ข้ามไปเนื้อหา

รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Russian Provisional Government)
รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย

Временное правительство России (รัสเซีย)
ค.ศ. 1917
เพลงชาติ
Рабочая Марсельеза
ราโบชายา มาร์เซลเยซา

"มาร์แซแยซของกรรมกร"
Гимн Свободной России
กริมน์ สโวบอดนอย รอสซี

"เพลงสรรเสริญรัสเซียเสรี" (ไม่ทางการ)
ตราประทับรัฐบาล:
สีเขียวเข้ม: ดินแดนรัสเซียใน ค.ศ. 1917 สีเขียวอ่อน: พื้นที่อิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซีย
สีเขียวเข้ม: ดินแดนรัสเซียใน ค.ศ. 1917
สีเขียวอ่อน: พื้นที่อิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซีย
เมืองหลวงเปโตรกราด
ภาษาทั่วไปรัสเซีย
การปกครองรัฐบาลชั่วคราว
ประธานรัฐมนตรี 
• มีนาคม-กรกฎาคม
ค.ศ. 1917
เกออร์กี ลวอฟ
• กรกฎาคม-กันยายน
ค.ศ. 1917
อะเลคซันดร์ เคเรนสกี
สภานิติบัญญัติสภาชั่วคราว
ยุคประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
8–16 มีนาคม 1917
10–13 กันยายน 1917
• จัดตั้งสาธารณรัฐ
14 กันยายน 1917
สกุลเงินรูเบิล
ก่อนหน้า
ถัดไป
จักรวรรดิรัสเซีย
สาธารณรัฐรัสเซีย

รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย (รัสเซีย: Временное правительство России, อักษรโรมัน: Vremennoye pravitel'stvo Rossii) เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นในเปโตรกราดภายหลังการสละราชสมบัติของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ในช่วงการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ภายในรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องกันหลายชุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมระหว่างนักการเมืองเสรีนิยมและนักสังคมนิยมสายกลาง โดยพยายามแก้ไขปัญหาร้ายแรงที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอันไม่เป็นที่นิยม รัฐบาลชั่วคราวดำรงอยู่เป็นเวลาแปดเดือน จนกระทั่งการยึดอำนาจของบอลเชวิคในเดือนพฤศจิกายน (เดือนตุลาคมตามปฏิทินเก่า) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียในการปฏิวัติเดือนตุลาคม

แต่เดิมสมาชิกภายในคณะรัฐมนตรีชุดแรกมีเพียงนักการเมืองสายเสรีนิยมเท่านั้น ยกเว้นอะเลคซันดร์ เคเรนสกี จากพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ที่เข้าร่วมรัฐบาลเพราะความสามารถส่วนตัว คณะรัฐมนตรียังคงเป็นเช่นนี้กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เดือนเมษายนในอีกสองเดือนต่อมา ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างนักสังคมนิยมและสมาชิกสายอนุรักษนิยม ทำให้หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นทั้งนักการเมืองเสรีนิยมและนักสังคมนิยมสายกลาง เจ้าชายลวอฟยังคงดำรงตำแหน่งประธานรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวต่อไป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งความล้มเหลวของการรุกเคเรนสกี วิกฤตการณ์รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (KD หรือ kadets) ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาตินิยมในยูเครน และการจราจลเดือนกรกฎาคม ทำให้เคเรนสกีได้รับสืบทอดตำแหน่งประธานรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลชั่วคราว คณะรัฐบาลเคเรนสกีดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอย่างท่วมท้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญหลายอย่าง เช่น การถอนตัวออกจากสงคราม การปฏิรูปเกษตรกรรม การแก้ปัญหาของกลุ่มคนงานทั้งในเมืองต่าง ๆ และปัญหาชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

ข้อตกลงใหม่ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญและรัฐบาลได้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาหลายครั้ง นำไปสู่การยุติวิกฤตการณ์รัฐบาลในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างทั้งสองยังคงอยู่และการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งยังไม่มีการดำเนินการถอนตัวออกจากสงคราม ส่งผลให้สถานการณ์ในรัสเซียทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่ฝ่ายขวามองหาบุคคลที่มีอำนาจเพื่อกำหนดสั่งการ ยุติวิกฤตการณ์ และกลับมาทำสงครามอีกครั้งด้วยความเข้มแข็ง ฝ่ายซ้ายได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จากการขาดการดำเนินการของรัฐบาล และความล้มเหลวของการรัฐประหารโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพบก ทำให้ฝ่ายขวาและรัฐบาลเริ่มอ่อนแอลง และได้เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายซ้าย กลุ่มหัวรุนแรง และอื่น ๆ เพื่อความปรารถนาที่จะยึดอำนาจของสภาโซเวียต

ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง สถานการณ์ร้ายแรงและความอ่อนแอของรัฐบาลนำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลและการก่อตัวของกลุ่มสังคมนิยมหัวรุนแรง ในขณะที่สภาโซเวียตเร่งปฏิรูปเกษตรกรรมในชนบทและได้ถอนตัวเป็นอิสระจากการบริหารส่วนกลาง ในเมืองต่าง ๆ มีการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้น เมื่อบอลเชวิคตัดสินใจทำการยึดอำนาจผ่านสภาโซเวียตจากการประชุมสภาคองเกรสครั้งที่สองในการปฏิวัติเดือนตุลาคม รัฐบาลชั่วคราวจึงเป็นอันสิ้นสุดลงและบอลเชวิคได้ก่อตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้นมาบริหารประเทศ

การก่อตั้ง

[แก้]
นักการเมืองเสรีนิยมเกออร์กี ลวอฟ ผู้เป็นประธานรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลชั่วคราวภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

คณะกรรมการชั่วคราวแห่งสภาดูมาได้เชิญชวนคณะกรรมการบริหารแห่งสภาโซเวียตเปโตรกราดเข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 1 มีนาคม] และจัดการประชุมขึ้นในบ่ายของวันเดียวกัน[1][2] ในระหว่างการประชุม คณะกรรมการบริหารของโซเวียตตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลใหม่ (ในตอนนั้นการยึดอำนาจยังไม่ได้รับการพิจารณา)[3] การประชุมอย่างจริงใจระหว่างสมาชิกเมนเชวิค นีโคไล ชเฮอิดเซ, นีโคไล ซูฮานอฟ, และนีโคไล โซโคลอฟ และนักเสรีนิยมปาเวล มิลยูคอฟ, อะเลคซันดร์ กุชคอฟ, และเกออร์กี ลวอฟ โดยเมนเชวิคเต็มใจที่จะมอบอำนาจให้กับฝ่ายเสรีนิยมและไม่รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่[3][1] เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากฝ่ายสังคมนิยม[2] อีกทั้งพวกเขาได้เรียกร้องให้มีการประกาศใช้สิทธิพลเมือง[2][4][3] (เช่น การรวมกลุ่มสมาคม การจัดตั้งพรรคการเมือง และการให้เสรีภาพสื่อ เป็นต้น)[1] ต้องมีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมด[3] ขอบเขตของสิทธิพลเมืองควรขยายไปถึงกลุ่มทหาร และให้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด[5][4][3][1] เพื่อจัดการเลือกตั้งตามแบบสากล โดยตรง เสมอภาค และเป็นความลับ และเพื่อกำหนดรัฐธรรมนูญพร้อมกับรูปแบบการปกครองของประเทศ (ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มีนาคม] เป็นเวลาเพียงหนึ่งวันหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[6])[5][7]

สภาโซเวียตเปโตรกราดสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย[8] ตราบใดที่รัฐบาลยังปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ตกลงไว้[4][3] เพียงแต่สภาโซเวียตยังคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาล[7] คณะกรรมการบริหารของโซเวียตปฏิเสธข้อเสนอของผู้แทนจากสภาดูมาที่จะรวมชเฮอิดเซและเคเรนสกีไว้ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[2] แม้ว่าเคเรนสกีจะยินยอมเข้าร่วมด้วยตนเองก็ตาม และท้ายที่สุดเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากการประชุมครบชุดของสภาในวันถัดไป[9][4] ทางสภาโซเวียตเปโตรกราดพิจารณาว่าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนและด้วยเหตุนี้ฝ่ายสังคมนิยมจึงไม่ควรเข้าร่วมกับรัฐบาล[9][4] ทำให้ตอนนี้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวจึงประกอบด้วยฝ่ายเสรีนิยม กลุ่มอนุรักษนิยมสายกลาง และเคเรนสกีซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยม[4]

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917

เมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 2 มีนาคม] และพระอนุชาของพระเจ้าซาร์แกรนด์ดยุกมีฮาอิล ปฏิเสธการสืบราชบัลลังก์ในวันต่อมา รัฐบาลชั่วคราวจึงเริ่มเข้ามาปกครองรัสเซียอย่างเป็นทางการ แต่อำนาจของรัฐบาลชั่วคราวนั้นมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากอำนาจที่เพิ่มขึ้นของสภาโซเวียตเปโตรกราด[10]

รัฐบาลใหม่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นในช่วงแรก รวมถึงบุคคลที่มีแนวคิดโดดเด่นที่สุดในบรรดาฝ่ายเสรีนิยมของรัฐบาลด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีเกออร์กี ลวอฟ[11][8] ผู้เป็นนักการเมืองก้าวหน้าและเป็นที่เคารพนับถือของเซมสต์วอ (Zemstvo)[12] และปาเวล มิลยูคอฟ ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และสมาชิกหลักของคณะรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (KD)[11][8] อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้นอ่อนแอและมีอำนาจหน้าที่จำกัดในพื้นที่บางส่วนของประเทศและในเมืองหลวงเท่านั้น[13] เนื่องจากการก่อตัวของลัทธิชาตินิยมในพื้นที่ของจักรวรรดิ การแบ่งแยกภายในฝ่ายสังคมนิยม และความขัดแย้งระหว่างสังคมนิยมและเสรีนิยมได้บ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาล[13] ในเปโตรกราดนั้นถูกควบคุมโดยสภาโซเวียตเมืองหลวง[14] ความปรารถนาของประชากรก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การปฏิรูปทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงมาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม[15] และการเข้าร่วมสงครามอันไม่เป็นที่นิยม ยังเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจกันระหว่างทั้งสองฝ่าย[16] คตินิยมของรัฐบาลชั่วคราวที่เชื่อมั่นว่ามีเพียงสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสากลเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินประเด็นพื้นฐานทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจได้[17] แต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐบาล ทำให้การปฏิรูปครั้งสำคัญถูกเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน[18]

รายนามประธานรัฐมนตรี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Basil 1984, p. 29.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Wade 1969, p. 5.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Ferro 1975, p. 90.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Wade 2000, p. 48.
  5. 5.0 5.1 Kochan 1967, p. 183.
  6. Wade 2000, p. 53.
  7. 7.0 7.1 Von Loewe 1967, p. 172.
  8. 8.0 8.1 8.2 Ferro 1975, p. 93.
  9. 9.0 9.1 Wade 1969, p. 6.
  10. Rabinowitch 1991, p. 29.
  11. 11.0 11.1 Wade 2000, p. 54.
  12. Rabinowitch 1978, p. 21.
  13. 13.0 13.1 Basil 1984, p. 97.
  14. Von Loewe 1967, p. 174.
  15. Mosse 1967, p. 104.
  16. Mosse 1967, p. 105.
  17. Ferro 1975, p. 220.
  18. Wade 2000, p. 55.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]