จากัวรันดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากัวรันดี[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Herpailurus
Severtzov, 1858
สปีชีส์: H.  yagouaroundi
ชื่อทวินาม
Herpailurus yagouaroundi
(Geoffroy Saint-Hilaire, 1803)[3]
การกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
ชื่อพ้อง
  • Felis yagouaroundi
    Geoffroy, 1803
  • Felis unicolor
    Thraill, 1819
  • Felis eyra
    Fischer, 1814
  • Felis cacomitli
    Berlandier, 1859
  • Felis apache
    Mearns, 1901
  • Felis fossata
    Mearns, 1901
  • Felis panamensis
    Allen, 1904

จากัวรันดี (อังกฤษ: Jaguarundi) เป็นแมวป่าขนาดเล็ก มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ ลำตัวผอมเพรียว หัวเล็กแบน หางยาว ปลายหางเรียว ตัวเตี้ย ขาสั้นเล็ก ขนสั้นเกรียนและเรียบไม่มีลวดลาย สีมีสามแบบ คือดำ เทาอมน้ำตาล และน้ำตาลแดง หูสั้นกลมและอยู่ห่างกันมาก ตาเล็กอยู่ชิดกัน ม่านตาสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล

ลักษณะทั่วไป[แก้]

แมวจากัวรันดีเป็นแมวที่มีลักษณะแปลกตาที่สุดชนิดหนึ่ง ลำตัวผอมเพรียว ยาว 55-77 เซนติเมตร หนัก 2-9 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 5.9 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 4.4 กิโลกรัม หัวเล็กแบน หางยาว 50 เซนติเมตร ปลายหางเรียว ตัวเตี้ย ขาสั้นเล็ก ดูเผิน ๆ คล้ายตัวนากหรือเพียงพอนมากกว่าแมว จึงมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษอีกชื่อว่า otter cat (แมวนาก) ขนสั้นเกรียนและเรียบไม่มีลวดลาย สีมีสามแบบ คือดำ เทาอมน้ำตาล และน้ำตาลแดง พวกที่มีสีเข้มมักพบในป่าทึบ หูสั้นกลมและอยู่ห่างกันมาก ตาเล็กอยู่ชิดกัน ม่านตาสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล เปล่งเสียงได้มากถึง 13 แบบ

ชนิดย่อย[แก้]

ชื่อวิทยาศาสตร์ เขตกระจายพันธุ์
H.y.armeghinoi อาร์เจนตินาตะวันตก
H.y.carcomitli เท็กซัสตอนใต้ เมกซิโก
H.y.eyra บราซิล ปารากวัย อาร์เจนตินา
H.y.fossata เม็กซิโก ฮอนดุรัส
H.y.melantho เปรู บราซิล
H.y.panamensis นิคารากัวร์จนถึงเอกวาดอร์
H.y.tolteca แอริโซนา เม็กซิโก
H.y.yagouaroundi กายานา อเมซอน

ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์[แก้]

แมวจากัวรันดีมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนบนและตอนกลางลงมาถึงอาร์เจนตินา เขตบนสุดไปถึงรัฐเท็กซัสและนิวเม็กซิโก นอกจากนี้ในพบในรัฐฟลอริดาด้วย แต่ประชากรในส่วนนี้เกิดจากการนำเข้าไปปล่อยตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1940

ชอบอยู่ในพื้นที่ต่ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงที่สุดไม่เกิน 3,200 เมตร พื้นที่หากินกว้างขวาง อาศัยอยู่ได้ทั้งป่าเปิด ป่าไม้พุ่ม บึง ป่าไม้แบบซะวันนาจนถึงป่าดิบ ชอบอาศัยอยู่ชายป่าหรือหรือป่าชั้นสอง และใกล้แหล่งน้ำที่ไม่นิ่งขัง ในป่าฝนพบไม่มากนัก

อุปนิสัย[แก้]

แมวชนิดนี้หากินตอนกลางวันตั้งแต่ช่วงรุ่งสางจนถึงพลบค่ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแมวที่มีการสำรวจศึกษามากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จากการติดตามด้วยวิทยุในเบลีซ พบว่ามีการดำเนินกิจกรรมมากที่สุดในช่วงบ่ายสองโมงถึงบ่ายสี่โมง หลังตะวันลับขอบฟ้าไปแล้วไม่ค่อยทำอะไรมากนัก มักพบว่าเดินทางและหากินเป็นคู่

แมวจากัวรันดีมีอาณาเขตหากินกว้างขวางมาก ตัวผู้มีพื้นที่หากินตั้งแต่ 88-100 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียมีพื้นที่หากินราว 13-20 ตารางกิโลเมตร เทียบกับเสือจากัวร์ที่ตัวใหญ่กว่ามากและอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันยังมีพื้นที่หากินราว 28-40 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่หากินของตัวผู้ซ้อนทับกันไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ การใช้พื้นที่ในอาณาเขตของตัวเองต่างจากแมวทั่วไป ทั้งตัวผู้และตัวเมียใช้พื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ของอาณาเขตห่างกัน แทนที่จะเดินลาดตระเวณตามชายขอบของอาณาเขต

แม้จะเคยมีการพบว่าจากัวรันดีนอนพักบนต้นไม้และปีนป่ายได้คล่องแคล่ว แต่การหากินจะทำบนพื้นดินมากกว่า อาหารที่กินมีหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก กระต่าย อาร์มาดิลโล โอพอสซัม สัตว์เลื้อยคลาน กบ ปลา นก สามารถกระโดดขึ้นไปตะปบนกที่อยู่สูงถึง 2 เมตรได้ บางครั้งอาจกินใบไม้และผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินด้วยซึ่งอาจเป็นการกินเพื่อต้องการน้ำจากภายในเท่านั้น

แมวชนิดนี้เลี้ยงให้เชื่องได้ค่อนข้างง่าย กล่าวกันว่าในยุคก่อนที่สเปนจะรุกรานเข้ามาในอเมริกากลาง ชาวพื้นเมืองเคยเลี้ยงแมวจากัวรันดีเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อควบคุมหนูที่คอยมารบกวนหมู่บ้านและทำลายพืชผล

ชีววิทยา[แก้]

ตัวเมียในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสัดปีละหลายครั้ง พวกที่อยู่ทางเหนือมักผสมพันธุ์ในปลายฤดูใบไม้ร่วง แมวในแหล่งเพาะเลี้ยงมีระยะเวลาเป็นสัด 3.17 วัน และมีคาบการเป็นสัด 53.63 วัน ทำรังในพุ่มไม้ที่หนาแน่น หรือใต้ไม้ล้มที่รกทึบ ตั้งท้องนาน 70 วัน ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว ส่วนใหญ่ 2 ตัว ลูกแมวแรกเกิดมีลายจุด พออายุได้ 3-4 เดือนจุดก็จางหายไป พออายุได้ 6 สัปดาห์ก็เริ่มกินอาหารแข็งได้ ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 24-36 เดือน ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุขัยได้ถึง 15 ปี

ภัยคุกคาม[แก้]

การที่ขนแมวจากัวรันดีมีสีดำไม่สวยอย่างแมวชนิดอื่น จึงไม่มีใครอยากล่าไปทำเสื้อผ้าหรือกระเป๋า แต่จากัวรันดีก็ยังต้องถูกล่าอยู่เสมอเนื่องจากนิสัยที่ชอบไปจับสัตว์เลี้ยงของชาวไร่กิน และภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดสำหรับจากัวรันดีก็คือการเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

สถานภาพ[แก้]

แมวจากัวรันดีพบได้ค่อนข้างบ่อยตลอดเขตกระจายพันธุ์ แต่ในเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และอเมริกากลางจะพบได้ค่อนข้างยาก ส่วนในอุรุกวัยนั้นคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แม้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง แต่ไอยูซีเอ็นยังประเมินสถานภาพว่าอยู่ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ส่วนพันธุ์ที่อยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาเหนืออยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ประเทศที่ห้ามล่า[แก้]

อาร์เจนตินา เบลีซ โบลิเวีย โคลอมเบีย คอสตาริกา เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา ฮอนดุรัส เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา

ประเทศที่ควบคุมการล่า[แก้]

เปรู

ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครอง[แก้]

บราซิล นิคารากัว เอกวาดอร์ เอลซาลวาดอร์ กายานา

อ้างอิง[แก้]

  • Sunquist, Mel and Sunquist, Fiona, Wild Cats of the World, China: The University of Chicago Press, 2002
  • http://www.canuck.com/iseccan/jagundi.html
  • Garman, A., Jaguarundi. Retrieved from http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/jundi.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/yaguar01.htm
  1. Wozencraft, W. Christopher (16 November 2005). "Order Carnivora (pp. 532-628)" เก็บถาวร 2012-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). p. 545. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494
  2. Caso, A., Lopez-Gonzalez, C., Payan, E., Eizirik, E., de Oliveira, T., Leite-Pitman, R., Kelly, M., Valderrama, C. (2008). "Puma yagouaroundi". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2. International Union for Conservation of Nature.
  3. "Puma yagouaroundi". Integrated Taxonomic Information System. Retrieved May 17, 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Puma yagouaroundi ที่วิกิสปีชีส์