กระต่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระต่าย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยอีโอซีนตอนปลาย - สมัยโฮโลซีน, 53–0Ma
กระต่ายยุโรป ที่เป็นต้นสายพันธุ์ของกระต่ายบ้านที่นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Lagomorpha
วงศ์: Leporidae
in part
Genera
กระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ ซึ่งเป็นกระต่ายสายพันธุ์เล็ก และนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง

กระต่าย (อังกฤษ: Rabbit) เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับกระต่าย (Lagomorpha) ในวงศ์ Leporidae

กระต่ายแม้จะมีฟันแทะเหมือนกับอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ถูกจัดออกมาเป็นอันดับต่างหาก เนื่องมีจำนวนฟันที่ไม่เท่ากัน เพราะกระต่ายมีฟันแทะที่ขากรรไกรบน 20 แถว เรียงซ้อนกันแถวละ 20 ซี่ ฟันกรามบนข้างละ 6 ซี่ และฟันกรามล่างข้างละ 5 ซี่ เมื่อเวลาเคี้ยวอาหาร กระต่ายจะใช้ฟันทั้ง 2 ด้านเคี้ยวสลับกันไป ต่างจากสัตว์ฟันแทะโดยทั่วไปที่เคี้ยวเคลื่อนหน้าเคลื่อนหลัง ซึ่งสามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า

นอกจากนั้น ฟันกระต่ายจะยาวขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย 10-12 gm. ต่อเดือน ดังนั้นกระต่ายจึงต้องมีการลับฟันเป็นประจำ โดยการกินหญ้าแห้ง อีกทั้งยังต้องการไฟเบอร์ในการขับเคลื่อนอาหารภายในลำไส้อีกด้วย

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วลำตัว มีหางกลมสั้น มีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ซึ่งวิวัฒนาการมาใช้สำหรับฟังเสียงได้เป็นอย่างดี และยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมาก กระต่ายมีขาหน้าที่มี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีสะโพกที่ยาวและทรงพลัง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ จึงสามารถกระโดดได้เป็นอย่างดี เคยมีการประกวดการกระโดดของกระต่ายที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ กระต่ายตัวที่กระโดดได้สูงที่สุดกระโดดได้สูงถึง 99.5 เซนติเมตรเลยทีเดียว[1] ใต้ฝ่าเท้าของกระต่ายมีขนนุ่ม ๆ รองรับอยู่ เพื่อมิให้เกิดเสียงเมื่อเคลื่อนไหว กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่ายและมีความว่องไวปราดเปรียวมากในการระแวดระวังภัย นอกจากนี้แล้วตาของกระต่ายยังมีหนังตาหรือเปลือกตาถึง 3 ชั้นด้วยกัน[2] ดวงตาของกระต่ายมีลักษณะกลมโต ทำให้กระต่ายสามารถเหลือบมองภาพด้านหลังได้โดยที่ไม่ต้องหันหัวเลย กระต่ายจัดเป็นสัตว์ที่มีระบบการมองเห็นที่ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ มาก แต่กระต่ายสามารถมองเห็นสีได้เพียงแค่ 2 สีเท่านั้น คือ สีเขียวและสีน้ำเงิน และจะยิ่งมองได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด [1]

กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น ต่างจากสัตว์ฟันแทะที่กินได้ทั้งเนื้อและพืช อาหารของกระต่ายได้แก่ หญ้าและพืชผักชนิดต่าง ๆ อายุขัยโดยเฉลี่ยของกระต่ายตามธรรมชาติจะอยู่ที่ 2-3 ปี หรือเต็มที่ก็ 5-10 ปี แต่กระต่ายเลี้ยงมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 7-12 ปี โดยอาหารได้แก่ หญ้าแห้ง 80-90% อาหารเม็ด 5-10% และผักผลไม้ 5%

กระต่ายนับเป็นสัตว์ที่สืบพันธุ์เร็วมาก ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ 30 วัน และสามารถติดลูกได้ทันทีหลังคลอด โดยแต่ละปี กระต่ายสามารถออกลูกได้ถึง 2-3 ครั้ง ครั้งละหลายตัวขึ้นกับชนิดและสายพันธ์ุ กระต่ายในธรรมชาติ มักอาศัยอยู่ในที่ราบโล่งที่เป็นทุ่งหญ้ามากกว่าป่าทึบ โดยขุดโพรงใต้ดินเป็นรังและที่อยู่อาศัย ลูกกระต่ายป่าในธรรมชาติ เมื่อแรกเกิดจะลืมตา และในวันรุ่งขึ้นจะสามารถวิ่งและกระโดดได้ทันที เมื่อกระต่ายตัวเมียจะคลอดลูก จะแยกออกจากรังเดิมไปขุดรังใหม่ เพื่อป้องกันลูกอ่อนจากกระต่ายตัวผู้ ซึ่งอาจฆ่าลูกกระต่ายเกิดใหม่ได้ โดยจะกัดขนตัวเองเพื่อปูรองรับลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วตามธรรมชาติของกระต่าย ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายป่าหรือกระต่ายบ้าน จะมีพฤติกรรมกินมูลของตัวเองที่ขับถ่ายออกมา มูลลักษณะนี้ถูกเรียกว่า "มูลพวงองุ่น" เป็นมูลซึ่งยังมีสารอาหารอยู่ ที่กระต่ายไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมสารอาหารไปได้หมด จึงต้องกินเข้าไปในร่างกายอีกครั้งเพื่อดูดซึมสารอาหารให้หมด [1]

กระต่ายกระจายพันธุ์ไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตอาร์กติก ยกเว้นโอเชียเนียและทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบกระต่ายที่เป็นกระต่ายสายพันธุ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติเพียงชนิดเดียว คือ กระต่ายป่าพม่า (Lepus peguensis) [3]

กระต่ายโดยธรรมชาติ เป็นสัตว์ที่อยู่สุดปลายของห่วงโซ่อาหาร ด้วยการเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ เช่น หมาป่า, หมาจิ้งจอก, แมวป่า, เสือชนิดต่าง ๆ, หมาใน, ชะมด, เพียงพอน รวมถึงงูขนาดใหญ่ด้วย เช่น งูหลามและงูเหลือม [4]

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน ด้วยการเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารและเกมกีฬาโดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป ในเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ ชาวตะวันตกเชื่อว่า การพกตีนกระต่ายจะนำมาซึ่งโชคดี ความเชื่อนี้เชื่อกันอย่างมากโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ เชื่อว่า หากพกตีนกระต่ายที่เป็นตีนของขาหลังด้านซ้าย และหากคนที่ฆ่ากระต่ายตัวนั้นเป็นคนตาเหล่ หรือจับกระต่ายตัวนั้นได้ในสุสานหรือในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือคืนวันศุกร์ที่ 13 ก็จะยิ่งช่วยให้โชคดียิ่งขึ้น [1]

มาชิมาโร่ ตัวการ์ตูนที่เป็นกระต่ายของเกาหลีใต้

ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า กระต่ายเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ มีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ เป็นสัตว์เลี้ยงของฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ การมอบรูปลักษณ์ของกระต่ายจึงถือเป็นการมอบความปรารถนาให้โชควาสนาให้แก่กัน[5]

นอกจากนี้แล้วในทางโหราศาสตร์ กระต่ายยังเป็นตัวแทนของนักษัตรลำดับที่ 4 คือ ปีเถาะ ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นกระต่าย [6]

และยังได้กลายมาเป็นต้นแบบของตัวการ์ตูนหลากหลายตัว เช่น โรเจอร์ แรบบิท, บักส์ บันนี ที่ได้ต้นแบบมาจากกระต่ายป่าที่ปราดเปรียว หรือมาชิมาโร่ ของเกาหลีใต้ที่เป็นสื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต [7] โดยตัวละครการ์ตูนกระต่ายตัวแรกของโลก มีชื่อว่า "ออสวอลด์" ปรากฏตัวในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Oswald the Lucky Rabbit เมื่อปี ค.ศ. 1927 จากการสร้างสรรค์ของวอลต์ ดิสนีย์[1]

ในปัจจุบัน กระต่ายได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ทั้งในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และสัตว์เศรษฐกิจเพื่อรับประทานเนื้อ โดยกระต่ายชนิดที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น โดยมากจะเป็นชนิด กระต่ายยุโรป (Oryctolagus cuniculus) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปยุโรป[8] ซึ่งกระต่ายสายพันธุ์สวยงามนั้นก็มีด้วยกันหลากหลายมากมาย โดยมีขนาดแตกต่างกันออกไปตามขนาดและลักษณะลำตัว เช่น เนเธอร์แลนด์ดวอฟ, โปลิช, ฮอลแลนด์ลอป ซึ่งเป็นกระต่ายขนาดเล็ก และอิงลิชลอป ที่เป็นกระต่ายขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยมีองค์กรที่ทำการรองรับและจัดมาตรฐานสายพันธุ์กระต่ายในระดับสากล คือ สมาคมผู้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (ARBA) กระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ คอนทิเนนทัล ไจแอนท์ ที่เมื่อโตเต็มที่แล้วมีน้ำหนักมากได้ถึง 20 กิโลกรัม และมีขนาดพอ ๆ กับสุนัขขนาดกลางตัวหนึ่ง และสถิติกระต่ายที่มีอายุยืนที่สุดในโลก คือ 16 ปี 14 วัน เป็นกระต่ายสายพันธุ์เจอร์ซี วูลลี ที่เป็นกระต่ายสายพันธุ์ขนยาว ชื่อ "ดู" (Do) [1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "แฟนพันธุ์แท้ 2014 คนรักกระต่าย". แฟนพันธุ์แท้. 2 May 2014. สืบค้นเมื่อ 3 May 2014.
  2. Pets 101 : Pet Guide, สารคดีทางแอนิมอล แพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2556
  3. ชุติอร กาญวัฒนกิจ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : กองทุนสัตว์ป่าโลก. สำนักงานประเทศไทย, 2543. 256 หน้า. หน้า 150. ISBN 974-87081-5-2
  4. หน้า 157-159, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม 2518)
  5. ของมงคล กระต่ายขาว นำโชค
  6. [https://web.archive.org/web/20090727132031/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-20-search.asp เก็บถาวร 2009-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เถาะ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  7. "(อังกฤษ) 'Mashimaro, ' an Off and On Line Hit". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-01. สืบค้นเมื่อ 2014-05-03.
  8. "กระต่าย ๑ น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-03-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]