ข้ามไปเนื้อหา

การถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แบบคำร้องขอให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประเทศไทย ตามระเบียบวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตรวจสอบและการพิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ออกจากตำแหน่ง พ.ศ. 2551

การถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง (อังกฤษ: recall) คือ กระบวนการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งจากตำแหน่ง

กระบวนการในสหรัฐอเมริกา

[แก้]

นอกเหนือไปจากสิทธิในการริเริ่มออกกฎหมาย การออกเสียงประชามติ และการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนชาวอเมริกายังมีสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการริเริ่มและสนับสนุนจากชนชั้นนำที่มีแนวคิดก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ โดยมีการเริ่มนำเสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โอเรกอน (อังกฤษ: Oregon newspaper) ของวิลเลียม เอส. อูเร็น (William S. U'Ren) ทั้งนี้ ยังไม่สามารถเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับชาติ (เช่น ประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภา) ได้ในขณะนี้ ซึ่งการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นสิทธิของชนในท้องถิ่นนั้น ๆ และมีรัฐสิบห้ารัฐที่กฎหมายอนุญาตให้พลเมืองในรัฐเข้าชื่อถอดถอนข้าราชการและพนักงานของรัฐประจำท้องถิ่นนั้นได้อีกด้วย[1]

มีบุคคลระดับผู้ว่าการรัฐเพียงสองนายที่ถูกถอดถอนโดยพลเมืองในรัฐของตน รายแรกใน พ.ศ. 2464 ลิน เจ. เฟรเชอร์ (Lynn J. Frazier) ผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา ถูกถอดถอนในกรณีพิพาทเกี่ยวกับวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปเป็นเจ้าของ และรายต่อมาใน พ.ศ. 2546 เกรย์ เดวิส (Gray Davis) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากบริหารงบประมาณรัฐผิดพลาด ประชาชนก็ไม่เอาไว้ต่อไป

อนึ่ง ในรัฐอะแลสกา รัฐจอร์เจีย รัฐแคนซัส รัฐมินนิโซตา รัฐมอนแทนา รัฐโรดไอแลนด์ และรัฐวอชิงตัน พลเมืองจะสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุพิเศษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เหตุพิเศษ เช่น ความผิดบางประการเกี่ยวกับการกระทำมิชอบหรือการประพฤติชั่วระหว่างดำรงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ในกรณีที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังสามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเหตุตามที่พวกตนระบุมาว่าเป็นเหตุอันสมควรถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งผู้นั้นออกจากตำแหน่งหรือยัง ส่วนในรัฐอื่น ๆ อีกสิบเอ็ดรัฐมิได้กำหนดเหตุพิเศษเช่นว่าไว้

จำนวนของผู้เข้าชื่อและระยะเวลาในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ นอกจากนี้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินการเช่นว่าก็ยังแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์อีกด้วย

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่ดำเนินการสำเร็จ

[แก้]

พ.ศ. 2459 - ถอดถอนเจ. ดับเบิลยู. โรบินสัน (J. W. Robinson) นายกเทศมนตรีนครบอยซี (Boise) รัฐไอดาโฮ[2]

พ.ศ. 2464 - ถอดถอนลิน เจ. เฟรเชอร์ (Lynn J. Frazier) ผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา

พ.ศ. 2537 - ถอดถอนข้าราชการและพนักงานของรัฐในเมืองริเวอร์เวล (River Vale) รัฐนิวเจอร์ซีย์ ดังนี้ วอลเทอร์ โจนส์ (Walter Jones) นายกเทศมนตรี, แพทริเชีย ไกเออร์ (Patricia Geier) และเบอร์นาด แซมอน (Bernard Salmon) สมาชิกสภาท้องถิ่น [3]

พ.ศ. 2538 - ถอดถอนดอริส อัลเล็น (Doris Allen) และพอล ฮอร์เชอร์ (Paul Horcher) ประธานและสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2545 - ถอดถอนวูโดรว์ สแตนลีย์ (Woodrow Stanley) นายกเทศมนตรีนครฟลินต์ (Flint) รัฐมิชิแกน

พ.ศ. 2546 - ถอดถอนเกรย์ เดวิส (Gray Davis) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2548 - ถอดถอนเจมส์ อี. เวสต์ (James E. West) นายกเทศมนตรีนครสโปเคน (Spokane) รัฐวอชิงตัน

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่ดำเนินการไม่สำเร็จ

[แก้]

พ.ศ. 2521 - การถอดถอนเดนนิส คูชินิช (Dennis Kucinich) นายกเทศมนตรีนครคลีฟแลนด์

พ.ศ. 2551 - การถอดถอนเจฟ เด็นแฮม (Jeff Denham) สมาชิกวุฒิสภาประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่เกือบดำเนินการสำเร็จ

[แก้]

พ.ศ. 2510 - ศาลพิพากษาว่า กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งไม่ได้ให้อำนาจประชาชนถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับชาติได้ ดังนั้น แฟรงก์ เชิร์ช (Frank Church) สมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจากรัฐไอดาโฮ จึงไม่อาจถูกถอดถอนได้[4]

พ.ศ. 2531 - หลังจากที่อีวาน เมแคม (Evan Mecham) ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแอริโซนาตั้งแต่ต้นปี พลเมืองของรัฐได้ประสบความสำเร็จในการเข้าชื่อกันกว่าสามแสนหนึ่งหมื่นคนเพื่อถอดถอนนายอีวานออกจากตำแหน่งเหตุความประพฤติไม่เหมาะสม และวุฒิสภาแห่งรัฐเตรียมพิจารณาลงมติถอดถอนในวันที่ 17 พฤษภาคม ปีนั้น แต่ประจวบกับที่ศาลสูงสุดแห่งรัฐมีคำพิพากษาในวันที่ 4 เมษายน ให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะและให้นายอีวานพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วการถอดถอนในต่างประเทศอาจจะพบได้ในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวเนซูเอลา แคนาดา ฯลฯ โดยแต่ละประเทศจะมีกระบวนการถอดถอนที่มีความแตกต่างกันไป

กระบวนการในประเทศไทย

[แก้]

ก่อนที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะใช้บังคับ รัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านั้นได้มีมาตรการในการตรวจสอบควบคุมสมาชิกรัฐสภา ให้สมาชิกสภาใดสภาหนึ่งสามารถร้องขอต่อประธานของสภาที่ตนเป็นสมาชิกในการวินิจฉัยให้สมาชิกผู้ทำความผิดพ้นจากตำแหน่งได้ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

พฤติการณ์ที่เป็นความผิด

[แก้]

รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 ระบุว่า เหตุที่สามารถใช้ร้องขอให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ได้แก่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (มาตรา 270)

ตำแหน่งที่อาจถูกร้องขอให้ถอดถอน

[แก้]

รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 เปิดโอกาสให้สามารถยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ (มาตรา 270)

  1. นายกรัฐมนตรี
  2. รัฐมนตรี
  3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  4. สมาชิกวุฒิสภา
  5. ประธานศาลฎีกา
  6. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  7. ประธานศาลปกครองสูงสุด
  8. อัยการสูงสุด
  9. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  10. กรรมการการเลือกตั้ง
  11. ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  12. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
  13. ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ผู้ที่สามารถร้องขอให้ถอดถอน

[แก้]

ผู้ที่สามารถร้องขอให้มีการถอดถอน คือ

  1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 271 วรรคหนึ่ง)
  2. สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 271 วรรคสอง)
  3. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน (มาตรา 271 วรรคสาม)

มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนบุคคลใดออกกจากตำแหน่ง

ขั้นตอนการถอดถอน

[แก้]

เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอให้ถอดถอนผู้ใดจากตำแหน่ง จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรายงานวุฒิสภา โดยระบุอย่างชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดมีมูลหรือไม่ เพียงใด มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อได้อย่างไร กับทั้งระบุข้อยุติว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรด้วย (มาตรา 272 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง)

โดยหาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า ข้อกล่าวหาใดมีมูลแล้ว นับแต่วันลงมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการต่อไป กับทั้งส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป (มาตรา 272 วรรคสี่)

เมื่อได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ประธานวุฒิสภาจะจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งหากอยู่นอกสมัยประชุม ประธานวุฒิสภาจะต้องจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาโดยเร็วเพื่อการนั้น (มาตรา 273)

ผลของการถอดถอน

[แก้]

หากวุฒิสภามีมติซึ่งกระทำโดยการลงคะแนนลับและมีไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งหรือราชการ ผู้นั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติถอดถอน ซึ่งมติของวุฒิสภานี้จะเป็นที่สุด และผู้ใดจะร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันมิได้อีกแล้ว โดยจะไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย (มาตรา 274)

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-09. สืบค้นเมื่อ 2008-11-19.
  2. Idaho State Historical Society Reference Series, Corrected List of Mayors, 1867-1996
  3. James, Michael S. (July 22, 1994). "RIVER VALE RECALL VOTE OFFERS TWO SLATES SPLIT BY 911 ISSUE". The Bergen Record. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  4. "Frank Church Chronology". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2008-11-19.
  • นันทวัฒน์ บรมานันท์, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) การถอดถอนจากตำแหน่ง, สถาบันพระปกเกล้า, พ.ศ. 2544
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่ง