วัดกลางบางซื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกลางบางซื่อ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกลางบางซื่อ, วัดกลาง
ที่ตั้งเลขที่ 193 หมู่ที่ 6 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อพระกาฬ
เจ้าอาวาสพระอธิการชาติชาย อชิโต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกลางบางซื่อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

วัดกลางบางซื่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2321 สันนิษฐานว่าเมื่อก่อนบริเวณนี้มีวัด 3 วัด คือ วัดหัวเมือง (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) วัดกลางบางซื่อ และวัดท้ายเมือง วัดนี้ตั้งอยู่ตรงกลาง ประชาชนจึงเรียกว่า วัดกลาง ส่วนคำว่า "บางซื่อ" มาจากการที่วัดตั้งอยู่ริมคลองบางซื่อ (น้อย) ประชาชนจึงนำคำว่า "บางซื่อ" มาต่อท้ายชื่อวัด[1] วัดเปิดโรงเรียนสอนแผนกปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2484

อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถหลังเก่าซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา อุโบสถหลังใหม่ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานพระประธานประจำอุโบสถปางสมาธิ สร้างด้วยศิลาแลง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2478 ศาลาการเปรียญซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ซึ่งสร้างด้วยไม้สักทองคำ กุฏิสงฆ์ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาอเนกประสงค์ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 ศาลาบำเพ็ญกุศลซึ่งสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มณฑปซึ่งประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และปรางค์ 1 องค์ ได้ซ่อมแซมและสร้างเจดีย์ขึ้นแทนปรางค์เดิมเป็นรูปจัตุรมุข[2] ปูชนียวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีนามว่า หลวงพ่อพระกาฬ ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ สูง 2.70 เมตร ตามประวัติเล่าลือกันว่า เป็นพระศิลาแลงลอยน้ำมาติดอยู่หน้าวัดเมื่อหลายชั่วอายุคนมาแล้ว วัดยังมีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ใบเสมาทำด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการอยู่
  • พระอธิการนวน พ.ศ. 2472
  • พระครูนนทกิจจานุรักษ์ (กล่ำ) พ.ศ. 2472–2517
  • พระครูธรรมธร (วัน) พ.ศ 2517–2528
  • พระครูสิริบุญญาภินันท์ (ประจวบ สุขก้อน) พ.ศ. 2528–2548
  • พระปลัดศรีมอย พุทฺธิสาโร พ.ศ. 2549–2556
  • พระอธิการชาติชาย อชิโต พ.ศ. 2556–ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดกลางบางซื่อ". เทศบาลนครนนทบุรี.
  2. "วัดกลางบางซื่อ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]