อาครา
อาครา | |
---|---|
ตามเข็มนาฬิกาจากบน: ทัชมาฮาล; ป้อมอาครา; Guru ka Tal Gurdwara; สุสาน Mariam-uz-Zamani; อักบัร กา มักบะรา และJaswant Ki Chhatri | |
สมญา: นครทัช (ทัชนครี) | |
พิกัด: 27°11′N 78°01′E / 27.18°N 78.02°E | |
ประเทศ | อินเดีย |
รัฐ | อุตรประเทศ |
เขต | อาครา |
อำเภอ | อาครา[2] |
การปกครอง | |
• ประเภท | Municipal Corporation |
• องค์กร | Agra Municipal Corporation |
• นายกเทศมนตร[4] | Naveen Jain (บีเจพี) |
• Municipal commissioner | Nikhil Tikaram Funde[3] |
พื้นที่[5] | |
• มหานคร[1] | 121 ตร.กม. (47 ตร.ไมล์) |
ความสูง[6] | 170 เมตร (560 ฟุต) |
ประชากร (2011)[7] | |
• มหานคร[1] | 1,585,704 คน |
• อันดับ | ที่ 23 |
• รวมปริมณฑล[8] | 1,760,285 คน |
ภาษา | |
• ทางการ | ฮินดี[9] |
• เพิ่มเติม | อูรดู[9] |
• ภูมิภาค | พรัชภาษา |
เขตเวลา | UTC+5:30 (เวลามาตรฐานอินเดีย) |
รหัสโทรศัพท์ | 0562 |
ทะเบียนพาหนะ | UP-80 |
จีดีพีเฉลี่ย (อำเภออาครา) | Rs. 60,488.30 กรอร์ (2019-20)[10] |
สัดส่วนเพศ | 875 ♀ / 1000 ♂ |
การอ่านหนังสือออก | 73.11% |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์อำเภออย่างเป็นทางการ |
อาครา (ฮินดี: आगरा, Āgrā; อูรดู: آگرہ, อังกฤษ: Agra) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลัคเนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 363 กิโลเมตร (226 ไมล์) และ 200 กิโลเมตร (124 ไมล์) ทางทิศใต้ของกรุงนิวเดลี ด้วยประชากรทั้งหมดประมาณ 1.6 พันล้านคน ทำให้อาคราเป็นเมืองที่มีประชากรมากในอันดับที่ 4 ของรัฐอุตตรประเทศ และอันดับที่ 23 ในประเทศอินเดีย[11]
อาคราได้รับการกล่าวถึงในมหากาพย์มหาภารตะ โดยมีชื่อเรียกว่า "อัครวนา" (Agrevana) แปลตามศัพท์สันสกฤตว่า "นครชายป่า"[12] และยังเกี่ยวข้องกับพระฤๅษีอังคีรส หนึ่งในสิบมหาฤๅษีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ถ้าพูดถึงการสร้างเป็นเมืองนั้น ตำนานกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยเจ้าเชื้อสายราชบุตรชื่อ "ราชปฎลสิงห์" (Raja Badal Singh) เมืองนี้เคยผ่านสมรภูมิครั้งใหญ่ ๆ เมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน มีการเปลี่ยนผู้ครองเมืองเป็นระยะ กษัตริย์องค์แรกที่ย้ายเมืองหลวงจากเดลีไปยังอาคราได้แก่ "สุลต่านสิกันดร โลที" (Sultan Sikandar Lodi) เมื่อ ค.ศ. 1506 (ยุคกรุงศรีอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1517 "สุลต่านอิบราฮิม โลที" (Ibrahim Lodi) พระโอรส ปกครองอาคราต่อมาอีก 9 ปีจนกระทั่งพ่ายแพ้ในยุทธการแห่งปณิปัต (Battle of Panipat) ใน ค.ศ. 1526[13] จากนั้นมาระหว่าง ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1556 เจ้าเชื้อสายอัฟกานิสถานได้เข้าปกครองเมืองแทนเริ่มจากเจ้าเชอร์ชาห์สุรี (Sher Shah Suri) และเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ (Hem Chandra Vikramaditya) ราชาแห่งชาวฮินดู ก่อนที่จะเริ่มโด่งดังในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล อันยาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1556 ถึง 1658 อันเป็นช่วงกำเนิดของโบราณสถานสำคัญในปัจจุบัน เช่น ทัชมาฮาล ป้อมอาครา ฟาเตห์ปูร์ สิครี โบราณสถานโมกุลทั้งสามแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ภูมิอากาศ
[แก้]อาคราตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง (Semiarid climate) ประกอบด้วยฤดูหนาวที่ไม่รุนแรง ร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน และฤดูมรสุม ซึ่งในฤดูมรสุมนั้น ในบริเวณเมืองอาครา จะไม่มีลมมรสุมที่แรงเหมือนในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภูมิอากาศแบบนี้ ตรงข้ามกันกับภูมิอากาศส่วนใหญ่ของอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Humid subtropical climate)
ข้อมูลภูมิอากาศของเมืองอาครา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 22.3 (72.1) |
25.5 (77.9) |
31.9 (89.4) |
37.9 (100.2) |
41.7 (107.1) |
40.7 (105.3) |
35.3 (95.5) |
33.2 (91.8) |
34.0 (93.2) |
34.0 (93.2) |
29.2 (84.6) |
23.9 (75) |
32.47 (90.44) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 7.7 (45.9) |
10.3 (50.5) |
15.4 (59.7) |
21.5 (70.7) |
26.5 (79.7) |
28.9 (84) |
26.8 (80.2) |
25.7 (78.3) |
24.3 (75.7) |
19.1 (66.4) |
12.5 (54.5) |
8.2 (46.8) |
18.91 (66.04) |
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) | 13.3 (0.524) |
17.7 (0.697) |
9.1 (0.358) |
6.7 (0.264) |
11.9 (0.469) |
55.7 (2.193) |
203.3 (8.004) |
241.1 (9.492) |
128.5 (5.059) |
25.2 (0.992) |
4.3 (0.169) |
6.0 (0.236) |
722.8 (28.457) |
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย | 1.9 | 1.7 | 1.7 | 1.3 | 2.3 | 4.7 | 13.8 | 14.9 | 7.7 | 1.5 | 0.8 | 1.0 | 53.3 |
แหล่งที่มา: World Meteorological Organization.[14] |
ประชากร
[แก้]จากการสำรวจประชากรใน ค.ศ. 2011 นครอาครามีประชากร 1,585,704 คน โดยในเขตมหานครมีประชากรทั้งสิ้น 1,775,134 คน สัดส่วนเพศของนครอาคราระหว่างหญิงและชายอยู่ที่ 875 ต่อ 1,000 คน ส่วนสัดส่วนเพศของเด้กอยู่ที่เด็กหญิง 857 คนต่อเด็กชาย 1,000 คน ประชากรในอาครามีอัตราการรู้หนังสือเฉลี่ยร้อยละ 73.11 ซึ่งแบ่งเป็นชายและหญิงที่ร้อยละ 77.81 และ 67.74 ตามลำดับ[15]
ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในนครอาครา โดยมีผู้นับถือร้อยละ 80.68 รองลงมาคือศาสนาอิสลามที่ร้อยละ 15.37 รองลงมาอีกคือเชน, ซิกข์, คริสต์ และพุทธ ที่ร้อยละ 1.04, 0.62, 0.42 และ 0.19 ตามลำดับ ส่วนประมาณร้อยละ 1.66 ระบุว่า 'ไม่มีศาสนาจำเพาะ'[15]
ประวัติ
[แก้]ถึงแม้ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของอาครานั้นมักจะถูกรับรู้ว่ามีความเกี่ยวพันกับจักรวรรดิโมกุล แต่แท้จริงแล้วเมืองอาครานั้นเริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น โดยมีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์อินเดียสมัยมหาภารตะ ใน ค.ศ. 1000
เป็นที่ยอมรับกันว่า "สิกันดร โลดิ" สุลต่านแห่งเดลีนั้นเป็นผู้ก่อตั้งอาคราขึ้นใน ค.ศ. 1504 หลังจากสิ้นพระชนม์แล้วจึงสืบทอดไปยังพระโอรส "อิบราฮิม โลดี" ซึ่งปกครองสุลต่านเดลีที่อาคราจนกระทั่งพ่ายสงครามให้กับจักรพรรดิบาบูร์ (Bābar) ในยุทธการแห่งปณิปัต (Battle of Panipat) ใน ค.ศ. 1526
ต่อมาใน ค.ศ. 1556 กษัตริย์นักรบแห่งชาติฮินดู "เจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์" (Hem Chandra Vikramaditya) ได้เอาชนะสุลต่านและจอมทัพของแคว้นอาครา สุลต่านเอดิลชาห์สุรี (Adil Shah Suri) สุลต่านองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุรี (ชาวอัฟกัน) เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิหุมายุน (Humayun) แห่งราชวงศ์โมกุล คือ "ทาร์ดี เบ็ก คาน" (Tardi Beg Khan) ได้ยอมล่าถอยทัพออกจากอาคราด้วยความเกรงกลัวในพระบรมราชานุภาพของเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ ถอยทัพโดยปราศจากการต่อสู้ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 21 ของกองทัพฝั่งฮินดู ภายใต้การนำทัพของพระองค์ตั้งแต่ ค.ศ. 1554 จากนั้นได้เสด็จไปตีเมืองเดลี และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ป้อมปุรานา หิรา (Purana Qila) ในกรุงเดลี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1556 และได้ฟื้นฟูอาณาจักรฮินดูขึ้นใหม่ปกครองแคว้นอินเดียตอนเหนือโดยราชวงศ์วิกรมทิตย์
ยุคทองของอาครานั้นเริ่มขึ้นในสมัยที่ปกครองโดยราชวงศ์โมกุล โดยรู้จักกันดีในสมัยนั้นว่า "อัคบาราบัด" และเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุลภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ และสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ "ชาห์ชะฮันนาบัด" (Shahjahanabad) ใน ค.ศ. 1649
เนื่องจากที่อัคบาราบัดนี้เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในอินเดียภายใต้จักรวรรดิโมกุล จึงมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างสำคัญมากมาย สมเด็จพระจักรพรรดิบาบูร์ ผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุล ได้วางแบบแผนสวนแบบเปอร์เซียในบริเวณริมฝั่งของแม่น้ำยมุนา สวนนี้มีชื่อว่า "อารัม บักห์" (Arām Bāgh) แปลว่า สวนแห่งความผ่อนคลาย พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร ได้สร้างป้อมปราการสีแดงขึ้นมา นอกจากนั้นยังทำให้อาคราเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ศิลปะ การค้า และศาสนา ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการสร้างเมืองแห่งใหม่บริเวณปริมณฑลของอาคราที่มีชื่อว่า "ฟาเตห์ปูร์ สิครี" ซึ่งสร้างในรูปแบบของป้อมค่ายทหารซึ่งสร้างจากหิน
พระโอรสของพระองค์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ ทรงเป็นผู้โปรดปรานสวน พืชพันธุ์ และต้นไม้ต่าง ๆ จึงพบการเพิ่มเติมบริเวณสวนภายในป้อมอาครา สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน จักรพรรดิองค์ถัดมา ทรงเป็นผู้โปรดปรานและมีพระปรีชาสามารถทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง ซึ่งได้มอบมรดกชิ้นสำคัญของอาครา คือ ทัชมาฮาล ที่สร้างขึ้นจากความรักและความทรงจำของพระมเหสีของพระองค์ ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1653
สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ภายหลังนั้นได้ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่กรุงเดลี แต่พระโอรสของพระองค์ ออรังเซพ ได้ย้ายกลับไปที่อัคบาราบัด โดยจับคุมตัวองค์จักรพรรดิไว้ในป้อมจนสวรรคต ซึ่งอัคบาราบัดก็ยังเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นจนสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซพ ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ "ออรังกาบัด" (Aurangabad) ในเดคคาน เมื่อ ค.ศ. 1653 จากนั้นต่อมาเป็นยุคปลายของจักรวรรดิโมกุล เมืองจึงได้ตกอยู่ในอิทธิพลของชาวมราฐา และถูกเรียกชื่อใหม่ว่า "อาครา" ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ หรือบริติชราช
การคมนาคม
[แก้]ทางอากาศ
[แก้]สนามบินกองทัพอากาศอาครา (หรืออีกชื่อคือท่าอากาศยานบัณฑิต ดีน ดายาล อุปทัยยา) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเป็นระยะทาง 12.5 km (8 mi) ซึ่งถือเป็นสนามบินสังกัดกองทัพอากาศ จึงยังไม่มีสายการบินพาณิชย์เข้าใช้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 เมืองพาราณสีได้มีสนามบินที่เริ่มให้บริการการบินเชิงพาณิชย์ระหว่างเมือง
ทางรถไฟ
[แก้]อาครานั้นตั้งอยู่ตรงกลางเส้นทางรถไฟสายภาคกลางที่เชื่อมระหว่างเดลี (รหัสสถานี: NDLS) และมุมไบ (บอมเบย์) (รหัสสถานี: CSTM) และระหว่างเดลี กับเจนไน (รหัสสถานี: MAS) และนอกจากนั้นยังมีรถไฟสายอื่น ๆ เช่น Bhopal Shatabdi, Bhopal Express, Malwa Express, Gondwana Express, Jabalpur - Jammutawi Express, Shreedham Express, Garib Rath, Tamil Nadu Express, Chennai Rajdhni, Punjab Mail ฯลฯ ที่เชื่อมอาคราเข้ากับเมืองสำคัญอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย เช่น นิวเดลี มุมไบ โกลกาตา เจนไน ไฮเดอราบัด บังกาลอร์ ปูเน ลัคเนา ชัยปุระ ฯลฯ ได้ในทุก ๆ วัน รถไฟสายตะวันออกบางสายจากเดลีนั้นยังเชื่อมต่อผ่านอาครา จึงสามารถใช้เป็นจุดต่อรถเพื่อไปต่อยังเมืองต่าง ๆ ทางฟากตะวันออกของอินเดียได้ (เช่น โกลกาตา เป็นต้น) ซึ่งในทุก ๆ วันจะมีรถไฟมุ่งหน้าสู่เดลีถึงวันละ 20 เที่ยว เมืองอาครามีสถานีรถไฟสำคัญทั้งหมด 3 สถานีหลัก:
- สถานีรถไฟอาครา คันท์ (Agra Cantt) (รหัสสถานี: AGC) เป็นสถานีหลักที่สำคัญที่สุดในอาครา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทัชมาฮาล และป้อมอาครา ซึ่งสามารถเดินทางมาได้จากสถานที่ดังกล่าวเป็นระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น
- สถานีรถไฟป้อมอาครา (Agra Fort Railway Station) (รหัสสถานี: AF) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณป้อมอาครา แต่มักจะไม่ได้ใช้สำหรับรถไฟสายระหว่างเมือง สถานีแห่งนี้จัดเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ใช้สำหรับรถไฟสายตะวันออก (เช่น กานปุระ โคราฆปุระ โกลกาตา เป็นต้น) และสายภาคกลาง (เช่น นักดา โกตา) บางสายนั้นอาจจะหยุดที่สถานีสถานีรถไฟอาครา คันท์
- สถานีรถไฟราชาคิมันดิ (Raja Ki Mandi) (รหัสสถานี: RKM) เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็ก รถไฟบางสายนั้นอาจจะหยุดที่สถานีสถานีรถไฟอาครา คันท์
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟท่องเที่ยวที่มีความหรูหราเป็นพิเศษ ได้แก่ รถไฟเดอะพาเลซ ออน วีลส์ (The Palace on Wheels) และ เดอะ รอยัล ราชสถาน ออน วีลส์ (The Royal Rajasthan on Wheels) ซึ่งยังผ่านและหยุดที่อาคราในระหว่างทริปที่มีความยาวถึงแปดวัน (ไป-กลับ) ระหว่างราชสถานกับอาครา
แท็กซี่
[แก้]นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการแท็กซี่ได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเมือง โดยสามารถเรียกจากป้ายแท็กซี่ นอกจากนี้ยังมีแท็กซี่แบบจ่ายล่วงหน้า ซึ่งให้บริการจากสถานีรถไฟอาครา (Agra Cantt railway station)
สถานที่น่าสนใจ
[แก้]ทัชมาฮาล
[แก้]ทัชมาฮาล นั้นถือเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันที่มีแก่พระมเหสีของพระองค์ คือ พระนางมุมตาซ มหัล ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และหนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากทั้งสามแห่งในเมืองอาครา
สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1653 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันแห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อเป็นที่พักพิงหลังสุดท้ายของพระมเหสีของพระองค์ สร้างจากหินอ่อนสีขาว จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่สวยงามและมีเสน่ห์ที่สุดในประเทศอินเดีย โดยก่อสร้างได้อย่างสมมาตร ซึ่งกินเวลาถึง 22 ปี (ค.ศ. 1630–1652) ด้วยแรงงานกว่า 20,000 คน เพื่อสร้างสรรค์สถานที่แห่งนี้ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ถูกรังสรรค์อย่างสวยงาม โดยสถาปนิกชาวเปอร์เซีย อุซถัด อิซา (Ustād 'Īsā) บนริมแม่น้ำยมนา ซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจากบริเวณป้อมอาครา ที่ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงใช้เวลา 8 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพเฝ้ามองทัชมาฮาล จากการถูกกักขังโดยพระโอรสของพระองค์เอง
ทัชมาฮาลนี้ยังถือเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งความสมมาตร และยังมีประโยคจากคัมภีร์อัลกุรอานสลักอยู่โดยรอบ และบริเวณยอดของประตู ประกอบด้วยโดมขนาดเล็กถึง 22 แห่ง ซึ่งแสดงถึงจำนวนปีที่ใช้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ บริเวณฐานของอาคารหลักเป็นหินอ่อนสีขาว ซึ่งซ้อนอยู่บนหินทรายซึ่งเป็นฐานชั้นล่างสุด โดมหลังที่ใหญ่ที่สุดวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 60 ฟุต (18 เมตร) ซึ่งภายใต้นั้นเป็นบริเวณที่ฝังพระศพของพระนางมุมตาซ มหัล ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างหลุมพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเคียงข้างกัน โดยสมเด็จพระจักพรรดิออรังเซ็บ (Aurangzeb) ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ ภายในอาคารนั้นตกแต่งด้วยงานฝีมืออันวิจิตรฝังอัญมณีต่าง ๆ
ป้อมอาครา
[แก้]
ป้อมอาครา (บางครั้งเรียก ป้อมแดง) สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ (Akbar) แห่งราชวงศ์โมกุลใน ค.ศ. 1565 และเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอาครา หลักศิลาจารึกที่พบบริเวณประตูทางเข้าระบุว่าป้อมแห่งนี้ถูกสร้างก่อน ค.ศ. 1000 และต่อมาได้ถูกบูรณะโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ป้อมที่ทำจากหินทรายสีแดงแห่งนี้ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวังในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และถูกผสมผสานด้วยองค์ประกอบของหินอ่อนและการตกแต่งแบบฝังพลอย ที่เรียกว่า "ปิเอตรา ดูร่า" (pietra dura) อาคารหลัก ๆ ภายในป้อมอาครา ได้แก่ มัสยิดไข่มุก (Moti Masjid) ท้องพระโรง (Dīwān-e-'Ām and Dīwān-e-Khās) พระราชวังพระเจ้าชะฮันคีร์ (Jahangir Palace) ตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) เป็นต้น
โครงสร้างภายนอกเป็นป้อมปราการอันหนาแน่น ซึ่งทำหน้าที่ปิดบังความงามดุจสวรรค์ที่อยู่ภายใน ป้อมปราการโดยรอบนั้นถูกสร้างในรูปเสี้ยวพระจันทร์ และแบนเรียบขึ้นทางฝั่งทิศตะวันออกซึ่งเป็นกำแพงตรงและยาวขนาบแม่น้ำ มีความยาวเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นถึง 2.4 กิโลเมตร (1.5 ไมล์) และมีกำแพงขนาดใหญ่ซ้อนถึงสองชั้น และมีมุขป้อมยื่นออกมาเป็นระยะ ๆ ตลอดความยาว และมีคูเมืองขนาดความกว้าง 9 เมตร (30 ฟุต) และลึกถึง 10 เมตร (33 ฟุต) ล้อมรอบกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง
สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี (Shīvajī) แห่งจักรวรรดิมราฐา (Maratha Empire) เคยเสด็จมาภายในป้อมแห่งนี้ที่อาคารท้องพระโรง (Dīwān-i-Khās) เพื่อลงพระนามในสนธิสัญญาปูรันดาร์ (Treaty of Purandar) กับสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ โดยการคุมตัวของราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I) ผู้เป็นแม่ทัพของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งในการเข้าเฝ้าครั้งนั้นพระองค์ถูกจัดที่ประทับบริเวณด้านหลังของผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า จึงกริ้วอย่างมากเนื่องจากถูกลบหลู่หมิ่นพระเกียรติ และถูกราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I) จับกุมและคุมขังไว้ที่นั่นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1666 และต่อมาทรงหลบหนีได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1666 เนื่องจากเกรงว่าจะถูกประหารโดยสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี ด้านนอกของป้อมอาครา เพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพระองค์
ป้อมปราการแห่งนี้จัดเป็นผลงานตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมกุล ซึ่งเป็นแบบอย่างของป้อมปราการของอินเดียตอนเหนือ ซึ่งแตกต่างจากของอินเดียตอนใต้ ซึ่งมักจะสร้างยื่นลงไปในทะเล หรือหน้าผาริมน้ำ อาทิเช่น ป้อมปราการแห่งเบกาล ในรัฐเกรละ[16]
ฟาเตห์ปูร์ สิครี
[แก้]สมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างฟาเตห์ปูร์ สิครี (Fatehpūr Sikrī) ซึ่งตั้งอยู่ห่างเมืองอาคราเป็นระยะทาง 35 km (22 mi) และต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นั่น (ในระหว่าง ค.ศ. 1571 ถึง 1585) ในที่สุดก็ได้ทิ้งร้างลงกลับมาที่อาคราอีกหนหนึ่ง ฟาเตห์ปูร์ สิครีจึงประกอบด้วยอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก
ชื่อของสถานที่แห่งนี้ถูกตั้งขึ้นภายหลังที่จักรพรรดิบาบูร์ (Bābar) แห่งจักวรรดิโมกุลได้มีชัยชนะต่อราชบุตรราณสังฆ์ (Rana Sanga) ในสถานที่ที่เรียกว่า "สิครี" (Sikrī) ซึ่งห่างจากอาคราประมาณ 40 km (25 mi) ซึ่งต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ซึ่งเป็นพระนัดดาของจักรพรรดิบาบูร์ (Bābar) มีพระประสงค์จะสร้างที่แห่งนี้เป็นที่ประทับหลักของพระองค์ จึงได้มีการล้อมรอบด้วยปราการขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก พระองค์จึงต้องย้ายกลับสูนครอาครา ที่ป้อมอาคราอีกครั้งหนึ่ง
บูลันด์ ดาร์วาซา (Buland Darwāza) คือ ประตูเมืองที่สร้างโดยพระบัญชาของสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ใน ค.ศ. 1601 ที่ฟาเตห์ปูร์ สิครี เป็นประตูชัยแก่ชัยชนะของพระองค์ต่ออาณาจักรคุชราต ประกอบด้วยขั้นบันไดทั้งหมด 52 ขั้น สูง 53.63 เมตร และกว้าง 35 เมตร สร้างจากหินทรายสีแดง ตกแต่งด้วยงานสลักหินอ่อนสลับสีขาวดำ บริเวณทางเข้าหลักพบหลักศิลาจารึกแสดงให้เห็นถึง"ความใจกว้าง"ของการนับถือศาสนาของพระองค์ ว่าเป็นสาสน์จากพระเยซูถึงสาวกของพระองค์ไม่ให้ยึดติดกับโลกเสมือนบ้านอย่างถาวร
อิตมัด-อุด-โดละห์
[แก้]พระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮัน (Nūr Jahān) สร้างอนุสรณ์สถานอิตมัด-อุด-โดละห์ (Itmad-Ud-Daulah's Tomb) เป็นหลุมฝังศพให้แก่พระบิดาของพระองค์ นามว่า "มีร์ซา กียาซ เบค" (Mirza Ghiyas Beg) ซึ่งเป็นมนตรีระดับสูงคนสำคัญของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ ในปัจจุบันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "เบบี้ ทัช" (Baby Taj) ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านซ้ายมือของแม่น้ำยมุนา ตัวอาคารตั้งอยู่ในสวนขนาดใหญ่เป็นรูปกางเขน สลับด้วยทางน้ำไหล และทางเดินต่าง ๆ ตัวอาคารหลักนั้นมีขนาด 23 ตารางเมตร และสร้างบนฐานกว้างขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร สูงประมาณ 1 เมตร แต่ละมุมเป็นที่ตั้งของหอคอยทรงหกเหลี่ยมสูงประมาณ 13 เมตร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลุมฝังศพ และหลุมฝังพระศพในยุคสมัยจักรวรรดิโมกุลนั้นจะถือว่ามีขนาดเล็ก จึงมักถูกเรียกว่าเป็นดั่ง "กล่องอัญมณี" นอกจากนี้ยังพบการจัดสวน การใช้หินอ่อนสีขาว การตกแต่งอินเลย์หินอ่อน (ปิเอตรา ดูร่า) ฯลฯ เป็นตัวอย่างสำคัญของการก่อสร้างทัชมาฮาล ในภายหลัง
กำแพงนั้นทำจากหินอ่อนสีขาวจากราชสถาน และตกแต่งด้วยอัญมณีหลากสีประเภทต่าง ๆ เช่น แจสเปอร์ คาร์เนเลียน โอนิกซ์ โทปาซ และลาพิส ลาซูไล เป็นรูปของต้นสนตระกูลไซเปรส และขวดไวน์ รวมทั้งยังตกแต่งเป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น รูปผลไม้ที่ตัดแต่ง หรือแจกันพร้อมช่อดอกไม้ ในเวลาที่แดดส่องแสงผ่านด้านในของตัวอาคาร จะผ่านช่องแสงเรียกว่า จาลี (Jālī) ที่สลักเสาจากหินอ่อนสีขาว
พระญาติหลาย ๆ คนของพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮัน (Nūr Jahān) ก็ยังถูกฝังที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ องค์ประกอบอย่างเดียวที่ไม่สมมาตรในสถานที่แห่งนี้มีเพียงแค่หลุมฝังศพของพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ข้าง ๆ กัน แต่ขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งก็คล้ายกับการวางหลุมพระศพที่ทัชมาฮาล
หลุมฝังพระศพอักบัรมหาราช ที่เมืองสิกันทรา
[แก้]เมืองสิกันทรา (Sikandra) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมฝังพระศพสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์มหาราช (อักบัรมหาราช) แห่งราชวงศ์โมกุล ตั้งอยู่ระหว่างทางบนทางหลวงสายเดลี-อาครา เพียง 13 กิโลเมตรจากป้อมอาครา การออกแบบหลุมฝังพระศพแห่งนี้นั้นสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของพระองค์อย่างครบถ้วน สร้างบนบริเวณกว้างขวางท่ามกลางสวนอันร่มรื่น ภายในอาคารอันสวยงามมีหลุมฝังพระศพสร้างจากหินทรายสีเหลือง-แดงที่สลักอย่างวิจิตรพิศดาร ตกแต่งเป็นลายรูปกวาง กระต่าย ค่างหนุมาน โดยว่ากันว่าพระองค์เป็นผู้เลือกสถานที่ตั้งหลุมพระศพของพระองค์เอง โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาของชาวโมกุลที่จะต้องสร้างหลุมฝังศพของตนโดยนำธรรมเนียมมาจากกลุ่มชนเตอร์กิก สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ พระโอรสของพระองค์ได้เป็นผู้สานต่องานก่อสร้างจนสำเร็จใน ค.ศ. 1613 บนโลงหินนั้นยังสลักชื่อ 99 ชื่อของอัลลอฮ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Metropolitan Cities of India" (PDF). cpcb.nic.in. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 22 December 2020.
- ↑ "District census handbook (Part A & B) – Agra" (PDF). Directorate Of Census Operations, Uttar Pradesh. 2001. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2021.
- ↑ "Agra Municipal Corporation::". www.nagarnigamagra.com. สืบค้นเมื่อ 7 September 2020.
- ↑ Lavania, Deepak (2 December 2017). "BJP wins post of Agra mayor for fifth consecutive time". The Times of India. The Times Group. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2018. สืบค้นเมื่อ 27 May 2018.
- ↑ "Agra Nagar Nigam" (PDF). nagarnigamagra.com. สืบค้นเมื่อ 21 November 2020.
- ↑ "Elevation of Agra - Wolfram|Alpha". www.wolframalpha.com. สืบค้นเมื่อ 26 September 2020.
- ↑ "Census 2011". The Registrar General & Census Commissioner, India. สืบค้นเมื่อ 21 May 2016.
- ↑ "Uttar Pradesh (India): State, Major Agglomerations & Cities – Population Statistics, Maps, Charts, Weather and Web Information". citypopulation.de. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 November 2017. สืบค้นเมื่อ 11 November 2017.
- ↑ 9.0 9.1 "52nd Report of the Commissioner for Linguistic Minorities in India" (PDF). nclm.nic.in. Ministry of Minority Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 May 2017. สืบค้นเมื่อ 7 December 2018.
- ↑ "District Domestic Product Estimates Uttar Pradesh Year 2019-20" (PDF). Directorate of Economics And Statistics Government Of Uttar Pradesh. สืบค้นเมื่อ 6 November 2021.
- ↑ "Cities in India with population more than 100,000". Census2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 April 2013. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
- ↑ Williams, Monier. "Sanskrit-English Dictionary". Cologne Digital Sanskrit Dictionaries. Cologne University. สืบค้นเมื่อ 2009-11-08.
- ↑ "Agra Fort". Archaeological Survey of India. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-03. สืบค้นเมื่อ 2009-11-08.
- ↑ World Weather Information Service-Agra เก็บถาวร 2014-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, World Meteorological Organization. Retrieved 30 September 2012.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 http://www.census2011.co.in/census/city/115-agra.html เก็บถาวร 12 เมษายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Agra City Population Census 2011
- ↑ Koroth, Nandakumar. History of Bekal Fort.
บรรณานุกรม
[แก้]- Cole, Henry Hardy (1873). Illustrations of buildings near Muttra and Agra. India Office.
- Agra, Archaeological Society of (1874). Transactions of the Archaeological Society of Agra, Jan–June 1874. Delhi Gazette Press.
- Mukerji, Satya Chandra (1892). The Traveller's Guide to Agra. Sen & Co., Delhi.
- Fanthome, Frederic (1895). Reminiscences of Agra. Thacker, Spink & Co.
- Latif, Muḥammad (1896). Agra, Historical & Descriptive. Calcutta Central Press.
- Keene, Henry George (1899). A Handbook for Visitors to Agra and Its Neighbourhood (Sixth ed.). Thacker, Spink & Co.
- Smith, Edmund W. (1901). Moghul Colour Decoration of Agra, Part I. Govt. Press, Allahabad.
- Havell, Ernest Binfield (1904). A Handbook to Agra and the Taj, Sikandra, Fatehpur-Sikri, and the Neighbourhood. Longmans, Green & Co., London.
- Agranama: The authentic book about the history of Agra by Mr. Satish Chandra Chaturvedi
- Ashirbadi Lal Srivastava, History and Culture of Agra (Souvenir), 1956
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Official website of Agra district
- อาครา ที่เว็บไซต์ Curlie
- University of Washington digital collections