ลิงซ์ยูเรเชีย
ลิงซ์ยูเรเชีย | |
---|---|
![]() | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Felidae |
สกุล: | Lynx |
สปีชีส์: | L. lynx |
ชื่อทวินาม | |
Lynx lynx (Linnaeus, 1758) | |
![]() | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
ลิงซ์ยูเรเชีย (อังกฤษ: Eurasian lynx; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lynx lynx) แมวป่าชนิดหนึ่ง จำพวกลิงซ์ จัดอยู่ในวงศ์เสือและสิงโต (Felidae)
ลิงซ์ยูเรเชีย นับเป็นลิงซ์ชนิดที่ใหญ่ที่สุด และพบได้กว้างขวาง แพร่กระจายพันธุ์ที่สุด ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ขนาดเมื่อโตเต็มที่ตัวผู้อาจมีความสูงจากปลายเท้าจรดหัวไหล่ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 17 กิโลกรัม มีรายงานว่าตัวที่มีนำหนักมากที่สุดอยู่ที่ไซบีเรีย ซึ่งหนักถึง 38 กิโลกรัม หรือบางรายงานกล่าวว่าหนักถึง 45 กิโลกรัม [2][3]
ลิงซ์ยูเรเชีย มีจุดเด่น คือ ขนปลายหูสีดำที่เป็นติ่งแหลมชี้ขึ้นด้านบน ใช้สำหรับประสิทธิภาพในการรับฟังเสียง ทำให้ได้ยินเสียงความเคลื่อนไหวของเหยื่อที่อยู่ใต้ดินไกลถึง 50 เมตร หางสั้น และมีข้อเท้าและอุ้งเท้าที่แข็งแกร่ง ทรงพลัง และจะประกาศอาณาเขตของตนด้วยการสร้างรอยข่วนด้วยเล็บทิ้งไว้ตามต้นไม้หรือซากไม้ล้มในป่า ซึ่งเห็นได้ชัดเจน[4]
มีถิ่นกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สแกนดิเนเวีย, ยุโรปกลางจรดจนถึงเอเชียเหนือ, เอเชียตะวันออก, เอเชียกลาง และบางส่วนในจีน เช่น ทะเลสาบคานาส ในแถบเทือกเขาอัลไต [5] เชื่อว่าลิงซ์ยูเรเชียตัวผู้มีถิ่นหากินกว้างไกลได้ถึง 100 ตารางกิโลเมตร และบางครั้งจะล่วงล้ำเข้าไปในถิ่นหากินของตัวเมียอยู่บ่อย ๆ ออกหาอาหารในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ สัตว์ขนาดเล็กหลายอย่าง รวมถึง เป็ด, ไก่ หรือนกกระทา อันเป็นสัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์ของมนุษย์อีกด้วย รวมถึงสามารถล่าสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กวางเรนเดียร์ ได้อีกด้วย และยังกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว บ่อยครั้งที่ลิงซ์ยูเรเชียจะออกหาอาหารในแหล่งที่ใกล้กับบ้านเรือนของชุมชนของมนุษย์ตามชายป่า นอกจากนี้แล้วลิงซ์ยูเรเชียยังเป็นแมวป่าที่ไม่กลัวน้ำ ตรงกันข้ามกลับชอบที่จะเล่นน้ำ และว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว [4]
ลิงซ์ยูเรเชีย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 2-2.5 ปี ลูกลิงซ์ยูเรเชียจะอาศัยอยู่กับแม่จนถึงอายุวัยช่วงนั้น ก่อนที่จะแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง ลิงซ์ยูเรเชียเป็นสัตว์สันโดษ ตามปกติแล้วจะอาศัยอยู่ตามลำพัง มีบางครั้งที่ลูกลิงซ์ยูเรเชียที่เกิดมาเป็นพี่น้องในครอกเดียวกัน จะอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นคู่ และมีความผูกพันกันมาก จนถึงช่วงวัยที่เติบโตพอที่จะแยกไปอาศัยอยู่ตามลำพัง[4]
การจำแนก[แก้]
ลิงซ์ยูเรเชีย ยังแบ่งออกได้เป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้อีก ได้แก่[6]
- Lynx lynx lynx, สแกนดิเนเวีย, ยุโรปตะวันออก, ไซบีเรียตะวันตก
- Lynx lynx carpathicus, เทือกเขาคาร์เพเธียน, ยุโรปกลาง
- Lynx lynx martinoi, คาบสมุทรบอลข่านส์
- Lynx lynx dinniki, เทือกเขาคอเคซัส
- Lynx lynx wardi, เทือกเขาอัลไต
- Lynx lynx wrangeli, ไซบีเรียตะวันออก
- Lynx lynx isabellinus, เอเชียกลาง
- Lynx lynx kozlovi, ที่ราบสูงไซบีเรียกลาง
- Lynx lynx stroganovi, ภูมิภาคอามูร์
- Lynx lynx sardiniae, ซาร์ดิเนีย†
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Breitenmoser, U., Mallon, D.P., von Arx, M. & Breitenmoser-Wursten, C (2008). Lynx lynx. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2 February 2008.
- ↑ "San Diego Zoo's Animal Bytes: Lynx". Sandiegozoo.org. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
- ↑ Boitani, Luigi, Simon & Schuster's Guide to Mammals. Simon & Schuster/Touchstone Books (1984), ISBN 978-0-671-42805-1
- ↑ 4.0 4.1 4.2 The Lynx Liaison, "มิติโลกหลังเที่ยงคืน". สารคดีทางไทยพีบีเอส: 5 เมษายน 2557
- ↑ "จดหมายจากซินเกียง : สวรรค์นาม 'คานาส'(จบ)". ไทยรัฐ. 13 August 2006. สืบค้นเมื่อ 6 April 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ELOIS – Eurasian Lynx Online Information System". Kora.ch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-04. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Lynx lynx |
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lynx lynx ที่วิกิสปีชีส์