เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
(กุน รัตนกุล)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2352 – พ.ศ. 2356
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ก่อนหน้าเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์)
ถัดไปเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์)
เสนาบดีกรมพระคลัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2352
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ถัดไปเจ้าพระยาพระคลัง (กร)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
กุน แซ่อึ้ง
ศาสนาพุทธ
บุตรท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาอิ่ม ในรัชกาลที่ 1)
บุพการี
  • กุ๋ย แซ่อึ้ง (บิดา)

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ นามเดิมว่า กุน แซ่อึ้ง (黃軍 จีนแต้จิ๋ว: ng5 gung1 จีนกลาง: Huáng Jūn) เป็นสมุหนายกในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นสกุล "รัตนกุล"

ประวัติ[แก้]

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) เดิมชื่อว่า กุน แซ่อึ้ง หรือ อึ้งกุน เป็นบุตรชายของกุ๋ย แซ่อึ้ง หรืออึ้งกุ๋ย (黃貴 จีนแต้จิ๋ว: ng5 gui3 จีนกลาง: Huáng Guì) พ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งได้อพยพมาค้าขายตั้งเคหสถานอยู่ที่ตำบลบ้านคลองโรงช้าง เมืองราชบุรี "จีนกุ๋ย" เป็นพ่อค้าสำเภามีบุตรธิดามาก "จีนกุน" เป็นบุตรคนที่ห้าของจีนกุ๋ย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปรก[1] ปากแม่น้ำแม่กลองฝั่งเหนือ แขวงเมืองสมุทรสงคราม[2] ส่วนมารดาของกุน เป็นธิดาของเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ขุนนางมาแต่กรุงเก่า[3]

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ปรากฏรับราชการครั้งแรก ดำรงตำแหน่งเป็นพระราชประสิทธิ์[4] เจ้ากรมพระคลังวิเศษในสมัยกรุงธนบุรี ได้ย้ายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนที่หน้าวัดเลียบ กรุงเทพมหานคร และบูรณะวัดโคกเนินที่แม่กลองบ้านเดิมขึ้นเป็นวัดใหญ่[2] พระยาราชประสิทธิ์ (กุน) เป็นที่รู้จักในนามว่า "เจ๊สัวกุน"[1]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งพระราชประสิทธิ์ (กุน) ขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางกรมพระคลังสินค้า ต่อมาใน พ.ศ. 2348 เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรม พระยาศรีพิพัฒน์ (กุน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมคลัง[4] ได้รับสมญานามว่า "ท่านท่าเรือจ้าง" เนื่องจากจวนเจ้าพระยาอยู่ที่ท่าเรือจ้างข้างวัดเลียบ

วัดพระยาทำ บูรณะขึ้นโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุน)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2352 ทรงแต่งตั้งพระยาพระคลัง (กุน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สร้างวัดขึ้นสามแห่งพร้อมกันได้แก่ วัดหัวเมือง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) วัดกลางเมือง (วัดกลางบางซื่อ) และวัดท้ายเมือง[5] นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯยังมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์บูรณะวัดนาคที่ริมคลองมอญขึ้นเป็นวัดพระยาทำ และเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ยังได้สร้างวัดที่เกาะเกร็ดคือวัดศาลาเจ้าคุณกุน หรือวัดศาลาจีนกุน กลายเป็นวัดศาลากุล[6]ในปัจจุบัน

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าก่อนวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2357 เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ได้ขึ้นมาเป็นสมุหนายกแทน อัฐิของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) บรรจุอยู่ที่เจดีย์วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม

ครอบครัว[แก้]

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) เป็นต้นสกุล"รัตนกุล" ปรากฏบุตรธิดาดังนี้;[2]

  • ธิดา ชื่อ ปราง
  • เจ้าจอมมารดาอิ่ม ในรัชกาลที่ 1 หรือท้าววรจันทร์ (อิ่ม) ในรัชกาลที่ 2
  • คุณหญิงนวน ภรรยาของพระยาประชานนดโรทัย (บุญรอด รัตนวราหะ)
  • ธิดา ชื่อ งิ้ว
  • บุตรชายชื่อ ทองอยู่ จมื่นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 1
  • ธิดาชื่อ ป้อม มารดาของคุณเถ้าแก่ตลับ
  • คุณเถ้าแก่หงษ์ ในรัชกาลที่ 4
  • ธิดา ชื่อ จาด
  • คุณเถ้าแก่นกแก้ว ในรัชกาลที่ 4
  • คุณเถ้าแก่โนรี ในรัชกาลที่ 4
  • พระนิกรมุนี (เบญจวรรณ) พระราชาคณะวัดพระยาทำในรัชกาลที่ 4
  • พระยารัตนามาตยพงศ์ภักดี (สัตวา)
  • ธิดา ชื่อ สาริกา
  • หลวงธรเณนทร์ (สีชมภู) ในรัชกาลที่ 4
  • พระราชสมบัติ (การเวก) ในรัชกาลที่ 4 เป็นปู่ของพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีและมณฑลนครสวรรค์[4]
  • บุตรชาย ชื่อ ควาย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
  2. 2.0 2.1 2.2 รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
  3. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "จีนกุน จีนเรือง จีนมั่วเส็ง," เวียงวัง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรโสภณ, 2551. หน้า 38-43.
  4. 4.0 4.1 4.2 "เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. p. 26.
  5. กรมพระราชวังหลัง (กรุงเทพฯ : อมรโปรดักส์, 2534. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี ม.ล. จวง เสนีวงศ์ 30 ก.ค. 2534). หน้า 151.
  6. "วัดศาลากุล หนุมานหลวงพ่อสุ่น". องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-08. สืบค้นเมื่อ 2021-04-12.