วัดพระยาทำวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระยาทำวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 47 ซอยอรุณอมรินทร์ 15 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสุธีสุตกิจ (ประทุม จินฺตคุโณ)[1]
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ แบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง (ประมาณครึ่งหนึ่ง) แบ่งให้ทางราชการสร้างโรงเรียน

ประวัติ[แก้]

เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด แต่คาดว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่พบในธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญ เดิมชื่อ วัดนาค เป็นวัดคู่กับ วัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย พระพุทธจารย์ (อยู่) วัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆัง ปรึกษากับพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) วัดหงส์รัตนาราม แล้วนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า วัดนาคกับวัดกลาง มีอุปจารย์ใกล้กัน จึงควรมีพุทธสีมาเดียวกัน แต่พระราชาคณะประชุมพิจารณาวินิจฉัยกันในที่สุดพระราชาคณะมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าวัดทั้งสองนี้มีคลองคั่นเป็นเขตอยู่ จึงไม่ควรที่จะให้พุทธสีมาร่วมกัน วัดจึงเป็น 2 วัด[2] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายก รับบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปนาเป็นวัดหลวง และเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดพระยาทำ" หมายถึงเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์สร้างขึ้น

ในปี พ.ศ. 2555 หอระฆังได้รับความชำรุดเสียหายมากตั้งแต่ชั้นปูนฉาบถึงชั้นโครงสร้างอิฐ และได้รับการถมพื้นที่โดยรอบโดยปิดทับองค์ประกอบชั้นฐานหอระฆังบางส่วน ทำให้โบราณสถานสูญเสียคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรม[3] ในปี พ.ศ. 2561 ในระหว่างการบูรณะก่อสร้าง เจดีย์ภายในวัดพังถล่มลงมา[4]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

พระอุโบสถมีลักษณะตกท้องช้างหรือหย่อนท้องสำเภา คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยา พระอุโบสถมีมีกำแพงแก้วล้อมรอบ หน้าบันเป็นลายพระอินทร์ประทับอยู่บนช้างเอราวัณ มีช่อฟ้าใบระกา ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นงานปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก ประตูหน้าต่างภายในเขียนเป็นลายภาพทวารบาล พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของเจดีย์คูหา 2 องค์ ภายในเป็นที่ตั้งของหลวงพ่อคูหาศักดาเดช

หอระฆังหรือที่เรียกกันติดปากว่า เจดีย์ยักษ์ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง 4 ด้าน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง 4 ช่อง ตรงมุมล่างติดพื้นดินมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้ง 4 มุม มุมละ 4 ตน ชั้นบนมีรูปปั้นยักษ์ทั้ง 4 ทิศ ยอดหอระฆังทำเป็นทรงปราสาท

อ้างอิง[แก้]

  1. "เสนอแต่งตั้ง พระครูสุธีสุตกิจ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระยาทำ พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  2. "ประวัติ วัดพระยาทำวรวิหาร". สปริงนิวส์.
  3. "กรมศิลปากรชี้แจงโครงการบูรณะหอระฆัง หรือ "เจดีย์ยักษ์" วัดพระยาทำวรวิหาร". ศิลปวัฒนธรรม. 26 กันยายน 2561.
  4. "เรื่องเล่าวัดเก่า "พระยาทำวรวิหาร" พระอารามหลวง สมัยรัชกาลที่ 2". นิว 18.