ข้ามไปเนื้อหา

เอเซ็กชวล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอเซ็กชวล
A group of people holding an asexual pride banner
Manifestación WorldPride 2017 ที่กรุงมาดริด
นิยามการขาดการดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น มีความต้องการทางเพศหรือความสนใจในกิจกรรมทางเพศต่ำหรือไม่มี
ย่อace
หมวดหมู่ย่อย
ธง
ธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ชื่อธงธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ความหมายสีดำคือเอเซ็กชวล สีเทาคือเกรย์เอเซ็กชวล สีขาวคืออัลโลเซ็กชวล สีม่วงคือชุมชน

เอเซ็กชวลลิตี (อังกฤษ: asexuality) หรือ เอเซ็กชวล (อังกฤษ: asexual) เป็นการขาดการดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น มีความสนใจหรือความต้องการกิจกรรมทางเพศต่ำหรือไม่มี[1][2][3] อาจถือว่าเป็นทั้งรสนิยมทางเพศหรือการขาดรสนิยมทางเพศ[4][5][6] นอกจากนี้ยังมีการจัดหมวดหมู่ของเอเซ็กชวลที่กว้างขึ้น รวมไปถึงสเปกตรัมโดยกว้าง ๆ ของอัตลักษณ์ย่อยของเอเซ็กชวล[7]

เอเซ็กชวลแตกต่างจากการงดเว้นกิจกรรมทางเพศและแตกต่างจากการอยู่เป็นโสด[8][9] ซึ่งได้รับอิทธิพลโดยทั่วไปจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตัวบุคคล สังคม และความเชื่อทางศาสนาของบุคคลนั้น ๆ[10] รสนิยมทางเพศแตกต่างจากพฤติกรรมทางเพศ ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ "ถาวร"[11] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลบางคนมีกิจกรรมทางเพศ แม้ว่าจะขาดการดึงดูดทางเพศหรือความต้องการทางเพศด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ต้องการสร้างความสุขกับตนเองหรือคู่รัก หรือต้องการมีบุตร[8][12]

การยอมรับเอเซ็กชวลในฐานะรสนิยมทางเพศและในขอบเขตของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่[2][12] เนื่องจากการวิจัยทั้งในมุมมองด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยากำลังอยู่ในขั้นเริ่มพัฒนา[12] ขณะที่นักวิจัยบางคนยืนยันว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศ แต่ก็มีนักวิจัยคนอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย[4][5] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลอาจมีอยู่ร้อยละ 1 ของประชากร[2]

ชุมชนเอเซ็กชวลหลายแห่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมเริ่มแพร่หลายในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ชุมชนที่มีจำนวนสมาชิกมากและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2001 โดยเดวิด เจย์[4][13]

คำนิยาม อัตลักษณ์ และความสัมพันธ์

[แก้]

เนื่องจากมีความหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญในหมู่ผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวล คำว่า "เอเซ็กชวล" จึงสามารถครอบคลุมคำนิยามโดยกว้าง ๆ[14] นักวิจัยโดยทั่วไปให้คำนิยามของ "เอเซ็กชวล" ว่าเป็นการขาดการดึงดูดทางเพศหรือขาดความสนใจในกิจกรรมทางเพศ[4][12][15] แม้ว่ามีคำนิยามอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไปจากนี้ คำว่า "เอเซ็กชวล" อาจใช้กล่าวถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมทางเพศน้อยหรือไม่มีเลย หรือใช้กล่าวถึงเพิ่มเติมถึงการมีความต้องการทางเพศหรือการดึงดูดทางเพศต่ำหรือไม่มีโดยเฉพาะระหว่างคู่รักที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศ[12][16]

เอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์ก (เอเว็น) ซึ่งเป็นฟอรัมออนไลน์ที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นชุมชนออนไลน์ของเอเซ็กชวล ให้คำนิยามของ "เอเซ็กชวล" ว่า "ผู้ที่ไม่มีการประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ" และยังเสริมว่าเอเซ็กชวล "โดยแก่นแท้" เป็น "เพียงคำทีผู้คนใช้เพื่อช่วยให้ค้นพบตัวเอง" และสนับสนุนให้ผู้คนใช้คำว่า เอเซ็กชวล เพื่อนิยามตนเอง "ตราบเท่าที่สมเหตุสมผลที่จะเรียกเช่นนั้น"[17] เอเซ็กชวลมักเรียกโดยย่อว่า เอซ (ace) เป็นคำย่อจากการออกเสียงว่า เอเซ็กชวล[18] และชุมชนของเอเซ็กชวลโดยรวมก็ถูกเรียกว่า ชุมชนเอซ (ace community)[19][20]

ความสัมพันธ์

[แก้]

แม้ว่าเอเซ็กชวลไม่มีการดึงดูดทางเพศ แต่เอเซ็กชวลบางคนอาจมีความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติกที่บริสุทธิ์ ในขณะที่บางคนอาจไม่มี[4][21] บางคนที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลกล่าวว่าตนมีประสบการณ์ดึงดูดทางเพศ แม้ว่าจะไม่มีความต้องการที่จะมีกิจกรรมทางเพศ เอเซ็กชวลบางคนก็ขาดความต้องการที่จะมีกิจรรรมทางกายที่ไม่ใช่ทางเพศเช่นการกอดหรือการจับมือ ในขณะที่เอเซ็กชวลคนอื่น ๆ ก็อาจจะเลือกที่จะทำกิจกรรมดังกล่าว[8][9][12][14] คนที่เป็นเอเซ็กชวลอาจจะแสวงหาความสัมพันธ์ที่ไม่มีความโรแมนติกและไม่มีกิจกรรมทางเพศ เรียกว่าเป็น "ความสัมพันธ์แบบเควียร์เพลโตนิก"[18]

เอเซ็กชวลบางคนอาจจะมีกิจกรรมทางเพศเนื่องจากความอยากรู้อยากเห็น[12] บางคนอาจจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในรูปการปลดปล่อยเดี่ยว ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น[14][22][23] ความต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ มักถูกเรียกโดยเอเซ็กชวลว่าเป็น แรงขับดันทางเพศ (sex drive) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แยกต่างหากจากการดึงดูดทางเพศและการเป็นเอเซ็กชวล เอเซ็กชวลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยทั่วไปถือว่าเป็นการปล่อยสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ตามปกติ มากกว่าจะถือว่าเป็นสัญญาณของเรื่องเพศแอบแฝง และเอเซ็กชวลบางคนก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าพึงพอใจ[12][24] ชายที่เป็นเอเซ็กชวลบางคนไม่สามารถทำให้เกิดการแข็งตัวขององคชาตและไม่สามารถสอดใส่ได้[25] เอเซ็กชวลแต่ละคนยังมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องกิจกรรมทางเพศ บางคนอาจมีกิจกรรมทางเพศเพื่อประโยชน์ของคู่รัก ในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ชอบแนวคิดนี้อย่างมาก แม้ว่าเอเซ็กชวลโดยทั่วไปจะไม่ได้ต่อต้านเรื่องเพศโดยภาพรวมก็ตาม[12][14][23]

แผนภาพอย่างง่ายของสเปกตรัมเอโรแมนติกและเอเซ็กชวล

หลายคนที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลก็อาจจะเลือกรับอัตลักษณ์อื่น ซึ่งมักรวมถึงอัตลักษณ์ทางสถานะเพศและรสนิยมทางโรแมนติกประเภทต่าง ๆ ด้วย[26] เหล่านี้มักรวมเข้ากับอัตลักษณ์เอเซ็กชวลของบุคคล และเอเซ็กชวลอาจระบุตนว่าเป็นเฮเทโรเซ็กชวล เลสเบียน เกย์ หรือไบเซ็กชวลในแง่ความความโรแมนติกหรืออีกด้านหนึ่งของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศนอกเหนือไปจากการระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวล[21] ในแง่ที่เป็นโรแมนติกของรสนิยมทางเพศก็อาจระบุได้ด้วยอัตลักษณ์โรแมนติกที่หลากหลาย เช่น ไบโรแมนติก เฮเทโรโรแมนติก โฮโมโรแมนติก หรือแพนโรแมนติก และผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางโรแมนติกอาจระบุตนด้วยคำว่าเอโรแมนติก[14][21] การแยกจากกันระหว่างรสนิยมทางโรแมนติกและรสนิยมทางเพศนี้อธิบายได้โดยทั่วไปด้วยแบบจำลองการดึงดูดแบบแยกส่วน (split attraction model) ซึ่งระบุว่าความดึงดูดทางโรแมนติกและความดึงดูดทางเพศไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างเคร่งครัดสำหรับทุกผู้คน บุคคลผู้ที่เป็นทั้งเอโรแมนติกและเอเซ็กชวลบางครั้งจะรู้จักในคำเรียกว่า "เอโร-เอซ" ("aro-ace" หรือ "aroace")[27]

เกรย์เอเซ็กชวล

[แก้]

คำว่า "เกรย์เอเซ็กชวล" หมายถึงสเปกตรัมระหว่างเอเซ็กชวลและที่ไม่ใช่เอเซ็กชวล (มักระบุว่าว่าเป็นอัลโลเซ็กชวล)[28] บุคคลผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเกรย์เอเซ็กชวลอาจมีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศเป็นครั้งคราว หรือเพียงมีประสบการณ์ดึงดูดทางเพศในฐานะองค์ประกอบรองเมื่อมีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงและแน่นแฟ้นกับคู่เป้าหมาย รู้จักในคำเรียกว่า เดมิเซ็กชวล[14][29]

งานวิจัย

[แก้]

ความแพร่หลาย

[แก้]
มาตราคินซีย์ของการตอบสนองทางเพศ บ่งบอกถึงระดับของรสนิยมทางเพศ มาตราดั้งเดิมมีการกำหนดให้ "เอ็กซ์" (X) บ่งบอกถึงการขาดพฤติกรรมทางเพศ[30]

นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลมีจำนวนน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรหรือน้อยกว่า[31] เอเซ็กชวลไม่ใช่เรื่องใหม่ในเพศวิถีของมนุษย์ แต่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในวจนิพนธ์ระดับสาธารณะ[32] เมื่อเทียบกับเพศวิถีอื่น ๆ แล้ว เอเซ็กชวลได้รับความสนใจน้อยจากชุมชนวิทยาศาสตร์ โดยมีข้อมูลเชิงปริมาณเกี่ยวกับความแพร่หลายของเอเซ็กชวลในจำนวนที่น้อย[33][34] เอส. อี. สมิท (S. E. Smith) แห่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนไม่แน่ใจว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แต่ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางเชื่อว่าพบเห็นได้มากขึ้น[32] อัลเฟรด คินซีย์ (Alfred Kinsey) จำแนกบุคคลตั้งแต่ระดับ 0 หรือ 6 ตามรสนิยมทางเพศของแต่ละบุคคลตั้งแต่เฮเทโรเซ็กชวล (ดึงดูดทางเพศต่อคนต่างเพศ) ถึงโฮโมเซ็กชวล (ดึงดูดทางเพศต่อคนเพศเดียวกัน) รู้จักในชื่อว่ามาตราคินซีย์ (Kinsey scale) เขายังรวมประเภทที่เรียกว่า "เอ็กซ์" (X) สำหรับบุคคลที่ "ไม่มีการสัมผัสหรือปฏิกิริยาทางสังคมและทางเพศ"[35][36] แม้ว่าในปัจจุบัน ลักษณะนี้จัดอยู่ในประเภทตัวแทนของเอเซ็กชวล[37] นักวิชาการจัสติน เจ. เลห์มิลเลอร์ (Justin J. Lehmiller) กล่าวว่า "ประเภทเอ็กซ์ของคินซีย์ให้ความสำคัญของการขาดพฤติกรรมทางเพศ ในขณะที่คำนิยามสมัยใหม่ของเอเซ็กชวลให้ความสำคัญกับการขาดการดึงดูดทางเพศ ด้วยเหตุนี้มาตราคินซีย์จึงอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการจำแนกประเภทของเอเซ็กชวลอย่างถูกต้อง"[30] คินซีย์ระบุว่าร้อยละ 1.5 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่จัดอยู่ในประเภทเอ็กซ์[35][36] ในหนังสือเล่มที่สองของคินซีย์ที่ชื่อ เซ็กชวลบีเฮฟวิเออร์อินเดอะฮิวแมนฟีเมล (Sexual Behavior in the Human Female; แปลว่า พฤติกรรมทางเพศในมนุษย์เพศหญิง) ได้รายงานรายละเอียดของบุคคลจัดอยู่ในประเภทเอ็กซ์ว่า: ผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน = 14–19%, ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว = 1–3%, ผู้หญิงที่เคยแต่งงาน = 5–8%, ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงาน = 3–4%, ผู้ชายที่แต่งงานแล้ว = 0%, และผู้ชายที่เคยแต่งงาน = 1–2%[36]

ข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประชากรที่เป็นเอเซ็กชวลปรากฏในปี พ.ศ. 2537 เมื่อคณะนักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ทำการสำรวจประชากรชาวอังกฤษจำนวน 18,876 คน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการข้อมูลเกี่ยวกับเพศในช่วงการระบาดของโรคเอดส์ การสำรวจใช้คำถามเกี่ยวกับการดึงดูดทางเพศ ซึ่งร้อยละ 1.05 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าตน "ไม่เคยรู้สึกดึงดูดทางเพศกับใครเลย"[38] การศึกษาปรากฏการณ์นี้ดำเนินต่อไปโดยแอนโทนี โบแกร์ต (Anthony Bogaert) นักวิจัยด้านเพศวิถีชาวแคนาดาในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสำรวจประชากรเอเซ็กชวลในชุดการศึกษา งานวิจัยของโบแกร์ตระบุว่าร้อยละ 1 ของประชากรอังกฤษไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ แต่เขาเชื่อว่าตัวเลขร้อยละ 1 นี้ไม่ได้สะท้อนถึงสัดส่วนประชากรที่อาจระบุได้ว่าเป็นเอเซ็กชวลที่อาจมีจำนวนมากกว่านี้ได้อย่างถูกต้อง สังเกตได้ว่าร้อยละ 30 ของผู้ที่ได้รับการติดต่อเพื่อขอสำรวจในครั้งแรกจะไม่เข้าร่วมในการสำรวจ เนื่องจากผู้ที่มีประสบการณ์ทางเพศน้อยมักจะปฏิเสธที่เข้าร่วมการศึกษาเกี่ยวกับเพศวิถี และผู้ที่เป็นเอเซ็กชวลมักมีประสบการณ์ทางเพศน้อยกว่าผู้ที่เป็นอัลโลเซ็กชวล (มีการดึงดูดทางเพศ) จึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่เป็นเอเซ็กชวลจะมีตัวแทนประชากรน้อยเกินควรในหมู่ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม การศึกษาเดียวกันนี้พบว่าจำนวนผู้ที่เป็นโฮโมเซ็กชวลและไบเซ็กชวลมีจำนวนรวมกันประมาณร้อยละ 1.1 ของประชากร ซึ่งน้อยกว่าที่การศึกษาอื่น ๆ ระบุไว้อย่างมาก[15][39]

ในการศึกษาของไอค์เคน (Aicken) และคณะ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2556 ให้ข้อมูลที่แตกต่างกับตัวเลขร้อยละ 1 ของโบแกร์ต ชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลนัตซัล-2 (Natsal-2) ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2544 ความแพร่หลายของเอเซ็กชวลในอังกฤษมีเพียงร้อยละ 4 ในช่วงอายุ 16-44 ปี[16][40] สัดส่วนนี้บ่งบอกว่าลดลงจากตัวเลขร้อยละ 0.9 ที่ระบุจากข้อมูตนัตซัล-1 (Natsal-1) ที่รวบรวมมาในช่วงอายุเดียวกันเมื่อสิบปีก่อน[40] การวิเคราะห์ในปี พ.ศ. 2558 โดยโบแกร์ตยังพบการลดลงที่คล้ายคลึงกันระหว่างข้อมูลนัตซัล-1 และนัตซัล-2[41] ไอค์เค็น, เมอร์เซอร์ (Mercer) และคาสเซล (Cassell) พบหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของผู้ตอบแบบถามที่ไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มาจากอินเดียและปากีสถานมีแนวโน้มสูงที่จะรายงานว่าขาดการดึงดูดทางเพศ[40]

ในการสำรวจที่จัดทำโดยยูกัฟ (YouGov) ในปี พ.ศ. 2558 ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษจำนวน 1,632 คนถูกถามให้ลองจำแนกตัวเองตามมาตราคินซีย์ ร้อยละ 1 ของผู้เข้าร่วมตอบว่า "ไม่มีเพศวิถี" รายละเอียดของผู้เข้าร่วมคือผู้ชายร้อยละ 0 และผู้หญิงร้อยละ 2 และเป็นร้อยละ 1 ในทุกช่วงอายุ[42]

รสนิยมทางเพศ สุขภาพจิต และสาเหตุ

[แก้]

มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศหรือไม่[4][5] เอเซ็กชวลถูกเปรียบให้เทียบเท่ากับภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป (hypoactive sexual desire disorder, HSDD) ซึ่งมาจากการวินิจฉัยในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 4 (DSM-4) ซึ่งทั้งสองกรณีบ่งบอกถึงการขาดการดึงดูดทางเพศกับบุคคลใด ๆ ภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปถูกนำมาใช้อ้างถึงเพื่อระบุเอเซ็กชวลให้เป็นปัญหาทางการแพทย์ แต่เอเซ็กชวลโดยทั่วไปไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติหรือการทำหน้าที่ผิดปรกติ (เช่น การไม่บรรลุจุดสุดยอดทางเพศ, ภาวะสิ้นยินดี เป็นต้น) เนื่องจากไม่จำเป็นต้องระบุว่าบุคคลนั้นมีปัญหาทางการแพทย์หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผู้อื่นทางสังคม[9][21][43] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลไม่เหมือนบุคคลที่มีภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป เพราะบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลโดยปกติไม่พบ "ความทุกข์ใจที่ชัดเจน" และ "ปัญหาระหว่างบุคคล" เกี่ยวกับความรู้สึกในเรื่องเพศวิถีหรือโดยทั่วไปขาดอารมณ์ทางเพศ เอเซ็กชวลคือเป็นการขาดหรือไม่มีการดึงดูดทางเพศเป็นลักษณะเฉพาะตลอดชีวิต[15][21] การศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อเทียบกับอาสามัครเป็นมีภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป บุคคลที่เป็นเป็นเอเซ็กชวลมีรายงานว่าระดับของความต้องการทางเพศ, ประสบการณ์ทางเพศ, ความทุกข์เกี่ยวกับเพศ และอาการซึมเศร้าในระดับต่ำ[44] นักวิจัยริชาดส์ (Richards) และบาร์เกอร์ (Barker) รายงานว่าเอเซ็กชวลไม่มีอัตราของภาวะการแสดงออกทางอารมณ์ช้า (alexithymia), ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่สมส่วน[21] อย่างไรก็ตาม บางบุคคลอาจระบุว่าเป็นเอเซ็กชวลแม้ว่าสภาวะที่ไม่ใช่เซ็กชวลจะอธิบายได้ด้วยความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อยหนึ่งอย่างก็ตาม[45]

ตั้งแต่มีการจำหน่ายของคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งแบ่งภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปออกเป็นการวินิจฉัยสำหรับภาวะความผิดปกติของการตื่นตัวทางเพศในเพศหญิง (female sexual arousal disorder) และภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปในเพศชาย (male hypoactive sexual desire disorder) ความผิดปกติทั้งสองอย่างนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นประเด็นปัญหาคล้ายคลึงกับภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป (HSDD)[46] แม้ว่าคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 จะกล่าวถึงเอเซ็กชวลว่าเป็นเกณฑ์คัดออกจากความผิดปกติทั้งสองอย่างนี้ แตจำเป็นที่บุคคลต้องระบุตัวเองว่าเป็นเอเซ็กชวลเพื่อให้เข้าข่ายการวินิจฉัยแยกส่วนต่าง และข้อกำหนดนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกำหนดบังคับการวินิจฉัยให้บุคคลที่อาจจะเป็นเอเซ็กชวล แต่ยังไม่ระบุตนเองว่าเป็นเอเซ็กชวล[47] จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2564 ภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปยังคงถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายหญิงข้ามเพศ (ทรานเจนเดอร์)[48]

การศึกษาแรกที่ให้ข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับเอเซ็กชวลตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2526 โดยพอลลา นูเรียส (Paula Nurius) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรสนิยมทางเพศและสุขภาพจิต[49] อาสาสมัคร 689 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เรียนในชั้นเรียนวิชาจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา ได้รับการสำรวจหลายครั้งโดยรวมถึงการใช้มาตราวัดความอยู่ดี 4 ด้าน ผลการสำรวจพบว่าเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีความภูมิใจแห่งตน (self-esteem) ต่ำและมีแนวโน้มจะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าสมาชิกที่มีรสนิยมทางเพศอื่น ๆ ร้อยละ 25.88 ของเฮเทโรเซ็กชวล, ร้อยละ 26.54 ของไบเซ็กชวล (เรียกว่า "แอมไบเซ็กชวล"), ร้อยละ 29.88 ของโฮโมเซ็กชวล และร้อยละ 33.57 ของเอเซ็กชวลมีรายงานว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความภูมิใจแห่งตน และมีแนวโน้มคล้ายกันที่จะเป็นภาวะซึมเศร้า นูเรียสไม่เชื่อว่าผลการสำรวจนี้ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนด้วยเหตุผลหลายประการ[49][50]

ในการศึกษาปี พ.ศ. 2556 ยูล (Yule) และคณะ ตรวจสอบความแปรปรวนของสุขภาพจิตระหว่างชาวคอเคเซียนที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล, โฮโมเซ็กชวล, ไบเซ็กชวล และเอเซ็กชวล ผลการวิจัยรวมผู้เข้าร่วมชาย 203 คนและหญิง 603 คน ยูลและคณะพบว่าผู้เข้าร่วมชายที่เป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มจะรายงานว่าความผิดปกติทางอารมณ์มากกว่าผู้ชายคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมชายที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล กรณีเดียวกันนี้พบในผู้เข้าร่วมหญิงที่เป็นเอเซ็กชวลเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมหญิงที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ไม่ใช่เฮโทโรเซ็กชวลและไม่ใช่เอเซ็กชวลมีอัตราของความผิดปกติทางอารมณ์ที่สูงที่สุด ผู้ร่วมทั้งสองเพศที่เป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีภาวะวิตกกังวลมากว่าผู้เข้าร่วมที่เป็นเฮเทโรเซ็กซลและที่ไม่เป็นเฮเทโรเซ็กชวลคนอื่น ๆ เนื่องจากผู้เข้าร่วมเป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีรายงานว่ามีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ มากกว่าผู้เข้าร่วมที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล ยูลและคณะตั้งสมมติฐานว่าความแตกต่างบางประการอาจเกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ[51]

ในเรื่องเกี่ยวกับประเภทของรสนิยมทางเพศ เอเซ็กชวลอาจถูกโต้แย้งว่าไม่ใช่ประเภทที่มีความสำคัญที่จะเพิ่มไปในความต่อเนื่องของรสนิยมทางเพศ แทนที่จะถูกโต้แย้งว่าเป็นการขาดรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถี[5] ข้อโต้แย้งอื่น ๆ เสนอว่าเอเซ็กชวลเป็นการปฏิเสธเพศวิถีตามธรรมชาติของบุคคล และเป็นความผิดปกติที่เกิดจากความละอายในเรื่องเพศ, ความวิตกกังวล หรือการล่วงละเมิดทางเพศ บางครั้งมีการใช้ความเชื่อดังกล่าวนี้ในการอธิบายถึงเอเซ็กชวลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือมีกิจกรรมทางเพศเป็นครั้งคราวเพื่อเอาใจคู่รัก[5][23][25] ในบริบททางการเมืองของเรื่องอัตลักษณ์รสนิยมทางเพศ เอเซ็กชวลอาจช่วยเติมเต็มหน้าที่ทางการเมืองของประเภทอัตลักษณ์รสนิยมทางเพศได้ในทางปฏิบัติ[28]

ความคิดเห็นที่ว่าเอเซ็กชวลเป็นความผิดปกติทางเพศเป็นที่ถกเถียงกันในชุมชนเอเซ็กชวล ผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลมักเห็นว่าควรจะถือว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศ[4] นักวิชาการที่โต้แย้งว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศอาจชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป[5][8][25] นักวิชาการเหล่านี้และบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลหลายคนเชื่อว่าการขาดการดึงดูดทางเพศก็ชัดเจนเพียงพอแล้วที่จะจัดให้เป็นประเภทหนึ่งของรสนิยมทางเพศ[52] นักวิจัยโต้แย้งว่าเอเซ็กชวลไม่ได้เลือกที่จะไม่มีการต้องการทางเพศ และโดยทั่วไปจะเริ่มค้นหาความแตกต่างในพฤติกรรมทางเพศในช่วงวัยรุ่น ด้วยเหตุที่ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเอเซ็กชวลเป็นมากกว่าทางเลือกทางพฤติกรรม และไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะรักษาได้เหมือนความผิดปกติ[25][53] นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าการระบุตนว่าเอเซ็กชวลกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นหรือไม่[54]

การวิจัยเกี่ยวกับสมุฏฐานวิทยาของรสนิยมทางเพศเมื่อนำมาใช้กับเอเซ็กชวลก็มีปัญหาเกี่ยวกับคำนิยามของรสนิยมทางเพศที่ไม่ได้รับการนิยามอย่างสอดคล้องโดยนักวิจัยว่ารวมไปถึงเอเซ็กชวลด้วย[55] ในขณะที่ความเป็นเฮเทโรเซ็กชวล โฮโมเซ็กชวล และไบเซ็กชวลมักระบุได้ในช่วงปีแรก ๆ ของวัยก่อนวัยรุ่น (แม้จะไม่เสมอไป) ด้านความเป็นเอเซ็กชวลไม่ทราบแน่ชัดว่าระบุได้เมื่อใด "ไม่แน่ชัดว่าลักษณะเหล่านี้ [หมายถึง "การขาดความสินใจหรือความต้องการทางเพศ"] ถูกคิดว่าสิ่งที่เป็นตลอดชีพ หรืออาจจะได้รับมา"[12]

เกณฑ์หนึ่งที่มักใช้กำหนดรสนิยมทางเพศมักจะเสถียรขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ในการวิเคราะห์ในปี พ.ศ. 2559 ในวารสาร อาร์ไคฟ์ออฟเซ็กซ์บีเฮฟวิเออร์ (Archives of Sexual Behavior) บร็อตโต (Brotto) และคณะพบว่า "มีเพียงข้อมูลสนับสนุนที่อ่อน" สำหรับเกณฑ์นี้ที่พบในบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวล[56] การวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวระดับชาติเกี่ยวกับสุขภาพวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ (National Longitudinal Study of Adolescent to Adult Health) โดย สตีเวน เครนเนย์ (Stephen Cranney) พบว่าบุคคล 14 คน[a] ที่รายงานว่าไม่มีการดึงดูดทางเพศในการศึกษาระลอกที่ 3 (ซึ่งอาสาสมัครมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 26 ปี) มีเพียง 3 คนที่ระบุเช่นเดิมในระลอกที่ 4 หลังจากนั้น 6 ปี[58] อย่างไรก็ตาม เครนนีย์สังเกตว่าการระบุอัตลักษณ์ของเอเซ็กชวลในระลอกที่ 3 ยังคงมีความสำคัญในฐานะตัวทำนายของการระบุอัตลักษณ์เอเซ็กชวลในระลอกถัดไป เครนนีระบุว่าการตีความข้อมูลนี้มีความซับซ้อนเนื่องจากไม่มี "มาตรฐานเชิงปริมาณใด ๆ ที่กำหนดว่าความต้องการทางเพศจะต้องคงอยู่นานแค่ไหนก่อนที่จะถือว่าเสถียรหรือมีมากเพียงพอที่จะถือว่าเป็นรสนิยม"[57]

กิจกรรมทางเพศและเพศวิถี

[แก้]

ขณะที่เอเซ็กชวลบางคนสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในรูปการปลดปล่อยเดี่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของคู่รัก ส่วนเอเซ็กชวลคนอื่นไม่ทำเช่นนั้น (ดูด้านบน)[12][14][22] ฟิสเชอร์ (Fischer) และคณะรายงานว่า "นักวิชาการที่ศึกษาสรีรวิทยาเกี่ยวกับเอเซ็กชวลให้ความเห็นว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลสามารถกระตุ้นอวัยวะเพศให้ตื่นตัวได้ แต่อาจประสบความยากลำบากกับสิ่งที่เรียกว่าการตื่นตัวเชิงจิตวิสัย (subjective arousal)" หมายความว่า "ในขณะที่ร่างกายเกิดการตื่นตัวทางเพศ ในเชิงจิตวิสัยคือที่ระดับของจิตใจและอารมณ์แล้ว จะไม่รู้สึกถึงการตื่นตัวตามไปด้วย"[16]

สถาบันคินซีย์สนับสนุนการสำรวจขนาดเล็กอีกครั้งในหัวข้อนี้ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งพบว่าผู้ระบุตนเองว่าเป็นเอเซ็กชวล "รายงานว่ามีความต้องการทางเพศกับคู่นอนน้อยลง ความสามารถในการตื่นตัวทางเพศน้อยลง และการเร้าทางเพศน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ที่ไม่ใช่เอเซ็กชวลในเรื่องระดับความยับยั้งทางเพศหรือความต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง[12]

บทความปี พ.ศ. 2520 ชื่อเรื่องว่า เอเซ็กชวลแอนด์ออโตเอโรติกวีเมน: ทูอินวิซิเบิลกรุปส์ (Asexual and Autoerotic Women: Two Invisible Groups; แปลว่า "หญิงเอเซ็กชวลและออโตเอโรติก: สองกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็น") โดยไมรา ที. จอห์นสัน (Myra T. Johnson) เป็นบทความที่อุทิศให้ความเป็นเอเซ็กชวลในมนุษย์อย่างชัดเจน[59] จอห์นสันให้คำนิยามของเอเซ็กชวลเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง "ที่ดูเหมือนจะไม่ชอบการมีกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าสภาพทางร่างกายและจิตใจ ประวัติทางเพศที่แท้จริง และสถานภาพสมรสหรือแนวทางทางอุดมการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม" จอห์นสันเปรียบผู้หญิงที่เป็นออโตเอโรติก (พึงพอใจกับการหาความสุขทางเพศจากร่างกายตนเอง) กับผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวลว่า "ผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวล ... ไม่มีความต้องการทางเพศเลย [แต่] ผู้หญิงที่เป็นออโตเอโรติก ... ถือว่ามีความต้องการดังกล่าวแต่ชอบที่จะสนองความต้องการเพียงลำพัง" หลักฐานของจอห์นสันส่วนใหญ่เป็นจดหมายถึงบรรณาธิการซึ่งพบในนิตยสารผู้หญิงที่เขียนโดยผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวล/ออโตเอโรติก จอห์นสันกล่าวว่าพวกเธอเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ถูกมองเห็น "ถูกกดขี่โดยฉันทามติว่าพวกเธอไม่มีอยู่จริง" และถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังโดยทั้งขบวนการปฏิวัติทางเพศและขบวนการสตรีนิยม จอห์นสันแย้งว่าสังคมเพิกเฉยหรือปฏิเสธการมีตัวตนของพวกเธอและยืนกรานว่าพวกเธอจะต้องเป็นพวกผู้ถือสันโดษด้วยเหตุผลทางศาสนา เป็นโรคประสาท หรือเป็นเอเซ็กชวลด้วยเหตุผลทางการเมือง[59][60]

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2522 ในวารสารแอดวานซ์อินเดอะสทัดดีออฟอาฟเฟ็กต์ (Advances in the Study of Affect) ฉบับที่ 5 รวมถึงอีกบทความหนึ่งที่ใช้ข้อมูลเดียวกันและตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2523 ในวารสารเจอร์นัลออฟเพอร์ซันนาลิตีแอนด์โซเชียลไซโคโลจี (Journal of Personality and Social Psychology) ไมเคิล ดี. สตอมส์ (Michael D. Storms) แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสสรุปมโนทัศน์ใหม่ของตนเกี่ยวกับมาตราคินซีย์ โดยที่คินซีย์วัดรสนิยมทางเพศโดยพิจารณาจากพฤติกรรมทางเพศจริงร่วมกับจินตนาการและความต้องการทางเพศ สตอร์มใช้เฉพาะจินตนาการและความต้องการทางเพศ อย่างไรก็ตาม สตอร์มวางความต้องการทางเพศแบบต่างเพศและความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศไว้บนแกนที่แยกกันแทนที่จะอยู่ที่ปลายสองด้านของมาตราเดี่ยว ซึ่งช่วยให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความเป็นไบเซ็กชวล (แสดงทั้งความต้องการทางเพศแบบต่างเพศและร่วมเพศในระดับที่เทียบได้กับเฮเทโรเซ็กชวลและโฮโมเซ็กชวลตามลำดับ) และความเป็นเอเซ็กชวล (แสดงระดับความต้องการทางเพศแบบต่างเพศเมื่อเทียบกับเฮเทโรเซ็กชวล และระดับความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศเมื่อเทียบกับโฮโมเซ็กชวล เป็นระดับน้อยหรือไม่มีเลย) มาตรานี้มีการอธิบายถึงเอเซ็กชวลเป็นครั้งแรก[61] สตอมส์คาดการณ์ว่านักวิจัยจำนวนมากที่ดำเนินการตามมาตราของคินซีย์อาจจัดประเภทของเอเซ็กชวลผิดเป็นไบเซ็กชวล เพราะทั้งคู่ถูกกำหนดเพียงจากการขาดความพึงพอใจในเรื่องสภาวะเพศของคู่นอน[62][63]

ในการศึกษาในปี พ.ศ. 2526 โดยพอลลา นูเรียส ซึ่งรวมอาสาสมัคร 689 คน (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เรียนในชั้นเรียนวิชาจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา) มีการใช้มาตราวัดจินตนาการและมาตราวัดความต้องการทางเพศในสองมิติเพื่อวัดรสนิยมทางเพศ จากผลการศึกษา ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 สำหรับความต้องการทางเพศแบบต่างเพศ และจาก 0 ถึง 100 สำหรับความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศ ผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้คะแนนน้อยกว่า 10 ทั้งคู่จะถูกระบุว่าเป็น "เอเซ็กชวล" ซึ่งมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 5 ของผู้ชายและร้อยละ 10 ของผู้หญิง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเอเซ็กชวลรายงานถึงความถี่ของกิจกรรมทางเพศและความถี่ของความต้องการกิจกรรมทางเพศหลายหลายรูปแบบที่น้อยลงมาก ซึ่งรวมไปถึงการมีคู่นอนหลายคน กิจกรรมทางเพศทางทวารหนัก การมีเพศสัมพันธ์ในสถานที่ต่าง ๆ และกิจกรรมทางเพศด้วยตนเอง[49][50]

ชุมชน

[แก้]

ประวัติศาสตร์ของชุมชนเอเซ็กชวลยังไม่มีเอกสารในงานวิชาการในปัจจุบัน[64] แม้ว่าเว็บไซต์ส่วนตัวหลายแห่งสำหรับผู้อยู่ใต้คำนิยามของเอเซ็กชวลในภายหลังจะปรากฏออนไลน์ในช่วงทศวรรษ 1990[65] แต่นักวิชาการเชื่อว่าชุมชนของผู้ที่ระบุตัวเองว่าเป็นเอเซ็กชวลเริ่มต้นก่อตั้งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยได้รับการส่งเสริมจากความนิยมของชุมชนออนไลน์[66] ชุมชนขนาดเล็กที่มีออนไลน์ ได้แก่ "Leather Spinsters", "Nonolibidoism Society" และ "Haven for the Human Amoeba" จากเอกสารโดย Volkmar Sigusch[65] ในปี พ.ศ. 2544 นักเคลื่อนไหวสิทธิเดวิด เจย์ก่อตั้งเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์ก (เอเว็น) โดยมีเป้าเหมายคือ "สร้างการยอมรับและการอภิปรายเกี่ยวกับเอเซ็กชวลในระดับสาธารณะ และส่งเสริมการเติบโตของสังคมเอเซ็กชวล"[4][13]

เอเซ็กชวลบางคนเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในชุมชนเอเซ็กชวลเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากพวกเขามักจะแสดงความรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง[26] ชุนชนอย่างเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังค้นหาคำตอบเมื่อยังสงสัยในรสนิยมทางเพศของตน อย่างการให้การสนับสนุนหากใครรู้สึกว่าการขาดการดึงดูดทางเพศของตนเป็นสาเหตุของโรค ชุมชนเอเซ็กชวลออนไลน์ยังสามารถทำหน้าที่ให้ข้อมูลคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องเอเซ็กชวล.[67] อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมในชุนชนออนไลน์ในหมู่คนที่เป็นเอเซ็กชวลมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ของชุนชนออนไลน์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากชุมชนออนไลน์อย่างมาก จากข้อมูลของเอลิซาเบท แอบบอตต์ (Elizabeth Abbott) เอเซ็กชวลมักมีตัวตนในสังคมอยู่เสมอ แม้ว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลจะคงสถานะด้อยกว่าก็ตาม เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าในขณะที่ความล้มเหลวของสมรสเท่าเทียมถูกเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นศีลสมรสในยุคกลาง และบางครั้งถูกใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกการสมรส แต่เอเซ็กชวลจะไม่เคยถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายต่างจากโฮโมเซ็กชวล อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการสื่อสารออนไลน์และเครือข่ายสังคมเมื่อไม่นานมานี้เอื้อต่อการเติบโตของชุมชนที่สร้างขึ้นจากอัตลักษณ์เอเซ็กชวล[68]

คำว่า squish เป็นคำที่ใช้โดยชุมชนเอเซ็กชวลเพื่อระบุถึงการหลงรักของผู้ที่ไม่ใช่เซ็กชวล (ผู้มีการดึงดูดทางเพศต่อเพศตรงข้าม)[18]

สัญลักษณ์

[แก้]
ธงไพรด์ของเอเซ็กชวลประกอบด้วยแถบแนวนอนสีสีคือสีดำ เทา ขาว และม่วง จากบนลงล่าง
แหวนสีดำอาจจะสวมที่นิ้วกลางของมือข้างขวาเพื่อแสดงตนว่าเป็นเอเซ็กชวล

ในปี พ.ศ. 2552 สมาชิกของเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กเข้าร่วมในฐานะเอเซ็กชวลเป็นครั้งแรกในไพรด์พาเรดของอเมริกาที่ซานฟรานซิสโก[69] ในปี พ.ศ. 2553 หลังการถกเถียงเป็นระยะเวลาหนึ่งเกี่ยวกับการมีอยู่ของธงไพรด์เพื่อแสดงออกถึงเอเซ็กชวลรวมถึงระบบในการสร้างสรรค์ธงดังกล่าว ในที่สุดก็มีการประกาศธงไพรด์ของเอเซ็กชวลอย่างเป็นทางการ แบบสุดท้ายเป็นแบบที่ได้รับความนิยมและได้รับการให้คะแนนเสียงมากที่สุดจากการลงคะแนนเสียงแบบเปิดออนไลน์[70] สีของธงเป็นแถบแนวนอน 4 สีได้แก่สีดำ เทา ขาว และม่วง จากบนลงล่าง มีความหมายถึงเอเซ็กชวล เกรย์เอเซ็กชวล อัลโลเซ็กชวล และชุมชนตามลำดับ[71][72][73] ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเอเซ็กชวลทั้งหมด[70] สมาชิกบางคนของชุมชนเอเซ็กชวลเลือกที่จะสวมแหวนสีดำเพิ่มเติมที่นิ้วกลางของมือข้างขวา รู้จักกันในชื่อว่า "แหวนเอซ" (ace ring) เพื่อใช้ระบุตัวตนว่าเป็นเอเซ็กชวล[74] เอเซ็กชวลบางคนใช้ไพ่เอซเพื่อใช้ระบุรสนิยมทางโรแมนติกของตน เช่น เอซโพดำหมายถึงเอโรแมนติก และเอซโพแดงหมายถึงไม่ได้เป็นเอโรแมนติก[18]

กิจกรรม

[แก้]

ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กจัดงานประชุมเอเซ็กชวลนานาชาติครั้งที่สอง ในฐานะส่วนหนึ่งของงานอีเวนต์เวิลด์ไพรด์ในนครโทรอนโต งานประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในงานเวิร์ลไพรด์ 2012 เมื่อปี พ.ศ. 2555 ในกรุงลอนดอน[75] ในงานประชุมครั้งที่สองมีผู้เข้าร่วมราว 250 คน เป็นการชุมนุมของเอเซ็กชวลที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน[76] การประชุมประกอบด้วยการนำเสนอ การอภิปราย และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับเอเซ็กชวล ความสัมพันธ์แบบเอเซ็กชวล และอัตลักษณ์ร่วม

สัปดาห์เอซ (Ace Week) หรือเดิมมีชื่อว่า สัปดาห์แห่งความตระหนักรู้ของเอเซ็กชวล (Asexual Awareness Week) จัดขึ้นตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เป็นช่วงเวลาแห่งการตระหนักรู้ (awareness period) ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความความตระหนักรู้ถึงเอเซ็กชวล (รวมถึงเกรย์เอเซ็กชวล)[77][78] ก่อตั้งโดยซารา เบท บรูกส์ (Sara Beth Brooks) ในปี พ.ศ. 2553[79][80]

วันเอเซ็กชวลนานาชาติ (International Asexuality Day; IAD) เป็นงานเฉลิมฉลองประจำปีของชุมชนเอเซ็กชวลซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน[81] วัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้คือ "เพื่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยก้าวข้ามขอบเขตของกลุ่มผู้พูดภาษาอังกฤษและโลกตะวันตกไปไกลเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด"[82] คณะกรรมการระหว่างประเทศใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีในการเตรียมงาน รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์[83] คณะกรรมการนี้กำหนดให้วันที่จัดงานเป็นวันที่ 6 เมษายนเพื่อหลีกเลี่ยงการไปชนกับวันสำคัญอื่น ๆ จำนวนมากทั่วโลกเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าวันงานอาจต้องมีการทบทวนและอาจเปลี่ยนแปลงในปีถัด ๆ ไป[82][84] วันเอเซ็กชวลนานาชาติครั้งแรกเฉลิมฉลองในปี พ.ศ. 2564 และมีองค์กรของเอเซ็กชวลจากอย่างน้อย 26 ประเทศเข้าร่วม[81][85][86] กิจกรรมต่าง ๆ ในงานได้แก่ การพบปะเสมือนจริง, โปรแกรมสนับสนุนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ และการแบ่งปันเรื่องราวโดยศิลปะรูปแบบต่าง ๆ[87]

ศิลปะและวรรณกรรม

[แก้]
ดาร์ซี ลิตเติล แบดเจอร์ (Darcie Little Badger) เป็นเอเซ็กชวลและได้เขียนเรื่องสั้นหลายเรื่องและหนังสือหลายเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ของเอเซ็กชวล[88]

บันเทิงคดี

[แก้]

มีการตีพิมพ์ผลงานบันเทิงคดีหลายเรื่องที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับเอเซ็กชวล:

สารคดี

[แก้]
ไมเคิล พาราโม (Michael Paramo) เป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Aze และเป็นผู้เขียนหนังสือ Ending the Pursuit (ค.ศ. 2024)

มีการตีพิมพ์บทความและหนังสือสารคดีที่เกี่ยวกับเอเซ็กชวล:

ศาสนา

[แก้]

จากการศึกษาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและเอเซ็กชวลอย่างนัยสำคัญทางสถิติ[100] เนื่องจากการเป็นเอเซ็กชวลมีอยู่ทั้งในบุคคลที่นับถือศาสนาและบุคคลที่ไม่นับถือศาสนาด้วยสัดส่วนใกล้เคียงกัน[100] การเป็นเอเซ็กชวลเป็นเรื่องที่ปกติมากในหมู่นักบวชที่ถือพรหมจรรย์ เนื่องจากผู้ที่ไม่เป็นเอเซ็กชวลมักถูกกีดกันโดยคำสาบานแห่งพรหมจรรย์[39] จากการศึกษาของไอค์เคนและอื่น ๆ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวมุสลิมตอบว่าตนไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศรูปแบบใด ๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามชาวคริสต์ศาสนิกชน[100]

เนื่องจากการใช้คำว่า "เอเซ็กชวล" เพิ่งจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน ศาสนาส่วนใหญ่จึงไม่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้[101]

ในพระวรสารนักบุญมัทธิว 19:11-12 พระเยซูตรัสว่า "ไม่ใช่ทุกคนจะรับคำสอนนี้ได้ ยกเว้นคนที่พระเจ้าประทานให้เท่านั้น เพราะคนที่เป็นขันทีตั้งแต่เกิดก็มี คนที่มนุษย์ทำให้เป็นขันทีก็มี คนที่ทำตัวเองให้เป็นขันทีเพราะเห็นแก่แผ่นดินสวรรค์ก็มี ใครรับได้ก็ให้รับเอาเถิด"[102] อรรถกถาจารย์ของคัมภีร์ไบเบิลบางท่านตีความว่า "คนที่เป็นขันทีตั้งแต่เกิด" หมายความรวมถึงเอเซ็กชวลด้วย[102][103] ในขณะที่ศาสนาคริสต์ไม่ได้กล่าวถึงเอเซ็กชวลโดยตรง แต่ก็เคารพนับถือการถือพรหมจรรย์ เปาโลอัครทูตถูกเขียนระบุว่าเป็นผู้ถือพรหมจรรย์ ก็ได้รับการระบุโดยผู้เขียนบางคนว่าเป็นเอเซ็กชวล[104] เปาโลอัครทูตเขียนในพระธรรม 1 โครินธ์: 7:6–9 ว่า

ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เป็นการอนุญาต ไม่ใช่สั่ง ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นเหมือนข้าพเจ้า แต่ว่าแต่ละคนก็ได้รับของประทานของตัวเองจากพระเจ้า คนหนึ่งได้รับอย่างนี้ และอีกคนหนึ่งได้รับอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกับพวกที่ไม่แต่งงานและพวกแม่ม่ายว่า การที่พวกเขาจะอยู่เหมือนข้าพเจ้าก็ดีแล้ว แต่ถ้าควบคุมตัวไม่อยู่ ก็จงแต่งงานเสียเถิด เพราะว่าแต่งงานเสียก็ดีกว่ามีใจเร่าร้อนด้วยกามราคะ

การเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองทางกฎหมาย

[แก้]
การเดินขบวนของเอเซ็กชวลในไพรด์พาเรดในกรุงลอนดอน

การศึกษาในปี พ.ศ. 2555 ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกรุปโพรเซสเซสแอดน์อินเทอร์กรุปรีเลชันส์ (Group Processes & Intergroup Relations) รายงานว่าเอเซ็กชวลถูกตีตราในทางลบในแง่ของอคติ การลดทอนความเป็นมนุษย์ และการเลือกปฏิบัติมากกว่าชนกลุ่มน้อยทางเพศอื่น ๆ อย่างเกย์ เลสเบียน และไบเซ็กชวล ทั้งบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กชวลและเฮเทโรเซ็กชวลไม่เพียงมองบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลอย่างเย็นชา แต่มองเหมือนเป็นสัตว์ที่ไม่ถูกควบคุม[105] อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อชาวเอเซ็กชวลเพราะความเป็นเอเซ็กชวล[106] จูลี เด็กเกอร์ (Julie Decker) นักเคลื่อนไหว นักเขียน และบล็อกเกอร์ที่เป็นเอเซ็กชวลสังเกตเห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงต่อเอเซ็กชวลอย่างการข่มขืนเพื่อบำบัด มักทำให้ชุมชนเอเซ็กชวลกลายเป็นเหยื่อ[107] นักสังคมวิทยา มาร์ก คาร์ริกัน (Mark Carrigan) มองอย่างเป็นกลาง โต้แย้งว่าในขณะที่เอเซ็กชวลมักประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องของการเกลียดชัง แต่ "เป็นเรื่องของการทำให้เป็นคนชายขอบมากกว่า เพราะผู้คนไม่เข้าใจเอเซ็กชวลอย่างแท้จริง"[108]

เอเซ็กชวลยังต้องเผชิญหน้ากับอคติจากชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[52][107] บุคคลที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนนึกว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่โฮโมเซ็กชวลหรือไบเซ็กชวลจะต้องเป็นสเตรตหรือเฮเทโรเซ็กชวล[52] และมักแยกเอเซ็กชวลออกจากนิยามของเควียร์ของพวกตน[52] แม้ว่ามีองค์กรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[52] แต่องค์กรเหล่านี้โดยทั่วไปก็ไม่ได้เข้าถึงเอเซ็กชวล[52] และไม่จัดหาสื่อห้องสมุดเกี่ยวเอเซ็กชวล[52] เมื่อนักเคลื่อนไหวสิทธิซารา เบท (Sara Beth) เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนว่าเอเซ็กชวลก็ได้รับการบอกจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนว่าเอเซ็กชวลเข้าใจผิดในการระบุอัตลักษณ์ของตนและเรียกร้องความสนใจที่ไม่สมควรได้รับในการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในสังคม[107] องค์กรกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ อย่างเดอะเทรเวอร์โพรเจก (The Trevor Project) และกองกำลังเฉพาะแอลจีบีทีคิวแห่งชาติ (National LGBTQ Task Force) รวมเอเซ็กชวลไว้ด้วยอย่างชัดเจนเพราะว่าเอเซ็กชวลไม่ใช่เฮเทโรเซ็กชวล จึงสามารถรวมอยู่ในคำนิยามของเควียร์ได้[109][110] ปัจจุบันบางองค์กรได้เพิ่มอักษร A ให้กับคำย่อของ LGBTQ เพื่อรวมเอเซ็กชวลเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในบางองค์กรเควียร์[111]

ในบางเขตอำนาจตามกฎหมาย เอเซ็กชวลได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ประเทศบราซิลมีคำสั่งห้ามการระบุว่าเอเซ็กชวลเป็นอาการป่วยหรือการพยายามบำบัดรสนิยมทางเพศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ผ่านประมวลกฎหมายจริยธรรมแห่งชาติ[112] รัฐนิวยอร์กในประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าเอเซ็กชวลเป็นชนชั้นที่ได้รับการคุ้มครอง[113] อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเอเซ็กชวลไม่เป็นที่สนใจในระดับสาธารณะหรือถูกรวมอยู่ในการพิจารณาครั้งสำคัญ จึงไม่เป็นประเด็นทางกฎหมายเท่ากับรสนิยมทางเพศอื่น ๆ[39]

ในสื่อ

[แก้]
เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ตั้งใจเสนอภาพเชอร์ล็อก โฮมส์ที่เป็นตัวละครของตนให้เป็นผู้ที่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นเอเซ็กชวล[114]

การแสดงภาพเอเซ็กชวลในสื่อมีจำกัดและไม่ได้ค่อยมีการเปิดเผยหรือยืนยันโดยผู้สร้างหรือนักเขียน[115] ในผลงานที่สร้างขึ้นก่อนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตัวละครมักถูกสันนิษฐานโดยอัตโนมัติว่าเป็นเซ็กชวล (ผู้ที่มีการดึงดูดทางเพศ)[116] และการมีอยู่ของเพศวิถีของตัวละครไม่เคยถูกตั้งคำถาม[116] เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์เสนอภาพเชอร์ล็อก โฮมส์ที่เป็นตัวละครของตนให้เป็นผู้ที่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นเอเซ็กชวล[114] ด้วยความตั้งใจจะบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักดันมีเพียงสติปัญญา และมีภูมิคุ้มกันต่อความปรารถนาทางเนื้อหนังมังสา[114] จักเฮด โจนส์ ตัวละครของอาร์ชีคอมิกส์ก็มีแนวโน้มว่าจะถูกสร้างให้เป็นเอเซ็กชวลโดยผู้สร้างเพื่อให้เป็นขั้วตรงข้ามกับอาร์ชี แอนดรูว์ซึ่งเป็นเฮเทโรเซ็กชวล อย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี การแสดงภาพได้เปลี่ยนแปลง มีการทำซ้ำและรีบูตหลายชุดของซีรีส์ที่บอกโดยนัยว่าจักเฮดอาจเป็นเกย์หรืออาจเป็นเฮเทโรเซ็กชวล[114][117] ในปี พ.ศ. 2559 จักเฮดได้รับการยืนยันว่าเป็นเอเซ็กชวลในคอมิกของจักเฮดชุด นิวริเวอร์เดล[117] ผู้เขียนบทของรายการโทรทัศน์ ริเวอร์เดลในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งสร้างจากคอมิกของอาชี เลือกจะแสดงภาพของจักเฮดว่าเป็นเฮเทโรเซ็กชวล แม้ว่าจะได้รับการเรียกร้องจะแฟน ๆ รวมถึงโคล สเพราส์นักแสดงผู้รับบทจักเฮดให้คงความเป็นเอเซ็กชวลของจักเฮด และให้ชุมชนของเอเซ็กชวลร่วมแสดงตัวตนร่วมกับชุมชนเกย์และไบเซ็กชวล ซึ่งทั้งเกย์และไบเซ็กชวลมีการนำเสนอในรายการทั้งคู่[118] การตัดสินใจนี้จุดชนวนให้การการสนทนาวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการลบเอเซ็กชวลในสื่อออกโดยเจตนารวมถึงผลที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชมอายุน้อย[119]

แอนโทนี โบแกร์ตจำแนกให้กิลลิกันซึ่งเป็นตัวละครในซีรีส์โทรทัศน์ในทศวรรษ 1960 เรือง กิลลิกันส์ไอส์แลนด์ (Gilligan's Island) ว่าเป็นเอเซ็กชวล[114] โบแกร์ตให้ความเห็นว่าผู้ผลิตของรายการน่าจะเสนอภาพให้กิลลิกันเป็นเอเซ็กชวลเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมรายการที่เป็นเด็กหนุ่มที่ยังไม่เข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์และคาดว่ายังไม่มีความต้องการทางเพศ[114] ความเป็นเอเซ็กชวลของกิลลิกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตจงใจสร้างสถานการณ์ที่ตลกขบขันที่กิลลิกันปฏิเสธการเข้ามาตีสนิทกับหญิงที่มีเสน่ห์[114] ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ มักมีตัวละครหญิงที่มีเสน่ห์แต่ดูเหมือนจะเป็นเอเซ็กชวล ซึ่งถูกตัวละครเอกชายทำให้ "กลับใจ" เป็นเฮเทโรเซ็กชวลในตอนจบของรายการ[114] การแสดงภาพที่ไม่สมจริงเหล่านี้สะท้อนความเชื่อของชายที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวลว่าผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวลทุกคนแอบต้องการผู้ชาย[114]

เอเซ็กชวลในฐานะอัตลักษณ์ทางเพศแทนที่ในฐานะตัวตนทางชีววิทยากลายเป็นที่อภิปรายอย่างกว้างขวางในสื่อในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21[115] ซีรีส์ของเครือข่ายฟ็อกซ์เรื่อง หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย (House หรือ House, M.D.) นำเสนอคู่รัก "เอเซ็กชวล" ในตอน "ครึ่งที่ดีกว่า" (Better Half; พ.ศ. 2555) อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนี้ถูกตั้งคำถามโดยสมาชิกของชุมชนเอเซ็กชวล เนื่องจากในตอนเผยว่าฝ่ายชายมีเนื้องอกต่อมของต่อมใต้สมองทำให้ความต้องการทางเพศลดลง และฝ่ายหญิงแสร้งทำเป็นเอเซ็กชวลเพื่อเอาใจเขา[120] นำไปสู่การโต้แย้งเกี่ยวกับนำเสนอนี้และมีคำร้องทางเชนจ์.โออาร์จีเพื่อให้เครือข่ายฟ็อกซ์พิจาณาใหม่เกี่ยวกับการนำเสนอตัวละครเอเซ็กชวลในอนาคต โดยกล่าวว่า "นำเสนอเอเซ็กชวลได้แย่มากที่ระบุว่าเป็นทั้งอาการป่วยทางการแพทย์และการหลอกลวง"[120] ตัวละครในบันเทิงคดีที่เป็นเอเซ็กชวลอื่น ๆ ได้แก่ สพันจ์บ็อบและแพทริคเพื่อนสนิท จาก สพันจ์บ็อบ สแควร์แพนส์[121][122][123] และท็อดด์ ชาเวส จากโบแจ๊ค ฮอร์สแมน (เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเป็นอย่างดีจากชุมชนเอเซ็กชวลว่าเป็นการนำเสนอในเชิงบวก)[124]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. เลขตัวหารนี้เขียนผิดเป็น 25 คนในบทคัดย่อของการศึกษาระยะต้นของเครนนีย์ จำนวนบุคคลที่รายงานว่าไม่มีการดึงดูดทางเพศในระลอกที่ 3 คือ 14 คน ตามตารางที่ 2 ย่อหน้าแรกของหัวข้อ "การวิเคราะห์หลายตัวแปร" (Multivariate Analysis) และตามคำอธิบายที่ตามมาของเครนนีย์ว่า "โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก 14 คนที่ระบุว่า 'ไม่มีการดึงดูดทางเพศ' ในระลอกที่ 3 มีเพียง 3 คนที่ระบุเช่นเดิมในระลอกที่ 4 (ตารางที่ 2)"[57]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Robert L. Crooks; Karla Baur (2016). Our Sexuality. Cengage Learning. p. 300. ISBN 978-1305887428. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  2. 2.0 2.1 2.2 Katherine M. Helm (2015). Hooking Up: The Psychology of Sex and Dating. ABC-CLIO. p. 32. ISBN 978-1610699518. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 22, 2020. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  3. Kelly, Gary F. (2004). "Chapter 12". Sexuality Today: The Human Perspective (7th ed.). McGraw-Hill. p. 401 (sidebar). ISBN 978-0-07-255835-7. Asexuality is a condition characterized by a low interest in sex.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Marshall Cavendish, บ.ก. (2010). "Asexuality". Sex and Society. Vol. 2. Marshall Cavendish. pp. 82–83. ISBN 978-0-7614-7906-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 16, 2015. สืบค้นเมื่อ July 27, 2013.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Bogaert, AF (April 2015). "Asexuality: What It Is and Why It Matters". The Journal of Sex Research. 52 (4): 362–379. doi:10.1080/00224499.2015.1015713. PMID 25897566. S2CID 23720993.
  6. Bella DePaulo (September 5, 2016). "Sexual Orientation, Not a Sexual Dysfunction".
  7. Scherrer, Kristin (2008). "Coming to an Asexual Identity: Negotiating Identity, Negotiating Desire". Sexualities. 11 (5): 621–641. doi:10.1177/1363460708094269. PMC 2893352. PMID 20593009.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Margaret Jordan Halter; Elizabeth M. Varcarolis (2013). Varcarolis' Foundations of Psychiatric Mental Health Nursing. Elsevier Health Sciences. p. 382. ISBN 978-1-4557-5358-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ May 7, 2014.
  9. 9.0 9.1 9.2 DePaulo, Bella (September 26, 2011). "ASEXUALS: Who Are They and Why Are They Important?". Psychology Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 1, 2015. สืบค้นเมื่อ December 13, 2011.
  10. The American Heritage Dictionary of the English Language (3d ed. 1992), entries for celibacy and thence abstinence.
  11. "Sexual orientation, homosexuality and bisexuality". American Psychological Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 8, 2013. สืบค้นเมื่อ March 30, 2013.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 Prause, Nicole; Cynthia A. Graham (2007). "Asexuality: Classification and Characterization" (PDF). Archives of Sexual Behavior. 36 (3): 341–356. doi:10.1007/s10508-006-9142-3. PMID 17345167. S2CID 12034925. สืบค้นเมื่อ April 4, 2022.
  13. 13.0 13.1 Swash, Rosie (February 25, 2012). "Among the asexuals". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 11, 2021. สืบค้นเมื่อ February 2, 2013.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 Karli June Cerankowski; Megan Milks (2014). Asexualities: Feminist and Queer Perspectives. Routledge. pp. 89–93. ISBN 978-1-134-69253-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2014. สืบค้นเมื่อ July 3, 2014.
  15. 15.0 15.1 15.2 Bogaert, Anthony F. (2006). "Toward a conceptual understanding of asexuality". Review of General Psychology. 10 (3): 241–250. doi:10.1037/1089-2680.10.3.241. S2CID 143968129. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 14, 2012. สืบค้นเมื่อ August 31, 2007.
  16. 16.0 16.1 16.2 Nancy L. Fischer; Steven Seidman (2016). Introducing the New Sexuality Studies. Routledge. p. 183. ISBN 978-1317449188. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  17. "Overview". The Asexual Visibility and Education Network. 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 19, 2016. สืบค้นเมื่อ January 6, 2016.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Decker, Julie S. (2015). The Invisible Orientation: An Introduction to Asexuality. Simon and Schuster. ISBN 9781510700642. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2021. สืบค้นเมื่อ 20 April 2019.แม่แบบ:Page number needed
  19. Meg Barker (2012). Rewriting the Rules: An Integrative Guide to Love, Sex and Relationships. Routledge. p. 69. ISBN 978-0415517621. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ February 8, 2016.
  20. Shira Tarrant (2015). Gender, Sex, and Politics: In the Streets and Between the Sheets in the 21st Century. Routledge. pp. 254–256. ISBN 978-1317814764. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 24, 2021. สืบค้นเมื่อ February 8, 2016.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 Christina Richards; Meg Barker (2013). Sexuality and Gender for Mental Health Professionals: A Practical Guide. SAGE. pp. 124–127. ISBN 978-1-4462-9313-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 28, 2014. สืบค้นเมื่อ July 3, 2014.
  22. 22.0 22.1 Westphal, Sylvia Pagan. "Feature: Glad to be asexual". New Scientist. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 19, 2007. สืบค้นเมื่อ 11 November 2007.
  23. 23.0 23.1 23.2 Bridgeman, Shelley (5 August 2007). "No sex please, we're asexual". The New Zealand Herald. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 3, 2018. สืบค้นเมื่อ September 16, 2011.
  24. Yule, Morag A.; Brotto, Lori A.; Gorzalka, Boris B. (2014). "Sexual fantasy and masturbation among asexual individuals". The Canadian Journal of Human Sexuality. 23 (2): 89–95. doi:10.3138/cjhs.2409. S2CID 4091448.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 Carrigan, Mark (August 2011). "There's More to Life Than Just Sex? Difference and Commonality Within the Asexual Community". Sexualities. 14 (4): 462–478. doi:10.1177/1363460711406462. S2CID 146445274.
  26. 26.0 26.1 MacNeela, Pádraig; Murphy, Aisling (December 30, 2014). "Freedom, Invisibility, and Community: A Qualitative Study of Self-Identification with Asexuality". Archives of Sexual Behavior. 44 (3): 799–812. doi:10.1007/s10508-014-0458-0. ISSN 0004-0002. PMID 25548065. S2CID 23757013.
  27. Kliegman, Julie (2021-10-29). "What Does AroAce Mean? Not Everyone Who's Aromantic Is Asexual". Bustle (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-08-04.
  28. 28.0 28.1 Chasin, CJ DeLuzio (2015). "Making Sense in and of the Asexual Community: Navigating Relationships and Identities in a Context of Resistance". Journal of Community & Applied Social Psychology. 25 (2): 167–180. doi:10.1002/casp.2203. ISSN 1099-1298.
  29. Adler, Melissa (2010). "Meeting the Needs of LGBTIQ Library Users and Their Librarians: A Study of User Satisfaction and LGBTIQ Collection Development in Academic Libraries". ใน Greenblatt, Ellen (บ.ก.). Serving LGBTIQ Library and Archives Users. North Carolina: McFarland & Company. ISBN 978-0-7864-4894-4.
  30. 30.0 30.1 Justin J. Lehmiller (2017). The Psychology of Human Sexuality. John Wiley & Sons. p. 250. ISBN 978-1119164708. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 20, 2021. สืบค้นเมื่อ November 29, 2017.
  31. Etaugh, Claire A.; Bridges, Judith S. (2017-10-16). Women's Lives: A Psychological Exploration, Fourth Edition (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. ISBN 978-1-315-44938-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 9, 2022. สืบค้นเมื่อ June 25, 2021.
  32. 32.0 32.1 Smith, S. E. (August 21, 2012). "Asexuality always existed, you just didn't notice it". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 8, 2015. สืบค้นเมื่อ March 11, 2013.
  33. LeBreton, Marianne E. (2014). Bogaert, Anthony F. (บ.ก.). "Understanding Asexuality". QED: A Journal in GLBTQ Worldmaking. 1 (3): 175–177. doi:10.14321/qed.1.3.0175. ISSN 2327-1574. JSTOR 10.14321/qed.1.3.0175.
  34. Poston, Dudley L.; Baumle, Amanda K. (2010). "Patterns of asexuality in the United States". Demographic Research. 23: 509–530. doi:10.4054/DemRes.2010.23.18. ISSN 1435-9871. JSTOR 26349603.
  35. 35.0 35.1 Kinsey, Alfred C. (1948). Sexual Behavior in the Human Male. W.B. Saunders. ISBN 978-0-253-33412-1.
  36. 36.0 36.1 36.2 Kinsey, Alfred C. (1953). Sexual Behavior in the Human Female. W.B. Saunders. ISBN 978-0-253-33411-4.
  37. Mary Zeiss Stange; Carol K. Oyster; Jane E. Sloan (February 23, 2011). Encyclopedia of Women in Today's World. SAGE Publications. p. 158. ISBN 978-1-4129-7685-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 14, 2020. สืบค้นเมื่อ July 27, 2013.
  38. Wellings, K. (1994). Sexual Behaviour in Britain: The National Survey of Sexual Attitudes and Lifestyles. Penguin Books.
  39. 39.0 39.1 39.2 Bogaert, Anthony F. (2004). "Asexuality: prevalence and associated factors in a national probability sample". Journal of Sex Research. 41 (3): 279–87. doi:10.1080/00224490409552235. PMID 15497056. S2CID 41057104.
  40. 40.0 40.1 40.2 Aicken, Catherine R. H.; Mercer, Catherine H.; Cassell, Jackie A. (2013-05-01). "Who reports absence of sexual attraction in Britain? Evidence from national probability surveys". Psychology & Sexuality. 4 (2): 121–135. doi:10.1080/19419899.2013.774161. ISSN 1941-9899. S2CID 62275856. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ October 14, 2018.
  41. Bogaert, A. F. (2015). "Asexuality: What It Is and Why It Matters". Journal of Sex Research. 52 (4): 362–379. doi:10.1080/00224499.2015.1015713. PMID 25897566. S2CID 23720993.
  42. "1 in 2 young people say they are not 100% heterosexual" (PDF). 2015-08-16. See the full poll results. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2021. สืบค้นเมื่อ 2018-12-31.
  43. Chasin, CJ DeLuzio (2013). "Reconsidering Asexuality and Its Radical Potential" (PDF). Feminist Studies. 39 (2): 405. doi:10.1353/fem.2013.0054. S2CID 147025548. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ March 3, 2014. สืบค้นเมื่อ April 29, 2014.
  44. Brotto, L. A.; Yule, M. A.; Gorzalka, B..B. (2015). "Asexuality: An Extreme Variant of Sexual Desire Disorder?". The Journal of Sexual Medicine. 12 (3): 646–660. doi:10.1111/jsm.12806. PMID 25545124. S2CID 30504509.
  45. Karli June Cerankowski; Megan Milks (2014). Asexualities: Feminist and Queer Perspectives. Routledge. p. 246. ISBN 978-1-134-69253-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 12, 2015. สืบค้นเมื่อ July 3, 2014.
  46. Conley-Fonda, Brenna; Leisher, Taylor (2018-01-02). "Asexuality: Sexual Health Does Not Require Sex". Sexual Addiction & Compulsivity. 25 (1): 6–11. doi:10.1080/10720162.2018.1475699. ISSN 1072-0162. S2CID 149652679.
  47. Van Houdenhove, Ellen; Enzlin, Paul; Gijs, Luk (2017-04-01). "A Positive Approach Toward Asexuality: Some First Steps, But Still a Long Way to Go". Archives of Sexual Behavior (ภาษาอังกฤษ). 46 (3): 647–651. doi:10.1007/s10508-016-0921-1. ISSN 1573-2800. PMID 28091869. S2CID 20911875.
  48. Cocchetti, Carlotta; Ristori, Jiska; Mazzoli, Francesca; Vignozzi, Linda; Maggi, Mario; Fisher, Alessandra Daphne (November 2021). "Management of hypoactive sexual desire disorder in transgender women: a guide for clinicians". International Journal of Impotence Research (ภาษาอังกฤษ). 33 (7): 703–709. doi:10.1038/s41443-021-00409-8. ISSN 1476-5489. PMID 33558671. S2CID 231850308.
  49. 49.0 49.1 49.2 Elisabetta Ruspini; Megan Milks (2013). Diversity in family life. Policy Press. pp. 35–36. ISBN 978-1447300939. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  50. 50.0 50.1 Nurius, Paula (1983). "Mental Health Implications of Sexual Orientation". The Journal of Sex Research. 19 (2): 119–136. doi:10.1080/00224498309551174.
  51. Yule, Morag A.; Brotto, Lori A.; Gorzalka, Boris B. (2013). "Mental Health and Interpersonal Functioning in Self-Identified Asexual Men and Women". Psychology & Sexuality. 4 (2): 136–151. doi:10.1080/19419899.2013.774162. S2CID 147120909.
  52. 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 52.5 52.6 Decker, Julie Sondra (2015). The Invisible Orientation: An Introduction to Asexuality. New York City, New York: Skyhorse Publishing. ISBN 978-1-5107-0064-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  53. Over, Ray; Koukounas, Eric (1995). "Habituation of Sexual Arousal: Product and Process". Annual Review of Sex Research. 6 (1): 187–223. doi:10.1016/S0301-0511(01)00096-5. PMID 11473795. S2CID 35865728. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ January 20, 2013.
    Cited from: Kelly, Gary F. (2004). Sexuality Today: The Human Perspective (7th ed.). McGraw-Hill. p. 401. ISBN 978-0-07-255835-7.
  54. Meyer, Doug (2017). "The Disregarding of Heteronormativity: Emphasizing a Happy Queer Adulthood and Localizing Anti-Queer Violence to Adolescent Schools". Sexuality Research & Social Policy. 14 (3): 331–344. doi:10.1007/s13178-016-0272-7. S2CID 151482192.
  55. Garcia-Falgueras, A; Swaab, DF (2010). Sexual hormones and the brain: an essential alliance for sexual identity and sexual orientation. Endocr Dev. Endocrine Development. Vol. 17. pp. 22–35. doi:10.1159/000262525. ISBN 978-3-8055-9302-1. PMID 19955753.
  56. Brotto, L. A.; Yule, M. (2016). "Asexuality: Sexual Orientation, Paraphilia, Sexual Dysfunction, or None of the Above?". Archives of Sexual Behavior. 46 (3): 619–627. doi:10.1007/s10508-016-0802-7. PMID 27542079. S2CID 207092428.
  57. 57.0 57.1 Cranney, Stephen (2016). "Does Asexuality Meet the Stability Criterion for a Sexual Orientation?". Archives of Sexual Behavior. 46 (3): 637–638. doi:10.1007/s10508-016-0887-z. PMID 27815642. S2CID 40119928.
  58. Cranney, Stephen (2016). "The Temporal Stability of Lack of Sexual Attraction across Young Adulthood". Archives of Sexual Behavior. 45 (3): 743–749. doi:10.1007/s10508-015-0583-4. PMC 5443108. PMID 26228992.
  59. 59.0 59.1 Karli June Cerankowski; Megan Milks (2014). Asexualities: Feminist and Queer Perspectives. Routledge. p. 244. ISBN 978-1-134-69253-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  60. "Asexual and Autoerotic Women: Two Invisible Groups" found in ed. Gochros, H. L.; J. S. Gochros (1977). The Sexually Oppressed. Associated Press. ISBN 978-0-8096-1915-3
  61. Karli June Cerankowski; Megan Milks (2014). Asexualities: Feminist and Queer Perspectives. Routledge. p. 113. ISBN 978-1-134-69253-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 4, 2017.
  62. Storms, Michael D. (1980). "Theories of Sexual Orientation" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 38 (5): 783–792. doi:10.1037/0022-3514.38.5.783. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ February 2, 2013.
  63. Storms, M. D. (1979). Sexual orientation and self-perception. ed. Pliner, Patricia et al. Advances in the Study of Communication and Affect. Volume 5: Perception of Emotion in Self and Others Plenum Press
  64. Carrigan, Mark; Gupta, Kristina; Morrison, Todd G. (2015). Asexuality and Sexual Normativity: An Anthology. Routledge. ISBN 978-0-415-73132-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ August 20, 2019.
  65. 65.0 65.1 Volkmar Sigusch. "Sexualitäten: Eine kritische Theorie in 99 Fragmenten". 2013. Campus Verlag [de].
  66. Abbie E. Goldberg (2016). The SAGE Encyclopedia of LGBTQ Studies. SAGE Publications. p. 92. ISBN 978-1483371290. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ October 5, 2017. [...] The sociological literature has stressed the novelty of asexuality as a distinctive form of social identification that emerged in the early 21st century.
  67. Carrigan, Mark (2011). "There's more to life than sex? Differences and commonality within the asexual community". Sexualities. 14 (4): 462–478. doi:10.1177/1363460711406462. S2CID 146445274.
  68. Duenwald, Mary (July 9, 2005). "For Them, Just Saying No Is Easy". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 20, 2014. สืบค้นเมื่อ 17 September 2007.
  69. Anneli, Rufus (June 22, 2009). "Stuck. Asexuals at the Pride Parade". Psychology Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 9, 2022. สืบค้นเมื่อ July 15, 2013.
  70. 70.0 70.1 "Asexuality – Redefining Love and Sexuality". recultured. 9 January 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2018. สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.
  71. Bilić, Bojan; Kajinić, Sanja (2016). Intersectionality and LGBT Activist Politics: Multiple Others in Croatia and Serbia. Springer. pp. 95–96.
  72. Decker, Julie. The Invisible Orientation: An Introduction to Asexuality. Skyhorse.
  73. "Asexual". UCLA Lesbian Gay Bisexual Transgender Resource center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 4, 2017. สืบค้นเมื่อ June 25, 2018.
  74. Chasin, CJ DeLuzio (2013). "Reconsidering Asexuality and Its Radical Potential". Feminist Studies. 39 (2): 405–426. doi:10.1353/fem.2013.0054. S2CID 147025548.
  75. Shira Tarrant (June 19, 2015). Gender, Sex, and Politics: In the Streets and Between the Sheets in the 21st Century. Taylor & Francis. pp. 278–. ISBN 978-1-317-81475-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2021. สืบค้นเมื่อ September 4, 2017.
  76. "World Pride Toronto: Asexuals march in biggest numbers yet". Toronto Star. June 23, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 18, 2021. สืบค้นเมื่อ 6 October 2014.
  77. Kumar, Shikha (2017-03-18). "Meet India's newest sexual minority: The asexuals". Hindustan Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 29, 2018. สืบค้นเมื่อ 2017-09-08.
  78. "AAW – About Us". asexualawarenessweek.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 7, 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-01-03.
  79. Exton, Robyn (2016-11-14). "Aces Show Their Hand – What Is Asexuality And Why You Should Know About It". HuffPost. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 29, 2018. สืบค้นเมื่อ 2017-09-08.
  80. "About [prerelease]". asexualawarenessweek.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 4, 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-09-04.
  81. 81.0 81.1 "International Asexuality Day". International Asexuality Day (IAD) (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2021. สืบค้นเมื่อ April 8, 2021.
  82. 82.0 82.1 "FAQ". International Asexuality Day (IAD) (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 7, 2021. สืบค้นเมื่อ April 8, 2021.
  83. "Redefining Perceptions Of Asexuality With Yasmin Benoit". noctismag.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2021. สืบค้นเมื่อ April 8, 2021.
  84. Flood, Rebecca (April 6, 2021). "Asexual Meaning as First International Asexuality Day Celebrated Around the World". Newsweek. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2021. สืบค้นเมื่อ April 7, 2021.
  85. Waters, Jamie (March 21, 2021). "'I don't want sex with anyone': the growing asexuality movement". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 1, 2021. สืบค้นเมื่อ April 7, 2021.
  86. O'Dell, Liam (April 6, 2021). "What is International Asexuality Day?". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2021. สืบค้นเมื่อ April 7, 2021.
  87. "In Nepal's growing queer movement, here's how asexuals are trying to amplify their voice". kathmandupost.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2021. สืบค้นเมื่อ 2021-04-07.
  88. Brigid, Kathleen (Spring 2022). "Asexuality, Indigeneity, and Monstrous Isolation in the Works of Darcie Little Badger" (PDF). Feral Feminisms. 10 (2): 28–30.
  89. 89.0 89.1 89.2 Brittain, Rachel (2022-10-24). "Must-Read Asexual Books for Ace Week". BOOK RIOT (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-02-11.
  90. 90.0 90.1 90.2 90.3 90.4 90.5 90.6 90.7 "Feral Feminisms focuses special issue on aro/ace authors, scholars, creators". News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
  91. 91.0 91.1 91.2 91.3 91.4 91.5 91.6 91.7 "feral feminisms » Issue 10.2: Ace and Aro Reviews Issue". สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
  92. Chen, Angela (2021-09-14). Ace: What Asexuality Reveals About Desire, Society, and the Meaning of Sex (ภาษาอังกฤษ). Beacon Press. ISBN 978-0-8070-1473-8.
  93. Young, Eris (2022-12-21). Ace Voices: What it Means to Be Asexual, Aromantic, Demi or Grey-Ace (ภาษาอังกฤษ). Jessica Kingsley Publishers. ISBN 978-1-78775-699-1.
  94. Project, The Ace and Aro Advocacy (2023-04-21). Ace and Aro Journeys: A Guide to Embracing Your Asexual or Aromantic Identity (ภาษาอังกฤษ). Jessica Kingsley Publishers. ISBN 978-1-83997-639-1.
  95. Przybylo, Ela (2019). Asexual Erotics: Intimate Readings of Compulsory Sexuality (ภาษาอังกฤษ). Ohio State University Press. ISBN 978-0-8142-5542-1.
  96. Paramo, Michael (2024-02-08). Ending the Pursuit: Asexuality, Aromanticism and Agender Identity (ภาษาอังกฤษ). Unbound Publishing. ISBN 978-1-80018-286-8.
  97. Costello, Sarah; Kaszyca, Kayla (2023-02-21). Sounds Fake But Okay: An Asexual and Aromantic Perspective on Love, Relationships, Sex, and Pretty Much Anything Else (ภาษาอังกฤษ). Jessica Kingsley Publishers. ISBN 978-1-83997-002-3.
  98. Brown, Sherronda J. (September 13, 2022). Refusing Compulsory Sexuality. North Atlantic Books. ISBN 9781623177102.
  99. Costello, Sarah; Kaszyca, Kayla (21 February 2023). Sounds Fake But Okay: An Asexual and Aromantic Perspective on Love, Relationships, Sex, and Pretty Much Anything Else. Jessica Kingsley Publishers. ISBN 978-1839970016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 February 2023. สืบค้นเมื่อ 26 March 2023.
  100. 100.0 100.1 100.2 Aicken, Catherine R. H.; Mercer, Catherine H.; Cassell, Jackie A. (2015-09-07). "Who reports absence of sexual attraction in Britain? Evidence from national probability surveys". ใน Carrigan, Mark; Gupta, Kristina; Morrison, Todd G. (บ.ก.). Asexuality and Sexual Normativity: An Anthology. New York City, New York and London, England: Routledge. pp. 22–27. ISBN 978-0-415-73132-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  101. "Asexuality and Christianity" (PDF). Asexual Awareness Week. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ October 29, 2013. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  102. 102.0 102.1 Kaoma, Kapya (2018). Christianity, Globalization, and Protective Homophobia: Democratic Contestation of Sexuality in Sub-Saharan Africa. Boston, Massachusetts: Palgrave Macmillan. pp. 159–160. ISBN 978-3-319-66341-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  103. Cole, William Graham (2015) [1955]. Sex in Christianity and Psychoanalysis. Routledge Library Editions: Psychoanalysis. New York City, New York and London, England: Routledge. p. 177. ISBN 978-1138951792. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  104. Zuckerman, Phil (2003). An Invitation to Sociology of Religion. New York City, New York and London, England: Routledge. p. 111. ISBN 978-0-415-94125-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2019. สืบค้นเมื่อ January 11, 2018.
  105. MacInnis, Cara C.; Hodson, Gordon (2012). "Intergroup bias toward 'Group X': Evidence of prejudice, dehumanization, avoidance, and discrimination against asexuals". Group Processes & Intergroup Relations. 15 (6): 725–743. doi:10.1177/1368430212442419. S2CID 3056711.
  106. Gazzola, Stephanie B, and Melanie A. Morrison. "Asexuality: An emergent sexual orientation". Sexual Minority Research in the New Millennium.
  107. 107.0 107.1 107.2 Mosbergen, Dominique (June 20, 2013). "Battling Asexual Discrimination, Sexual Violence, and Corrective Rape". HuffPost. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 18, 2013. สืบค้นเมื่อ August 2, 2013.
  108. Wallis, Lucy (January 17, 2012). "What is it like to be asexual?". BBC News. BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 6, 2019. สืบค้นเมื่อ January 1, 2014.
  109. The Trevor Project - FAQ about asexuality เก็บถาวร เมษายน 6, 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Trevor Project website. Retrieved April 4, 2018.
  110. "The a is Here to Stay". April 30, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 10, 2018. สืบค้นเมื่อ April 4, 2018.
  111. Mosbergen, Dominique (June 21, 2013). "LGBT, Asexual Communities Clash over Ace Inclusion". HuffPost. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 5, 2018. สืบค้นเมื่อ April 4, 2018.
  112. Psychiatrist Jairo Bouer talks about the "collateral effects" of "gay cure" bill เก็บถาวร มกราคม 15, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ในภาษาโปรตุเกส)
  113. The Sexual Orientation Non-Discrimination Act ("SONDA") (State of New York, Office of the Attorney General, Civil Rights Bureau)
  114. 114.0 114.1 114.2 114.3 114.4 114.5 114.6 114.7 114.8 Bogaert, Anthony (2012). Understanding Asexuality. Lanham, Maryland: Rowman and Littlefield Publishers, Inc. pp. 36–39. ISBN 978-1-4422-0099-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ January 10, 2018.
  115. 115.0 115.1 Kelemen, Erick. "Asexuality". Encyclopedia of Sex and Gender. Ed. Fedwa Malti-Douglas. Vol. 1. Detroit: Macmillan Reference USA, 2007. 103. Gale Virtual Reference Library. Web. May 2, 2016.
  116. 116.0 116.1 Jackson, Stevi, and Sue Scott. Theorizing Sexuality. Maidenhead: Open UP, 2010. Web. May 2, 2016.
  117. 117.0 117.1 "Archie Comic Reveals Jughead Is Asexual". Vulture. February 8, 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 7, 2017. สืบค้นเมื่อ December 14, 2017.
  118. "Cole Sprouse Is Bummed That RIVERDALE's Jughead Isn't Asexual | Nerdist". Nerdist. 2017-01-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 26, 2018. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
  119. Revanche, Jonno. "'Riverdale's' Asexual Erasure Can Be More Harmful Than You Think". Teen Vogue. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2021. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
  120. 120.0 120.1 Clark-Flory, Tracy (January 31, 2012). ""House" gets asexuality wrong". Salon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 21, 2017. สืบค้นเมื่อ September 8, 2017.
  121. "Camp cartoon star 'is not gay'". 2002-10-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 29, 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-11-25.
  122. "SpongeBob Asexual, Not Gay: Creator". People. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 25, 2021. สืบค้นเมื่อ 2019-11-25.
  123. "SpongeBob is asexual, says creator". Asexual Visibility and Education Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2020. สืบค้นเมื่อ 2019-11-25.
  124. Kliegman, Julie. "Todd's Asexuality on 'BoJack' Isn't a Perfect Depiction, But It's Made Me Feel Understood". Bustle. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 26, 2021. สืบค้นเมื่อ 2019-04-30.

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Human asexuality