เสือไฟแอฟริกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสือไฟแอฟริกา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
วงศ์ย่อย: Felinae
สกุล: Caracal
(Severtzov, 1858)
สปีชีส์: C.  aurata
ชื่อทวินาม
Caracal aurata
(Temminck, 1827)
ชนิดย่อย

(ดูในเนื้อหา)

ชื่อพ้อง[2]
  • Felis aurata Temminck, 1827
  • Afrofelis aurata (Temminck, 1827)

เสือไฟแอฟริกา [2]หรือ แมวทองแอฟริกา (อังกฤษ: African golden cat; ชื่อวิทยาศาสตร์: caracal aurata[3]) เสือขนาดเล็กหรือแมวชนิดหนึ่ง กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปแอฟริกา

เสือไฟแอฟริกามีลักษณะทั่วไปคล้ายกับเสือไฟที่พบในทวีปเอเชีย ทั้งที่พบกันคนละทวีปที่ห่างไกลกัน เชื่อว่าในยุคก่อนประวัติศาสตร์ราวหนึ่งล้านปีก่อนแผ่นดินใหญ่ในจีนจนถึงทวีปแอฟริกาในปัจจุบันเชื่อมต่อกันเป็นป่าเดียวกัน แต่ต่อมาถูกคั่นด้วยทะเลทรายกว้างใหญ่หลายแห่ง เสือไฟในสองทวีป จึงถูกตัดขาดจากกัน และมีวิวัฒนาการแยกออกจากกัน หรือเป็นผลของการวิวัฒนาการแบบเข้าหากัน[2] โดยเสือไฟแอฟริกาจัดอยู่เพียงสองชนิดเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Caracal ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์ และมีสายพันธุกรรมใกล้เคียงกับคาราคัลและเซอร์วัล ซึ่งล้วนเป็นแมวหรือเสือขนาดเล็กที่พบในทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกัน[4][3]

มีความยาวลำตัว 72–98 เซนติเมตร ตัวผู้น้ำหนักเฉลี่ย 11–14 กิโลกรัม พบหนักที่สุด 18 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย สีลำตัวมีหลากหลายมาก ตั้งแต่สีทอง, น้ำตาลแดง, ส้ม ไปจนถึงสีเทาเงิน จนบางครั้งเคยเข้าใจว่าเป็นสัตว์คนละชนิดกัน เคยพบรายงานว่าเสือไฟแอฟริกาในกรงเลี้ยงเปลี่ยนสีไปตามอายุและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น เสือไฟแอฟริกาตัวหนึ่งในสวนสัตว์ลอนดอนเปลี่ยนสีจากน้ำตาลแดงทั้งตัวไปเป็นสีเทาทั้งตัวภายในเวลา 4 เดือน และลวดลายก็มีมีลายต่างกัน 4 แบบ คือ ลายจุดทั่วทั้งตัว, ลายจุดจางบนหลังกับคอ, ลายที่สีข้าง และลายที่หน้าท้อง ประชากรที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำซาอีร์มักมีจุดมากกว่าพวกทางตะวันออก[4][5]

แก้ม, คาง และใต้ลำตัวสีจาง ใบหน้ามีลายแต้มขาวหลายแต้มรอบตาและเหนือปาก ใต้ท้องและด้านในขาสีซีดมีจุดสีเข้มประปราย หัวค่อนข้างเล็ก ปากค่อนข้างใหญ่ ม่านตาอาจมีสีหลายแบบตั้งแต่สีเขียวจนถึงสีน้ำตาลทอง หูเล็ก ใบหูกลม หลังหูมีสีดำ หางยาวไม่เกิน 40 เซนติเมตร มักมีความยาวไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวหัวและลำตัว และมีสีเส้นสีเข้มที่ด้านบนของหาง ปลายหางสีน้ำตาลหรือสีดำ บางตัวอาจมีปล้องจาง ๆ อีกทั้งยังมีรายงานพบว่าเสือไฟแอฟริกาบางตัวมีสีดำตลอดทั้งลำตัวแบบเสือดำด้วย โดยสามารถพบได้ทั่วไปทั้งทวีป[4]

พบกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยสามารถพบได้ในที่ ๆ มีความสูงถึง 3,000 เมตร (9,800 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ

  • Caracal aurata aurata พบตั้งแต่คองโกจนถึงอูกันดา
  • Caracal aurata celidogaster พบตลอดแอฟริกาตะวันตก
หนังของเสือไฟแอฟริกา

ลูกเสือไฟแอฟริกาแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 180–235 กรัม (6.3–8.3 ออนซ์) แต่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับแมวหรือเสือขนาดเล็กชนิดอื่น โดยมีตัวหนึ่งเติบโตได้จนถึงมีความยาว 40 เซนติเมตร (16 นิ้ว) ภายในเวลา 16 วันนับตั้งแต่เกิด สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการการเติบโตได้เป็นอย่างดี ตาจะเปิดภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ และจะหย่านมเมื่ออายุได้ 6–8 สัปดาห์ ตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 18 เดือน ขณะที่ตัวเมีย 11 เดือน แม่เสือไฟแอฟริกาจะมีช่วงเว้นระยะเวลาตั้งท้องกับการให้กำเนิดลูกประมาณ 75 วัน

มีอายุเต็มที่ในที่เลี้ยง 12 ปี แต่วงจรชีวิตและอายุขัยในธรรมชาติยังไม่เป็นที่ทราบโดยแน่ชัด[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Breitenmoser, C., Henschel, P. & Sogbohossou, E. (2008). Profelis aurata. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 15 September 2011. Database entry includes justification for why this species is near threatened
  2. 2.0 2.1 2.2 ผ่อง เล่งอี้. สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง. พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพ:เซเว่น พริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2538
  3. 3.0 3.1 Wozencraft, W. Christopher (16 November 2005). "Order Carnivora (pp. 532-628)". In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). pp. 533. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Sunquist, Mel; Sunquist, Fiona (2002). Wild cats of the World. Chicago: University of Chicago Press. pp. 246–251. ISBN 0-226-77999-8.
  5. Burnie D and Wilson DE (Eds.), Animal: The Definitive Visual Guide to the World's Wildlife. DK Adult (2005), ISBN 0789477645.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Profelis aurata ที่วิกิสปีชีส์