใดใดที่มีลักษณะตามที่กล่าวแล้ว ระบอบเก่ารักษาลักษณะหลายประการของระบบเจ้าขุนมูลนายที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยเฉพาะในการใช้อภิสิทธิ์ของขุนนางและชนชั้นเจ้านายที่สนับสนุนโดยปรัชญาเทวสิทธิราชย์ ความแตกต่างอยู่ตรงที่อำนาจการปกครองที่เคยเป็นของเจ้าครองนครต่างๆ มาก่อนกลายเป็นอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่มมากขึ้น
วลีนี้ใช้มาตั้งแต่ยุคเรืองปัญญา (พบในเอกสารครั้งแรกในภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1794) ในความหมายในทางลบ เช่นเดียวกับการใช้คำว่า ยุคมืด ที่กลายมาเรียกกันว่า สมัยกลาง แนวคิดของการใช้คำว่าระบอบเก่าเป็นการแฝงความหมายเป็นนัยยะว่าเป็นระบอบที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติ และควรจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น ระบอบใหม่ (New Order) คำว่า ระบอบเก่า คิดขึ้นโดยนักปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเผยแพร่สร้างความเชื่อถือในเหตุผลของการปฏิวัติและทำลายชื่อเสียงของระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นการใช้ในทางที่มีอคติในการบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
สำหรับนักประพันธ์บางคนคำนี้เป็นคำที่ทำให้เกิดความรำลึกถึงเหตุการณ์บางอย่าง เช่นคำกล่าวของตาแลร็อง ที่ว่า:
“ | “ผู้ใดที่ไม่เคยมีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้นั้นก็ไม่มีความซาบซึ้งถึงความหอมหวานของการมีชีวิต”[2] | ” |
ภาษาสเปนใช้คำว่า “Antiguo Régimen” แต่แม้ว่าสเปนจะได้รับผลกระทบกระเทือนจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและผลที่ตามต่อมาแต่ความเปลี่ยนแปลงในสเปนไม่รุนแรงเท่ากับการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, ราชวงศ์แห่งมหาอำนาจยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 : กษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนาถ, 2555, หน้า 177
- ↑ "Celui qui n'a pas vécu au dix-huitième siècle avant la Révolution ne connaît pas la douceur de vivre et ne peut imaginer ce qu'il peut y avoir de bonheur dans la vie. C'est le siècle qui a forgé toutes les armes victorieuses contre cet insaisissable adversaire qu'on appelle l'ennui. L'Amour, la Poésie, la Musique, le Théâtre, la Peinture, l'Architecture, la Cour, les Salons, les Parcs et les Jardins, la Gastronomie, les Lettres, les Arts, les Sciences, tout concourait à la satisfaction des appétits physiques, intellectuels et même moraux, au raffinement de toutes les voluptés, de toutes les élégances et de tous les plaisirs. L'existence était si bien remplie qui si le dix-septième siècle a été le Grand Siècle des gloires, le dix-huitième a été celui des indigestions." Charles-Maurice de Talleyrand-Périgord: Mémoires du Prince de Talleyrand: La Confession de Talleyrand, V. 1-5 Chapter: La jeunesse - Le cercle de Madame du Barry.