ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาเบงกอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภาษาเบงกาลี)
ภาษาเบงกอล
বাংলা บังลา
ออกเสียงbaŋla
ประเทศที่มีการพูดบังกลาเทศ อินเดีย
ภูมิภาคส่วนตะวันออกของเอเชียใต้
จำนวนผู้พูด230 ล้านคน  (ไม่พบวันที่)
ตระกูลภาษา
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการบังกลาเทศ อินเดีย รัฐเบงกอลตะวันตกในอินเดีย
ผู้วางระเบียบบัณฑิตยสถานบังลา
รหัสภาษา
ISO 639-1bn
ISO 639-2ben
ISO 639-3ben

ภาษาเบงกอล (เบงกอล: বাংলা, บังลา) เป็นภาษาที่พูดโดยประชากรของประเทศบังกลาเทศและรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดียซึ่งติดกับบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีชุมชนของคนที่พูดภาษาเบงกอลที่ใหญ่พอควรในรัฐอัสสัม (อีกรัฐในอินเดีย ติดกับทั้งรัฐเบงกอลตะวันตกและประเทศบังกลาเทศ) และในประชากรที่อพยพไปทางตะวันตกและตะวันออกกลาง รูปแบบมาตรฐานของภาษานี้เรียกว่า cholit bhaashaa: จลิตภาษา เป็นภาษาย่อยที่พูดกันมากที่สุด มีแบบมาจาก "Calcutta Bengali" (ภาษาเบงกอลที่พูดในเมืองกัลกัตตา) ในประเทศบังกลาเทศ เขียนด้วยอักษรเบงกอล

ในภาษาอังกฤษคำว่า Bengali เป็นคำที่ใช้เรียกทั้งภาษาและคนที่พูดภาษานี้ ในภาษาเบงกอลเองเรียกภาษาว่า Bangla bhasa: บังลา ภาษา (বাংলা ভাষা) ซึ่งเป็นคำที่เริ่มใช้มากขึ้นในภาษาอังกฤษ ส่วนในภาษาเบงกอล ชาวเบงกอลเรียกว่า Bangali: บางาลี (বাঙালি); ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมเนียมของชาวเบงกอลเรียกว่า Bengal: เบงกอล ในภาษาอังกฤษ และ Bonggo: บองกอ (বঙ্গ) ในภาษาเบงกอล; "Bangladesh: บังลาเทศ" (বাংলাদেশ) เป็นคำที่ใช้เรียกภูมิภาคของชาวเบงกอลก่อนที่จะมีการแยกเป็นสองส่วน คือ เบงกอลตะวันตก (West Bengal หรือ Poshchim Bangla: ปอศชิม บังลา) ซึ่งได้กลายเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย และส่วนตะวันออก (เบงกอลตะวันออก: East Bengal หรือ Purbo Bangla: ปูร์บอ บังลา) กลายเป็นประเทศบังกลาเทศ

เนื่องจากมีผู้ใช้ภาษาเบงกอลมากกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก ชีค ฮาซินา วาเจด นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เสนอเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ให้สหประชาชาตินำภาษาเบงกอลเป็นภาษาราชการของสหประชาชาติซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว 6 ภาษา คือภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาจีน และภาษาอาหรับ[1][2]

ประวัติ

[แก้]
อนุสรณ์ของการต่อสู้เพื่อภาษาเบงกอลที่กรุงธากา
หน้าจากชรรยปท
ภาษาเบงกอลเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษาอินโด-อารยันตะวันออกซึ่งแสดงด้วยสีเหลือง

ภาษาเบงกอลเป็นภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันตะวันออก พัฒนามาจากภาษาในยุคกลางคือภาษาปรากฤตมคธและภาษาไมถิลี ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมที่เคยมีบันทึกในบริเวณนี้และเป็นภาษาในสมัยพุทธกาลด้วย ภาษาเหล่านี้ต่อมาพัฒนาไปเป็นภาษาอรธามคธี และพัฒนาต่อไปเป็นกลุ่มภาษาอปภรัมสะ ภาษากลุ่มนี้ที่ใช้พูดทางตะวันออกคือภาษาปุรวี อปภรัมสะ ได้พัฒนาต่อไปเป็นสำเนียงท้องถิ่นสามกลุ่มคือ ภาษาพิหาร ภาษาโอริยา และภาษาเบงกอล-อัสสัม ในส่วนของภาษาเบงกอลนั้น แบ่งเป็นสามช่วงคือ

  • ภาษาเบงกอลโบราณ (พ.ศ. 1443/1543 – 1943) เอกสารที่สำคัญได้แก่ จรรยปทะ เกิดการใช้สรรพนาม Ami, tumi การผันกริยาด้วย -ila, -iba ภาษาโอริยาและภาษาอัสสัมแยกออกไปในช่วงนี้
  • ภาษาเบงกอลยุคกลาง (พ.ศ. 1943 – 2343) เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย
  • ภาษาเบงกอลใหม่ (หลัง พ.ศ. 2343) ทำให้การผันคำนาม คำกริยาสั้นลง

ภาษาเบงกอลได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตมากขึ้นในยุคกลาง ภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่ในเอเชียใต้ เช่น ภาษาปัญจาบ ภาษาสินธี และภาษาคุชราตได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียมาก ซึ่งต่างจากภาษาเบงกอลและภาษาไมถิลี ที่ยังรักษารากศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤตไว้ได้ ไวยากรณ์และพจนานุกรมภาษาเบงกอลฉบับแรกจัดทำขึ้นโดยมิชชันนารีชาวโปรตุเกสระหว่าง พ.ศ. 2277 - 2285

เมื่อดินแดนที่เป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบันได้รับเอกราชในฐานะปากีสถานตะวันออกที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถานได้มีการจัดตั้งขบวนการภาษาเบงกอลเมื่อ พ.ศ. 2494 – 2495 เพื่อเรียกร้องให้ใช้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาราชการในปากีสถานตะวันออก ซึ่งในขณะนั้น มีภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 นักศึกษาที่ประท้วงถูกเผาโดยทหารและตำรวจในมหาวิทยาลัยธากา ทำให้นักศึกษาสามคนและประชาชนจำนวนมากถูกฆ่า[3] ต่อมา ใน พ.ศ. 2542 สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสากลแห่งภาษาแม่ เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว.[4][5]

ไวยากรณ์

[แก้]

คำนามในภาษาเบงกอลไม่มีการกำหนดเพศ ทำให้มีการผันคำน้อย คำคุณศัพท์ คำนาม และสรรพนามมี 4 การก คำกริยามีรูปแบบการผันมาก แต่ต่างจากภาษาฮินดีที่ไม่มีการผันคำกริยาตามเพศ

การเรียงลำดับคำ

[แก้]

ภาษาเบงกอลเรียงประโยคแบบประธาน-กรรม-กริยา เชื่อมคำในประโยคด้วยปรบท คำคุณศัพท์ จำนวนและการกแสดงความเป็นเจ้าของนำหน้าคำนาม คำถามแบบใช่/ไม่ใช่ ไม่ต้องมีการเปลี่ยนลำดับคำในประโยค

คำนาม

[แก้]

คำนามและคำสรรพนามมีการผันตามการกจำนวน 4 การกคือ ประธาน กรรม ความเป็นเจ้าของและแสดงตำแหน่ง มีการเติมคำนำหน้านามชี้เฉพาะได้แก่ -টা -ţa (เอกพจน์) หรือ -গুলা -gula (พหูพจน์) นามมีการผันตามจำนวนด้วย ภาษาเบงกอลมีลักษณนามเช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนและภาษาไทย ลักษณนามที่ใช้โดยทั่วไปคือ -টা –ţa แต่มีลักษณนามบางคำใช้กับนามเฉพาะ เช่น -জন –jon ใช้กับคน

คำกริยา

[แก้]

คำกริยาแบ่งได้เป็นสองระดับคือคือกริยาแท้และกริยาไม่แท้ กริยาไม่แท้ไม่มีการผันตามกาลของบุคคล ในขณะที่กริยาแท้มีการผันตามจุดมุ่งหมาย กาล และบุคคลแต่ไม่ผันตามจำนวน นอกจากนั้น ภาษาเบงกอลมีความต่างจากภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันอื่น ๆ คือสามารถละกริยาที่เป็น verb to be แบบที่พบในภาษารัสเซียและภาษาฮังการี

คำศัพท์

[แก้]

ในภาษาเบงกอลมีคำศัพท์มากกว่า 100,000 คำ โดยครึ่งหนึ่งเป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤต ราว 20% มีรากศัพท์ร่วมกับภาษาสันสกฤต ที่เหลือเป็นคำยืมจากภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก อย่างไรก็ตาม ในภาษาเบงกอลสมัยใหม่ นิยมใช้ศัพท์ที่มีรากศัพท์ร่วมกับภาษาสันสกฤต มากกว่าคำที่ยืมจากภาษาสันสกฤต ส่วนคำยืมมีที่ใช้น้อยลง

ในบริเวณเบงกอลเป็นบริเวณที่มีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย ทั้งชาวยุโรป อินเดียสมัยราชวงศ์โมกุล ชาวอาหรับ ชาวเติร์ก ชาวเปอร์เซีย ชาวอัฟกัน และชาวเอเชียตะวันออก ภาษาเบงกอลจึงมีคำยืมจากภาษาของกลุ่มชนเหล่านี้ ซึ่งต่างกันไปตามระดับของความใกล้ชิดในการติดต่อ มีการยืมคำจากภาษาของเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาฮินดี ภาษาอัสสัม และภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติกโดยเฉพาะภาษาสันตาลี การรุกรานของเปอร์เซียและตะวันออกกลางทำให้มีคำยืมจากภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ ภาษาตุรกี และภาษาปาทาน ในสมัยอาณานิคม ภาษาเบงกอลได้รับอิทธิพลจากภาษาในยุโรป เช่น ภาษาโปรตุเกส ภาษาฝรั่งเศส ภาษาดัตช์ และภาษาอังกฤษ

ระบบการเขียน

[แก้]

ภาษาเบงกอลเขียนด้วยอักษรเบงกอลซึ่งเป็นอักษรนครีตะวันออกชนิดหนึ่ง ใช้แพร่หลายในบังกลาเทศและอินเดียตะวันออก พัฒนามาจากอักษรพราหมี อักษรเบงกอลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอักษรโอริยา อักษรเบงกอลนี้เมื่อมีการปรับปรุงเล็กน้อย จะใช้เขียนภาษาอื่นอีกหลายภาษา เช่นภาษาอัสสัม ภาษามณีปุรี และภาษาสิลเหต

การถอดอักษรเบงกอลเป็นอักษร ใช้ตามระบบของภาษาสันสกฤตหรือภาษาในประเทศอินเดียรวมทั้งหอสมุดแห่งชาติกัลกัตตา

เสียง

[แก้]

ในทางสัทศาสตร์ ภาษาเบงกอลมีพยัญชนะ 29 เสียง และสระ 14 เสียงรวมทั้งสระนาสิก 7 เสียง มีเสียงสระประสมมาก การเน้นเสียงมักเน้นที่พยางค์แรกของคำ ความสั้นยาวของเสียงสระไม่มีความสำคัญในภาษาเบงกอล

การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

[แก้]

ภาษาเบงกอลเป็นภาษาที่ใช้พูดเป็นภาษาแม่ทางตะวันออกของเอเชียใต้ ในบริเวณที่เรียกเบงกอล ในปัจจุบัน คือประเทศบังกลาเทศและรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย รวมทั้งบางส่วนในรัฐอัสสัม นอกจากนั้น ยังมีผู้พูดภาษาเบงกอลในตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานการณ์เป็นภาษาราชการ

[แก้]

ภาษาเบงกอลเป็นภาษาราชการของประเทศบังกลาเทศ และเป็นภาษาราชการในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐตรีปุระในอินเดีย[6] และเป็นภาษาหลักในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เป็นภาษาราชการร่วมของรัฐอัสสัม

สำเนียง

[แก้]

มีความผันแปรในแต่ละท้องถิ่นที่พูดภาษาเบงกอล โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้สี่กลุ่มคือ ราธ พังคะ กามรูป และวเรนทระ สำเนียงทางตะวันตกเฉียงใต้หรือราธเป็นพื้นฐานของภาษาเบงกอลมาตรฐาน ส่วนสำเนียงทางตะวันออกจะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มภาษาทิเบต-พม่ามาก ทำให้บางสำเนียงมีความแตกต่างของเสียงวรรณยุกต์ในสำเนียงในบริเวณจิตตะกองและจักมา บางสำเนียงถูกจัดเป็นภาษาเอกเทศต่างหากเช่นภาษาฮาชอง แม้จะคล้ายกับภาษาเบงกอลสำเนียงทางเหนือ[7]

ระหว่างการจัดมาตรฐานภาษาเบงกอลในพุทธศตวรรษ 24-25 ศูนย์กลางของวัฒนธรรมเบงกอลอยู่ที่กัลกัตตา ทำให้สำเนียงทางตะวันตกตอนกลางกลายเป็นสำเนียงมาตรฐานทั้งในเบงกอลตะวันตกและบังกลาเทศ แต่ภาษาเบงกอลในสองบริเวณนี้ก็มีการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นคำศัพท์ในภาษาเบงกอลเดิมเหมือนกัน เช่น คำว่าเกลือ ทางตะวันตกใช้ noon ส่วนทางตะวันออกใช้ lôbon[8]

รูปแบบของภาษาพูดและภาษาเขียน

[แก้]

ภาษาเบงกอลเป็นภาษาที่มีความแตกต่างระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาเขียนมีสองแบบคือ

  • สาธุภาษา ((সাধুভাষা) เป็นรูปแบบการเขียนที่มีการผันคำกริยาแบบยาว และใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤต เพลงชาติเป็นตัวอย่างการใช้สาธุภาษา แต่รูปแบบการเขียนสมัยใหม่ ไม่นิยมใช้สาธุภาษา
  • ชลติภาษา (চলতিভাষা) เป็นรูปแบบการเขียนภาษาเบงกอลสมัยใหม่ ที่ใช้กริยาในรูปสั้น และเป็นภาษามาตรฐานในปัจจุบัน เริ่มใช้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 สำเนียงที่ใช้เป็นพื้นฐานคือสำเนียงในศานติปุระ รัฐเบงกอลตะวันตก

ภาษาพูดของภาษาเบงกอลมีความหลากหลายเช่นเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐเบงกอลตะวันตกรวมทั้งในกัลกัตตาพูดสำเนียงมาตรฐานของภาษาเบงกอล ส่วนอื่น ๆ ของเบงกอลตะวันตกและทางตะวันตกของบังกลาเทศพูดสำเนียงที่มีความแตกต่างไปเล็กน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในบังกลาเทศพูดสำเนียงที่ต่างไปจากภาษามาตรฐานโดยเฉพาะบริเวณจิตตะกอง นอกจากนั้น ชาวเบงกอลที่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามใช้ภาษาที่ต่างกัน ผู้นับถือศาสนาฮินดูนิยมใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤต ส่วนมุสลิมนิยมใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับและเปอร์เซียแม้จะมีความหมายเหมือนกัน เช่น

  • สวัสดี: nômoshkar (สันสกฤต) กับ assalamualaikum/slamalikum (อาหรับ)
  • เชื้อเชิญ: nimontron/nimontonno (สันสกฤต) กับ daoat (อาหรับ)
  • น้ำ : jol (สันสกฤต) กับ pani (สันสกฤต)
  • พ่อ : baba (เปอร์เซีย) corresponds to abbu/abba (อาหรับ)

อ้างอิง

[แก้]
  1. บังกลาเทศเสนอยูเอ็น ใช้เบงกอล เป็นภาษาราชการ
  2. Subir Bhaumik (22 December 2009). "Bengali 'should be UN language'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2010-01-25.
  3. "Dhaka Medical College Hostel Prangone Chatro Shomabesher Upor Policer Guliborshon. Bishwabidyalayer Tinjon Chatroshoho Char Bekti Nihoto O Shotero Bekti Ahoto". The Azad (ภาษาBengali). 22 February 1952.
  4. "Amendment to the Draft Programme and Budget for 2000-2001 (30 C/5)" (PDF). General Conference, 30th Session, Draft Resolution. UNESCO. 1999. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  5. "Resolution adopted by the 30th Session of UNESCO's General Conference (1999)". International Mother Language Day. UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  6. Bhattacharjee, Kishalay (30 April 2008). "It's Indian language vs Indian language". ndtv.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-23. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  7. "Hajong". The Ethnologue Report. สืบค้นเมื่อ 2006-11-19.
  8. "History of Bengali (Banglar itihash)". Bengal Telecommunication and Electric Company. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-07. สืบค้นเมื่อ 2006-11-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]