หลวงพ่อพุทธรังสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงพ่อพุทธรังสี
ชื่อเต็มหลวงพ่อพุทธรังสี
ชื่อสามัญหลวงพ่อวัดพระยืน, หลวงพ่อพุทธรังสี,พระพุทธรังสี, พระพุทธรังษี
ประเภทพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์
ศิลปะศิลปะสุโขทัย (ปางมารวิชัย)
ความกว้าง1.40 เมตร
ความสูง1.68 เมตร (จากฐานถึงพระรัศมี)
วัสดุโลหะสำริด (สีนาก)
สถานที่ประดิษฐานพระประธานในอุโบสถวัดพระยืนพุทธบาทยุคล
ความสำคัญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อพุทธรังสี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระพุทธรูปเป็นพระสกุลช่างสุโขทัย สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในรัชกาลของพระเจ้าลิไท[1] องค์พระเป็นเนื้อโลหะสำริด (แก่นาค) ปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ประวัติ[แก้]

หลวงพ่อพุทธรังสี เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระยืนพุทธบาทยุคล สันนิษฐานว่าองค์พระสร้างโดยพระบรมราชโองการของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระเจ้าลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาประดิษฐาน ณ มณฑปรอยพระพุทธบาท ต่อมาในสมัยอยุธยา ไทยเกิดการสงครามกับพม่า ชาวบ้านจึงได้พอกปูนไว้อารักขาภัย[2]

ผ่านมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กาลเวลาผ่านมากว่า 500 ปี กลืนกินความทรงจำของชาวบ้านจนไม่มีผู้ใดรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มโลหะสำริดอยู่ข้างใน จนวันหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งเข้ามาสวดมนต์ในอุโบสถ ได้เห็นองค์พระปูนปั้นเปล่งพระรัศมีออกจากพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเกศเป็นฉัพพรรณรังสีให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้เห็น วัดจึงได้กะเทาะปูนออก จึงได้เห็นเป็นพระพุทธรูปสำริดสุกปลั่ง มีพุทธลักษณะสวยงาม ต่อมา พระยากัลยาวัฒนวิศิษฐ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ (ท่านมีรกรากอยู่ที่เมืองลับแล) ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อพุทธรังสี" และทางวัดจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอาคารอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ ประดิษฐานเป็นที่สักการะของประชาชนมาจนปัจจุบัน โดยจะมีงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อพระพุทธรังสีเป็นงานใหญ่ประจำปี ระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 3 ทุกปี สืบมา[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "มรดกทางศาสนา จังหวัดอุตรดิตถ์. เรียกข้อมูลเมื่อ 25-4-52". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-11. สืบค้นเมื่อ 2009-04-25.
  2. เทวประภาส มากคล้าย. สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา, ๒๕๕๒.
  3. พระพุทธรูปมรดกล้ำค่าของเมืองไทย โดย ทศพล จังพานิชย์กุล เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักพิมพ์ข่าวสด. เรียกข้อมูลเมื่อ 24-4-52


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]