กรมหลวงโยธาทิพ
กรมหลวงโยธาทิพ | |
---|---|
เจ้าฟ้าต่างกรม | |
ประสูติ | พ.ศ. 2181[1] |
สวรรคต | พ.ศ. 2258[1] (ราว 77 ปี) |
พระสวามี | สมเด็จพระเพทราชา |
พระบุตร | เจ้าพระขวัญ |
ราชวงศ์ | ปราสาททอง (ประสูติ) บ้านพลูหลวง (อภิเษกสมรส) |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง |
พระมารดา | พระสุริยา[2] หรือพระอุบลเทวี[3] |
ศาสนา | เถรวาท |
กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ[4] บ้างออกพระนามว่า พระราชกัลยาณี[4][5][6] (พ.ศ. 2181–2258)[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและเป็นพระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังได้เป็นที่พระอัครมเหสีฝ่ายขวาในสมเด็จพระเพทราชา ประสูติการพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามเจ้าพระขวัญ
พระนาม
[แก้]- คำให้การขุนหลวงหาวัด ออกพระนามว่าศรีสุวรรณ[4] หรือนางอุบลเทวี[7]
- คำให้การชาวกรุงเก่า ออกพระนามว่าอุปละเทวี[8]
- พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกพระนามว่าเจ้าฟ้าทอง[9] หรือพระราชกัลยาณี[5]
พระราชประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพตอนต้น
[แก้]กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่าศรีสุวรรณ[4] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[4] และมีพระชนนีองค์เดียวกันกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ชื่อพระสุริยา[2] ขณะที่ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุพระนามว่าพระอุบลเทวี[3] ส่วนหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่าพระชนนีเป็นพระราชเทวีชื่อศิริธิดา[10] ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดยึดอำนาจสมเด็จเจ้าฟ้าไชย สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพาพระราชกัลยาณีหนีออกไปด้วยกัน[6] สมบัติ พลายน้อย อธิบายว่ากรมหลวงโยธาทิพน่าจะประสูติในปี พ.ศ. 2181 หย่อนพระชันษากว่าพระเชษฐา 6 ปี และมีพระชันษา 18 ปีเมื่อพระเชษฐาเสวยราชย์[1] กล่าวกันว่ากรมหลวงโยธาทิพมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่ประจักษ์ ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุไว้ว่า "...พระราชกัลยาณีน้องพระนารายณ์ราชนัดดา ทรงพระรูปสิริวิลาสเลิศลักษณะนารี..."[11]
หลังการยึดอำนาจจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ในรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาว์ ทรงต้องพระทัยในรูปลักษณ์ของพระราชกัลยาณีและมีพระราชประสงค์จะเสพสังวาส พระราชกัลยาณีไหวตัวทัน ทรงบอกให้เหล่าพระสนมช่วย ทรงซ่อนตัวในตู้พระสมุดแล้วนางสนมให้หามไปยังพระราชวังบวรสถานมงคลที่สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่ เสด็จขึ้นเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ทรงกันแสงและทูลเรื่องราวทั้งหมด เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฟังความเช่นนั้นก็ทรงกล่าวด้วยความน้อยพระทัยว่า[12]
อนิจจา พระเจ้าอาเรานี้ คิดว่าสมเด็จพระบิตุราชสวรรคตแล้ว ยังแต่พระเจ้าอาก็เหมือนหนึ่งพระบรมราชบิดายังอยู่ จะได้ปกป้องพระราชวงศานุวงศ์สืบไป ควรหรือมาเป็นได้ดังนี้ พระองค์ปราศจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไหนจะครองสมบัติเป็นยุติธรรมเล่า น่าที่จะร้อนอกสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นแท้ จะละไว้มิได้ ด้วยพระองค์ก่อแล้วจำจะสานตามเถิด จะเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง
หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึงรวมขุนนางต่อสู้ยึดอำนาจ และสามารถจับกุมสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ จึงนำไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี[13]
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสวยราชย์ พระราชกัลยาณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงโยธาทิพ คู่กับเจ้าฟ้าสุดาวดี พระราชธิดา ที่ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหลวงโยธาเทพ คู่กัน พระองค์คอยอุปถัมภ์ค้ำชูพระราชอนุชาทั้งสองพระองค์คือเจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อย ทรงสามารถทูลคัดง้างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในกรณีที่ทรงลงทัณฑ์เจ้าฟ้าน้อยเรื่องทำชู้กับพระสนม โดยทรงกล่าวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า "[อย่าได้มี] พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด"[14]
ปลายพระชนม์
[แก้]พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าสมเด็จพระเพทราชาตั้งพระองค์เป็นพระอัครมเหสีซ้าย[9] ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา[4][8] มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าพระขวัญ แต่พระราชโอรสพระองค์นี้ก็อยู่ให้ชื่นชมโสมนัสได้ไม่นาน ก็ถูกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เดื่อ) ลวงไปสำเร็จโทษ สิ้นพระชนม์ก่อนการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเพทราชาไม่นานนัก กรมหลวงโยธาทิพคงจะโทมนัสและตรอมพระทัยยิ่งนัก ทรงหันเข้าหาพระศาสนาเป็นที่พึ่ง ทรงทูลลาสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ออกไปตั้งตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์[15] และผนวชเป็นรูปชี
กรมหลวงโยธาทิพเสด็จสวรรคตในรูปชี (ในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศใช้คำว่า เสด็จนิพพาน) ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์ในปีมะแมสัปตศก[16] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุมาศ ให้เชิญพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่แหนด้วยดุริยางคดนตรีไปถึงพระเมรุมาศ มีการทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์และมีการเล่นมหรสพ พระสงฆ์สดัปกรณ์ 10,000 คำรบสามวัน แล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้วจึงแจงพระรูป พระสงฆ์สดัปกรณ์อีก 100 รูป เก็บพระอัฐิในพระโกศน้อย แห่เข้ามาบรรจุไว้ท้ายจระนำในวิหารใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์[17]
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของกรมหลวงโยธาทิพ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 25
- ↑ 2.0 2.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92-93
- ↑ 3.0 3.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 339
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 413
- ↑ 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 285
- ↑ 6.0 6.1 6.2 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 23
- ↑ คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 310
- ↑ 8.0 8.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 540
- ↑ 9.0 9.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 318
- ↑ M.L. Manich Jumsai (เขียน) ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน (แปล). สมเด็จพระนารายณ์ และโกษาปาน. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2531, หน้า 17
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 278
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 285
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 288
- ↑ ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 225
- ↑ พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 24
- ↑ ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 468
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 351
- บรรณานุกรม
- ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
- ส. พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554. 368 หน้า. ISBN 978-616-7058-58-0
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 488 หน้า. ISBN 978-616-514-650-0