ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2
พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1889
พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม
ครองราชย์17 ธันวาคม ค.ศ. 1865 – 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909
(44 ปี 0 วัน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1
ถัดไปสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเสรีรัฐคองโก
ครองราชย์1 กรกฎาคม ค.ศ. 1885 – 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปล้มเลิกตำแหน่ง (คองโกเป็นอาณานิคมเบลเยียม)
พระราชสมภพ9 เมษายน ค.ศ. 1835
บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
สวรรคต17 ธันวาคม ค.ศ. 1909(74 พรรษา)
ลาเคิน ประเทศเบลเยียม
คู่อภิเษกมารี เฮนรีทเทอแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
พระราชบุตรเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเบลเยียม (ประสูติ ค.ศ. 1858)
เจ้าชายเลโอโปลด์ ดยุกแห่งบราบันต์
เจ้าหญิงสเตฟานีแห่งเบลเยียม
เจ้าหญิงคลิเมนไทน์แห่งเบลเยียม
พระปรมาภิไธย
เลโอโปลด์ หลุยส์ ฟิลิป มารี วิกตอร์
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระราชบิดาพระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม
พระราชมารดาหลุยส์-มารีแห่งออร์เลอ็อง
ลายพระปรมาภิไธย

สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 (ฝรั่งเศส: Léopold Louis Philippe Marie Victor, ดัตช์: Leopold Lodewijk Filips Maria Victor, 9 เมษายน ค.ศ. 1835 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเบลเยียม พระราชสมภพที่กรุงบรัสเซลส์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง (แต่มีพระชนมายุมากที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพ) ของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 และสมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี พระองค์สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1865 และเป็นพระมหากษัตริย์กระทั่งสวรรคต

สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 ทรงเป็นที่จดจำกันมากที่สุดในฐานะผู้ก่อตั้งและเจ้าของเพียงพระองค์เดียวของรัฐอิสระคองโก ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่ดำเนินการในนามของพระองค์ พระองค์ทรงใช้เฮนรี่ มอร์ตัน สแตนเลย์ช่วยพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือคองโก พื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเบอร์ลินผูกมัดให้รัฐดังกล่าวพัฒนาชีวิตของประชากร อย่างไรก็ดี นับแต่ต้น สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ได้ทรงเพิกเฉยต่อเงื่อนไขเหล่านี้และปกครองคองโกอย่างโหดร้าย ทรงใช้กำลังทหารรับจ้าง เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ พระองค์นำเอาความมั่งคั่งออกจากคองโก เริ่มจากการรวบรวมงาช้าง และหลังจากราคายางขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1890 ก็ทรงบีบบังคับให้ประชากรเก็บน้ำยางจากต้นยาง การปกครองอย่างโหดร้ายของพระองค์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายล้านคน คองโกได้กลายมาเป็นหนึ่งในกรณีอื้อฉาวระหว่างประเทศที่เสื่อมเสียที่สุดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ท้ายที่สุดทรงถูกบีบให้ยกเลิกและโอนการควบคุมรัฐดังกล่าวให้แก่รัฐบาลเบลเยียม

พระราชประวัติ

[แก้]

ปฐมวัย

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 เสด็จพระราชสมภพ ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1835 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งเบลเยียม กับพระอัครมเหสี สมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาพระองค์ใหญ่ของพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในปีค.ศ. 1834 จึงทำให้พระองค์กลายเป็นองค์รัชทายาท พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งบราบันต์" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานให้แก่มกุฎราชกุมารเท่านั้น

เจริญพระชันษา

[แก้]

พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านการเมืองของประเทศ โดยเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1855 เมื่อทรงเป็นสมาชิกวุฒิสภา และในปีเดียวกันนั้นทรงผลักดันให้รัฐบาลเริ่มหาอาณานิคมเป็นของตน ในปี ค.ศ. 1853 ทรงอภิเษกกับมารี เฮนรีทเทอเแห่งออสเตรีย พระธิดาของอาร์ชดยุกโจเซฟแห่งออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1853 มีพระราชโอรสและธิดารวมทั้งสิ้นสี่พระองค์ เป็นพระราชธิดาทั้งหมดสามพระองค์ และพระราชโอรสพระองค์เดียว คือ เจ้าชายเลโอโปลด์ ดยุกแห่งบราบันต์ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง 9 ปี

ขึ้นครองราชย์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1865 ทรงเสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายด้าน รัฐบาลพรรคเสรีนิยมนั้นได้ปกครองเบลเยียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 ถึง ค.ศ. 1880 โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัย ได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปี ค.ศ. 1879 ซึ่งประกาศให้มีการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในชั้นประถมศึกษา โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งการยกเลิกการสนับสนุนจากรัฐต่อโรงเรียนประถมโรมันคาทอลิกทั้งหมด ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 พรรคคาทอลิกได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาและต่อมาได้แก้กฎหมายเพื่อคืนการสนับสนุนจากรัฐให้แก่โรงเรียนคาทอลิกอีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1855 กลุ่มการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นตัวแปรทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้งตั้งแต่มีการจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับบุรุษขึ้นในปี ค.ศ. 1893 พระองค์ทรงสนับสนุนการพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันประเทศอันถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะทรงผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมายการเกณฑ์ทหารได้จนกระทั่งในคืนสวรรคต

อาณานิคม

[แก้]

พระองค์มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าดินแดนอาณานิคมในต่างทวีปนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศได้ และพระองค์ก็ทรงบากบั่นที่จะหาดินแดนอาณานิคมสำหรับเบลเยียม ในที่สุดพระองค์ก็ได้มาซึ่งอาณานิคมในฐานะพระราชสมบัติส่วนพระองค์ โดยที่รัฐบาลนั้นเป็นผู้ให้ยืมเงินสำหรับการนี้โดยเฉพาะ

ในปี ค.ศ. 1866 พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้เอกอัครข้าราชทูตประจำกรุงมาดริดในขณะนั้น เป็นผู้แทนฯ ร้องขอดินแดนหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปน แต่อย่างไรก็ตามเอกอัครข้าราชทูตนั้นก็มิได้ทำตามที่ทรงรับสั่งเนื่องจากเห็นควรว่าเป็นการไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น และต่อมาพระองค์ได้มีรับสั่งให้ย้ายเอกอัครข้าราชทูตนี้โดยให้แทนที่ด้วยคนที่พร้อมที่จะเชื่อฟังพระองค์และสามารถจะทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จลงได้[1]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1868 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปนถูกถอดลงจากราชสมบัติ พระองค์จึงได้พยายามฉวยโอกาสนี้ในการครอบครองดินแดนฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแผนการโดยทรงพยายามผลักดันให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นรัฐอิสระ และจะได้ถูกยึดครองได้ง่ายโดยเบลเยียม แต่ทว่าแผนการนี้ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระทัยไปยังการครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกาแทน[1]

ภายใต้ความพยายามของพระองค์ ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1876 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส่วนพระองค์ โดยให้เป็นเสมือนองค์กรระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยธรรม ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า "สมาคมแอฟริกันนานาชาติ" (Association Internationale Africaine) และในปี ค.ศ. 1878 กิจการในนามของบริษัทได้จ้างนักสำรวจผู้โด่งดัง เฮนรี สแตนลีย์ (Henry Morton Stanley) เพื่อที่จะสำรวจและสร้างอาณานิคมภายในดินแดนของคองโก.[2] ซึ่งด้วยความสามารถในการทูติของพระองค์ ทำให้ผลของการประชุมเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1884-1885 ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของแอฟริกานั้น ทำให้ทั้งสิบสี่ประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับพระองค์ ในฐานะองค์ประมุขในดินแดนซึ่งพระองค์และเฮนรี สแตนลีย์ได้กล่าวอ้าง ในที่สุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 "รัฐอิสระคองโก" ก็ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การปกครองส่วนพระองค์ ซึ่งดินแดนแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเบลเยียมกว่า 76 เท่า ซึ่งพระองค์ได้ทรงควบคุมผ่านกองทัพส่วนพระองค์ ในนามว่า "Force Publique"

ปลดปล่อยคองโก

[แก้]

หลังจากมีเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์จากพรรคสังคมนิยมคาทอลิกและพรรคแรงงาน จึงเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลได้บังคับพระองค์ให้ปลดปล่อยการถือกรรมสิทธิ์ในคองโกโดยโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินในปี ค.ศ. 1908 ทำให้รัฐอิสระคองโกได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมในนามว่าเบลเจียนคองโกภายใต้การปกครองของรัฐบาล และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อให้อิสรภาพจนกลายเป็น สาธารณรัฐคองโก, สาธารณรัฐซาอีร์ และในปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ "DRC"

ลอบปลงพระชนม์

[แก้]

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902 ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยชาวอิตาเลียน เกนนาโร รูบิโน ได้พยายามลอบปลงพระชนม์พระองค์ในขณะที่ทรงม้าในพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีมารี เฮนรีทเทอพระมเหสีซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตไม่นาน รูบิโนได้ยิงปืนสามนัดโดยเล็งไปที่พระองค์ขณะที่ขบวนกำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าเขาไป แต่กระสุนทั้งสามนัดนั้นพลาดจึงทำให้เขาถูกจับกุมในทันที

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Ocampo, Ambeth (2009). Looking Back. Anvil Publishing. pp. 54–57. ISBN 978-971-27-2336-0.
  2. Hochschild, Adam: King Leopold’s Ghost: A Story of Greed, Terror, and Heroism in Colonial Africa, Mariner Books, 1998. p. 62. ISBN 0-330-49233-0.

บรรณานุกรม

[แก้]


ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1
พระมหากษัตริย์เบลเยียม
(17 ธันวาคม ค.ศ. 186517 ธันวาคม ค.ศ. 1909)
สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1
สถาปนาสำหรับมกุฎราชกุมาร
ดยุกแห่งบราบันต์
(9 เมษายน ค.ศ. 184017 ธันวาคม ค.ศ. 1865)
เจ้าชายเลโอโปลด์